โรคสเตรปโธรท (Strep throat)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 4 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคสเตรปโธรทติดต่อไหม? ติดต่อได้อย่างไร?
- โรคสเตรปโธรทมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคสเตรปโธรทได้อย่างไร?
- รักษาโรคสเตรปโธรทได้อย่างไร?
- โรคสเตรปโธรทรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคสเตรปโธรทอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ (Lymphadenitis)
บทนำ
สเตรปโธรท หรือ โรคเจ็บคอสเตรปโธรท (Strep throat) เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิด กรุ๊ป เอ สเตรปโตคอกคัส (Group A beta- hemolytic streptococcus หรือ เรียกย่อว่า แกส /GAS หรือ GABHS) จากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ โดยการคลุกคลี ใกล้ชิด หรืออยู่ร่วมกันในสถานที่แออัด (เช่น โรงเรียน) กับคนป่วยด้วยโรค สเตรปโธรท หรือกับคนที่ติดเชื้อสเตรปโธรทแต่ไม่มีอาการ (พาหะโรค) หรือคนที่เป็นรังโรคของเชื้อสเตรปโธรท
อนึ่ง เรียก ‘สเตรปโธรท’ได้อีกชื่อว่า ‘คอหอยอักเสบจากเชื้อสเตรป’ หรือ ‘คอหอยอักเสบจากเชื้อสเตรปโตคออกคัส(Streptococcal pharyngitis)’
เชื้อสเตรปฯ มีคนเป็นรังโรค โดยพบอยู่ในลำคอ ในโพรงหลังจมูก และบนผิวหนัง แต่บางการศึกษาพบว่า สุนัข และแมวเลี้ยง อาจเป็นรังไรคได้เช่นเดียวกับคน
สเตรปโธรท เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในคนทุกอายุ แต่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 5-15 ปี โดยพบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน โดยพบเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบได้ประมาณ 15-30% ของอาการเจ็บคอในเด็กทั้งหมด และเป็นประมาณ 5-20 % สำหรับในผู้ใหญ่ ทั้งนี้อาการเจ็บคอส่วนใหญ่ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ เกิดจากติดเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่
โรคสเตรปโธรทติดต่อไหม? ติดต่อได้อย่างไร?
โรคสเตรปโธรทเป็นโรคติดต่อได้ง่าย และรวดเร็ว จากการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยสเตรปโธรท และ/หรือ คนที่เป็นพาหะโรค และ/หรือเป็นรังโรค จากการสัมผัสกับ น้ำมูก น้ำลาย ของคนมีเชื้อ ทั้งคนป่วยและพาหะ ดังนั้น เมื่อมีคนป่วยด้วยโรคนี้ นอกจากการไม่คลุกคลีกันแล้ว ยังควรแยกเครื่องใช้ส่วนตัว รวมทั้งช้อนและแก้วน้ำด้วย
เชื้อสเตรปฯ กำจัดได้ง่ายจากการล้างทำความสะอาด และตากภาชนะต่างๆให้แห้ง หรือ ด้วยการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป ซึ่งเมื่ออยู่ในที่อับชื้น เช่น ในแปรงสีฟัน เชื้ออาจอยู่ได้นานถึง 15 วัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อซ้ำได้อีกจากเชื้อสเตรปฯที่ติดค้างอยู่ที่แปรงสีฟันนั่นเอง
โรคสเตรปโธรทมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยสเตรปโธรท มักเริ่มมีอาการประมาณ 1-3 วันหลังจากได้รับเชื้อ (ระยะฝักตัวของโรค) โดยบางคนอาจมีอาการมาก บางคนอาจมีอาการน้อย ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพดังเดิมของผู้ป่วย ซึ่งอาการสำคัญ ที่แพทย์ใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค สเตรปโธรท คือ
1. เกิดในช่วงอายุ 3-15 ปี อายุช่วงอื่นเกิดโรคได้แต่พบได้น้อย ส่วนใหญ่มักเกิดเจ็บคอจากโรคอื่นๆมากกว่า เช่น จากไวรัส
2. มีไข้สูงทันที่ สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส (Celsius)
3. เจ็บคอทันที ซึ่งอาจเจ็บข้างเดียว หรือ สองข้าง อาจเจ็บมากจนทำให้กิน ดื่มน้ำได้น้อย หรือ บางครั้งอาจเจ็บไม่มาก
4. ไม่มีอาการไอ แต่อาจมีได้บ้างแต่ไอน้อยมาก และไม่มีเสมหะ
5. มีต่อมทอนซิลอักเสบ บวม แดง อาจมีลักษณะคล้ายหนอง หรือมีสารคัดหลั่งเหลืองๆปกคลุมบนผิวของต่อมทอนซิล
6. อาจพบมีจุดแดงๆเล็กๆคล้ายจุดไข้เลือดออก กระจายที่เพดานอ่อน
7. มีต่อมน้ำเหลืองด้านหน้าลำคอโต/ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มักเกิน 1 เซนติเมตร คลำได้ และเจ็บ ซึ่งใช้ช่วยแยกจากการเจ็บคอจากติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต แต่ถ้ามี จะมีขนาดเล็กกว่ามากมักไม่เกิน 1 เซนติเมตร และเป็นต่อมน้ำเหลืองกลุ่มอยู่ด้านหลังของคอ หรือบริเวณกกหู
อนึ่ง อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมได้ เช่น ปวดศีรษะ หนาวสั่น รู้สึกไม่สบาย เบื่ออาหาร บางครั้งมีผื่นขึ้นทั่วตัวได้ ไม่ค่อยมีน้ำมูก และไม่มีอาการตาแดง หรือ ตากลัวแสง
แพทย์วินิจฉัยโรคสเตรปโธรทได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคสเตรปโธรทได้จาก ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค การตรวจร่างกาย ตรวจดูลำคอ ตรวจดูต่อมทอนซิล และตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ ซึ่งการตรวจทางคลินิกเหล่านี้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่ชัดเจน การวินิจฉัย ที่แน่นอน คือ การเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งในลำคอ หรือ บางครั้งใช้การตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) จากเชื้อสเตรปจากสารคัดหลั่งในลำคอซึ่งได้จากการป้ายคอแล้วนำสารนั้นตรวจทางห้องปฏิบัติการ เรียกว่า การตรวจ อาร์เอดีที (RADT ซึ่งย่อมาจาก Rapid antigen detection testing)
รักษาโรคสเตรปโธรทได้อย่างไร?
โรคเจ็บคอสเตรปโธรท ที่ไม่รุนแรง โรคหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ได้รับยาปฏิชีวนะ เพราะจะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้นภายใน 1-3 วัน ลดระยะเวลาในการหยุดเรียน ในการหยุดงาน ลดการแพร่เชื้อ และยังลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อตัวนี้ ซึ่งการได้รับยาปฏิชีวนะจำเป็นต้องได้รับจากแพทย์ จึงจะได้ชนิด ปริมาณ และระยะเวลาในการกินยาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เสมอภายใน 1-3 วัน เมื่อมีอาการสำคัญ ดังกล่าวแล้ว
โรคสเตรปโธรทรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไป โรคสเตรปโธรท เป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หายเสมอ แต่กลับเป็นใหม่ได้อีกอย่างรวดเร็ว ภายใน 2-3 วันหลังอาการดีขึ้นถ้าได้รับเชื้อกลับมาใหม่
โรคสเตรปโธรท เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง หรือ มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูติดเชื้อ ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง โรคไข้รูมาติก และโรคไตอักเสบ อย่างไรก็ตาม การเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนพบเกิดได้น้อยโดยเฉพาะเมื่อกินยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์เสมอ ภายใน 1-2 วันเมื่อมีอาการของ เสตรปโธรท คือ เมื่อเจ็บคอ มีไข้ ร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต เจ็บ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้ว
และการดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อป่วยด้วยโรคสเตรปโธรท ได้แก่
- การพักผ่อน หยุดเรียน หยุดงาน อย่างน้อยหลังกินยาปฏิชีวนะและไข้ลงแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
- กินยาปฏิชีวนะให้ครบถ้วนตามแพทย์แนะนำ ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการหายแล้ว เพื่อป้องกัน การย้อนกลับมาติดเชื้ออีก และ/หรือการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนดังกล่าวในหัวข้อความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ระยะเวลาในการกินยาขึ้นกับชนิดของยาปฏิชีวนะที่แพทย์เลือกใช้
- อมยาลูกอมบรรเทาอาการเจ็บคอ ตามแพทย์แนะนำ หรือ อาจซื้อเองได้โดยปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
- กินยาแก้ปวด/เจ็บตามแพทย์แนะนำ หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเอง แต่ในเด็กไม่ควรใช้ยาแก้ปวด/ยาลดไข้ แอสไพริน เพราะอาจแพ้ยาแอสไพรินรุนแรงได้
- ดื่มน้ำอุ่น หรือ น้ำอุณหภูมิปกติมากๆ (ไม่ดื่มน้ำเย็น) อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ (ทำใช้เองได้ ไม่มีสูตรตายตัว เพียงแต่ไม่ให้เค็มมาก เช่น เกลือสะอาดครึ่งช้อนชาในน้ำ1แก้วใหญ่ เป็นต้น) หรือ ด้วยน้ำยาบ้วนปากที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้ช่องปาก/ลำคอชุ่มชื้น บรรเทาอาการเจ็บคอ และเพื่อรักษาความสะอาดของช่องปาก และลำคอ
- กินอาหารอ่อน หรือ อาหารเหลว อาหารน้ำ รสจืด (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินครั้งละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น
- อมยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ ตามแพทย์แนะนำ หรือ อาจซื้อยาเองได้ดังได้กล่าวแล้ว
- กินยาแก้ปวด/เจ็บตามแพทย์แนะนำ หรือ ปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเอง แต่ในเด็กไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจแพ้ยารุนแรงได้
- แยกของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะช้อน แก้วน้ำ และใช้ช้อนกลางเสมอในการกินอาหาร นอกจากนั้น แพทย์บางท่านแนะนำให้เปลี่ยนแปรงสีฟันหลังกินยาปฏิชีวนะได้ 24 ชั่วโมงแล้ว เพราะดังกล่าวแล้วว่า เชื้อสเตรปมีชีวิตอยู่ได้ในแปรงสีฟันนานถึงประมาณ 15 วัน จึงสามารถย้อนกลับมาก่อการติดเชื้อได้ใหม่เสมอ
- ควรรีบพบแพทย์ เมื่อย้อนกลับมามีไข้อีกหลังจากไข้ลงแล้ว ทั้งนี้ เพราะอาจเกิดการย้อนกลับมาติดเชื้อใหม่ ตราบเท่าที่ไม่รู้ว่าใครเป็นพาหะโรค หรือ แหล่งรังโรค เพราะอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนชนิดยาปฏิชีวนะใหม่
ป้องกันโรคสเตรปโธรทอย่างไร?
การป้องกันโรคสเตรปโธรท ที่สำคัญ คือ การป้องกันการติดเชื้อ สเตรปฯ โดย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- ไม่คลุกคลีกับคนป่วยด้วยโรคสเตรปโธรท
- เก็บแปรงสีฟันไม่ปะปนกับคนอื่น ไม่ใช้แปรงสีฟันร่วมกัน เพราะเชื้อสเตรปฯ มักติดอยู่ในแปรงสีฟันดังกล่าวแล้ว และเราไม่รู้ว่าใครเป็นพาหะโรค หรือเป็น รังโรค
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโรคพื้นฐาน คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
บรรณานุกรม
- Armstrong, C. (2010). AHA guidelines on prevention of rheumatic fever and diagnosis and treatment of acute streptococcal pharyngitis. Am Fam Physician. 81, 346-359.
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Choby, B. (2009). Diagnosis and treatment of streptococcal pharyngitis. Am Fam Physician. 79, 383- 390.
- Wessels, M. (2011). Streptococcal pharyngitis. N Engl J Med. 364, 648-655
- http://en.wikipedia.org/wiki/Streptococcal_pharyngitis [2018,July14]