การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู การดูแลหู (Ear care)
- โดย พ.อ.นพ.ศวยส เหรียญมณี
- 8 พฤษภาคม 2558
- Tweet
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- หูติดเชื้อ (Ear infection)
- หูดับ หูตึง หูหนวก (Deaf)
- หูอื้อ (Tinnitus)
- หูอื้อจากโดยสารเครื่องบิน หูอื้อจากเปลี่ยนความดันอากาศ (Barotitis)
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)
- ไข้หูดับ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis)
การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู หรือการดูแลหู (Ear care) เป็นการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของหูเกิดขึ้นได้แก่
- หลีกเลี่ยงการปั่น แคะ ล้าง (ด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆ) ทำความสะอาดช่องหู โดยเฉพาะการใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม หลังอาบน้ำ หรือการให้ช่างตัดผม ปั่นหรือแคะหู เนื่องจากการกระทำดังกล่าว อาจกระตุ้นทำให้มีขี้หูในช่องหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น (จากการระคายเคืองที่ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น) และจะยิ่งดันขี้หูในช่องหูที่มีอยู่แล้วให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หูอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น เกิดอาการหูอื้อหรือรู้สึกปวดหรือแน่นในช่องหู นอกจากนั้น อาจเกิดอันตรายหรือรอยถลอกของช่องหูชั้นนอก (เกิดแผลทำให้มีเลือดออกหรือหูชั้นนอกอักเสบ/หูติดเชื้อได้) หรืออาจทำให้แก้วหูฉีกขาด (แก้วหูทะลุ) ได้
- ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหูโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบ น้ำที่เข้าไปในช่องหูชั้นนอกอาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญทำให้ต้องใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้การอักเสบของหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุ เพราะน้ำที่เข้าไปจะเข้าไปสู่หูชั้นกลางทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้
สามารถป้องกันน้ำเข้าหูได้โดยเอาสำลีอุดหู หรือใช้หมวกพลาสติกคลุมผมโดยให้ปิดถึงหู หรือใช้วัสดุอุดรูหู (Ear plug) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านเครื่องกีฬาทั่วไป เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเวลาอาบน้ำ
เมื่อน้ำเข้าหู ควรเอียงศีรษะเอาหูข้างนั้นลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออก ซึ่งจะทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรงที่น้ำจะไหลออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหูจะหายไปทันที ไม่ควรปั่นหรือแคะหู
- เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงจมูก (เช่น โรคหวัดหรือจมูกอักเสบ) โพรงหลังจมูก หรือไซนัสอักเสบ หรือมีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบรักษาให้บรรเทาหรือหายโดยเร็ว เนื่องจากมีทาง/ท่อติดต่อระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ถ้าเป็นโรคดังกล่าวเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังในหูชั้นกลาง หรือท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ
- ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆโดยเฉพาะเอามือบีบจมูกแล้วสั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในช่องจมูกและในไซนัสเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่าย
- ไม่ควรว่ายน้ำ ดำน้ำ เดินทางโดยเครื่องบิน หรือเดินทางขึ้นที่สูงหรือต่ำอย่างรวดเร็ว (เช่น ใช้ลิฟท์) เพราะท่อยูสเตเชียนซึ่งทำหน้าที่ปรับความดันของหูชั้นกลางกับบรรยา กาศภายนอก ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ อาจทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ เสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้
- ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน บริเวณหูและบริเวณใกล้เคียงหูเช่น การถูกตบหู อาจทำให้แก้วหูทะลุและฉีกขาด การที่ศีรษะกระแทกกับพื้นหรือของแข็ง อาจทำให้กระดูกรอบหูแตก อาจทำให้ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด มีเลือด ออกในหูชั้นกลางหรือในหูชั้นใน มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาทางช่องหู หรือทำให้กระดูกหูเคลื่อน ทำให้การนำเสียง/การได้ยินผิดปกติไป
- โรคบางชนิดโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม เกิดหูหนวก หรือหูตึงได้ ควรใส่ใจในการดูแลรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ให้ดีเช่น โรคหวัด โรคหัด โรคคางทูม โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคกรดยูริคในเลือดสู/โรคเกาต์ โรคโลหิตจาง/ภาวะซีด โรคเลือด และควรระวังปัจจัยบางชนิดที่อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติเช่น เครียด วิตกกังวล นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน/Nicotine) รับประทานอาหารเค็ม หรือดื่มเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาทเช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มโคลา (มีสารกาเฟอีน) พยายามออกกำลังกายสม่ำ เสมอตามควรกับสุขภาพเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงประสาทหู
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานานๆ (เช่น เสียงในสถานเริงรมย์ ในโรงงานอุตสาหกรรม) หรือเสียงดังมากๆในระยะเวลาสั้นๆ (เช่น เสียงปืน เสียงประทัด) เพราะจะทำให้ประสาทหูค่อยๆเสื่อมลงทีละน้อยหรือเสื่อมแบบเฉียบพลันได้ ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังเช่น ที่อุดหู (Ear plug) หรือที่ครอบหู (Ear muff)
- ก่อนใช้ยาทุกชนิดไม่ว่าจะฉีด รับประทาน หรือยาหยอดหู ควรปรึกษาแพทย์และ/หรือเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิดเช่น ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ (เช่น Aminoglycoside) ยาแก้ปวด (เช่น Aspirin) หรือยาขับปัสสาวะบางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหูและประสาททรงตัวของหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมหรือเสียการทรงตัวได้ หรือผู้ป่วยอาจแพ้ยา (การแพ้ยา) หรือแพ้ส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
- ขี้หูเป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้นและเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียและป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหู ไม่จำเป็นต้องแคะหู ถ้ามีขี้หูอุดตันมากจนทำให้หูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก บางคนที่มีปัญหาขี้หูเปียกและออกมาจากช่องหูมาก อาจใช้ยาละลายขี้หูหยอดในหูเป็นประจำเพื่อทำการล้างขี้หู (อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าอาการดีขึ้นอาจห่างออก ไปเป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง) ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของขี้หูในช่องหูชั้นนอกได้ หรืออาจทำความสะอาดช่องหูโดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาดให้ชุ่มและเช็ดบริเวณปากรูหูออกมา ไม่ควรแหย่ไปลึกกว่านั้น
- เมื่อมีอาการผิดปกติทางหู เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ปวดหู มีน้ำ/ของเหลว หรือหนองไหลออกจากรูหู คันหู หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต (โรคอัมพาตเบลล์) ควรรีบปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก
บรรณานุกรม
1. Paparella MM, Schachern PA, et al: Temporal bone histopathology in chronically infected ears with intact and perforated tympanic membranes. Laryngoscope 1992; 102:1229-1236.
2. Hildmann H, Sudhoff H, ed. Middle Ear Surgery, New York: Springer Verlag; 2006.
3. Paraya Arsanasen: Public Knowledge for Thai population. The Royal College of Otolaryngologist-Head and Neck Surgeons of Thailand; 2011