การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- การตรวจทางหูคอจมูกมีประโยชน์อย่างไร?
- อะไรคือข้อบ่งชี้สำหรับการตรวจทางหูคอจมูก?
- มีข้อห้ามในการตรวจทางหูคอจมูกไหม?
- เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจทางหูคอจมูก?
- การตรวจทางหูคอจมูกมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร?
- การตรวจทางหูคอจมูกมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ทราบผลการตรวจทางหูคอจมูก ได้เมื่อไหร่?
- สรุป
- บรรณานุกรม
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- หูอื้อ (Tinnitus)
- ภาวะเร่งด่วนทางหู (Ear emergencies)
- ภาวะเร่งด่วนทางจมูก (Nose emergencies)
- ภาวะเร่งด่วนทางคอ
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- ต่อมทอนซิลอักเสบ ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
บทนำ
หู คอ จมูก หรือ โสต ศอ นาสิก (Ear Nose Throat ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า ENT/อีเอ็นที) เป็นการแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ที่แพทย์ให้การดูแลรักษาทั้งการใช้ยาและการผ่าตัดในโรคหู คอ จมูก และ เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่องปากไซนัส ต่อมน้ำลาย และท่อลม ซึ่งรวมไปถึงโรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจตอนบน/หรือตอนต้น(โรคภูมิแพ้หูคอจมูก) ซึ่งแพทย์เฉพาะทางด้านนี้เรียกว่า แพทย์ หู คอ จมูก
การตรวจวินิจฉัยโรคทางหู คอ จมูก แบ่งได้เป็น “การตรวจทางหูคอจมูกเบื้องต้นหรือการตรวจหูคอจมูกทั่วไป (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)” และ “การตรวจที่เป็นหัตถการเฉพาะ(Special ENT examination)”
1. การตรวจหูคอจมูกทั่วไป/เบื้องต้น คือ การสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป และร่วมกับการตรวจอวัยวะทางหูคอจมูก คือ ช่องปาก ลำคอ จมูก และหู ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้เครื่องมือช่วยตรวจ แต่เป็นเครื่องมือง่ายๆ ไม่ซับซ้อน (เช่น เครื่องมือช่วยถ่างช่องจมูก เครื่องตรวจช่องหูชั้นนอกที่เรียกว่า Otoscope และ เครื่องตรวจช่องปาก ช่องคอ และกล่องเสียงด้วยกระจกและไม้กดลิ้น) การตรวจฯทั่วไปนี้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับการตรวจ ไม่มีการงดน้ำ งดอาหาร ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวด ยานอนหลับ หรือฉีดยาชา ซึ่งการตรวจในเบื้องต้นนี้ แพทย์ให้การตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก แต่ถ้าพบความผิดปกติที่ต้องตรวจสืบค้นที่ละเอียดขึ้น แพทย์จะนัดตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยการตรวจที่ต้องใช้หัตถการเฉพาะทางหูคอจมูก
2. การตรวจที่เป็นหัตการเฉพาะทางหูคอจมูก คือการตรวจที่ต้องใช้เครื่องตรวจเฉาะทางที่มีเทคโนโลยีสูง ต้องมีการเตรียมผู้ป่วยล่วงหน้า อาจต้องใช้ยาชา ยานอนหลับ หรือ ยาสลบ และมักให้การตรวจในห้องผ่าตัด เช่น การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง หลอดอาหาร และ/หรือ ท่อลม
ทั้งนี้ บทความนี้ จะกล่าวถึงวิธีตรวจทางหูคอจมูก เฉพาะที่เป็นการตรวจทั่วไปเท่านั้น และขอเรียกว่า “ การตรวจทางหูคอจมูก”
การตรวจทางหูคอจมูกมีประโยชน์อย่างไร?
การตรวจทางหูคอจมูก มีประโยชน์ ดังนี้ คือ
- ช่วยการวินิจฉัยโรคหูคอจมูกเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับโรค
- ช่วยวินิจฉัยแยกโรคทางหูคอจมูกออกจากโรคในระบบอื่นๆ เช่น กรณีมีเลือดกำเดาเกิดบ่อย แพทย์ต้องแยกว่า เป็นโรคที่มีสาเหตุจากโรคหูคอจมูกเอง โรคเลือด หรือ จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ช่วยประเมินผลการักษา กล่าวคือ เมื่อได้รับการรักษาโรคทางหูคอจมูกไปแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยตรวจติดตามโรค คือเพื่อดูว่า อาการผู้ป่วยเป็นอย่างไรหลังการรักษา เพื่อให้คำแนะนำ และปรับการรักษากรณีการรักษาไม่ได้ผล
- ประเมินและให้การรักษาผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการรักษาโรคทางหูคอจมูกเอง หรือโรคอื่นๆที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหูคอจมูก เช่น การกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดแล้วส่งผลให้เกิดเลือดกำเดา เป็นต้น
อะไรคือข้อบ่งชี้สำหรับการตรวจทางหูคอจมูก?
ข้อบ่งชี้ในการตรวจทางหูคอจมูก ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติของอวัยวะในส่วน หู คอ จมูก และอาจรวมถึงอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอด้วย (ทั้งนี้ขึ้นกับการแบ่งหน่วยงานของแต่ละโรงพยาบาล) เช่น มีแผลในช่องปาก ในลำคอ ไอ เจ็บคอ โรคหวัดเรื้อรัง มีเลือดกำเดา หูได้ยินลดลง หูอื้อ จมูกไม่ได้กลิ่น มีน้ำมูกเรื้อรัง โรคภูมิแพ้หูคอจมูก เป็นต้น
มีข้อห้ามในการตรวจทางหูคอจมูกไหม?
ไม่มีข้อห้ามในการตรวจทางหูคอจมูก ตรวจได้ใน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงผู้สูงอายุ
เตรียมตัวอย่างไรก่อนตรวจทางหูคอจมูก?
การตรวจทั่วไปทางหูคอจมูก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร กินยาต่างๆได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม กรณีการพบแพทย์ครั้งแรก ผู้ป่วยจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลเอกสารทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ใบส่งตัว ประวัติการรักษาที่ผ่านมาจากโรงพยาบาลอื่น (ถ้ามี) รายชื่อยาต่างๆที่กำลังใช้อยู่ หรือที่ได้ใช้ในช่วง1-3 เดือนที่ผ่านมา และเอกสารสิทธิ์ทางการรักษา (เช่น บัตรทอง ประกันสังคม) ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยเองในการจัดทำประวัติทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษา ซึ่งผู้ป่วยควรเตรียมอะไรบ้างและอย่างไร อ่านเพิ่มเติมได้ใน เกร็ดบทความเรื่อง “การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์” ในเว็บ haamor.com
การตรวจทางหูคอจมูกมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร?
ขั้นตอนการตรวจทางหูคอจมูก เรียงตามลำดับก่อน-หลังคือ
1. หลังทำบัตรประจำตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยควรไปที่แผนกหูคอจมูกก่อนเวลาแพทย์ลงตรวจประมาณ 30นาที เพื่อพบพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ประจำแผนกฯ เพื่อรับบัตรคิว การจัดเตรียมแฟ้มประวัติ และอาจมีการสอบถามข้อมูลต่างๆเพิ่มเติม การตรวจเอกสารเพิ่มเติม เป็นต้น หลังจากนั้น เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย
2. นั่งรอการเรียกพบแพทย์ จากเจ้าหน้าที่
3. ในห้องตรวจ จะมีแพทย์ และผู้ช่วยแพทย์/พยาบาลรวมอยู่ด้วย แพทย์จะสอบถามอาการ และประวัติทางการแพทย์ต่างๆเพิ่มเติม
4. ต่อจากนั้น จะตรวจอวัยวะที่ผู้ป่วยมีอาการ (อาจตรวจอวัยวะอื่นๆด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์) ทั้งนี้การตรวจ จมูก คอ หู อาจมีการสอดใส่เครื่องตรวจเฉพาะอวัยวะนั้นๆ ที่มีขนาดเล็กๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ก่ออาการเจ็บปวดใดๆ เพื่อช่วยขยายช่องอวัยวะนั้นๆให้แพทย์มองเห็นภายในได้ชัดเจนขึ้น เช่น ไม้กดลิ้นที่ช่วยการตรวจในช่องปาก, Nasal specular เครื่องมือลักษณะคล้ายคีมแต่ไม่ใช้คีม ที่ใช้ถ่างขยายช่องจมูก, และ/หรือ เครื่องมือที่มีท่อเล็กๆใช้ส่องไฟช่วยดูในช่องหู (Otoscope) เป็นต้น
5. เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะแจ้งผลตรวจ และแจ้งว่าจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอีกหรือไม่ (เช่น การตรวจเลือด หรือ เอกซเรย์) ให้คำแนะนำ สั่งยา ซึ่งถ้าผู้ป่วยไม่มีคำถาม ก็เป็นการเสร็จการตรวจ
6. ผู้ป่วยออกจากห้องตรวจ มาที่เคาน์เตอร์พยาบาล รับใบนัดต่างๆ ส่วนใบสั่งยา ในปัจจุบัน มักเป็นการสั่งทางคอมพิวเตอร์ไปที่ห้องยาโดยตรง
7. เมื่อพบพยาบาลแล้ว ต่อไปคือ การไปยังแผนกต่างๆที่มีการตรวจเพิ่มเติม (ถ้ามี) เพื่อการนัดหมาย หรือ เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมนั้นๆ
8. ชำระค่าใช้จ่ายที่ห้องการเงิน
9. กลับมารอรับยาที่หน้าห้องจ่ายยา ซึ่งเมื่อได้รับยาแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับบ้าน ไปทำงาน ไปโรงเรียน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ
10. กลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เมื่อมีการนัดหมาย
การตรวจทางหูคอจมูกมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
การตรวจทั่วไปทางหูคอจมูก เป็นการตรวจพื้นฐาน ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เครื่องมือช่วยตรวจก็เป็นเครื่องมือง่ายๆ การตรวจจึงปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง และเมื่อตรวจเสร็จแล้ว สามารถใช้ชีวิต และทำงานได้ตามปกติ
ทราบผลการตรวจทางหูคอจมูก ได้เมื่อไหร่?
การตรวจทางหูคอจมูก ทราบผลได้ทันทีภายหลังแพทย์ตรวจเสร็จเรียบร้อย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งผู้ป่วยเองว่า การตรวจปกติ หรือพบอะไรผิดปกติ ร่วมกับให้คำแนะนำและการนัดหมายการตรวจครั้งต่อไปเมื่อจำเป็นต้องมีการติดตามโรคและการรักษา แต่ถ้าไม่จำเป็น แพทย์ก็จะไม่นัดตรวจ
สรุป
การตรวจทั่วไปทางหูคอจมูก เป็นการตรวจที่ ง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ยาสลบ หรือยาแก้ปวด สามารถตรวจได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังตรวจเสร็จ
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholic_hepatitis [2019,Oct 19]