โบทอกซ์ หรือโบทูไลนัมท็อกซิน (Botox or Botulinum Toxin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

โบทูไลนัมท็อกซิน (Botulinum Toxin ย่อว่า BTX) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โบท็อกซ์’ (Botox) คือ  สารชีวพิษที่สังเคราะห์ขึ้นโดยแบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูไลนัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบได้โดยทั่วไปในดินและน้ำธรรมชาติ (เช่น แม่ น้ำ) แบคทีเรียนี้สร้างสปอร์ซึ่งในสปอร์จะมีการผลิตสารพิษโบทูไลนัมท็อกซิน หากร่างกายได้ รับสารพิษเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึง ตาย  เนื่องจากทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน หอบเหนื่อย และไม่มีแรง พูดและ/หรือกลืนลำบาก

โบทูลินัมท็อกซินมีหลายชนิด แต่ชนิดที่มีการนำมาพัฒนาเป็นยาในทางเภสัชกรรมมีอยู่2 ชนิดได้แก่ ชนิดเอ (Type A) และชนิดบี (Type B) โดยอาศัยฤทธิ์ในการทำให้กล้ามเนื้ออ่อน แรงหรืออยู่ในลักษณะอัมพาตชั่วคราวมาใช้เป็นยาในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งตามบริเวณต่างๆอาทิ ลำคอ รอบตา รวมไปถึงมีการนำมาใช้ในทางศัลยกรรมเสริมสวยโดยใช้เพื่อลดเลือนริ้วรอยบริเวณใบหน้าเช่น หน้าผากและรอยระหว่างหัวคิ้ว

ยาโบทูลินัมท็อกซินที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยเป็นชนิดเอ เป็นยาชีววัตถุ อยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษตามกฎหมาย ซึ่งสั่งใช้ได้โดยแพทย์และการรักษาควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาอะไร?

โบทูไลนัมท็อกซิน

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษา: เช่น

  1. โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณลำคอ (Cervical Dystonia)
  2. โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งรอบตา/โรคตากระพริบค้าง/โรคหนังตากระตุก (Blepharospasm)
  3. ลดเลือนริ้วรอยร่องลึกบริเวณใบหน้า เช่น หน้าผากและระหว่างคิ้ว (Reduce Glabellar Lines)

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

การเคลื่อนไหวของมนุษย์เกิดจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆของร่างกาย การทำงานของระบบกล้ามเนื้อนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบประสาทซึ่งสั่งการโดยสมองผ่านเซลล์ประสาทโดยใช้สารสื่อประสาทในการนำส่งคำสั่ง สารสื่อประสาทที่มีความสำ คัญสารหนึ่งเรียกว่า แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) โดยยาโบทูไลนัมท็อกซินมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาทชนิดนี้ ทำให้กล้ามเนื้อในส่วนที่ยาโบทูไลนัมท็อกซินออกฤทธิ์นั้นไม่สามารถทำงานได้หรืออยู่ในสภาวะอัมพาตชั่วคราว แม้สมองจะมีการสั่งให้เกิดการหดหรือคลายกล้ามเนื้อในส่วนนั้นก็ตาม

ยาโบทูไลนัมท็อกซินไม่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางกล่าวคือ มีความจำเพาะต่อระบบกล้ามเนื้อเท่านั้น และไม่ออกฤทธิ์ต่อสมองหรือต่อไขสันหลังทำให้สมองยังสั่งงานกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆที่ไม่ได้รับยาโบทูไลนัมท็อกซินให้ทำงานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ดีโดยปกติร่างกายจะมีการตอบสนองโดยการสร้างเซลล์ประสาทขึ้นมาใหม่ ซึ่งเซลล์ประสาทที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่นั้นจะไม่ได้รับฤทธิ์จากยาโบทูไลนัมท็อกซิน จึงทำให้ฤทธิ์ของยาโบทูไลนัมท็อกซินต่อกล้ามเนื้อจะอยู่ในช่วง 3 - 4 เดือน

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโบทูลไลนัมท็อกซินที่นำมาใช้ทางการแพทย์ในประเทศไทย เป็นยาโบทูไลนัมท็อกซินชนิด เอ (A type) เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาชีววัตถุ  รูปแบบยาผงพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด ขนาดความแรง 50, 100, 200 และ 500 ยูนิต

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีขนาดการบริหารอย่างไร?

ยาโบทูไลนัมท็อกซิน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ 

  • ข้อบ่งใช้
  • ขนาดเนื้อเยื่อของผู้ป่วยที่จะต้องรักษา
  • ขนาดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง
  • และการตอบสนองต่อยาในการรักษาครั้งก่อนหน้าในกรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับยานี้มาก่อน

*ดังนั้นขนาดยานี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโบทูไลนัมท็อกซิน ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ                            เภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบ หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงการให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีผู้ป่วยเป็นหรือเคยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับ
    • ระบบประสาท
    • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia Gravis)
    • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์ (Eaton-Lambert syndrome; LEMS)
    • โรคเส้นประสาท (Neuropathy)
    • หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากแพทย์นัดหมายให้มีการบริหารยา/ใช้ยาโบทูไลนัมท็อกซินในครั้งต่อไปและผู้ป่วยลืมการนัดหมาย ให้แจ้งสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอยู่ทราบโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการนัดหมายการบริหารยาต่อไป

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

โดยทั่วไปยาโบทูไลนัมท็อกซินก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ค่อนข้างน้อย อาจมีอาการปวดเล็กน้อยบริเวณที่ฉีดยา รวมไปถึงอาการบวม แดงบริเวณฉีดยา ปวดหัว  รู้สึกไม่สบายเนื้อตัว

 *ภายหลังการฉีดยานี้:

  • *ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดภาวะหนังตาหย่อน/หนังตาตก (Ptosis) ซึ่งต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที
  • *ผู้ป่วยเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มีแรง กลืนลำบาก หรือพูดลำบาก/พูดไม่ชัด หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • *มีอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว หนังตา-ริมฝีปาก บวม หรือหายใจไม่สะดวก ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน

อนึ่ง เพื่อลดผลข้างเคียงจากยานี้  ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้นั่งท่าตรงหรือยืนเป็นเวลา 3 - 4 ชั่วโมงภายหลังการฉีดยานี้ และไม่ควรบีบนวดบริเวณฉีดยา

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบทูไลนัมท็อกซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบทูไลนัมท็อกซิน เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเข้ารับการบริหารยา
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมไปถึง โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายาโบทูไลนัมท็อกซิน) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นน้อย อย่างไรก็ดีควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาโบทูไลนัมท็อกซินกับผู้ป่วยที่มีการใช้ยาดังต่อไปนี้ เช่น

  • ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เช่น ยาเจนตามัยซิน (Gentamycin) ยาอะมิเคซิน (Amikacin) เนื่องจากอาจเพิ่มฤทธิ์ของยาโบทูไลนัมท็อกซิน
  • ยาเพนนิซิลลามีน (Penicillamine) ที่ใช้รักษาภาวะโลหะหนักเกินในร่างกาย เนื่องจากอาจทำให้ฤทธิ์ของยาโบทูไลนัมท็อกซินลดลง
  • ยาควินิน (Quinine) ยาคลอโรควิน (Chloroquine) และยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ที่ใช้รักษามาลาเรีย เนื่องจากอาจทำให้ฤทธิ์ของยาโบทูไลนัมท็อกซินลดลง
  • ยาลดความดัน กลุ่มยับยั้งแคลเซียมแชนแนล (Calcium Channel Blockers) เช่น ยาแอมโลไดพีน (Amlodipine) ยาไนเฟดไดพีน (Nifedipine) เพราะยาเหล่านี้อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาโบทูไลนัมท็อกซิน
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวอร์ฟาริน (Warfarin) และยาแอสไพริน (Aspirin) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดห้อเลือดขึ้นได้

ควรเก็บรักษายาโบทูไลนัมท็อกซินอย่างไร?

โดยทั่วไป ควรเก็บรักษายาโบทูไลนัมท็อกซิน:

  • เก็บรักษายาในตู้เย็นอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ควรบริหารยา/ใช้ยาหลังการผสมยาทันที

*อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีความแตกต่างในการเก็บรักษายาของยาจากแต่ละบริษัท จึงควรอ่านฉลากยาเพื่อเก็บรักษาได้อย่างถูกต้อง หรือปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาล

ยาโบทูไลนัมท็อกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบทูลนัมท็อกซิน เอ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยาของไทย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
โบท็อก (Botox) ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม็กซิมอินเตอร์คอนติเนนตอล
นิวโรน็อกซ์ (Neuronox) บริษัท เซเลส (ประเทศไทย) จำกัด
ดิสพอร์ต (Dysport) บริษัท เอ.เมนารินี (ประเทศไทย) จำกัด
โบทูแล็คซ์ (Botulax) บริษัท คอสม่า เมดิคอล จำกัด
เซนท็อกซ์ (Zentox) บริษัท ท็อปฟาร์ม่า ซัพพลาย (1995) จำกัด
ฮูเจลท็อกซิน (Hugeltoxin) บริษัท บอน-ซอง จำกัด
นาโบทา (Nabota) บริษัท แดวูง ฟาร์มาซูทิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด
โคลดิว (Clodew) บริษัท แดวูง ฟาร์มาซูทิคอล (ไทยแลนด์) จำกัด
บีบีทีเอ็กซ์เอ (BBTXA) บริษัท คอสเมด ฟาร์ม่า จำกัด
โบทูแล็คซ์ (Botulax) บริษัท คอสม่า เมดิคอล จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. วินัย วนากูล. โรคโบทูลิซึม (Botulism). Thai J Toxicology 2008;23(2):19-24.
  2. American Pharmacists Association, Incobolulinumtoxina, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:1078.
  3. Ontecucco C, Molgó J . Botulinal neurotoxins: revival of an old killer. Current Opinion in Pharmacology. 2005;5(3): 274–279
  4. P K Nigam and Anjana Nigam. Botulinum Toxin. Indian J Dermatol. 2010 Jan-Mer,55(1):8-14
  5. FDA, 2009, "Information for Healthcare Professionals, FDA ALERT [08/2009]: OnabotulinumtoxinA (marketed as Botox/Botox Cosmetic), AbobotulinumtoxinA (marketed as Dysport) and RimabotulinumtoxinB (marketed as Myobloc)
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21985 [2022,Feb5]
  7. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-botox [2022,Feb5]
  8. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug_ex.aspx?Newcode=U1DR1C10F2620000511C [2022,Feb5]
  9. https://dystonia-foundation.org/living-dystonia/botulinum-toxin-injections/ [2022,Feb5]