อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 8 ธันวาคม 2561
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไร?
- ปัจจัยเสี่ยงต่ออาหารไม่ย่อยมีอะไรบ้าง?
- อาหารไม่ย่อยมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาหารไม่ย่อยอย่างไร?
- รักษาอาการอาหารไม่ย่อยอย่างไร?
- อาหารไม่ย่อยรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันอาหารไม่ย่อยอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- มีแก๊สในท้อง แน่นอึดอัด ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ ผายลม (Gas,Bloating,Belching,and Flatulence)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ยาลดกรด (Antacids)
- มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (GI motility stimulant or Prokinetic drugs)
- ยาช่วยย่อย (Digestive drug)
- ยาขับลม ยาลดแก๊ส (Carminative)
บทนำ
อาหารไม่ย่อย หรือธาตุพิการ (Indigestion หรือ Dyspepsia) คือ อาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้น อาจมีเพียงอาการเดียว หรือหลายๆอาการพร้อมกัน อาจเกิดในขณะกินอาหาร และ/หรือภายหลังกินอาหาร เช่น แน่นท้อง อึดอัดในท้อง เรอ แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ บางครั้งอาเจียน
อาหารไม่ย่อย เป็นอาการมักพบในผู้ใหญ่ แต่พบได้ในทุกอายุ เป็นอาการพบบ่อยประมาณได้ถึง 25-40% ของประชากรทั่วโลกต่อปี โอกาสเกิดอาการใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไร?
อาการอาหารไม่ย่อยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60%ของผู้มีอาการนี้ทั้งหมด คือ แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการตรวจด้วยวิธีใดๆก็ตาม ซึ่งรวมทั้งการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่ง เรียกผู้ป่วยในกลุ่มนี้ว่า Functional dyspepsia
นอกจากนั้นที่พบเป็นสาเหตุของอาการนี้ คือ
- จากโรคแผลเปบติค หรือ แผลในกระเพาะอาหาร พบได้ประมาณ 15-25%
- โรคกรดไหลย้อน (กรดไหลกลับ) หรือโรคเกิร์ด (GERD, Gastroesophageal reflux) พบได้ประมาณ 5-15%
- โรค มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งหลอดอาหาร พบได้ประมาณ น้อยกว่า 2%
- นอกนั้น จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างประปราย เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอักเสบ โรคกระเพาะอาหารบีบตัวได้น้อย โรคขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยน้ำนม โรคเบาหวาน มีพยาธิลำไส้ โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งตับอ่อนและจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสดส์ (NSAIDS, Non-steroidal anti-inflammatory drug)
ปัจจัยเสี่ยงต่ออาหารไม่ย่อยมีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการอาหารไม่ย่อยกลุ่มที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน (Functional dyspepsia) ที่พบบ่อย คือ
- กินอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ ส่งผลให้น้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอที่จะย่อยอาหารได้
- กินอาหารไขมันมาก อาหารทอด ผัด ที่ใช้น้ำมันมาก ซึ่งอาหารไขมันเป็นอาหารย่อยยาก ตกค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้นาน
- กินอาหารรสจัด จึงก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
- กินเร็ว จึงเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารจึงย่อยยาก
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้
- สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ก่อการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
- ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มโคล่า เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด เพราะกาเฟอีนกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากขึ้น
- กินอาหารกากใยอาหารสูง เพราะย่อยยาก และเป็นอาหารสร้างก๊าช/แก๊สในลำไส้
- ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด กังวล เพราะส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ และ/หรือมีการบีบตัวเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารลำไส้ผิด ปกติ
อาหารไม่ย่อยมีอาการอย่างไร?
อาการจากอาหารไม่ย่อยที่พบได้บ่อย คือ
- แน่น อึดอัดท้อง โดยเฉพาะบริเวณกลางช่องท้องตอนบน มักมีอาการได้ตั้งแต่ใน ขณะกินอาหาร หรือหลังกินอาหารอิ่มแล้ว
- ปวดท้อง มวนท้อง แต่อาการไม่มาก โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหาร (ช่องท้องบริเวณลิ้นปี่/ตรงกลางของช่องท้องตอนบน)
- แสบ ร้อน บริเวณลิ้นปี่ และ/หรือ แสบร้อนกลางอก
- อาจมีคลื่นไส้ และ/หรืออาเจียนได้
- อาจมีท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ และ/หรือมีแก๊สในกระเพาะอาหาร ลำไส้มาก
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาหารไม่ย่อยอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยอาการอาหารไม่ย่อยและสาเหตุได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วย และการกินยา/ใช้ยาต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
ซึ่งทั่วไป หลังการซักถามฯและการตรวจร่างกาย แพทย์จะแนะนำให้กินยาประเภทยาลดกรด หรือเพิ่มการย่อยอาหาร และปรับพฤติกรรมการกินอาหาร หลังจากนั้นให้ดูอาการประมาณ 3-4 สัปดาห์
- ถ้าอาการดีขึ้น ก็วินิจฉัยว่า อาการอยู่ในกลุ่มอาการอาหารไม่ย่อย
- แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการมากขึ้น จึงอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือดดูน้ำตาลเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน
- การตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแผลเปบติค
- แต่ที่ให้ผลแน่นอน และสามารถวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย คือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาอาการอาหารไม่ย่อยอย่างไร?
แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ
ก.การรักษาตามสาเหตุ เช่น รักษาโรคแผลเปบติค หรือการปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น
ข. แต่เมื่อแพทย์วินิจฉัยเป็นอาการอาหารไม่ย่อยจาก ไม่ทราบสาเหตุ แนวทางการรักษา คือ
- การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
- การให้ยาต่างๆตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ยาลดกรด
- ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหาร/ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดิน อาหาร
- ยาช่วยย่อยอาหาร และ
- ยาขับลม/ดูดซึมแก๊สในลำไส้
- แต่ถ้าอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือมีอาการเลวลง หรือ มีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกเหนือไปจากอาการเดิม เช่น อุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด
- แพทย์มักแนะนำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอน
- รวมทั้งเพื่อ การวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคแผลเปบติค
อาหารไม่ย่อยรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการอาหารไม่ย่อยขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- การพยากรณ์โรครุนแรงเมื่อเกิดจากมะเร็งกระเพาะอาหาร
- แต่โดยทั่วไป เมื่อเกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือจากกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ อาการมักไม่รุนแรง รักษาควบคุมอาการได้ แต่มักเป็นๆหายๆ เรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิตได้
ส่วน ผลข้างเคียงจากอาการอาหารไม่ย่อย คือ
- ความไม่สุขสบาย
- และยังขึ้นกับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากโรคแผลเปบติค หรือ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือ อุจจาระดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกจากแผลเปบติค หรือ จากแผลมะเร็ง
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย คือ
- การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
- อาจปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ซื้อยาลดกรด หรือยาช่วยย่อยอาหารกินเอง
- ถ้าภายหลังการดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือเมื่อกังวลในอาการ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ
- แต่ถ้าอาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1 สัปดาห์ และ
- ควรรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย หรือมีอาเจียนเป็นเลือด
ป้องกันอาหารไม่ย่อยอย่างไร?
ป้องกันการเกิดอาการอาหารไม่ย่อยได้โดย การป้องกันสาเหตุ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น
- กินอาหารให้ตรงเวลา
- กินอาหารแต่ละมื้อไม่ให้อิ่มมากเกินไป
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- ไม่กินอาหารรสจัด
- หลังกินอาหารไม่นอนทันที
- เคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังกินอาหารเพื่อช่วยการย่อย และการบีบตัวของกระ เพาะอาหารเพื่อขับเคลื่อนอาหารออกจากกระเพาะอาหารได้เร็ว ไม่คั่งค้างให้เกิดอาการ
นอกจากนั้น คือการสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการ กับประเภท และปริมาณอาหาร และหลีกเลี่ยง หรือลดปริมาณอาหารเหล่านั้นๆลง ค่อยๆปรับตัวไปเรื่อยๆ
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Loyd, R., and McClellan, D. (2011).Update on evaluation and management of functional dyspepsia. Am Fam Physician. 83, 547-552.
- Pharm, O., and Schneider, F. (1999). Evaluation andmanagement of dyspepsia. Am Fam Physician. 60, 1773-1788.
- Saad, R., and Chey, W. (2005). A clinician’s guide to managing helicobacter pylori infection. Cleveland Clinic Journal of Medicine. 72, 109-123
- https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/stomach-liver-and-gastrointestinal-tract/indigestion [2018,Dec8]
- https://www.healthnavigator.org.nz/health-a-z/i/indigestion/ [2018,Dec8]