เมารถ เมาเรือ (Motion sickness)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- เมารถเมาเรือเกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัย/สาเหตุให้เกิดเมารถเมาเรือ?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเมารถเมาเรือ?
- เมารถเมาเรือมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยเมารถเมาเรือได้อย่างไร?
- รักษาอาการเมารถเมาเรือได้อย่างไร?
- เมารถเมาเรือมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- เมารถเมาเรือมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันเมารถเมาเรืออย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- โรคหินปูนในหู โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Verti go: BPPV)
- หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetics)
- ยาแก้เมารถ เมาเรือ (Motion sickness medications)
บทนำ คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
เมารถ เมาเรือ เมาคลื่น เมาเครื่องบิน เมาเครื่องเล่นในสวนสนุก เมาการเดินทางทุกรูป แบบ (Motion sickness หรือ Kinetosis หรือ Sea sickness หรือ Space sickness หรือ Travel sickness) คือ กลุ่มอาการ/อาการที่เกิดกับบางคนในระหว่างการเดินทางหรือการเคลื่อนที่โดยพาหนะที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนที่โดยตรงที่เรียกว่าเป็น Passive movement เช่น เป็นผู้โดย สารในพาหนะต่างๆ (แต่ไม่ค่อยเกิดขึ้นเมื่อเราเป็นผู้ขับพาหนะนั้นๆ หรือจากการเคลื่อนที่ที่เกิดด้วยตัวเราเองที่เรียกว่าเป็น Active movement เช่น เดิน วิง ว่ายน้ำ) หรือเกิดจากการมองดูสิ่งต่างๆ/ภาพเคลื่อนไหวที่อยู่ใกล้ลูกตาหรือที่แกว่งไปมา เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือดูภาพยนต์ที่จออยู่ใกล้ลูกตามาก หรือการหมุนรอบตัวโดยเร็ว
อนึ่ง:
- ในบทความนี้ขอเรียกกลุ่มอาการเมาลักษณะที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวเหล่านี้ว่า“เมารถ เมาเรือ”
- อาการหลักของเมารถเมาเรือ คือ คลื่นไส้ วิงเวียน รู้สึกไม่สุขสบาย และอาจมีอาเจียน
เมารถ เมาเรือ จะเกิดได้สูงขึ้นเมื่อเป็นการเคลื่อนที่แบบหมุนรอบตัว หมุนกลับไปกลับมา หรือการเคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่ง แต่เมื่อเป็นการเคลื่อนที่ในแนวราบ/แนวนอนจะพบกลุ่ม อาการนี้ได้น้อยลง และการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วก็เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดกลุ่มอาการนี้ได้สูงกว่าการเคลื่อนที่มีความเร็วต่ำ
เมารถ เมาเรือ เป็นกลุ่มอาการพบได้บ่อยอาจถึง 100% กรณีโดยสารเรือที่คลื่นลมรุนแรง ทั่วไปมีรายงานพบได้ 3-60% ของประชากร(สถิติแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา) พบทุกเพศทุกวัย แต่พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย พบบ่อยสุดในวัยเด็กช่วงอายุ 3-12 ปี ไม่ค่อยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือในผู้สูงอายุ และมีรายงานพบในคนเชื้อชาติเอเชียสูงกว่าคนเชื้อชาติตะวันตก
เมารถเมาเรือเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดเมารถเมาเรือที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาเชื่อว่าเกิดจากระบบควบคุมการทรงตัวของร่างกายทำงานขาดสมดุล จึงส่งผลให้สมองตอบรับเป็นกลุ่มอาการผิด ปกติที่เรียกว่า “เมารถ เมาเรือ”
ระบบของร่างกายที่ควบคุมการทรงตัวของร่างกายประกอบด้วย 3 ระบบหลักคือ
- ระบบการเคลื่อนไหวของลูกตาและการเห็นภาพ (Visual system)
- ระบบการเคลื่อนไหวของของเหลวที่อยู่ในหูชั้นในและประสาทหูชั้นในที่เรียกว่า Vestibular system
- และระบบการเคลื่อนไหวการทำงานของข้อต่อต่างๆ กล้ามเนื้อลาย และเอ็นต่างๆที่เรียกว่า Proprioceptive system
ทั้งนี้ในการเมารถเมาเรือระบบหลักที่เกี่ยวข้องคือ ระบบการเห็นภาพและการเคลื่อนไหวของลูกตากับระบบการเคลื่อนไหวของของเหลวในหูชั้นในและประสาทหูชั้นในที่ไม่สมดุลกันจนทำให้สมองได้รับสัญญาณที่สับสน ไม่สอดคล้องกันจากทั้ง 2 ระบบ จึงส่งผลกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการเมารถเมาเรือ เช่น ในการนั่งรถ ตาส่งสัญญาณไปยังสมองว่าร่างกายเคลื่อนไหวเพราะมอง เห็นภาพรอบตัว/รอบรถเคลื่อนไหว ในขณะที่หู/ของเหลวในหูชั้นในส่งสัญญาณว่าร่างกายอยู่กับที่ เป็นต้น
อะไรเป็นปัจจัย/สาเหตุให้เกิดเมารถเมาเรือ?
ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้การเกิดเมารถเมาเรือ ได้แก่
- การเคลื่อนไหวแบบตัวอยู่กับที่แต่สิ่งแวดล้อมมีการเคลื่อนไหวเช่น การนั่งรถ การโดย สารเครื่องบิน
- การดูภาพเคลื่อนไหวที่ใกล้ลูกตาเช่น ดูภาพยนต์ที่จออยู่ใกล้ลูกตามาก
- ความเร็วสูงของการเคลื่อนที่ของสิ่งแวดล้อมเช่น ขับรถเร็วมาก
- มีการแกว่ง คดเคี้ยว หรือการเคลื่อนที่ที่รุนแรงเช่น คลื่นลมรุนแรงในการนั่งเรือ
- การเคลื่อนที่ที่เป็นแนวขึ้นลงหรือแนวตั้ง หรือแกว่ง หรือหมุน
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเดินทางหรือระหว่างเดินทาง
- สูบบุหรี่ระหว่างเดินทาง
- การกินอาหารหนักโดยเฉพาะอาหารไขมัน/อาหารเลี่ยน อาหารย่อยยากก่อน/ระหว่างเดินทาง
- ท้องว่างก่อนเดินทาง
- ในพาหนะโดยสารมีการถ่ายเทอากาศไม่ดี มีกลิ่นไม่ดีที่รวมถึงกลิ่นควันต่างๆเช่น ควันเครื่องยนต์ ควันบุหรี่
- การนั่งในตำแหน่งด้านหลังของพาหนะโดยเฉพาะตำแหน่งที่มองไม่เห็นภาพภายนอก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดเมารถเมาเรือ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดเมารถเมาเรือ ได้แก่
1. อายุช่วงวัย 3 ปี - 12 ปี
2. เพศหญิงโดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ มีประจำเดือน หรือกินยาในกลุ่มฮอร์โมนเพศ (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด)
3. พักผ่อนไม่เพียงพอก่อนเดินทาง
4. มีภาวะขาดน้ำ
5. มีความเครียด กลัว กังวลมาก
6. เคยมีอาการเมารถเมาเรือมาก่อน
7. เป็นโรคไมเกรน
8. กินยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเพศ (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด)
เมารถเมาเรือมีอาการอย่างไร?
อาการเมารถเมาเรือ ได้แก่
ก. อาการหลัก ได้แก่
- คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
- วิงเวียน
- รู้สึกไม่สุขสบาย
- อาจมีอาเจียน
ข. อาการอื่นๆที่พบร่วมด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ เช่น
- ผิวหนังซีด
- ตัวเย็น
- เหงื่อออกมาก
- น้ำลายเพิ่มมากผิดปกติ
- อาจมีหายใจเร็ว หายใจตื้นๆ
- หาวเพิ่มขึ้น
- ง่วงซึม
- สับสน
- อ่อนเพลีย
อนึ่ง อาการจากเมารถเมาเรือมักเกิดหลังการเดินทางประมาณ 10 - 30 นาที แต่ในบางคนอาการอาจเกิดได้ตั้งแต่พาหนะเริ่มขับเคลื่อน และอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นหลังจากออกจากพาหนะภายใน 2 – 3 ชั่วโมง แต่ในกรณีอาการเมารถเมาเรือรุนแรง อาการอาจกลับเป็นปกติประ มาณ 1 วันหลังออกจากพาหนะ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์จากเมารถเมาเรือเพราะอาการมักหายได้เองหลังจากออกจากยานพาหนะ และด้วยการดูแลตนเองตามอาการภายในประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงถึง 1 วันเป็นอย่างช้า อย่างไรก็ตามถ้าอาการไม่ดีขึ้นหลัง 1 วัน หรืออาการเลวลงหลังจากออกจาก ยานพาหะ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะอาการอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การติดเชื้อไวรัสในหูชั้นใน
แพทย์วินิจฉัยเมารถเมาเรือได้อย่างไร?
โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยเมารถเมาเรือได้จาก
- ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการเดินทาง
- และการตรวจร่างกาย ทั้งนี้ไม่ต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ยกเว้นแพทย์สงสัยว่าอาการอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคหินปูนในหู (อ่านเพิ่มเติมเรื่องโรคนี้ได้ในเว็บ haamor.com), หรือ หูชั้นในอักเสบจากโรคติดเชื้อไวรัส
รักษาอาการเมารถเมาเรือได้อย่างไร?
การรักษาอาการเมารถเมาเรือคือ การรักษาตามอาการ และการให้ยาแก้เมารถฯ
ก. การรักษาตามอาการ: เช่น
- พักผ่อนให้เต็มที่
- ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมากๆ ไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เช่น 8 - 10 แก้วต่อวันถ้าไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
- กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- อาจดื่มน้ำขิง
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน อาหารทอด
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี กลิ่นสะอาด และปลอดควันต่างๆ
ข. การใช้ยาแก้เมารถ: ยาส่วนใหญ่เป็นยาบรรเทาอาการ วิงเวียน, ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ที่มีหลายชนิดซึ่งมักทำให้เกิดอาการง่วงนอนร่วมด้วยเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยากิน ยกเว้นบางชนิดที่เป็นรูปแบบแปะผิวหนัง (เช่น ยา Scopolarmine) ส่วนยากิน เช่นยา Chlorpheniramine, Dimenhydrinate, Cetirizine, Promethazine, Cyclizine, Meclizine
เมารถเมาเรือมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากเมารถเมาเรือเป็นผลข้างเคียงเฉียบพลันและไม่ต่อเนื่องจนเกิดผลข้าง เคียงในระยาว ซึ่งผลข้างเคียงคือทำให้การเดินทางไม่สุขสบาย
เมารถเมาเรือมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
เมารถเมาเรือมีการพยากรณ์โรคที่ดี ทั่วไปอาการมักหายเป็นปกติในประมาณ 2 - 3 ชั่ว โมงหลังออกจากพาหนะและหลังจากการดูแลตนเอง นอกจากนั้น การเกิดเมารถเมาเรือจะเกิดน้อยลงเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการเมารถเมาเรือ ได้แก่
- ถ้าเป็นไปได้ให้ออกจากพาหนะ
- เปลี่ยนที่นั่งในพาหนะ มานั่งด้านหน้าที่มองเห็นภาพข้างทางได้ นั่งในตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อบอ้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีควันบุหรี่
- นั่งหน้าตรง ตัวตรง มองตรง
- หายใจเข้าออกลึกๆ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่กลัว ไม่เครียด
- ไม่อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือดูทีวี ขณะอยู่ในพาหนะ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่สูบบุหรี่
- เตรียมถุงสำหรับใส่อาเจียนให้พร้อม
- กินยาแก้เมารถ (อ่านเพิ่มเติมใน’หัวข้อ การรักษาฯ’)
อนึ่ง การดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดเมารถเมาเรือ อ่านเพิ่มเติมใน ‘ห้วข้อ การป้องกันฯ’
ป้องกันเมารถเมาเรืออย่างไร?
การป้องกันเมารถเมาเรือ คือ การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงได้ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ และ ‘หัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยงฯ’) ซึ่งที่สำคัญ ก่อนและระหว่างเดินทางควรดูแลตนเองดังนี้
- ต้องพักผ่อนให้เพียงพอทั้งก่อนและระหว่างเดินทาง
- ไม่อยู่ในภาวะขาดน้ำ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่อด/งดอาหาร
- ไม่กินอาหารหนัก อาหารไขมันสูง กินอาหารประเภทย่อยง่ายเช่น อาหารกลุ่ม คาร์โบไฮเดรต และอาหารที่รสไม่จัด
- แต่งตัวที่หลวมสบาย ไม่รัดแน่น
- เลือกนั่งด้านหน้าในพาหนะและนั่งหน้าตรงมองไปด้านหน้า ไม่อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ หรือใช้งานคอมพิวเตอร์
- กินยาแก้เมารถล่วงหน้าก่อนการเดินทางประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เช่นยา Promethazine หรือ Dimenhydrinate
บรรณานุกรม
- Brainard, A., and Gresham, C. (2014). Am Fam Physician. 90, 41-46
- https://emedicine.medscape.com/article/2060606-overview#showall [2020, May9]
- https://wwwnc.cdc.gov/travel/yellowbook/2020/travel-by-air-land-sea/motion-sickness [2020, May9]
- https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-motion-sickness/basics/art-20056697 [2020, May9]
- https://www.uspharmacist.com/article/understanding-motion-sickness [2020, May9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Proprioceptio [2020, May9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Motion_sickness [2020, May9]