กระเพาะอาหารบีบตัวช้า: อัมพาตกระเพาะ(Gastroparesis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

อัมพาตกระเพาะ  หรือ กระเพาะอาหารบีบตัวช้า  (Gastroparesis ย่อว่า GP)คือ โรคหรือภาวะที่กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานบีบตัวช้าลง/ลดน้อยลงจนอาจถึงขั้นไม่บีบตัว ซึ่งการบีบตัวช้าลง จะส่งผลให้การย่อยอาหารของกระเพาะอาหารลดลง  ย่อยอาหารได้ไม่ละเอียด ส่งผลถึงการดูดซึมสารอาหารต่างๆในกระเพาะอาหารและลำไส้ต่ำลง  นอกจากนั้น ยังทำให้มีอาหารที่ย่อยไม่หมดตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการ แน่นท้อง  คลื่นไส้อาเจียน   ปวดท้อง  ซึ่งถ้าเศษอาหารเหล่านี้ตกค้างสะสมต่อเนื่อง จะเป็นสาเหตุเกิดการอุดตันของกระเพาะอาหาร(ลำไส้อุดตัน)ที่จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ซึ่งอาการคือปวดท้องรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน

         อนึ่ง:

  • Gastroparesis(แกสโตรพารีสิส) พจนานุกรมศัพท์แพทยศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 แปลโรคนี้ว่า ‘อัมพาตกระเพาะ’
  • ชื่ออื่นของ อัมพาตกระเพาะ/อัมพาตกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอ่อนแรง,  กระเพาะอาหารบีบตัวน้อย,   กระเพาะอาหารไม่บีบตัว, กระเพาะบีบตัวช้า
  • ส่วนชื่อภาษาอังกฤษอื่นๆ เช่น
  • Delayed gastric emptying ย่อว่า DGE
  • Gastric stasis

ทั้งนี้ สถิติเกิด   อัมพาตกระเพาะ/ กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/แกสโตรพารีสิส  ยังไม่มีรายงานชัดเจน แต่เป็นโรค/ภาวะพบเรื่อยๆ ไม่ถึงกับพบบ่อย  พบทั่วโลก  ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ  พบทุกวัย ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) จนถึงผู้สูงอายุ  ทั่วไปมักพบในผู้ใหญ่  เพศหญิงพบบ่อยกว่า เพศชาย

 

อัมพาตกระเพาะอาหารมีสาเหตุจากอะไร?

ประมาณ 50%ของผู้ป่วยอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ และไม่ทราบปัจจัยเสี่ยง เรียกผู้ป่วยกลุ่ม ’ไม่ทราบสาเหตุ’นี้ว่า ‘Idiopathic gastroparesis’    

ส่วนในกลุ่มที่ทราบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง  มักเกิดจาก มีการอักเสบ บาดเจ็บ ของเส้นประสาทต่างๆที่ควบคุมการทำงานของ กล้ามเนื้อกระเพาะฯที่รวมถึงเส้นประสาทสมองคู่ที่10ที่ชื่อว่า เส้นประสาทเวกัส(Vagus nerve)ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร), และ/หรือ ของเซลล์ในผนังกระเพาะฯ ชื่อ Pacemaker cell ที่ทำหน้าที่ประสานงานและส่งสัญญาณให้เกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะฯ    

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการทำงานของเส้นประสาทและ/หรือของPacemaker cell   เช่น

  • โรคเบาหวาน: ซึ่งเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงพบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี
  • มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทเวกัส: เช่น จากผ่าตัดกระเพาะอาหาร,  หรือ ผ่าตัดอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร (เช่น ตับอ่อน), หรือ ผ่าตัดกระดูกสันหลัง (เช่น จากการรักษากระดูกสันหลังคด)
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิดต่อการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะฯ เช่น                      
    • ยาต้านเศร้า
    • ยา/สาร Nicotine
    • ฮอร์โมนเพศหญิง ชนิด Progesterone
    • ยาลดความดัน กลุ่ม Calcium channel blocker
    • ยาเคมีบำบัด
    • ยาแก้ปวด กลุ่ม ยามอร์ฟีน(Morphine) /กลุ่มโอปิออยด์(Opioid)
    • ยากลุ่ม Antimuscarinic drugs เช่นยา  Atropine,   Diphenhydramine, Chlorpheniramine,  Hydroxyzine
  • โรคสมองบางโรค เช่น
    • โรคพาร์กินสัน
    • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • โรคติดเชื้อไวรัสที่กระเพาะอาหาร/ ไวรัสลงกระเพาะ
  • โรคเรื้อรังบางโรค เช่น 
    • โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูนบางชนิด เช่น โรคหนังแข็ง  
    • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
    • โรคมะเร็งต่างๆ

 

โรคอัมพาตกระเพาะอาหารมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะโรคของอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า  แต่เป็นอาการทั่วไปที่เหมือนกับโรคกระเพาะอาหารทั่วไป แต่มักเป็นอาการเรื้อรังและมักค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

         ก. อาการพบบ่อยในเกือบทุกผู้ป่วย:  เช่น

  • คลื่นไส้เรื้อรัง พบได้ประมาณ 90%ของผู้ป่วย
  • อาเจียน โดยเฉพาะอาเจียนเป็นอาหารที่ยังไม่ได้ย่อย หรือย่อยไม่หมด/ไม่ละเอียด พบได้ประมาณ 70-85%
  • ปวดท้องเรื้อรัง มักปวดในตำแหน่งของกระเพาะอาหาร คือ ตรงยอดอก/ช่องท้องช่วงบนตอนกลางๆท้อง พบได้ประมาณ 50-90%
  • รู้สึกอิ่มเร็วเมื่อกินอาหาร พบได้ประมาณ 60-90%

 

ข. อาการอื่นๆที่อาจพบได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ เช่น

  • มักคลื่นไส้ตั้งแต่เช้า
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย    
  • เรอบ่อย
  • แน่นอึดอัดท้องหลังบริโภค
  • มีอาการของโรคกรดไหลย้อน เช่น อาการแสบร้อนกลางอก
  • เบื่ออาหาร
  • มีภาวะทุพโภชนา
  • ผอมลง
  • ปวดเมื่อยเนื้อตัว/กล้ามเนื้อ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เหงื่ออกกลางคืน
  • ใจสั่นบ่อย
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งถ้าเป็นเบาหวาน จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
  • ซึมเศร้า

 

โรคอัมพาตกระเพาะอาหารก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า ก่อผลข้างเคียงได้หลายประการ ที่พบบ่อย เช่น

  • ภาวะขาดอาหาร/ทุพโภชนา จากขาดประสิทธิภาพในการย่อยอาหารของกระเพาะฯซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ร่วมกับผอมลงอย่างต่อเนื่อง
  • การขาดประสิทธิภาพในการย่อยอาหารและในการดูดซึมอาหารจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้การควบคุมโรคเบาหวาน/ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นไปได้ยาก
  • ภาวะขาดน้ำจากอาเจียนบ่อยซึ่งอาจอาเจียนรุนแรง
  • มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงจากอาการเรื้อรังต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
  • เกิดภาวะมีเศษอาหารตกค้างสะสมในกระเพาะอาหารที่เรียกว่า ‘Bezoar’ จนอาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอุดตัน(ลำไส้อุดตัน)
  • กระเพาะอาหารรวมถึงลำไส้ติดเชื้อบ่อยจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร

 

ควรพบแพทย์เมื่อไร? 

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรืออาการแย่ลง หรือมีอาการแย่ตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

 

แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น  อาการ  โรคประจำตัว  การใช้ยาต่างๆ  ประวัติการผ่าตัดช่องท้อง
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำช่องท้อง
  • การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้  เช่น ซีบีซี/CBC, ค่าระดับน้ำตาลในเลือด, ค่าเกลือแร่ในเลือด, สารภูมิต้านทาน,  สารก่อภูมิต้านทาน
    • อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิเตอร์/ ซีทีสแกน ดูภาพกระเพาะอาหารและอวัยวะต่างๆในช่องท้อง
    • เอกซเรย์กลืนแป้งเพื่อดูภาพกระเพาะอาหาร,การบีบตัว, และระยะเวลาที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของอาหารจากกระเพาะฯสู่ลำไส้เล็ก ที่เรียกว่า Upper GI series
    • ส่องกล้องกระเพาะอาหาร อาจร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคกรณีพบรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อดูการบีบตัวเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารที่เรียกว่า Gastric emptying scan หรือ Gastric emptying scintigraphy
    • ตรวจสารบางชนิดจากลมหายใจเพื่อดูอัตราการย่อยอาหารของกระเพาะอาหาร โดยให้ผู้ป่วยกินอาหาร/สารบางอย่างที่เมื่อถูกย่อย/ดูดซึมจะถูกปล่อยออกมาทางลมหายใจ ซึ่งหลังกินสารนี้ประมาณ 4 ชั่วโมง แพทย์จะตรวจวัดค่าสารนี้จากลมหายใจ เรียกการตรวจนี้ว่า Gastric emptying breath test
    • ตรวจการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้โดยกลืนเครื่องมือที่เป็นแคปซูลที่บรรจุเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เรียกการตรวจนี้ว่า Wireless motility capsule หรือ Smart Pill

 

มีแนวทางรักษาโรคอัมพาตกระเพาะอาหารอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคอัมพาตกระเพาะ/ กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า  ได้แก่  การปรับพฤติกรรมการบริโภคซึ่งเป็นการรักษาหลักที่ต้องใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆทุกวิธี,  การรักษาสาเหตุ,  การใช้ยา,  การผ่าตัด,  และการรักษาตามอาการ

 

         ก.  ปรับพฤติกรรมการบริโภค: เพื่อให้กระเพาะอาหารได้รับปริมาณอาหารแต่ละครั้งเหมาะกับประสิทธิภาพการทำงานที่เหลืออยู่เพื่อช่วยการย่อยและเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารจำเป็นที่พอเพียงพอ ซึ่งทั่วไปได้แก่

  • กินอาหารหลักแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลง โดยเพิ่มมื้ออาหารทดแทน ที่แพทย์มักแนะนำ คือ เปลี่ยนจาก 3 มื้อต่อวัน เป็นประมาณ 5-6 มื้อต่อวัน
  • กินแต่อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • ลดประเภทอาหารที่ย่อยยาก เช่น ไขมัน, อาหารกากใยสูง, อาหารแข็ง 
  • ควรบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย เช่น อาหารอ่อน(อ่านเพิ่มเติมจากเว็บcom เรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์),  อาหารต้มสุกเปื่อยได้ยิ่งดี
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนเพื่อช่วยการย่อยของกระเพาะฯ
  • จำกัด หรือ ไม่บริโภคอาหารที่รสจัด, อาหาร/เครื่องดื่มที่ก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะฯ  เช่น  น้ำอัดลม,  คาเฟอีน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวันเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • อาจดื่มยาผงเกลือแร่(โออาร์เอส)หรือ เครื่องดื่มเกลือแร่ร่วมด้วย ตามคำแนะนำของแพทย์ และ โภชนากร
  • หลีกเลี่ยง/จำกัด น้ำผลไม้ที่รสจัด เช่น น้ำส้มเข้มข้น
  • เคลื่อนไหวร่างกายหลังอาหารหลักทุกมื้อ เช่น เคลื่อนไหว/เดินออกกำลังช้าๆ เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะฯและลำไส้
  • ไม่ควรนอนราบภายในประมาณ 2 ชั่วโมงหลังบริโภคอาหารหลัก
  • กินวิตามินเสริมอาหารสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดไปตามคำสั่งแพทย์

 

         ข.  รักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดที่รวมถึงวิธีรักษาในแต่ละโรคได้จากเว็บ haamor.com  เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • โรคภูมิต้านตนเอง
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

 

ค. การใช้ยาต่างๆ:  เช่น ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร, ฯลฯ โดยต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่นยา

  • Metoclopramide
  • Domperidone
  • Erythromycin

 

ง.การผ่าตัด: ที่มีหลากหลายวิธีโดยมีข้อบ่งชี้ตามแต่ละวิธี ซึ่งมักใช้เมื่อการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการบริโภค และ/หรือ การใช้ยาไม่ได้ผล เช่น

  • ผ่าตัดให้อาหารผ่านทางหลอดเลือดดำที่ส่วนล่างของลำคอ
  • ผ่าตัดใส่ท่อให้อาหารเหลวเข้าสู่ลำไส้เล็กโดยตรงโดยไม่ผ่านกระเพาะฯ
  • ผ่าตัดใส่ท่อในกระเพาะฯและเปิดปลายท่อออกหน้าท้องเพื่อใช้ช่วยระบายอาหารตกค้างออกจากกระเพาะอาหาร
  • ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารบีบตัว
  • ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือ ผ่าตัดออกทั้งกระเพาะอาหาร กรณีกระเพาะอาหารเสียการบีบตัวจนไม่สามารถกลับสู่ขนาดปกติได้
  • ผ่าตัดกระเพาะอาหารกรณีเกิดกระเพาะอาหาร/ลำไส้อุดตัน

จ. การรักษาตามอาการ: คือการรักษาตามอาการแต่ละผู้ป่วย เช่น

  • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
  • ยาแก้ท้องผูก
  • ยาต้านเศร้า
  • ยาแก้ปวดท้อง

ฉ.อื่นๆ: เป็นการรักษาที่ยังอยู่ในการศึกษา เช่น  ฉีดยาโบทอกซ์/โบทูไลนัมท็อกซิน  บริเวณหูรูดกระเพาะอาหารส่วนต่อเข้าลำไส้เล็ก เพื่อลดการหดรัดของหูรูดที่อาจช่วยให้อาหารผ่านจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กได้มากขึ้น/เร็วขึ้น

 

โรคอัมพาตกระเพาะอาหารรุนแรงไหม? 

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคอัมพาตกระเพาะ/ กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า  ขึ้นกับ สาเหตุ และความรุนแรงของอาการที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆที่กล่าวใน’หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ’  ดังนั้น แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคได้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป เช่น

  • ถ้าสาเหตุโรคเกิดตามหลังการติดเชื้อของกระเพาะอาหาร และไม่มีผลข้างเคียงจากโรค การรักษามักได้ผล และผู้ป่วยสามารถหายได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีหลังเกิดอาการ
  • แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคเบาหวาน ซึ่งมักทำให้เกิดโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก การพยากรณ์โรคไม่ดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยถึงตายได้จากขาดอาหารและจากโรคเบาหวาน

 

ดูแลตนเองอย่างไร?   พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?    

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้า ได้แก่

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล โภชนากร  
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต/การบริโภคอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ และดังกล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ’
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น อาเจียนเป็นเลือดจากที่ไม่เคยมีมาก่อน
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น  ขึ้นผื่น  วิงเวียนศีรษะมากต่อเนื่อง   
    • กังวลในอาการ

 

มีการตรวจคัดกรองโรคอัมพาตกระเพาะอาหารไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้าตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองแล้ว 1-2  สัปดาห์ หรือเมื่ออาการแย่ลงเรื่อยๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่นๆที่จะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิผลมากขึ้น

 

ป้องกันโรคอัมพาตกระเพาะอาหารได้อย่างไร?

การป้องกันโรคอัมพาตกระเพาะ/กระเพาะอาหารบีบตัวช้า/กระเพาะบีบตัวช้าให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ เพราะประมาณ50%ของผู้ป่วย แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ

 อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง หรือควบคุมดูแลรักษาโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยง(ดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’) ให้ได้ดี จะช่วยให้ลดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ลงได้ในระดับหนึ่ง

 

บรรณานุกรม

  1. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15522-gastroparesis   [2022,Jan15]
  2. https://rarediseases.org/rare-diseases/gastroparesis/   [2022,Jan15]
  3. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/gastroparesis  [2022,Jan15]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Gastroparesis  [2022,Jan15]