เบนซาทีน เพนิซิลลิน (Benzathine penicillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เบนซาทีน เพนิซิลลินอย่างไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเบนซาทีน เพนิซิลลินอย่างไร?
- เบนซาทีน เพนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- โรคสเตรปโธรท (Strep throat)
- ไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
บทนำ: คือยาอะไร?
เบนซาทีน เพนิซิลลิน (Benzathine penicillin) หรือ ยาเบนซาทีน เบนซิลเพนิซิลลิน (Benzathine benzylpenicillin) จัดเป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) โดยมีการนำมาใช้รัก ษาในโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever) รวมถึงโรคซิฟิลิส
องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาเบนซาทีน เพนิซิลลินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน คณะ กรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบของยาเบนซาทีน เพนิซิลลินจะเป็นยาฉีด และต้องจัดเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ มักพบเห็นการใช้ยานี้เฉพาะในสถาน พยาบาลเท่านั้น
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเบนซาทีน เพนิซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคซิฟิลิสทั้งในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ใหญ่
- รักษาโรค Group A Streptococcal Infections (โรคสเตรปโธรท /Strep throat)
- ใช้รักษาในโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
- รักษาการติดเชื้อประเภท Treponemal infections (การติดเชื้อจากกลุ่มแบคทีเรียที่มีลักษณะเป็นเกลียว/Spirochete ที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของช่องปากและของเหงือก)
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเบนซาทีน เพนิซิลลินคือ ตัวยาจะไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการแบ่งตัวที่รวมถึงการเจริญเติบโต ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเบนซาทีน เพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาฉีดขนาด 1.2 ล้านยูนิต (หน่วยที่ใช้ทางยานี้)
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน มีขนาดการบริหารยาได้หลากหลายขนาดแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี โดยขึ้นกับชนิดของโรค ความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์ ตัวอย่างหนึ่งของขนาดการใช้ยานี้เช่น
ก. รักษาซิฟิลิสระยะแรก (Early syphilis): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ขนาด 2.4 ล้านยูนิต
ข. รักษาซิฟิลิสระยะแฝง (Early latent): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ขนาด 2.4 ล้านยูนิต หากเป็นซิฟิลิสขึ้นสมอง(Neurosyphilis) ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 2.4 ล้านยูนิตต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 3 สัปดาห์
ค. รักษาซิฟิลิสในเด็ก: เช่น
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 50,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว แต่ห้ามเกิน 2.4 ล้านยูนิต
- เด็กอายุมากกว่า 2 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 50,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว ซึ่งสามารถปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัวไปจนถึงขนาดยาของผู้ใหญ่
ง. ในโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ขนาด 1.2 ล้านยูนิต
- เด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่า 27 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 ยูนิต
- เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 27 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1.2 ล้านยูนิต
อนึ่ง ในโรคไข้รูมาติก หลังการฉีดยานี้ครั้งแรกแล้ว อาจจำเป็นต้องมีการฉีดยาเพิ่มเติมต่อ ไป ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป
จ. รักษาการอักเสบที่มีสาเหตุจากติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคอล (Group A Streptococcal Infections/โรคสเตรปโธรท): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว 1.2 ล้านยูนิต
- เด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่า 27 กิโลกรัม: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 ยูนิตครั้งเดียว
- เด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 27 กิโลกรัม: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1.2 ล้านยูนิตครั้งเดียว
ฉ. สำหรับ Treponemal infection: เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว ขนาด 1.2 ล้านยูนิต
- เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว 600,000 ยูนิต
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเบนซาทีน เพนิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเบนซาทีน เพนิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ผื่นคัน
- มีไข้
- หนาวสั่น
- มีอาการบวมเกิดขึ้น เช่น ที่คอ
- หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- ปวดข้อ
- ปวดหัว
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- ไตอักเสบ
- เส้นประสาทอักเสบ
- เนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดยาเกิดบาดเจ็บ/อักเสบ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- เป็นแผลในปาก - ลิ้น
มีข้อควรระวังการใช้เบนซาทีน เพนิซิลลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้, แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin), หรือ แพ้ยากลุ่ม เซฟาโรสปอริน (Cephalosporin)
- การใช้ยานี้ในขนาดสูงๆสามารถทำให้เกิดภาวะไตอักเสบได้
- การใช้ยานี้อาจเกิดความเสี่ยงเป็นพิษต่อเส้นประสาท(เส้นประสาทอักเสบ) หรือทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวยานี้กับผิวหนังโดยตรง เพราะผิวหนังที่ถูกสัมผัสอาจอักเสบได้
- ขณะที่มีการใช้ยานี้ต้องควบคุมระดับเกลือแร่โพแทสเซียมในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ
- หากมีการใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ดื้อต่อยานี้ได้ (อ่านเพิ่ม เติมในเว็บ com บทความเรื่อง เชื้อดื้อยา)
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาเบนซาทีน เพนิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเบนซาทีน เพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน ร่วมกับยา Probenecid สามารถทำให้ระดับยาเบนซาทีน เพนิซิลลินอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้น สามารถส่งผลให้การออกฤทธิ์ยาวนานขึ้นหรือไม่ก็เกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้นติดตามมา การใช้ยาร่วมกันต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน ร่วมกับยา Tetracycline, Doxycycline, สามารถทำให้ระดับยาเบนซาทีน เพนิซิลลินในเลือดลดลงจนอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
- การใช้ยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน ร่วมกับยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายโดย เฉพาะในผู้สูงอายุหรือในผู้ป่วย โรคไต โรคตับ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะตรวจสอบและควบคุมปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดเพื่อทำให้เลือดแข็งตัวได้อย่างปกติ
ควรเก็บรักษาเบนซาทีน เพนิซิลลินอย่างไร
ควรเก็บยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นแสงแดด ความชื้น
- เก็บยาในภาชนะปิดมิดชิด
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เบนซาทีน เพนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเบนซาทีน เพนิซิลลิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Retarpen 1.2 M Unit (รีทาร์เพ็น 1.2 เอ็ม ยูนิต) | Sandoz |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzathine_benzylpenicillin [2022,Jan8]
- https://www.nps.org.au/medicine-finder/bicillin-l-a-suspension-for-injection [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=Benzathine%20benzylpenicillin [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/benzathine%20benzylpenicillin?mtype=generic [2022,Jan8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/penicillin-g-benzathine-procaine-penicillin.html#W [2022,Jan8]
- https://reference.medscape.com/drug/bicillin-la-permapen-penicillin-g-benzathine-999573 [2022,Jan8]
- https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/penicillin+G+benzathine [2022,Jan8]
- https://www.medsafe.govt.nz/profs/datasheet/b/BicillinLAinj.pdf [2022,Jan8]