หัวใจเต้นช้า (Bradycardia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 สิงหาคม 2560
- Tweet
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
หัวใจเต้นช้า หรือ ชีพจรเต้นช้า หรือ อัตราการเต้นของหัวใจช้า(Bradycardia) ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการ /ภาวะ ที่เกิดได้ทั้งจากปัจจัยปกติทั่วไป และจากโรคต่างๆ โดยหัวใจเต้นช้าหมายถึงผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจ(Beat per minute ย่อว่า BPM)ต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที โดยในภาวะปกติ หัวใจจะมีอัตราการเต้นอยู่ในช่วง 60-100 ครั้งต่อนาที
สาเหตุ: สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นช้าในภาวะทั่วไปที่ไม่ใช่จากโรค ที่พบบ่อย คือ ในนักกีฬา, ในขณะที่นอนหลับสนิท, และในผู้สูงอายุ, นอกจากนี้ ยังพบว่า เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิดได้ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาทางจิตเวช
ส่วนสาเหตุหัวใจเต้นช้าที่เกิดจากโรค เช่น โรค/ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ, โรคหัวใจที่มีความผิดปกติในกระแสไฟฟ้าหัวใจจากการทำงานของเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่เรียกว่า Sinus node ที่เรียกอาการหัวใจเต้นช้าจากสาเหตุนี้ว่า “หัวใจเต้นช้า Sinus Bradycardia”, โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, ภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ในเลือด, โรคออโตอิมมูน
อาการ: อาการหัวใจเต้นช้า จะส่งผลให้หัวใจบีบตัวส่งเลือด/ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง และ หัวใจ ดังนั้นอาการหลักที่พบในหัวใจเต้นช้าคือจากสมองและหัวใจขาดออกซิเจน คือ เหนื่อยง่าย วิงเวียน มึนงง สับสน คล้ายจะเป็นลม หายใจลำบาก และถ้าอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัยอาการหัวใจเต้นช้าได้ด้วยวิธีการเดียวกับการวินิจฉัยอาการหัวใจเต้นเร็ว ได้แก่ จาก ประวัติทางการแพทย์ อาการผู้ป่วย ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การตรวจวัดสัญญานชีพ การตรวจร่างกาย การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์และอาการผู้ป่วย เช่น เอคโคหัวใจ เอกซเรย์ปอด
การรักษา: การรักษาอาการหัวใจเต้นช้า ได้แก่ การรักษาสาเหตุ และการใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ(Pacemaker)
การพยากรณ์โรค: โดยทั่วไปการพยากรณ์โรคของอาการหัวใจเต้นช้าค่อนข้างดีจากการรักษาด้วยการผ่าตัดฝัง Pacemaker ในผนังหน้าอก หรือ ผนังหน้าท้อง
บรรณานุกรม