ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 มิถุนายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ลำไส้อุดตันมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- ลำไส้อุดตันมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยลำไส้อุดตันได้อย่างไร?
- รักษาลำไส้อุดตันอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากลำไส้อุดตันอย่างไร?
- ลำไส้อุดตันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันลำไส้อุดตันอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone)
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulosis and Diverticulitis)
- ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- ไส้เลื่อน (Hernia)
- ท้องผูก (Constipation)
บทนำ
ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction) คือ ภาวะที่สิ่งต่างๆในลำไส้ ได้แก่ น้ำ อาหาร น้ำ ย่อย และของเหลวต่างๆในลำไส้ ไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ตามปกติ จึงก่อให้เกิดอาการ แน่นท้อง อึดอัด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และไม่ผายลม
ลำไส้อุดตัน
- อาจเกิดจากลำไส้ไม่บีบตัวขับเคลื่อนสิ่งต่างๆในลำไส้ตามปกติ ที่เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะลำไส้อืด (Paralytic ileus) หรือ Non mechanical obstruction”
- หรือเกิดจากช่องทางเดินในลำไส้ตีบแคบ หรืออุดตันทั้งหมด ที่เรียกภาวะนี้ว่า “ลำไส้ตีบตัน (Mechanical obstruction)” ก็ได้
ลำไส้อุดตันอาจเกิดที่ลำไส้เล็ก (พบได้มากที่สุดประมาณ 80% ของลำไส้อุดตันทั้งหมด ) หรือลำไส้ใหญ่ หรือเกิดพร้อมกันทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
ลำไส้อุดตันเป็นภาวะพบได้บ่อย พบได้ประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลฉุกเฉินจากมีอาการปวดท้องรุนแรง พบได้ในทุกอายุ และทั้ง 2 เพศมีโอกาสเกิดได้เท่ากัน
ลำไส้อุดตันมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อบทนำว่า ลำไส้อุดตันแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะกลไกการเกิดอาการ คือ กลุ่มภาวะลำไส้อืด (Non mechanical obstruction) และ กลุ่มลำไส้ตีบตัน (Mechanical obstruction)
ก. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้อืด ได้แก่
- ลำไส้อักเสบ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, ถุงผนังลำไส้อักเสบ, ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
- ร่างกายขาดสมดุลของเกลือแร่
- นอนติดเตียงนานๆ หรือร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว/เคลื่อนไหวน้อย เช่น อัมพฤกษ์ อัม พาต
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดรวมถึงยาสลบ และยาแก้ปวดในกลุ่มสาร/ยาเสพติด
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดในช่องท้อง
- โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง เพราะเป็นสาเหตุให้ร่างกายเสียสมดุลของเกลือแร่ได้ง่าย
ข. สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้ตีบตัน ได้แก่
- มีพังผืดในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด โดยเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากเคยผ่าตัดในช่องท้อง
- ท้องผูกมาก ก้อนอุจจาระจึงแข็ง และก่อการอุดตันลำไส้ ซึ่งภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ที่เป็นอัมพาต หรือผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องกินยาแก้ปวดชนิดมีผลข้างเคียงลดการเคลื่อนไหวลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน
- ผลข้างเคียงจากการเป็น ไส้เลื่อน ชนิดต่างๆ
- โรคมะเร็งในช่องท้อง หรือในอุ้งเชิงกราน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
- ภาวะกลืนตัวของลำไส้ที่เข้ามาซ้อนกัน (Intussusception) ที่มักพบในเด็กเล็ก
- ลำไส้บิดตัวเอง (Volvulus) และ
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยมาก โดยเกิดจากก้อนนิ่วหลุดเข้าไปอุดตันลำไส้
ลำไส้อุดตันมีอาการอย่างไร?
อาการลำไส้อุดตันจากทั้ง 2 กลุ่มจะคล้ายคลึงกัน แต่อาการจากกลุ่มลำไส้ตีบตันมักรุน แรงกว่า โดยอาการที่อาจพบได้ ได้แก่
- ปวดท้องมาก ทั่วไปมักเกิดอย่างเฉียบพลัน และมีอาการแบบปวดบีบเป็นพักๆ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ แต่บางคนมีอุจจาระเหลวไหลออกมาเองแต่ไม่มาก
- ท้อง/พุง ป่อง อืด
- ลมหายใจมีกลิ่นผิดปกติ
- เมื่อตรวจคลำช่องท้อง อาจพบก้อนเนื้อ หรืออาการเจ็บได้ทั่วท้อง (ไม่มาก) แต่อาจเจ็บมากเฉพาะจุดที่เป็นรอยโรคได้
- เมื่อตรวจฟังเสียงการเคลื่อนไหว/การบีบตัวของลำไส้ (Bowel sound) ถ้าเกิดจากภาวะลำไส้อืด จะไม่ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ แต่ถ้าเกิดจากรูลำไส้ตีบ/อุดตัน จะได้ยินเสียงลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเสมอ
แพทย์วินิจฉัยลำไส้อุดตันได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะลำไส้อุดตันได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการผ่า ตัด และการกินยาต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าเกลือแร่ และการถ่ายภาพเอกซ เรย์ช่องท้อง และ/หรือการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง และแพทย์อาจตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ /หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้
รักษาลำไส้อุดตันอย่างไร?
การรักษาภาวะลำไส้อุดตัน ต้องเป็นการรักษาในโรงพยาบาล โดยการรักษาขั้นแรก เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการที่เรียกว่า Bowel rest หลังจากนั้น จึงตามด้วยการรักษาสา เหตุเมื่อตรวจสืบค้นหาสาเหตุได้แล้ว
อนึ่ง Bowel rest คือ การงดทุกอย่างทางปาก (ยา อาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ) ให้ทางหลอดเลือดแทน (เรียกว่า เอนพีโอ/NPO: Nothing per oral) และใส่ท่อเข้ากระเพาะอาหารผ่านทางจมูก เพื่อดูดของเหลวในกระเพาะอาหารและในลำไส้ออกมาให้ได้มากที่สุด
นอกจากนั้น อาจให้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีไข้ หรือสงสัยการติดเชื้อในทางเดินอาหารร่วมด้วย ซึ่งเมื่อให้การรักษาดังกล่าวแล้ว อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาการคุ้มค่าของการผ่า ตัด เพื่อบรรเทาการอุดตันของลำไส้ ที่เรียกว่า Bowel decompression และเมื่อสุขภาพผู้ป่วยแข็งแรงพอ และพบสาเหตุที่ทำให้ลำไส้อุดตัน ก็จะให้การรักษาสาเหตุต่อไป เช่น การผ่าตัดถุงน้ำดี ไส้เลื่อน หรือการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะต้องอยู่โรงพยาบาลนานเท่าไร ขึ้นกับสาเหตุและสุขภาพโดยรวมของผู้ ป่วย
มีผลข้างเคียงจากลำไส้อุดตันอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะไส้อุดตัน คือ ภาวะขาดน้ำเมื่อมีการอาเจียนมาก, ภาวะลำไส้แตกทะลุจากลำไส้ขยายตัวมาก ส่งผลให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบรุนแรง เป็นสา เหตุเสียชีวิต (ตาย) ได้, ภาวะลำไส้ติดเชื้อรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ และ/หรือลำไส้ทะลุ เป็นเหตุเสียชีวิตได้ , และภาวะลำไส้เน่าตายจากขาดเลือด เพราะเมื่อลำไส้อุดตัน ความดันในลำไส้จะสูงขึ้น การไหลเวียนโลหิตของลำไส้จึงเสียไป จึงเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด ส่งผลให้เกิดลำไส้ทะลุและติดเชื้อ เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเช่นกัน
ลำไส้อุดตันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ภาวะลำไส้อุดตันโดยเฉพาะที่สาเหตุเกิดจาก ‘ภาวะลำไส้ตีบตัน’ จัดเป็นภาวะที่มีการพยา กรณ์โรคที่รุนแรง เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตพบได้ประมาณ 8 - 25 % เมื่อการอุดตันเกิดที่ลำไส้เล็ก และประมาณ 15 - 20% เมื่อการอุดตันเกิดที่ลำไส้ใหญ่ โดยสาเหตุการเสียชีวิต คือ การติดเชื้อรุนแรงจากลำไส้ทะลุ และ/หรือ จากภาวะเนื้อเน่าตายจากลำ ไส้ขาดเลือด
ทั้งนี้ การพยากรณ์ภาวะลำไส้อุดตัน ขึ้นกับสาเหตุ การพบแพทย์ล่าช้า อายุผู้ป่วย (เด็กเล็กและผู้สูงอายุที่การพยากรณ์โรคเลวกว่า) และสุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีลำไส้อุดตันเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ และพยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง
- กินอาหารเหลว หรืออาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางแพทย์) ตามแพทย์แนะนำ จนกว่าแพทย์จะแนะนำอาหารปกติ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
- พักผ่อนให้เต็มที่
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือกลับมามีอาการเดิมก่อนเข้าโรงพยาบาล เช่น มีไข้ ปวดท้องมาก อาเจียนและ/หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันลำไส้อุดตันอย่างไร?
การป้องกันลำไส้อุดตัน คือการป้องกันสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง (ที่ป้องกันได้) ดังได้กล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น
- ป้องกันภาวะติดเชื้อของลำไส้ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะยาแก้ปวด
- ดูแล ป้องกัน รักษา โรคไส้เลื่อน
- ป้องกันการเกิด โรคปอด และโรคไต
บรรณานุกรม
1. Bowel obstruction http://en.wikipedia.org/wiki/Intestinal_obstruction [2014,May4].
2. Intestinal obstruction http://www.mdguidelines.com/intestinal-obstruction [2014,May4].
3. Jackson,P., and Raiji,M. (2011). Evaluation and management of intestinal obstruction. Am Fam Physician. 83,159-165. [2014,May4].