ไซไคลซีน (Cyclizine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

ไซไคลซีน (Cyclizine) คือ  ยาต้านสารฮีสตามีน (Histamine)/ยาแก้แพ้ ที่อยู่ในกลุ่ม H1-receptor antagonists ถูกพัฒนาโดยบริษัทยาอเมริกันที่มีชื่อว่า Burroughs Wellcome ปัจจุบันคือบริษัท GlaxoSmithKline ประวัติที่ทำให้ยานี้เป็นที่รู้จักทางคลินิก น่าจะเป็นเรื่องที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือนาซา (National Aeronautics and Space Administration - NASA) ใช้ยาไซไคลซีนเป็นยาป้องกันการอาเจียนของนักบินอวกาศระหว่างที่เดินทางไปดวงจันทร์ ยาไซไคลซีนถูกใช้ในหลายประเทศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 คุณประโยชน์ทางคลินิกอื่นๆของยาไซไคลซีนได้แก่ ป้องกันอาการคลื่นไส้จากเมารถ-เมาเรือ  บรรเทาอาการวิงเวียนหลังจากการผ่าตัดซึ่งมีผลมาจากยาสลบและยาแก้ปวดกลุ่ม Opioids

ทั้งนี้ สามารถใช้ยาไซไคลซีนได้ทั้งที่เป็นยาเดี่ยวและผสมร่วมกับยาอื่น ซึ่งยาไซไคลซีน จะออกฤทธิ์ที่สมองจึงก่อให้มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) คล้ายกับยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine drug) ทั่วไปคือทำให้ง่วงนอน

อนึ่ง เพื่อความปลอดภัย ก่อนการใช้ยาไซไคลซีน ผู้บริโภคควรเรียนรู้ข้อมูลเบื้องต้นบางประการของยานี้ เช่น                 

  • ไม่ควรใช้กับผู้ที่แพ้ยาไซไคลซีน
  • การใช้ยากับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ควรต้องมีคำสั่ง จากแพทย์เท่านั้น
  • ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักรขณะใช้ยานี้ด้วยยาไซไคลซีนมีฤทธิ์สงบประสาทจึงทำให้ง่วงนอน
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็น โรคหืด โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด  ผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
  • การรับประทานยานี้พร้อมสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้อาการข้างเคียงจากยานี้เกิดมากกว่าปกติ

ทั้งนี้ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบมากและใช้กันบ่อยได้แก่ ยาชนิดรับประทาน ซึ่งตัวยาสามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหาร และออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมง ระยะเวลาของการออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 4 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด

เราอาจไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทยมากนัก แต่ที่ต่างประเทศผู้บริโภคจะคุ้น เคยภายใต้ชื่อการค้าว่า Marezine, Valoid และ Nausicalm อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาควรต้องใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ไซไคลซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไซไคลซีน

ยาไซไคลซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น  

  • ใช้เป็นยาป้องกันการเมารถเมาเรือ
  • ใช้บรรเทาอาการเวียนศีรษะ
  • บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด

ไซไคลซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซไคลซีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor) ของยานี้ในสมอง ส่งผลช่วยสงบประสาท ส่งผลต่อเนื่องให้บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน จากกลไกดังกล่าวจึงส่งผลให้ยานี้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ไซไคลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซไคลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไซไคลซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไซไคลซีนมีขนาดรับประทานขึ้นกับแต่ละอาการและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง เช่น

ก.สำหรับป้องกันอาการเมารถเมาเรือ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาที อาจรับประ ทานได้ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 6 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 25 มิลลิกรัม อาจรับประทานได้ถึง 3 ครั้ง/วัน (ทุก 8 ชั่วโมง)
  • เด็กอายุ 13 - 18 ปี: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัม อาจรับประทานได้ถึง 4 ครั้ง/วัน(ทุก 6 ชั่วโมง)
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงขนาดยาและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข.สำหรับบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 50 มิลลิกรัมทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง หรือตามคำสั่งจากแพทย์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงขนาดยาและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไซไคลซีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น     

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซไคลซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาไซไคลซีนตรงเวลา หากลืมรับประทานยาไซไคลซีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

ไซไคลซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซไคลซีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีอาการง่วงนอน
  • อ่อนเพลีย
  • นอนไม่หลับ
  • กระสับกระส่าย
  • อาจมีอาการปากคอแห้ง
  • คลื่นไส้
  • ท้องผูก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • หัวใจเต้นเร็วส่งผลให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจน้อยลง ความดันโลหิตจึงต่ำลง
  • ปัสสาวะขัด
  • ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้ไซไคลซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไซไคลซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดประสาทหลอนได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน, ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด, ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria : โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยจากมีการผิดปกติของเม็ดลือดแดง), ผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหาร-ลำ ไส้เคลื่อนตัว/บีบตัวได้น้อย, ผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจ, ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซไคลซีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซไคลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซไคลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไซไคลซีน ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาไซไคลซีนมากยิ่งขึ้น เช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และขาดสติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ไซไคลซีน ร่วมกับยา Brompheniramine, Chlorpheniramine, Phenyltoloxa mine/ยาแก้แพ้ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง  ใบหน้าแดง ปัสสาวะขัด เหงื่อออกน้อย ตัวร้อน  ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกัน
  • การใช้ไซไคลซีน ร่วมกับยา Potassium chloride สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนอาจทำให้มีแผลและเลือดออกได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาไซไคลซีนอย่างไร?

 ควรเก็บยาไซไคลซีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซไคลซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซไคลซีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น     

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Marezine (มาร์ซีน) HIMMEL
Valoid (แวลอยด์) Amdipharm
Nausicalm (นอสิคาม) AFT Pharmaceuticals Ltd

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/cyclizine.html   [2022,March19]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cyclizine  [2022,March19]
  3. https://www.nhs.uk/medicines/cyclizine/  [2022,March19]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/cyclizine?mtype=generic   [2022,March19]
  5. https://www.drugs.com/sfx/cyclizine-side-effects.html  [2022,March19]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/27036  [2022,March19]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/cyclizine-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,March19]
  8. https://www.drugs.com/imprints/marezine-t4a-21117.html  [2022,March19]
  9. https://www.drugs.com/uk/valoid-50mg-tablets-leaflet.html  [2022,March19]
  10. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/n/nausicalm.pdf  [2022,March19]