เวียนศีรษะ (Dizziness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เวียนศีรษะ (Dizziness) เป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ผู้ที่มีอาการนี้จะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการมากแล้วเท่านั้น หากถามว่าอาการเวียนศีรษะนั้นเป็นอย่างไร ส่วนมากจะตอบด้วยความคลุมเครือ เช่น ตอบว่า มึนๆ งง ๆ พอถูกถามมากๆเข้าก็บอกได้แค่ว่า “ก็มันเวียนๆ” ซึ่งทำให้แพทย์สับสนและให้การวินิจฉัยที่ผิดพลาดได้ ผู้เขียนจึงอยากใช้เวลาสักเล็กน้อยทำความเข้าใจกับอาการเวียนศีรษะ

อาการเวียนศีรษะมีหลายลักษณะ จากประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมาเป็นเวลานาน ขอสรุปว่าอาการเวียนศีรษะมี 4 แบบ ดังนี้ คือ

1. อาการเวียนศีรษะแบบหมุนๆ (บ้านหมุน)

2. อาการวิงเวียนหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม

3. อาการมึนงงแต่ไม่เวียนหมุน

4. อาการทรงตัวไม่อยู่แต่ไม่มึนงง

ผู้ที่มีความรู้สึกว่าเวียนศีรษะ ควรทำความเข้าใจกับอาการของตัวเอง เนื่องจากว่าทั้ง 4 แบบที่กล่าวมาข้างต้นมีสาเหตุมาจากโรคที่แตกต่างกัน พึงจำไว้เสมอว่าเวียนศีรษะไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของโรค เหมือนกับอาการปวดหัว/ปวดศีรษะ หรือ อาการไข้ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ใช่โรคทั้งสิ้น ดังนั้นการรักษาจึงต้องหาสาเหตุแล้วรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่รักษาที่อาการ คือ กินแต่ยาแก้เวียนศีรษะ โดยไม่มีเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นเพียงชั่วครั้งคราว แล้วกลับมีอาการอีกเนื่องจากยังไม่ได้รักษาสาเหตุ และพึงจำไว้ว่า “เวียนศีรษะ” เป็นคนละเรื่องกับ “น้ำในหูไม่เท่ากัน”

หลายๆคนมีความเชื่อว่า เมื่อมีอาการเวียนศีรษะจะต้องทำการตรวจพิเศษมากมายเพื่อหาสาเหตุ เช่น ทำซีทีสะแกนสมอง (CT-scan, Computerized axial tomography หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) หรือ ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กเอ็มอาร์ไอ (MRI, Magnetic resonance imaging) หรือการตรวจทางประสาทหู เช่น การทำ ABR test (Auditory brain stem response test) เป็นต้น ทั้งหมดนี้ส่วนมากทำเสียเปล่า ไม่ค่อยพบความผิดปกติ ดังนั้นก่อนที่จะข้ามไปทำการตรวจพิเศษเหล่านี้จึงควรทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และตรวจร่างกายก่อน ซึ่งมากกว่า 70% สามารถพบสาเหตุได้

อาการเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อย จะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามในคนอายุน้อย ก็ยังคงพบได้บ่อย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะจะทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ต้องหยุดพักเป็นเวลาหลายวัน

เวียนศีรษะมีกลไกการเกิด/สาเหตุอย่างไร?

เวียนศีรษะ

อาการเวียนศีรษะ มีกลไกการเกิด หรือสาเหตุและแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ บางสาเหตุสามารถหายเองได้เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการปรับตัว เช่น การอักเสบของประสาททรงตัว (Vestibular neuronitis ) บางสาเหตุสามารถควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และบางสาเหตุหากไม่รักษาอาจมีอันตราย เช่น เนื้องอกชนิด Acoustic neuroma ปัจจุบัน แบ่งกลไกการเกิด หรือสาเหตุอาการเวียนศีรษะได้เป็น 6 ประการ คือ

1.สาเหตุจากหูชั้นใน (Vestibular end organ)

2.โรคของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น โรคเวียนศีรษะไมเกรน

3.โรคทางระบบหมุนเวียนโลหิต (Cardiovascular system)

4.โรคทางจิตเวช

5.โรคทางระบบกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสส่วนปลาย (Somatosensation and propioception)

6.โรคเกี่ยวกับการใช้พลังงาน หรือการสันดาปของร่างกาย (Metabolism) เช่น โรคตับ โรคไต และภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเวียนศีรษะได้อย่างไร?

การวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่แน่นอน ต้องทำเป็นขั้นตอนอย่างถูกต้อง ได้แก่ การซักประวิติทางการแพทย์ผู้ป่วยอย่างละเอียด รวมทั้งประวัติเจ็บป่วยในอดีต และประวัติการกินยาทั้งหมด การตรวจร่างกายอย่างละเอียด การตรวจพิเศษที่อาจจำเป็นในผู้ป่วยบางราย เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ ไต ดูการติดเชื้อซิฟิลิส กาตรวจการทำงานของประสาทหูชั้นใน ( Vestibular function test) การตรวจทางด้านประสาทการได้ยินเพื่อหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นร่วมกับระบบการทรงตัว

สำหรับการตรวจด้วยเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่เอ็มอาร์ไอ ให้ประโยชน์ในบางรายที่มีข้อบ่งชี้ หากใช้พร่ำเพื่อจะไม่เกิดประโยชน์ และไม่ช่วยอะไรในการรักษาผู้ป่วยเลย

รักษาอาการเวียนศีรษะอย่างไร?

การรักษาอาการเวียนศีรษะที่มีประสิทธิภาพ จะทำได้ต่อเมื่อวินิจฉัยโรคที่เป็นต้นเหตุได้แล้วเท่านั้น หากรักษาไม่ตรงกับสาเหตุมักทำได้เพียงการรักษาตามอาการ เช่น การให้กินยากดการทำงานของระบบทรงตัวเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเป็นผลเสียในระยะยาวได้ ที่สำคัญคือ อาจทำให้การทรงตัวของผู้ป่วยไม่กลับคืนเป็นปกติ

โรคพบบ่อยที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะมีอะไรบ้าง? วินิจฉัยและรักษาอย่างไร?

โรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่พบบ่อย เรียงจากมากไปหาน้อย คือ

1.โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด/โรคหินปูนในหู หรือบีพีพีวี (BPPV, Benign paroxysmal positional vertigo): ตามปกติ หูชั้นในของคนเราจะมีหินปูนอยู่แล้ว และเกาะกันเป็นแพ ในตำแหน่งหูที่เรียกว่า Utricle (อวัยวะในส่วนของหูชั้นใน มีหน้าที่ช่วยในการทรงตัว) เมื่ออายุมากขึ้น แพของหินปูนนี้จะแตกออกเป็นเม็ดเล็กๆแล้วมุดตกไปอยู่ในท่อรูปครึ่งวงกลมของหูชั้นใน (Semicircular canal มีหน้าที่ในการทรงตัวเช่นกัน) ในท่อครึ่งวงกลมนี้จะมีเซลล์ขนที่ไวต่อการเคลื่อนไหวของน้ำ/ของเหลวที่อยู่ภายในหูชั้นใน เมื่อเราเคลื่อนศีรษะ เช่น ล้มตัวลงนอน หรือลุกขึ้นนั่ง หรือก้มศีรษะ หรือแหงนศีรษะมาก (เช่น ตามร้านสระผม) จะทำให้ตะกอนหินปูนเคลื่อนตัวลงที่ต่ำ ทำให้น้ำ/ของเหลวภายในหูชั้นในถูกเขย่าชั่วระยะเวลาสั้นๆ จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะชั่วเวลาสั้นๆ ซึ่งควรต้องรู้สึกเวียนหมุนๆ ไม่ใช่เวียนในลักษณะอื่น เช่น หน้ามืด ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงโรคหัวใจหรือ โรคเกี่ยวกับความดันโลหิต

การวินิจฉัยโรคนี้ทำโดยทำการตรวจที่เรียกว่า Dix-Hallpike ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะ โดยขณะตรวจ แพทย์จะสังเกตลักษณะการกระตุกของลูกตา ซึ่งจากการกระตุ้นนี้ และจะทำให้วินิจฉัยได้ด้วยว่าเป็นจากหูข้างใด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักเป็นซ้ำเกือบทุกวัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็สามารถหายเองได้ใน2-3 สัปดาห์ แต่ระหว่างที่ยังไม่หายจะมีความทุกข์ทรมานจากอาการเวียนศีรษะซึ่งบางรายเป็นมากถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียน บางรายกลายเป็นโรควิตกกังวลถึงขั้นไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าลุกจากที่นอน ไม่สามารถทำการทำงานได้

การรักษาที่ถูกต้องคือ การทำกายภาพจัดท่าของศีรษะเพื่อให้หินปูนกลับเข้าที่ (Epley maneuver หรือ Semont maneuver) หรือในรายที่อาการไม่มากอาจให้ผู้ป่วยทำกายภาพที่บ้าน (Brandt-daroff exercise) ซึ่งต้องทำและสอนผู้ป่วยโดยแพทย์ด้านระบบเวียนศีรษะ ทั้งนี้ต้องระวังในคนที่มีปัญหาบาดเจ็บที่กระดูกต้นคอ (เพราะในการทำกายภาพบำบัดต้องมีการหมุนและเอี้ยวคอ) หลังทำกายภาพต้องรู้จักระมัดระวังท่าก้มศีรษะ หรือการทำโยคะที่ต้องก้มศีรษะ หรือท่าหงายศีรษะที่ร้านสระผม เป็นต้น มิฉะนั้นก็อาจเกิดอาการเป็นซ้ำได้อีก

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการกำเริบโดยที่ยังไม่ได้ไปพบแพทย์คือ ให้นั่งศีรษะตรง อย่าเคลื่อน/ก้ม/หงายศีรษะไปมา อย่าลุกๆนอนๆเพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะมากขึ้น

2. โรคเวียนศีรษะไมเกรน (Vestibular migraine): โรคนี้พบได้บ่อยมากและคนส่วนใหญ่ที่เป็นมักไม่ทราบว่าเป็นโรคเวียนศีรษะไมเกรน หลายคนเข้าใจว่าโรคไมเกรนเป็นโรคปวดหัว/ปวดศีรษะข้างเดียว อันที่จริงไมเกรนอาจปวดหัวสองข้างก็ได้ แต่มักมีอาการปวดแบบตุบๆตามจังหวะเต้นของหัวใจ ในหลายครั้งอาการปวดหัวไม่ใช่อาการเด่นของไมเกรน แต่มีอาการเวียนศีรษะเป็นอาการเด่น ซึ่งเราเรียกโรคไมเกรนลักษณะนี้ว่า “โรคเวียนศีรษะไมเกรน” ผู้ป่วยจะมีเวียนศีรษะที่หมุน หรืออาจแค่มึนๆก็ได้ มักเป็นๆหายๆ อาจร่วมกับอาการปวดศีรษะหรือไม่ก็ได้ อาจมีหูอื้อ หรือประสาทการได้ยินลดลง อีกทั้งมักมีอาการแพ้แสงจ้า รำคาญเสียงดัง หรือมีอาการทางตา เช่น เห็นเป็นแสงวูบวาบ หรือเห็นเป็นแสงคล้ายดาวเป็นดวงๆ

การวินิจฉัยโรคนี้ จะต้องทำการซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และตรวจร่างกายให้ดี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวกระตุ้นไมเกรน ซึ่งผู้เขียนได้สรุปไว้ดังต่อไปนี้

2.1.นอนให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการนอนดึก ควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนมากเกินไป หรือนอนไม่เป็นเวลาจะทำให้มีอาการมากขึ้น

2.2.รับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการอดอาหาร การกินจนอิ่มจัดหรือหิวจัดจะกระตุ้นอาการ

2.3.หลีกเลี่ยงอาหาร และยาดังต่อไปนี้

  • สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ฮอร์โมนเพศที่มีส่วนประกอบเป็นเอสโตรเจน (Estrogen) เช่น ยาคุมกำนิด
  • เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น กาแฟ ชา ชาเขียว น้ำอัดลมบางชนิด
  • อาหารรสจัด เช่น หวานจัด หรือ ไขมันมากเกินไป
  • อาหารที่มีเนย หรือเนยแข็งเป็นส่วนผสม
  • อาหารที่มีช็อกโกแลต เป็นส่วนผสม
  • น้ำตาลเทียม เช่น แอสปาเตม (Aspartame)
  • สูบบุหรี่ หรือ อยู่ในที่มีควันบุหรี่
  • ซอสปรุงรสที่มีการหมัก เช่น ซีอิ้ว
  • ผงชูรส หรืออาหารที่มีส่วนประกอบเป็นโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium glutamate) เช่น ส้มตำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • ถั่วเปลือกแข็ง เช่น ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารที่มีดินประสิว เช่น กุนเชียง แหนม หมูยอ เบคอน เนื้อแดดเดียว ปลาแห้ง ปลาร้า
  • ผักบางชนิด เช่น หัวหอม ผักตระกูลถั่ว
  • ผลไม้บางชนิด เช่น ลูกเกด มะละกอสุก เสาวรส อะโวกาโดร โดย

อนึ่ง จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า การนอนหลับที่ไม่ได้คุณภาพ/การนอนไม่หลับ เป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยที่สุด และเมื่อรักษาอาการนอนไม่หลับหาย อาการเวียนศีรษะก็หายไปด้วย อาการจะกำเริบใหม่ในกรณีที่ลืมตัวและปฏิบัติตัวไม่สม่ำเสมอ ในรายที่จำเป็น อาจให้ยาป้องกันโรคไมเกรนรับประทานเป็นระยะเวลา 5-6 เดือน

3. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน/โรคมีเนีย (Meniere disease): โรคนี้ถูกวินิจฉัยบ่อยมาก ถูกพูดถึงบ่อยมาก เรียกว่าหากใครมีอาการเวียนศีรษะก็จะถูกเรียกว่าเป็น “น้ำในหูไม่เท่ากัน”ในทันที แท้ที่จริงโรคนี้พบได้ไม่มากนัก สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของระบบดูดน้ำ/ของเหลวกลับของหูชั้นใน ซึ่งเมื่อไม่สามารถดูดกลับได้ทำให้มีน้ำ/ของเหลวสะสมในหูชั้นในและเกิดความดันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในระยะนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ หรือมีเสียงรบกวนในหู ต่อมาเยื่อหุ้มหูชั้นในจะรั่วจากแรงดันของน้ำ/ของเหลวที่มากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนๆอย่างรุนแรงอย่างน้อย 30 นาที และมักหายไปใน 2-4 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่เวียนศีรษะมึนๆ หรือเวียนศีรษะช่วงสั้นๆ หรือเวียนศีรษะนานเป็นวันๆ ไม่ควรคิดถึงโรคนี้

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจพิเศษใดๆสามารถให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับคำแนะนำให้ทำการตรวจระบบการทรงตัว (VNG, Videonystagmography) หรือการตรวจคลื่นไฟฟ้าของหูชั้นใน ( ECOG, Electrocochleography) แต่การตรวจที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่การยืนยันการวินิจฉัย การวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือ การซักประวัติอาการอย่างละเอียด และการตรวจร่างกายให้ดี อย่างไรก็ตามอาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้นครั้งแรกไม่ควรถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้

ไม่มีใครทราบว่าโรคนี้เกิดได้อย่างไร และยังไม่มีวิธีรักษาได้แน่นอน การรักษามักทำแบบประคับประคอง เช่น การให้ยาแก้เวียนศีรษะในช่วงที่มีอาการมากๆ การให้งด/จำกัดอาหารที่มีรสเค็ม ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับคำแนะนำให้กินยาขับปัสสาวะ แต่การกินยาขับปัสสาวะมักทำให้เกิดการสูญเสียเกลือแร่มากเกินไป ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม จึงเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

โรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่พบวิธีรักษาให้หายขาด แต่อาการของโรคจะกำเริบเป็นระยะๆ อาจเป็นปีละครั้งหรือสองปีครั้ง ดั้งนั้นไม่ว่ารักษาหรือไม่รักษา อาการก็หายเองเป็นช่วงๆอยู่แล้ว รายที่มีอาการเวียนหัวทุกวัน หรือเวียนหัวตลอดเวลา ไม่ควรนึกถึงโรคนี้

4.โรคซิฟิลิสของหู (Otosyphilis): เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่ติดต่อทางการสัมผัส การร่วมเพศ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) หรือติดต่อทางกระแสเลือด หรือติดต่อทางรกจากครรภ์มารดา ซึ่งเมื่อเชื้อเข้ามาในร่างกายในระยะแรกอาจยังไม่มีอาการที่ชัดเจน ต่อเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เชื้อได้ทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย เช่น ระบบประสาท หรือระบบหูชั้นใน จึงทำให้เกิดอาการหูอื้อ และเวียนศีรษะ

การวินิจฉัยโรคนี้โดย การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของเชื้อนี้ เช่น TPHA (Treponema pallidum hemaglutination test) และ FTA-ABS IGg (Fluorescent treponemal antibody-absorption test) หากพบว่าให้ผลบวก (Reactive) ต้องทำการรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อต่างๆเพิ่มขึ้น ปัญหามักเกิดขึ้นเวลาชักชวนให้ผู้ป่วยยินยอมรับการตรวจเลือด โดยผู้ป่วยมักไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตรวจ อ้างว่าไม่เคยร่วมเพศมาก่อนไม่น่าจะเป็นโรคนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่ต้องอธิบายให้เข้าใจถึงความจำเป็น

5.โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอืมมูน (Autoimmune disease) ที่จริงมีหลายโรค เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) แต่ที่เกี่ยวกับระบบทรงตัว เรียกว่าโรคโคแกน (Cogan syndrome) ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะแบบเป็นๆหายๆ และมีหูอื้อ ประสาทหูเสื่อมคล้ายโรคมีเนีย แต่จะมีอาการเพิ่มคือ มีอาการแสบตาเวลาถูกแสงจ้า ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจ TPHA และ FTA-ABS IGg เช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุมาจากซิฟิลิส การรักษาทำโดยการให้ยาลดภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกาย เช่น ยาในกลุ่มเสตียรอยด์

6. โรคเส้นประสาททรงตัวอักเสบ (Vestibular neuronitis): เกิดจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เช่น ทำให้เกิดโรคอัมพาตหน้าเบี้ยว หรือเชื้อที่ทำให้เกิดหูดับ เมื่อประสาททรงตัวอักเสบจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างกะทันหัน อาการมักรุนแรง ไม่สามารถขยับตัวได้ เนื่องจากจะทำให้รู้สึกเวียนศีรษะมากจนต้องนอนนิ่งๆ มีอาเจียน แต่ไม่มีหูอื้อ การได้ยินยังปกติ อาการจะเป็นมากช่วงสองสามวันแรก จากนั้นอาการจะดีขึ้นจนหายได้เอง

การรักษาทำได้โดยการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือการให้ยาลดการเวียนศีรษะ เช่น ยา Dramamine แต่การให้ยาชนิดนี้ไม่ควรให้นานเกินไป เพราะจะกดสมองส่วนกลางทำให้ไม่สามารถปรับการทรงตัวให้ปกติได้ ที่ควรทำคือ กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวบ่อยๆหลังช่วงสองสามวันไปแล้ว จะทำให้หายเร็วขึ้น ในผู้ป่วยที่ขยับร่างกายได้น้อย หรือไม่สะดวก จะทำให้หายช้า บางรายเป็นเดือนหรือเป็นปี ต้องมาทำกายภาพฟื้นฟูประสาทหูที่เกี่ยวกับการทรงตัว (Vestibular rehabilitation) อย่างไรก็ตาม การที่ ผู้ป่วยบางรายมีอาการเฉพาะในบางท่าทาง เช่น การหันหน้าที่เร็วกว่าปกติ ในกรณีนี้จำเป็นต้องทำการกายภาพเช่นกัน

โรคนี้เป็นเพียงครั้งเดียว ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการมากกว่าหนึ่งครั้งควรนึกถึงโรคอื่น

7.โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต: เช่น โรคหัวใจรั่ว หัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โรคโลหิตจาง หรือโรคความดันโลหิตสูงที่รับประทานยาลดความดันโลหิตหลายขนาน และมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ไม่เพียงพอต่อการไปเลี้ยงสมอง ผู้ป่วยมักมีอาการหน้ามืด หรือเป็นลม การรักษาต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ลดขนาดยารักษาความดันโลหิตสูง และการรักษาโรคหัวใจ เป็นต้น

8.โรคที่เกิดจากความเครียดหรือโรคด้านจิตเวช: ผู้ป่วยมักมีอาการมากเวลาอยู่ในสถานการณ์บางอย่าง เช่น อยู่ในที่แคบ ที่โล่ง ที่สูง หรือที่ชุมชน เมื่อออกจากสถานการณ์นั้นแล้ว อาการมักหายได้ การรักษาต้องทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนก่อนให้การรักษาทางจิตเวช บางคนอาจมีอาการทางการหายใจผิดปกติ ทำให้เกิดอาการหายใจเร็วกว่าปกติมาก (Hyperventilation syndrome) จึงมีอาการหายใจไม่อิ่ม มือเท้าชาและเย็น หรือมือจีบเกร็ง และเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก การรักษาทำโดยการฝึกควบคุมลมหายใจให้ช้าลง การลดความเครียดโดยวิธีต่างๆ และการปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

9.โรคกลัวการสั่นไหว (Phobic postural vertigo): ผู้ป่วยมักมีความหวาดระแวง คอยจับการเคลื่อนไหวของลำตัว ย้ำคิดและหวาดกลัวอยู่แต่โรคนี้ วิธี รักษา คือสอนให้ผู้ป่วยฝึกการควบคุมความคิด เบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ย้ำคิดแต่เรื่องร่างกายสั่นไหว

เมื่อมีอาการเวียนศีรษะควรทำอย่างไร?

อาการเวียนศีรษะเป็นความรู้สึกหลอกๆที่รับรู้ภายในตัวโดยที่ไม่มีการหมุนจริง ดังนั้นการผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะรู้สึกเหมือนจะล้มคว่ำทรงตัวไม่ได้เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยไม่ควรตกใจจนเกินเหตุ ให้อยู่นิ่งๆ เช่น ถ้าเป็นขณะยืนหรือเดิน ควรค่อยๆย่อตัวลงนั่ง หรือนอนนิ่งๆไม่ดิ้นหรือขยับไปมา เพราะจะทำให้เวียนศีรษะมากขึ้น หรือพลัดตกจากที่นั่ง หรือที่นอนได้ หากมีอาการคลื่นไส้ อาจหายารับประทานบรรเทาอาการ เมื่อได้รับการพักผ่อน ส่วนมากอาการจะดีขึ้นเมื่อพ้นระยะเวลาหนึ่ง อาจเป็นชั่วโมง หรือใน 1วัน ในรายที่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์

อาการเวียนศีรษะเป็นอาการรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

อาการเวียนศีรษะอาจ รุนแรง หรือเวียนศีรษะพียงเล็กน้อยก็ได้ และโรคที่เป็นสาเหตุอาจไม่มีอันตราย เช่น โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด (BPPV) หรืออาจเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง เช่น หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก (โรคหลอดเลือดสมอง) หรือเนื้องอกสมอง ดังนั้นการรักษาจะหายหรือไม่ขึ้นกับสาเหตุ บางกรณีก็หาย บางกรณีก็ไม่หายเพียงแต่รักษาให้อาการไม่เป็นมาก อย่างไรก็ดี ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มักมีอาการหายช้า หรือเป็นรุนแรงมากขึ้น

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

เมื่อเวียนศีรษะ โดยมีอาการรุนแรง หรือเป็นระยะเวลานาน หรือเป็นบ่อยๆ หรือมีอาการเดินเซ มือสั่น มีอาการหมดสติ หรือมีอาการร่วมกับระบบประสาทส่วนอื่น เช่น อัมพาต ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว หรือมีอาการจนรบกวนต่อการดำเนินชีวิต ควรรีบพบแพทย์เสมอ เพื่อหาสาเหตุ และเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ป้องกันอาการเวียนศีรษะได้ไหม?

เนื่องจากเวียนศีรษะมีสาเหตุหลายอย่าง จึงต้องพิจารณาเป็นแต่ละสาเหตุไป เช่น โรคหินปูนหลุด ต้องงดเว้นการก้มศีรษะต่ำ หรือการห้อยศีรษะในร้านสระผม หรือกายภาพบำบัดบางท่าที่ศีรษะต่ำ กรณีโรคเวียนศีรษะไมเกรนได้แนะนำไว้แล้วในหัวข้อเรื่องเวียนศีรษะไมเกรน กรณีโรคมีเนีย ควรงดอาหารเค็ม เป็นต้น แต่บางโรคไม่สามารถป้องกันได้ เช่น เนื้องอกสมอง เป็นต้น

Updated 2018,June23