แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) คือ ยาที่ทางเภสัชกรรม/นักวิทยาศาสตร์ได้นำมาผลิตเป็นหลายสูตรตำรับยา  เช่น  ยากลุ่มบำรุงและเสริมสร้างกระดูก,  ยาลดกรด, ยาช่วยย่อย, ยาแก้ท้องอืด, ยาแก้ท้องเสีย,  แต่ที่พบมากที่สุดในตลาดยาบ้านเรา จะเป็นรูปแบบของยาบำรุงและเสริมสร้างกระดูก 

ธรรมชาติของแคลเซียมคาร์บอเนต ไม่ละลายน้ำ บางสูตรตำรับจึงแนะนำให้เคี้ยวยาก่อนกลืน หรือผลิตเป็นผงบรรจุแคปซูลจึงสะดวกกับผู้ที่ไม่ชอบเคี้ยวยาหรือผลิตอยู่ในรูปของยาเม็ดฟู่ที่ต้องละลายน้ำแล้วค่อยดื่ม

หลังรับประทานยาแคลเซียมคาร์บอเนต ยาส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายและขับออกทางปัสสาวะ  ยาบางส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะขับออกมากับอุจจาระ อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนต ด้วยมีผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้หลายประการ การใช้ยานี้จึงควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง: ทั่วไป แคลเซียมคาร์บอเนต คือ สารประกอบที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก  อุตสาหกรรมผลิตน้ำมัน  ขบวนการผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูป  ในบางประเทศใช้แคลเซียมคาร์บอเนตปรับความเป็นกลางของแม่น้ำอันมีสาเหตุจากฝนกรด

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคลเซียมคาร์บอเนต-01

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาแคลเซียมคาร์บอเนต:  เช่น

  • ใช้เป็นยาลดกรด, บรรเทาอาการกรดไหลย้อน,  และอาหารไม่ย่อย
  • ใช้เป็นยาบำรุงกระดูก (ป้องกันโรคกระดูกพรุน),  เสริมสร้างระดับแคลเซียมในกระแสเลือด

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเซียมคาร์บอเนต คือ หลังรับประทาน  ตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร จนมีฤทธิ์เป็นกลาง และเกิดเป็นสารประกอบแคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride)  ซึ่งละลายน้ำได้ดี จึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด  เกลือแคลเซียมคาร์บอเนตเอง ยังก่อให้เกิดการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมาได้เช่นเดียวกัน  ผู้บริโภคจึงมักได้รับคำแนะนำว่าควรรับประทานยาพร้อมอาหาร หรือ หลังอาหาร

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาแคลเซียมคาร์บอเนต  เช่น

ก. ยาบำรุงกระดูก: เช่น

  • ชนิดยาเดี่ยว: เช่น
    • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 600,  625,  83,5  1000,  1250,  1500 มิลลิกรัม/เม็ด
    • รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 350,  625,  835  มิลลิกรัม/แคปซูล                                            
  • ชนิดยาผสมซึ่งมักมีวิตามิน-ดี ร่วมด้วย: เช่น
    • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 625,1050, 1500  มิลลิกรัม/เม็ด                                                     

ข. ยาลดกรด: เช่น

  • ชนิดยาเดี่ยว: เช่น                               
    • รูปแบบยาเม็ด ชนิดเคี้ยวขนาดความแรง 1000 มิลลิกรัม/เม็ด                                                     
  • ชนิดยาผสม: เช่น                                                                                               
    • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 80,  5,  200,  500 มิลลิกรัม/เม็ด                                        
    • รูปแบบยาน้ำ ขนาดความแรง 325 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทาน  เช่น

ก. รักษากรณีกระดูกพรุน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 2500 –7500มิลลิกรัม/วันหลังอาหาร, โดยแบ่งรับประทาน 2– 4 ครั้ง/วัน

ข. รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 900 – 2500 มิลลิกรัม/วัน หลังอาหาร, โดยแบ่งรับประทาน 2–4 ครั้ง/วัน

ค. รักษาภาวะอาการปวด จุกแน่นลิ้นปี่ ด้วยสาเหตุอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 – 7980มิลลิกรัม/วัน หลังอาหาร,โดยแบ่งรับประทาน 2 – 4ครั้ง/วัน, ขนาดรับประทานสูงสุดของอาการอาหารไม่ย่อยอยู่ในช่วง 5500 –7980 มิลลิกรัม/วัน ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ เว้นแต่จะมีคำสั่งจากแพทย์

ง. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1250 –3750มิลลิกรัม/วัน, หลังอาหาร, โดยแบ่งรับประทาน 2– 4 ครั้ง/วัน, ทั้งนี้ การใช้ยาสำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หากใช้ยาติดต่อกันนานเกินไป อาจกระตุ้นกระเพาะอาหารให้หลั่งกรดออกมามากหรือที่เรียกว่า Acid rebound, จึงต้องใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:  

  • จะเห็นว่าขนาดการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนต มีขอบข่ายที่กว้าง, เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีอาการและความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน, ดังนั้นการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตในเด็ก ต้องอยู่ในการแนะนำของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น   ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้  การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคลเซียมคาร์บอเนต  ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียมคาร์บอเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร
  • เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคลเซียมคาร์บอเนต  สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้  ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สามารถพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) หลังการรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น

  • ท้องผูก
  • ผื่นคัน
  • แน่นอึดอัดท้อง 
  • หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
  • อาจพบอาการบวมที่ ริมฝีปาก  ใบหน้า  และลิ้น  
  • รู้สึกสับสน
  • อารมณ์หงุดหงิด
  • ปัสสาวะมาก
  • เบื่ออาหาร
  •  คลื่นไส้อาเจียน
  • อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ที่มีภาวะเกลือฟอสเฟต/ฟอสฟอรัส(Phosphate)ในกระแสเลือดต่ำ, อาการ เช่น สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ป่วยโรคไต หรือมีการทำงานของไตผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้ กับผู้ป่วยในกลุ่มต่อไปนี้ เช่น
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
    • ผู้ป่วยที่มีภาวะ ลำไส้อุดตัน                            
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่เป็นนิ่วในไต หรือผู้ที่มีภาวะท้องผูกเป็นประจำ
  • ระวังการใช้ยานี้ ในผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (อาการ เช่น สับสน  คลื่นไส้อาเจียน)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:   ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา"  ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลเซียมคาร์บอเนตด้วย) ยาแผนโบราญ สมุนไพรต่างๆ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ    ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง  ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น                                            

  • หากต้องใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับวิตามินที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานยาห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ  ด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตจะลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาวิตามินดังกล่าว
  • การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว จะทำให้ประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรียของยาปฏิชีวนะนั้นลดต่ำลง  หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกันควรหลีกเลี่ยงและเว้นระยะเวลาให้ห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง  ยาปฏิชีวนะดังกล่าว  เช่นยา  Doxycycline  และ Tetracycline
  • การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจส่งผลให้กลไกการทำงานของยาป้องกันโรคหัวใจด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกัน  แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดการรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มนี้  ยาป้องกัน โรคหัวใจดังกล่าว เช่นยา  Aspirin
  • การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาลดความดัน   จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตด้อยลงไป  แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มเมื่อจำเป็นที่ต้องใช้ร่วมกับยาลดความดัน เช่น ยา Atenolol,  Felodipine,  Timolol  เป็นต้น

ควรเก็บรักษายาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?

สามารถเก็บยาแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลเซียมคาร์บอเนต  มีชื่อยาการค้า  และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Antidiarrhoeals for Children Srichand (แอนไทไดอะเรียส์ ฟอร์ ชิลเดร้น ศรีจันทร์) Srichand
BayCal (เบแคล) Bayer HealthCare Consumer Care
Bismocane (บีสโมแคน) Chinta
Bo-Ne-Ca (โบ-เน-กา) ST Pharma
Ca-C 1000 Sandoz (ซีเอ-ซี 1000) Novartis
Calcanate (แคลเคเนท) ST Pharma
Calcanate with D (แคลเคเนท วิท ดี) ST Pharma
Calcap (แคลแคป) Osoth Interlab
Calcar (แคลคาร์) Unison
Calcinol-1000 (แคลซีนอล-1000) Raptakos
Calcinol-RB (แคลซีนอล-อาร์บี) Raptakos
Calcium 334 (แคลเซียม 334) T. Man Pharma
Calcium Central Poly (แคลเซียม เซ็นทรัล โพลี) Pharmasant Lab
Calcium Effervescent Slovakofarma (แคลเซียม เอฟเฟอร์เวสเซนท์ สโลวาโกฟาร์มา) Unison
Calcium Medicine Products (แคลเซียม เมดิซิน โพรดักซ์) Medicine Products
Calcium T.O. (แคลเซียม ที.โอ.) T.O. Chemicals
Calcium-Sandoz Bonacal (แคลเซียม-แซนดอส โบนาแคล) Novartis
Calcium-Sandoz Forte (แคลเซียม-แซนดอส ฟอร์ด) Novartis
Calcium-Sandoz Forte + D (แคลเซียม-แซนดอส ฟอร์ด + ดี) Novartis
Calhof (แคลฮอฟ) Pharmahof
Calmate 600 (แคลเมท 600) Kenyaku
Calmax (แคลแม็ก) Great Eastern
Cal-Os (แคล-ออส) Siam Bheasach
Cal-Os Chew (แคล-ออส ชิว) Siam Bheasach
Cal-Os Plus D (แคล-ออส พลัส ดี) Siam Bheasach
Calsum (แคลซัม) Sriprasit Pharma
Caltab (แคลแทบ) Millimed
Caltab Plus (แคลแทบ พลัส) Millimed
Caltab W/ Vitamin D (แคลแทบ ดับเบิ้ลยู/วิตามิน ดี) Millimed
Calthicon (แคลทิคอน) Pharmasant Lab
Caltrex (แคลเทร็ก) The United Drug (1996)
Cal-ups (แคล-อัพส์) T. Man Pharma
Cal-ups Join (แคล-อัพส์ จอยน์) T. Man Pharma
Cal-ups Choco (แคล-อัพส์ ช็อกโก) T. Man Pharma
Cal-ups-D (แคล-อัพส์-ดี) T. Man Pharma
Cal-ups-D-Soy (แคล-อัพส์-ดี-ซอย) T. Man Pharma
Carbocal (คาร์โบแคล) Unison
Carbocal-D 1000 (คาร์โบแคล-ดี 1000) Unison
Gaviscon Dual Action (กาวิสคอน ดูออล แอคชั่น) Reckitt Benckiser
GPO Cal (จีพีโอ แคล) GPO
Kal-Cee Orange/Grape (แคล-ซี ออเร้น/เกรป) B L Hua
KAL-fort (แคล-ฟอร์ด) B L Hua
Magesto-F (มาเจสโต้-เอฟ) Takeda
Malugel (มาลูเจล) Charoen Bhaesaj Lab
Mesto-Of (เมสโต-ออฟ) Pond’s Chemical
Nataral (แนทารอล) Kenyaku
OB Cal (โอบี แคล) P P Lab
Oskept (ออสเคพท์) Charoon Bhesaj
Patar Kal (พาต้าร์ แคล) Patar Lab
Pharcal (พาร์แคล) Community Pharm PCL
Phocium (โพเซี่ยม) Pharmasant Lab
Prima-Cal (พรีมา-แคล) NuPharma & HealthCare
T-Bon (ที-บอน) T.O. Chemicals
Topper-M (ท็อปเปอร์-เอ็ม) Chinta
V-Calcium 1000 (วี-แคลเซียม 1000) V S Pharma
Vinatal (วีนาทอล) British Dispensary (L.P.)
Vitana-EZ (วีทานา-อีซี) Kenyaku
Ziga Cal Ultra 1000 (ซิก้า แคล อัลตร้า 1000) Berich

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=calcium%20carbonate&page  [2022,Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_carbonate   [2022,Aug13]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/calcium%20carbonate?mtype=generic  [2022,Aug13]
  4. https://www.drugs.com/dosage/calcium-carbonate.html#Usual_Adult_Dose_for_Osteoporosis  [2022,Aug13]
  5. https://www.drugs.com/sfx/calcium-carbonate-side-effects.html  [2022,Aug13]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/ascorbic-acid-carbonyl-iron-with-calcium-carbonate-3397-0-464-0.html  [2022,Aug13]