แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate หรือ Ca gluconate) คือ ยาใช้เสริมธาตุแคลเซียมในผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในร่างกายต่ำ(ภาวะขาดแคลเซียม)    ทางคลินิกยังใช้แคลเซียมกลูโคเนตในวัตถุประสงค์อื่นอีกเช่น ใช้แก้พิษกรณีที่ร่างกายได้รับเกลือแมกนีเซียมเกินขนาด ใช้เป็นยาทาเมื่อผิวหนังไหม้จากการสัมผัสกรดไฮโดรฟลูออริก (Hydrofluoric acid, กรดใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิดเช่น ใช้เป็นสารละลาย) ใช้บำบัดภาวะร่างกายได้รับเกลือโพแทสเซียมสูงเกิน และในอดีตทางการแพทย์เคยใช้แคลเซียมกลูโคเนตชนิดฉีดรักษาผู้ที่ถูกแมงมุมแม่หม้ายดำกัดอีกด้วย

รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นได้ของยานี้จะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานและยาฉีด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ระบุให้แคลเซียมกลูโคเนตเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของชุมชน สำหรับประ เทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้แคลเซียมกลูโคเนตอยู่ในบัญชียาหลักแห่ง ชาติและมีหลายขนาดความแรง ประชาชนโดยทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับยากลุ่มแคลเซียมที่เป็นชนิดเม็ดสำหรับรับประทานเท่านั้นซึ่งรวมแคลเซียมกลูโคเนตด้วย

อย่างไรก็ตามการใช้ยาหรือได้รับยาแคลเซียมกลูโคเนตเกินขนาดสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้กล่าวคือ อาจพบอาการนิ่วในไต  ปวดกระดูก  ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะมาก อ่อนแรง เบื่ออาหาร ตับอ่อนอักเสบ อาการที่รุนแรงมากกว่านี้น่าจะเป็นภาวะหัวใจเต้นช้า และหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเมื่อมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (ECG) จะพบค่า ECG เปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ อาจเกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้นก่อนการเลือกใช้แคลเซียมกลูโคเนต ผู้ป่วยสมควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และไม่ควรไปซื้อหายามารับประทานด้วยตนเอง

แคลเซียมกลูโคเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคลเซียมกลูโคเนต์

ยาแคลเซียมกลูโคเนตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาผู้ที่ขาดเกลือแร่/แร่ธาตุแคลเซียม (ภาวะขาดแคลเซียม)
  • รักษาภาวะเกลือแร่ โพแทสเซียมในเลือดสูง และ เกลือแร่แมกนีเซียมในเลือดสูงเกินปกติ
  • รักษาโรคกระดูกพรุน
  • ใช้เป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก รักษาอาการระคายเคืองจากกรดไฮโดรฟลูออริก
  • รักษาภาวะร่างกายได้รับยากลุ่ม Calcium channel blocker เกินขนาด

แคลเซียมกลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเซียมกลูโคเนตคือ ตัวยาจะเข้าไปสร้างสมดุลของเกลือ            แคลเซียมในกระแสเลือด ส่งผลให้เส้นประสาทกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนั้นร่างกายยังนำแคลเซียมไปใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และเพื่อคงสมดุลของเกลือแร่/แร่ธาตุต่างๆในเลือดอีกด้วย

แคลเซียมกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคลเซียมกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 4.5 มิลลิอิควิวาเลนท์/10 มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดฟู่ละลายน้ำที่ประกอบด้วยเกลือ/เกลือแร่ แคลเซียมชนิดอื่น เช่น
    • Calcium lactate93 กรัม + Calcium gluconate 0.01 กรัม + Calcium carbonate 0.3 กรัม

*หมายเหตุ:

  • แคลเซียมกลูโคเนตชนิดเม็ด/เม็ดฟู่ เหมาะกับภาวะขาดแคลเซียม เช่น โรคกระดูกพรุนและต้องการแคลเซียมเข้าไปเสริมสร้างร่วมกับแคลเซียมที่ได้จากสารอาหารประจำวัน
  • แคลเซียมกลูโคเนตชนิดฉีด เหมาะกับภาวะร่างกายขาดแคลเซียมอย่างมาก เช่น อาจมีอาการชักเกร็งและต้องการแคลเซียมชดเชยเร่งด่วน หรือให้กับสตรีตั้งครรภ์ที่อยู่ในภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
  • แคลเซียมคาร์บอเนตมีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ 40% ราคาถูกที่สุด พบในอาหารทะเลเป็นส่วนมาก มีการดูดซึมเข้าร่างกายจากระบบทางเดินอาหารได้ต่ำ ต้องรับประทานพร้อมมื้ออาหารจึงจะดูดซึมได้ดีขึ้น
  • แคลเซียมกลูโคเนตมีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ 9% ซึ่งเป็นปริมาณต่ำ หากใช้เป็นองค์ประกอบหลักของยาเม็ดจะต้องรับประทานต่อวันเป็นปริมาณมาก มีการดูดซึมเข้าร่าง กายได้ในอัตราที่ไม่แน่นอนนัก และต้องรับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร
  • แคลเซียมแลคเตตมีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ 13 % มีการดูดซึมเข้าร่างกายได้ปานกลาง ราคาสูงขึ้น มักนำไปใช้เป็นยาลดกรดอีกด้วย

แคลเซียมกลูโคเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยสามารถนำยาแคลเซียมกลูโคเนตมาใช้รักษาในหลากหลายภาวะ/อาการ ดังนั้นการใช้ที่รวมถึงขนาดของยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาแคลเซียมกลูโคเนตเฉพาะขนาดรับประทานสำหรับรักษาภาวะขาดแคลเซียม เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 1,000 – 3,000 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
  • เด็กแรกเกิด/ทารก : เช่น  รับประทาน 500 – 1,500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดย แบ่งรับประทานทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง
  • เด็กเล็ก - เด็กโต: เช่น  รับประทาน 500 - 725 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมง

*อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคลเซียมกลูโคเนต ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล     และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียมกลูโคเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคลเซียมกลูโคเนต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัด ไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แคลเซียมกลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาแคลเซียมกลูโคเนตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น  

มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียมกลูโคเนตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต เช่น     

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามฉีดยาแคลเซียมกลูโคเนตเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในระหว่างทำการกู้ชีพด้วยเครื่องที่เรียก ว่า CPR ( Cardiopulmonary resuscitation)
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับพิษจากยา Digoxin
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นนิ่วในไต (Renal calculi)
  • ระวังการให้ยาแคลเซียมกลูโคเนตแบบฉีดเข้าหลอดเลือดอาจก่อให้เกิดอาการหลอด เลือดขยายตัว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า  หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น
  • อาจเกิดภาวะท้องผูก ท้องอืด เมื่อใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตชนิดรับประทาน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลเซียมกลูโคเนตด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน

แคลเซียมกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคลเซียมกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น      

  • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต ร่วมกับยา Digoxin อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นหน้าอก ตาพร่า  คลื่นไส้  และเป็นลมชัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับ ประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนตชนิดฉีดผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะ Ceftriaxone ด้วยยาทั้ง 2 จะทำให้เกิดตะกอนผลึกในกระแสเลือด ในปอด หรือในไต โดยเฉพาะกับเด็กทารก
  • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต ร่วมกับยา Hydrochlorothiazide อาจทำให้ระดับความเข้ม ข้นของแคลเซียมกลูโคเนตในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นผลให้มีอาการข้างเคียงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาแคลเซียมกลูโคเนต ร่วมกับยา Amlodipine อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Amlodipine ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาแคลเซียมกลูโคเนตอย่างไร?

 ควรเก็บยาแคลเซียมกลูโคเนต:

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แคลเซียมกลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลเซียมกลูโคเนต  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Calcium Gluconate GPO (แคลเซียมกลูโคเนต จีพีโอ) GPO
KAL-forte (คาลฟอร์ท) B L Hua
Calcion (แคลซิออน) Acdhon
Calcion Calcium Gluconate T.O. (แคลเซียมกลูโคเนต ทีโอ) T.O. Chemicals

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/calcium-gluconate.html[2021,Nov20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_gluconate#Medical_uses   [2021,Nov20]
  3. https://reference.medscape.com/drug/calcium-gluconate-344434#0  [2021,Nov20]
  4. https://www.mims.com/Thailand/Drug/search/?q=CALCIUM%20GLUCONATE  [2021,Nov20]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Calcion/  [2021,Nov20]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Calcium%20Gluconate%20GPO/  [2021,Nov20]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/KAL-forte/?type=brief  [2021,Nov20]
  8. https://www.drugs.com/pro/calcium-gluconate-injection.html  [2021,Nov20]
  9. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/calcium-%20supplements/art-20047097?pg=2  [2021,Nov20]