ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (Antiemetics)
- โดย พรลภัส บุญสอน
- 16 ตุลาคม 2558
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea and Vomiting)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอย่างไร?
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีประเภทใดบ้าง?
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีข้อห้ามใช้อย่างไร?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอย่างไร?
- การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
- การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
- มีผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอย่างไร?
- สรุป
- บรรณานุกรม
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนหมายถึงยาที่มีคุณสมบัติอย่างไร?
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนหมายถึง ยาที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์เพื่อป้องกันและรักษาอาการคลื่น ไส้อาเจียน
- คลื่นไส้ หมายถึงอาการต่อไปนี้เช่น รู้สึกไม่สบายท้อง เวียนศีรษะ หน้ามืด อาจกลืนลำบาก อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอาจต่ำหรือสูงกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกอยากอาเจียนและอาจมีอาการอาเจียนตามมาได้
- อาเจียน หมายถึง การที่กระเพาะอาหารหดตัวทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนผ่านหลอดอาหารขึ้นมาที่ช่องปาก อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีประเภทใดบ้าง?
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอาจแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
1. ยาต้านฮิสทามีน (H1 antihistamines/Histamine1 antihistamines) เช่น ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ซินนาริซีน (Cinnari zine), ฟลูนาริซีน (Flunarizine), เมคลิซีน (Meclizine), โปรเมทาซีน (Promethazine), ไซคลิซีน (Cyclizine), ไฮดรอกซิซีน (Hydroxyzine), สโคโปลามีน ไฮโดรโบรไมด์ (Scopola mine hydrobromide) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Hyoscine hydrobromide (ไฮออสซีน ไฮโดรโบรไมด์)
2. ยาต้านตัวรับ (Receptor) โดปามีน (Dopamine receptor antagonists) ซึ่งแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีได้ดังนี้
2.1 กลุ่ม Benzamide เป็นกลุ่มยาที่นอกจากต้านตัวรับโดปามีนยังกระตุ้นการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (Gastrokinetic agent) ได้ด้วยเช่น ดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide), อิโทรไพรด์ (Itopride)
2.2 กลุ่ม Phenothiazine ปกติเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชเช่น คลอโพรมาซีน (Chlorpromazine), โปรคลอเพอราซิน (Prochlorperazine), เพอร์ฟีนาซีน (Perphena zine), ไตรฟลูโอเพอราซีน (Trifluoperazine)
2.3 กลุ่ม Butyrophenone ปกติเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคทางจิตเวชเช่น ฮาโลเพอริ ดอล (Haloperidol), โดรเพอริดอล (Droperidol)
3. ยาต้านตัวรับเซโรโทนิน (Serotonin receptor antagonists) เช่น ออนแดนซีตรอน (Ondansetron), แกรนิซีตรอน (Granisetron), รามอสซีตรอน (Ramosetron), โดลาซีตรอน (Dolasetron), พาโลโนซีตรอน (Palonosetron), โทรพิซีตรอน (Tropisetron)
4. ยาต้านตัวรับนิวโรไคนิน1 (Neurokinin1 receptor antagonists) เช่น แอพรีพิแทน (Aprepitant) อนึ่งตัวรับนิวโรไคนิน1 เป็นตัวรับในระบบประสาททำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและอาการปวด
5. สารสังเคราะห์จากกัญชา (Cannabonoids) ได้แก่ นาบิโลน (Nabilone), โดรนาบินอล (Dronabinol)
6. ยาสเตียรอยด์ (Corticosteriods) เช่น เด็กซาเมทาโซน (Dexamethasone), เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)
7. ยากลุ่ม Benzodiazepines เป็นกลุ่มยาที่ใช้สงบประสาท/ยาคลายกังวล/ยาคลายเครียดเช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam), ลอราซีแพม (Lorazepam)
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอยู่ในรูปแบบใดบ้าง?
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอยู่ในรูปแบบได้หลากหลาย ได้แก่
- ยาเตรียมปราศจากเชื้อ (Sterile solution) ใช้เป็นยาฉีด
- ยาเม็ด (Tablet)
- ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable Tablet)
- ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
- ยาแขวนตะกอน (Suspension)
- ยาสารละลาย (Solution)
- ยาแคปซูล (Capsule)
- แผ่นแปะผิวหนัง (Transdermal Patch)
- ยาเหน็บทวาร (Suppository)
- ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual Tablet)
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีข้อบ่งใช้อย่างไร?
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีข้อบ่งใช้ เช่น
1. ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเช่น ยาแอโพมอร์ฟีน (Apomorphine) ที่รักษาโรคพาร์กินสัน, ฮอร์โมนยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน, ยาสลบ, ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid)
2. ใช้ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการใช้ยาเคมีบำบัด, รังสีรักษา
3. ใช้บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากภาวะกระเพาะอาหารไม่เคลื่อนไหว (Gastric hypomotility), อาหารไม่ย่อย, โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease, GERD), โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis)
4. ใช้บรรเทาอาการอาเจียนจากการตั้งครรภ์ (แพ้ท้อง)
5. ใช้ป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด
6. ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่มีสาเหตุจากการเคลื่อนไหว (Motion sickness) เช่น เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีข้อห้ามใช้อย่างไร?
ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนมีข้อห้ามใช้ เช่น
1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆหรือแพ้ยาอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันเช่น หากผู้ป่วยแพ้ยาออนแดนซีตรอนก็อาจแพ้ยาแกรนิซีตรอนได้เช่นกัน
2. ห้ามใช้ยาดอมเพอริโดนในผู้ป่วยที่มีเนื้องอกที่ผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมสร้างน้ำนม (Prolactinoma)
3. ห้ามใช้ยาดอมเพอริโดน, เมโทโคลพราไมด์ และอิโทรไพรด์ในผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดกั้น/อุดตัน/ตีบ, ทางเดินอาหารทะลุ, เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร และหลังจากผ่าตัดทางเดินอาหาร
4. ห้ามใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ในผู้ที่มีประวัติโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน เนื้องอกที่ต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma และห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติจากกลุ่มอาการเอ็กตราพิรามิดัล/กลุ่มอาการที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ (Extrapyra midal symptoms, EPS)
มีข้อควรระวังในการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเช่น
1. ควรใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนเมื่อทราบสาเหตุของการอาเจียนแล้วเท่านั้น เพราะอาจทำให้วินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ยากขึ้น
2. ระวังการใช้ยาต้านฮีสทามีน (H1 antihistamines) ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมโดยเฉพาะยาไดเมนไฮดริเนท, ไดเฟนไฮดรามีน และไฮดรอกซิซีนในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์, ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง
3. ไม่ควรรับประทานยาต้านฮีสทามีน (H1 antihistamines) โดยเฉพาะไดเมนไฮดริเนท, ไดเฟนไฮดรามีน และไฮดรอกซิซีนร่วมกับสุราหรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ, ยานอนหลับ และยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยา
4. ระวังการใช้ยาต้านฮิสทามีน (H1 antihistamines) ในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคลมชัก โรคหืด โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคลำไส้อุดตัน ภาวะลำไส้อืดเป็นอัมพาต ภาวะกระเพาะอาหารส่วนปลายตีบ ภาวะกระเพาะปัสสาวะถูกอุดกั้น และต่อมลูกหมากโต
การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนสามารถใช้เมื่อผู้ป่วยอาเจียนขณะตั้งครรภ์ได้ แต่ควรใช้เมื่อมีอาการรุนแรงเท่านั้นและควรเป็นการสั่งใช้ยาจากสูตินรีแพทย์เท่านั้น โดยยาที่แพทย์มักเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกๆได้แก่ ยาในกลุ่มต้านฮีสทามีนเช่น ไดเมนไฮดริเนท, ไดเฟนไฮดรามีน, และโปรเมทาซีน ส่วนยาที่ใช้เป็นตัวเลือกลำดับที่ 2 เช่น เมโทโคลพราไมด์ และโปรคลอเพอราซิน
2. วิตามินบี 6 (Pyridoxine) สามารถบรรเทาอาการคลื่นไส้ในหญิงตั้งครรภ์ได้แต่ต้องเป็นการสั่งใช้ยาจากสูตินรีแพทย์เท่านั้น
3. หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการคลื่นไส้อาเจียนที่รุนแรงมากควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยผู้ป่วยอาจต้องได้รับสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte/เกลือแร่) เพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
4. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนที่ใช้เป็นตัวเลือกแรกในหญิงให้นมบุตรได้แก่ ยาเมคลิซีน นอกจากนี้หากผู้ป่วยใช้ยาออนแดนซีตรอน ควรเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในเด็กด้วย แต่ทั้งนี้ข้อสำคัญก่อนใช้ยาเหล่านี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนใช้ยาเสมอ
การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ระวังการใช้ยาซินนาริซีนและยาฟลูนาริซีนในผู้สูงอายุเพราะทำให้เกิดกลุ่มอาการโรคพาร์กินสันได้
2. ไม่ควรใช้ยาเมโทโคลพราไมด์ในขนาดสูงหรือใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 12 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ Tardive dyskinesia (ภาวะมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อผิดปกติ) ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาและอาจมีอาการเกิดขึ้นถาวร โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้ได้แก่ ผู้สูงอายุเพศหญิงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน
3. ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจควรระวังการใช้ยาดอมเพอริโดนและยาต้านตัวรับเซโรโทนิน เพราะยานี้ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต (ตาย)
การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในเด็กควรเป็นอย่างไร?
การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น
1. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนที่มีการใช้มากที่สุดในเด็กคือ โปรเมทาซีน โดยมักให้ยาทางทวารหนัก และหากเด็กมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงควรได้รับสารน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำเช่นกัน แต่ทั้งนี้การใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนในเด็กต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
2. หากผู้ป่วยเด็กมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการได้รับยาเคมีบำบัด แพทย์ผู้รักษาอาจใช้ยาออนแดนซีตรอนร่วมกับยาสเตียรอยด์ แต่ยังไม่ทราบขนาดยาที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยาเหล่านี้จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
3. ยาโปรคลอเพอราซิน, โปรเมทาซีน, เมโทโคลพราไมด์ และไดเมนไฮดริเนท เป็นยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาได้มาก แพทย์จึงมักไม่ใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
มีผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนอย่างไร?
มีผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนดังนี้ เช่น
1. ยาต้านฮิสทามีน (H1 antihistamines) ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ปวดศีรษะ ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะคั่ง/ปัสสาวะไม่ออก สับสน ใจสั่น และมีฤทธิ์ที่ชักนำให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสัน
2. ยาดอมเพอริโดนพบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาน้อยเช่น ปวดศีรษะ ระดับโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดน้ำนม) ในเลือดเพิ่ม และมีอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบช่องท้อง
3. ยาเมโทโคลพราไมด์ทำให้เกิดอาการง่วงซึม สับสน วิตกกังวล ซึมเศร้า เกิดความผิดปกติจากกลุ่มอาการเอ็กตราพิรามิดัล (Extrapyramidal symptoms, EPS) ระดับโปรแลคตินในเลือดเพิ่ม อุจจาระร่วง/ท้องเสีย พิษต่อระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาเช่น เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงต่ำ
4. ยาต้านตัวรับเซโรโทนิน (Serotonin receptor antagonists): พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาน้อยเช่น ปวดศีรษะ ท้องผูก หน้าแดง เป็นต้น
5. ยาแอพรีพิแทนทำให้ปวดศีรษะ ท้องผูก เบื่ออาหาร สะอึก เหนื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายท้อง
สรุป
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้คลื่นไส้อาเจียนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Lacy C.F., et al. Drug information handbook with international trade names index. 19th ed. Ohio : Lexi-comp, 2011.
- Manteuffel, J. Use of antiemetics in children with acute gastroenteritis: Are they safe and effective? Journal of Emergencies, Trauma, and Shock 2(1) (January-April 2009) : 3-5
- Wells B.G., et al. Pharmacotherapy Handbook. 8. The McGraw-Hill, 2012.
- คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/archive/3274 [2015,Sept26]
- สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. อาการคลื่นไส้อาเจียนกับการรักษาโรคมะเร็ง http://www.chulacancer.net/patient-list.php?gid=46 [2015,Sept26]