ภาวะขาดแคลเซียม (Calcium inadequacy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรค/ภาวะขาดแคลเซียม หรือ การขาดแคลเซียม(Calcium deficiency หรือ Calcium inadequacy/แคลเซียมไม่พอ) หรือหลายคนเรียกว่า ภาวะแคลเซียมต่ำ หรือ แคลเซียมในเลือดต่ำ(Hypocalcemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีเกลือแร่แคลเซียมในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ที่มักเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีแคลเซี่ยมต่ำ หรือเกิดในภาวะที่ร่างกายมีความต้องการแคลเซียมสูงขึ้น เช่น วัยเด็ก, วัยรุน, ซึ่งการขาดแคลเซียมจะส่งผลต่อการทำงานของทุกระบบอวัยวะโดยเฉพาะกระดูก จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆได้หลากหลาย

ภาวะขาดแคลเซียม พบบ่อยทั่วโลก แต่ไม่มีรายงานภาพรวมถึงสถิติการเกิด เพราะมักรายงานสถิติของแต่ละโรคที่เกิดจากขาดแคลเซียม เช่น โรคกระดูกพรุน เป็นต้น ภาวะขาดแคลเซียมพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงผู้สูงอายุ (พบสูงขึ้นในวัยกำลังเจริญเติบโต และในผู้สูงอายุ) พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชายจากเพศหญิงมีการตั้งครรภ์ การให้นมบุตร และมีวัยหมดประจำเดือน

แคลเซียมคืออะไร? มีหน้าที่อะไร?

ภาวะขาดแคลเซียม

แคลเซียม(Calcium) เป็นเกลือแร่/แร่ธาตุที่มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน และยังมีหน้าที่ช่วยในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น

  • เป็นสาร เมสเซนเจอร์ (Messenger)ระหว่างเซลล์ต่างๆทั่วร่างกายเพื่อช่วยติดต่อประสานงานระหว่างเซลล์ต่างๆให้ทำงานได้ประสิทธิภาพ
  • เป็นตัวช่วยส่งกระแสประสาท
  • ช่วยในการหลั่งฮอร์โมนต่างๆ
  • ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
  • ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายทั้งการหดตัวและการคลายตัวที่รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ

แหล่งแคลเซียม:

ประมาณ 99%ของแคลเซียมในร่างกาย จะถูกสะสมไว้ที่กระดูกและฟันซึ่งร่างกายจะดึงแคลเซียมที่สะสมไว้นี้ออกมาใช้กรณีร่างกายมีแคลเซียมในเลือดต่ำ/ภาวะขาดแคลเซียม

ทั้งนี้ แหล่งสำคัญของแคลเซียม คือ อาหาร/เครื่องดื่มที่บริโภคในทุกวันที่สำคัญคือ นม และจากการกินแคลเซียมเสริมอาหาร เช่น ในรูปแบบยาแคลเซียม เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต หรือในรูปแบบอาหารเสริม/การเสริมอาหาร เช่น ในอาหารเช้าCerealที่เพิ่มแคลเซียม, เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพต่างๆของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม เป็นต้น

แหล่งอาหารแคลเซียม:

อาหารธรรมชาติที่มีแคลเซียมสูงคือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง, ปลาซาลมอน, ปลาซาร์ดีน

ส่วนพืชบางชนิดจะมีแคลเซียมสูง แต่เป็นแคลเซียมชนิดมีคุณภาพต่ำกว่าแคลเซียมจากสัตว์ ซึ่งเป็นที่มาของการพบผู้ที่เป็นมังสวิรัติชนิดเคร่งครัด(ไม่กิน/ไม่ใช้ทุกอย่างจากสัตว์)มีโอกาสสูงที่จะมีภาวะขาดแคลเซียม โดยพบได้สูงกว่าผู้รับประทานอาหารปกติ/กินนมได้ โดยผักที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น คะน้ำ บรอคโคลิ ผักขม

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะขาดแคลเซียม?

สาเหตุของการขาดแคลเซียม ได้แก่

  • ได้รับอาหารที่มีแคลเซียมต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่วัยเด็ก ที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโต(ความสูง)และความแข็งแรงของกระดูก และเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระดูกบาง จนถึงโรคกระดูกพรุน และกระดูกหักในที่สุดเมื่อเติบโตขึ้น
  • ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากระบบทางเดินอาหารได้น้อยลง เช่น ใน
    • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
    • กินยาบางชนิดที่รบกวนการดูดซึมแคลเซียม เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์, ยาที่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียม เช่น ยาลดกรดบางชนิด
    • กินอาหารที่มีใยอาหารชนิดไม่ละลาย(Insoluble fiber)ปริมาณมากต่อเนื่อง เช่น ธัญพืชของข้าวสาลี
    • กินอาหารหมักดองและ/หรือแปรรูปปริมาณสูงเป็นประจำ
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากต่อเนื่อง
    • โรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ
  • ร่างกายขับแคลเซียมออกจากร่างกายผ่านทางไต/ทางปัสสาวะมากเกินปกติ เช่น
    • โรคไตเรื้อรัง
    • การใช้ยาบางชนิดต่อเนื่อง เช่นยาขับปัสสาวะกลุ่มThiazides
    • ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีนสูง ปริมาณมากต่อวันต่อเนื่อง เช่น กาแฟ โคลา
    • บริโภคเครื่องดื่ม/อาหารที่มีฟอสเฟตสูงต่อเนื่อง เช่น โคลา เนื้อแดง
  • ขาดวิตามินดี
  • ร่างกายขาดเอนไซม์ย่อยน้ำตาลLactoseในนม จึงส่งผลให้ดื่มนมไม่ได้ ดื่มนมแล้วจะท้องเสีย จึงส่งผลให้ร่างกายขาดอาหารที่มีแคลเซียมสูงซึ่งคือนม
  • ร่างกายขาดฮอร์โมนที่ใช้ช่วยสะสมแคลเซียมในกระดูก เช่น ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสตรีวัยหมดประจำเดือน
  • โรคทางพันธุกรรมบางชนิด ที่ทำให้ร่างกายสะสมแคลเซียมไม่ได้ หรือทำให้ไตขับแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะสูงกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุกลุ่มนี้ พบได้น้อยมาก

ภาวะขาดแคลเซียมมีอาการอย่างไร?

อาการ และความรุนแรงของอาการจากร่างกายขาดแคลเซียมมีปัจจัยหลากหลาย ที่สำคัญ เช่น เป็นการขาดแคลเซียมในปริมาณน้อยหรือมาก, เป็นการขาดแคลเซียมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือไม่, เพศ, อายุผู้ป่วย, โรคประจำตัว, ยาต่างๆที่ใช้ประจำ, ภาวะประจำเดือนกรณีเป็นสตรี, และขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลเซียม

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป อาการที่พบได้ เช่น

  • อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อย
  • รู้สึกชาตาม ร่างกาย ใบหน้า แขน ขา บ่อย
  • เจ็บหน้าอกบ่อย
  • เป็นลมง่าย
  • เล็บเปราะ ฉีกง่าย
  • ขน/ผมหยาบ
  • ผิวแห้ง
  • คันเรื้อรังโดยไม่มีผื่น
  • ความจำไม่ดี สับสนง่าย
  • ซึมเศร้า
  • ฟันผุง่าย
  • อาการจากโรคกระดูกพรุน
  • กระดูกหักง่าย
  • ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำมาก อาจก่ออาการชักได้
  • บางคนที่แคลเซียมต่ำไม่มาก อาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ถ้าต่ำต่อเนื่อง จะพบภาวะกระดูกบางได้จากการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะขาดแคลเซียม?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะขาดแคลเซียม ได้แก่

  • กินอาหารมังสวิรัติแบบเคร่งครัดที่ไม่ดื่มนมและไม่บริโภคทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัตว์
  • มีโรคระบบทางเดินอาหารเรื้อรัง เช่น ลำไส้อักเสบชนิดเรื้อรัง หรือลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสีย
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ตับวายเรื้อรัง
  • ขาดวิตามินดี
  • สตรีวัยหมดประจำเดือน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

โดยทั่วไป ภาวะขาดแคลเซียมที่ไม่ใช่เกิดจากโรค มักเป็นการขาดแคลเซียมไม่มาก ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการผิดปกติโดยเฉพาะอาการที่เกิดแบบเฉียบพลัน เช่น อาการชัก สับสน เป็นลม เป็นต้น ซึ่งอาการเฉียบพลันจะเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่อาการจากขาดแคลเซียมไม่มาก มักจะเป็นอาการเรื้อรังทางกระดูก คือ ฟันผุง่าย กระดูกบาง กระดูกพรุน ที่ตามมาด้วยกระดูกหักง่าย

ดังนั้น ทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงจึงควรพบแพทย์เพื่อ ตรวจสุขภาพประจำปี สม่ำเสมอ เพื่อแพทย์วินิจฉัย และ/หรือให้คำแนะนำป้องกัน/รักษาภาวะฯนี้แต่เนิ่นๆ

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดแคลเซียมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดแคลเซียมได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น เพศ อายุ การมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ” อาการผิดปกติต่างๆ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประเภทอาหาร/ เครื่องดื่ม การออกกำลังกาย
  • การตรวจร่างกาย และ
  • ถ้าสงสัยแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับแคลเซียมในเลือด

รักษาภาวะขาดแคลเซียมอย่างไร?

แนวทางรักษาภาวะขาดแคลเซียม ได้แก่

  • การให้กิน อาหาร เครื่องดื่ม ประเภทมี แคลเซียมสูงและวิตามินดีสูง
  • การใช้ยาแคลเซียมเสริมอาหาร เช่นยา แคลเซียมคาร์บอเนต
  • การรักษาโรค/ภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น
    • ให้ยาฮอร์โมนกรณีสาเหตุเกิดจากการขาดฮอร์โมน
    • ปรับเปลี่ยนยา กรณีสาเหตุเกิดจากยา
    • รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคไต โรคตับ โรคระบบทางเดินอาหาร
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่สำคัญ เช่น
    • เลิก/ลดปัจจัยเสี่ยงที่ลดระดับแคลเซียมในร่างกาย เช่น ลดปริมาณเครื่องดื่ม กาเฟอีน, แอลกอฮอล์, โคลา
    • เลิกบุหรี่
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกวัน
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพในทุกวัน

ภาวะขาดแคลเซียมมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากภาวะขาดแคลเซียม ที่สำคัญคือ

  • ภาวะ/โรคกระดูกบาง
  • โรคกระดูกพรุน
  • ฟันผุง่าย และ
  • กระดูกหักง่าย

ภาวะขาดแคลเซียมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในภาวะขาดแคลเซียม จัดเป็นภาวะที่ไม่ทำให้ถึงตาย เป็นภาวะที่แพทย์รักษาควบคุมอาการโรคได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากตัวผู้ป่วยเอง และครอบครัวผู้ป่วย นอกจากนั้นภาวะนี้ยังเป็นภาวะที่มีวิธีป้องกันการเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะขาดแคลเซียม?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะขาดแคลเซียม ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง
  • ตากแดดอ่อนๆทุกวันอย่างน้อยวันละ 15 นาที เพื่อเพิ่มการสร้างวิตามินดีของร่างกายจากผิวหนัง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ เพราะจะช่วยให้การทำงานของกระดูก, การคงมวลกระดูก, การคงสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
  • ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดแคลเซียมในเลือดต่ำ(ดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ”)ให้ได้เป็นอย่างดี

ป้องกันภาวะขาดแคลเซียมได้อย่างไร?

ป้องกันภาวะขาดแคลเซียมได้ดังนี้ เช่น

  • บริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำทุกวัน เช่น นม
  • เลิก/ลด อาหาร/เครื่องดื่ม
    • ที่มีแคลเซียมต่ำ
    • ที่ลดการดูดซึมแคลเซียมจากระบบทางเดินอาหาร เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ที่เพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ เช่น เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง
  • ตากแดดอ่อนๆเพื่อการเสริมสร้างวิตามินดีโดยผิวหนังทุกวัน วันละประมาณ 15 นาที
  • ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวันเพื่อเพิ่มการคงสมดุลของแคลเซียมของร่างกาย
  • พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพพื้นฐานทุกปี ถึงแม้ไม่มีอาการอะไรที่ผิดปกติ

ปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่ควรได้รับต่อวัน

IOM (Institute of Medicine) สถาบันที่ดูแลด้านการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ 2011 ได้แนะนำปริมาณแคลเซียม และวิตามินดี ทั้งหมดที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน(รวมทั้งหมดทั้งจากอาหารและจากแคลเซียมเสริมอาหาร) ดังนี้

บรรณานุกรม

  1. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Calcium-HealthProfessional/ [2019,Nov23]
  2. https://www.justvitamins.co.uk/blog/calcium-deficiency-risk-and-symptoms/#.XYhSES4zbIV [2019,Nov23]
  3. https://www.merckmanuals.com/home/hormonal-and-metabolic-disorders/electrolyte-balance/hypercalcemia-high-level-of-calcium-in-the-blood[2019,Nov23]
  4. https://www.healthline.com/health/calcium-deficiency-disease[2019,Nov23]
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t3/?report=objectonly [2019,Nov23]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly [2019,Nov23]