ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (GI motility stimulant or Prokinetic drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารคืออะไร?

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (GI motility stimulant หรือ Prokinetic drugs) เป็นยาที่ช่วยกระตุ้นให้หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารเกิดการเคลื่อนไหวโดยการบีบตัวบ่อยขึ้น หรือบีบตัวแรงมากขึ้น อาหารจะเคลื่อนที่จากหลอดอาหารไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กต่อไปได้ ดังนั้นยานี้จึงช่วยบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารที่น้อยกว่าปกติ เช่น คลื่นไส้ จุกเสียด แน่นท้อง และป้องกันการไหลย้อนกลับของอาหาร หรือกรดในกระเพาะอาหาร ขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหารอีกครั้ง(โรคกรดไหลย้อน)

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร แบ่งเป็นประเภท/กลุ่มต่างๆตามกลไกการออกฤทธิ์ของแต่ละตัวยาได้ดังนี้

1. ยากลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของตัวรับ/Receptor ชื่อโดปามีน (Dopamine receptor antagonists) เช่นยา อิโทไพรด์ (Itopride), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), ดอมเพอริโดน (Domperidone)

2. ยากลุ่มกระตุ้นการทำงานของตัวรับชื่อ ซีโรโทนิน (Serotonin receptor agonists) เช่นยา ซิซาไพรด์ (Cisapride), โมซาไพรด์ (Mosapride)

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile solution)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบต่างๆของยาแผนปัจจุบัน ได้ในเว็บ haamor.com บทความชื่อ “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ดังนี้ เช่น

1. ยา Domperidone: ใช้บรรเทาอาการที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน และภาวะหลอดอาหารอักเสบ ซึ่งมีอาการเช่น แน่นท้อง อิ่มเร็ว ท้องอืด แสบร้อนกลางอก, รวมถึงบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการทำเคมีบำบัด และ/หรือจากการทำรังสีบำบัด/รังสีรักษา

2. ยาMetoclopramide: ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากอาการจากโรคต่อไปนี้ เช่น โรคไมเกรน, ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ, การตั้งครรภ์, ป้องกันกันคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด หลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด และ/หรือจากรังสีรักษา, รักษาโรคกรดไหลย้อน, โรคที่มีสาเหตุจากหลอดอาหารอักเสบเป็นแผล, ช่วยในการสอดท่อสายให้อาหารเข้าทางเดินอาหาร, และช่วยในขั้นตอนวินิจฉัยขณะทำรังสีวินิจฉัยเพื่อดูภาพระบบทางเดินอาหาร

3. ยา Itopride, Mosapride: ใช้บรรเทาอาการที่เกิดจากการปวดท้อง,ปวดกระเพาะอาหารที่ไม่ทราบสาเหตุ (Functional dyspepsia) เช่น แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง อิ่มเร็ว เบื่ออาหาร

4. ยา Cisapride: ใช้บรรเทาและป้องกันอาการ จุก/เสียดท้อง แสบกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหารอักเสบจากโรคกรดไหลย้อน

มีข้อห้ามใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือแพ้ยาชนิดอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน

2. ห้ามใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในผู้ที่อาจเกิดอันตรายจากการกระตุ้นการบีบตัวของทางเดินอาหาร เช่น ผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร, ทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน, ทางเดินอาหารทะลุ เช่น จากอุบัติเหตุถูกแทง หรือกระเพาะอาหารเป็นแผลเรื้อรัง

3. ห้ามใช้ยา Domperidone ในผู้ที่มีเนื้องอกชนิดที่สามารถผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนม (Prolactinoma, เนื้องอกสมองชนิดหนึ่ง) ผู้ที่มีอาการปวดท้องเกร็ง/ปวดบีบอย่างรุนแรง หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ/ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นเวลานาน

4. ห้ามใช้ยา Metoclopramide ภายในเวลา 3-4 วันหลังการผ่าตัดทางเดินอาหาร, ทางเดินอาหารอุดกั้น/อุดตัน, ทะลุ, หรือมีเลือดออก ผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก, โรคฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma), และห้ามใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติชนิดเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms,ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวผิดปกติ) ซึ่งส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เช่น ยาต้านโรคจิต

5. ห้ามใช้ยา Cisapride ร่วมกับยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ (Enzyme inhibitor) เช่นยา Erythromycin, Clarithomycin, Ketoconazole, Itraconazole เป็นต้น เพราะอาจทำให้ระดับยา Cisapride ในเลือดสูงเกินไปจนอาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้

6. ยา Cisapride เป็นยาที่อาจทำให้เกิดภาวะความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ชนิด QT interval prolongation ส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ดังนั้นห้ามใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้เหมือนกัน เช่นยา Quinidine, Procainamide, Amiodarone, Amitryptyline เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงเสียชีวิตได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น

1. ยาช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เป็นยาที่ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ขนาดสูง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงจากยากลุ่มนี้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะของแขน/ขา

2. ยา Itopride เป็นยาที่เสริมการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาท อะซีติลโคลีน (Acetylcholine) จนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการที่มี Acetylcholine ในร่างกายมากเกินไป เช่น เหงื่อออกมาก น้ำลายไหล หน้าแดง ปวดหลัง ท้องเสีย หลอดลมหดตัว/ตีบแคบ/หายใจลำบาก

3. ระวังการใช้ยา Domperidone และ Metoclopramide ในผู้ที่มีการทำงานของตับและของไต บกพร่อง และควรลดขนาดยาทั้ง 2 ชนิดลง เมื่อต้องใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคตับและ/หรือ โรคไต ร่วมด้วย

4. ระวังการใช้ยา Cisapride ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจผิดปกติ เป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคปอด ระดับอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดผิดปกติ ภาวะขาดน้ำ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ (Eating disorder) เช่น เบื่ออาหาร (Anorexia)รุนแรง

5. การรับประทานยา Cisapride ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยากลุ่ม Benzodiazepines จะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยา Benzodiazepines ดังนั้นควรระวังในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูงเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น

6. ไม่ควรรับประทานยา Mosapride ร่วมกับยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic drugs) เช่นยา Atropine, Scopolamine, เพราะอาจทำให้ยา Mosapride ออกฤทธิ์ได้ลดลง

การใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยา Metoclopramide เป็นยาที่สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรได้ แต่ควรใช้เมื่อจำเป็นและต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น

2. ยา Itopride, Domperidone, Cisapride, Mosapride, เป็นยาที่ยังมีการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่มากพอ ดังนั้นควรใช้ยาเหล่านี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับจากยา มีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

การใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

1. เนื่องจากวัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการทำงานตับและของไตลดลง และ/หรืออาจเป็นโรคตับ และ/หรือโรคไต ส่งผลให้ความสามารถในการทำลายยาและขับยาออกจากร่างกายลดลงตามมา ดังนั้นควรระมัดระวังและติดตามความปลอดภัยในผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับยานี้อย่างใกล้ชิด

2. เนื่องจากวัยสูงอายุมักจะใช้ยาต่างๆหลายชนิด ผู้ป่วยจึงควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกรว่า กำลังใช้ยาใดอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) โดยเฉพาะการใช้ยา Cisapride

3. ระวังการใช้ยา Domperidone และ Metoclopramide ในผู้สูงอายุ เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดอาการสั่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง/เป็นตะคริว และการเกิดกลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms)

การใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยา Itopride, Cisapride และ Mosapride เป็นยาที่ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ดังนั้นการใช้ยาเหล่านี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

2. การใช้ยา Domperidone และ Metoclopramide ในเด็ก แพทย์จะลดขนาดยาลงโดยคำนวณตามน้ำหนักตัวเด็ก และจะใช้ยาขนาดต่ำที่สุดที่ให้ประสิทธิภาพการรักษา รวมทั้งจะเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยา เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดอาการสั่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง และกลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms)

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร เช่น

1. ยาItopride ทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ระดับเม็ดเลือดขาวในเลือดลดลง ระดับฮอร์โมนโพรแลกทิน (Prolactin) ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างและหลั่งน้ำนมในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

2. ยา Metoclopramide ทำให้เกิดกลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms) ระดับฮอร์โมน Prolactinในเลือดสูงขึ้น(เกิดมีน้ำนมโดยไม่ตั้งครรภ์) เกิดอาการยึกยือจากยา(Tardive dyskinesia) อาการบิดเกร็ง (Dystonia) และง่วงซึม

3. ยาDomperidone ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ ง่วงซึม ท้องเสีย ระดับฮอร์โมน Prolactinในเลือด สูงขึ้น น้ำนมไหล (Galactorrhea) เต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia)

4. ยาCisapride ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดศีรษะ ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ น้ำมูกไหล

5. ยาMosapride ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน การรับรสผิดปกติ ท้องเสีย ปวดศีรษะ มึนงง

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf. [2016,Dec10]
  2. เบ็ญจวรรณ อ่อนคำ. Mosapride citrate tablet 5 mg. วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า 30. (ตุลาคม – ธันวาคม 2556) : 346-349
  3. ศิริราชเภสัชสาร. Fatal drug interaction http://www1.si.mahidol.ac.th/km/sites/default/files/68.pdf [2016,Dec10]
  4. Rayner, C.K. and Horowitz, M. New Management Approaches for Gastroparesis. http://www.medscape.com/viewarticle/514206_4 [2016,Dec10]