ไรฟาซิมิน (Rifaximin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ไรฟาซิมินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ไรฟาซิมินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไรฟาซิมินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไรฟาซิมินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไรฟาซิมินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไรฟาซิมินอย่างไร?
- ไรฟาซิมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไรฟาซิมินอย่างไร?
- ไรฟาซิมินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไรฟาซิมิน (Rifaximin)
- อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- ท้องเสีย อาการท้องเสีย (Diarrhea)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- วิงเวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน (Dizzy หรือ Vertigo)
- โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
- ไรฟามัยซิน (Rifamycin)
บทนำ: คือยาอะไร?
ไรฟาซิมิน (Rifaximin) คือ ยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธุ์ของยาไรฟามัยซิน (Rifamycin) ยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ต่ำมาก จึงเหมาะที่จะใช้จัดการและต่อต้านกับเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ทางคลินิกจึงนำยานี้มาบำบัดอาการท้องเสียในช่วงของการเดินทาง (อาหารเป็นพิษ) ที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล (E.coli, Escherichia coli ) และ โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
มีข้อดีบางประการที่ควรต้องกล่าวถึงของยาไรฟาซิมินน่าจะเป็นเรื่องก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ไม่มากนักและมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาของแบคทีเรียต่ำ อีกทั้งมีราคาไม่แพง ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงยานี้ได้เป็นอย่างดี
ยาไรฟาซิมินได้ถูกวางจำหน่ายและเป็นที่ยอมรับด้านการรักษาอาการป่วยในระบบทางเดินอาหารที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียถึง 33 ประเทศในโลก ชื่อการค้าที่ได้ยินกันบ่อยในต่างประเทศ ได้แก่ยา Xifaxan, Xifaxanta, Normix, และ Rifagut, เป็นต้น
ก่อนการสั่งจ่ายยาไรฟาซิมิน แพทย์จะต้องตรวจคัดกรองร่างกายพร้อมกับสอบถาม ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยมาประกอบกับการรักษา เช่น
- เคยแพ้ยาไรฟาซิมินมาก่อนหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
- สาเหตุของอาการท้องเสียมาจากการรับประทานอาหารหรือเปล่า
- ถ่ายอุจจาระเหลวมีเลือดปนมาหรือไม่
- มีไข้ร่วมด้วยหรือเปล่า
- มีอาการป่วยของตับอยู่ก่อนหรือไม่
- ระหว่างนี้มีการใช้ยา Cyclosporine หรือไม่ (ด้วยยา Cyclosporine จะทำให้ได้รับอาการข้างเคียงของยาไรฟาซิมินมากยิ่งขึ้น)
ทั้งนี้ คำถามและข้อมูลของผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้ยามารักษาได้ถูกต้องตรงตามอาการและเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง
ข้อพึงระวังบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบในระหว่างที่ใช้ยานี้จะเป็นเรื่องเกิดอาการวิงเวียน ปวดหัว คลื่นไส้ เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร-ลำไส้มากขึ้น และอ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่ได้รับผลข้างเคียงเลยก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น
ไรฟาซิมินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไรฟาซิมินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษา: เช่น
- บรรเทาอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษในระหว่างการเดินทาง
- โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
- ภาวะลำไส้มีจำนวนแบคทีเรียมากจนก่อให้เกิดโรค เช่น ลำไส้แปรปรวน
- โรคลำไส้แปรปรวน (IBS, Irritable bowel syndrome)
ไรฟาซิมินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไรฟาซิมินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งกระบวนการทำงานของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า DNA-dependent RNA synthesis ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถสร้างสารพันธุกรรมของตัวเองได้ ทำให้หยุดการเจริญเติบโต หยุดการกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด
ไรฟาซิมินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไรฟาซิมินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200, 400 และ 550 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ไรฟาซิมินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ตัวอย่างขนาดรับประทานของยาไรฟาซิมิน เช่น
ก.บรรเทาอาการท้องเสีย (อาหารเป็นพิษ) ระหว่างการเดินทาง:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข.รักษาอาการโรคสมองเหตุจากโรคตับ:
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยาครั้งละ 550 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ค.สำหรับรักษาโรคลำไส้แปรปรวนประเภทอาการท้องเสีย:
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไรฟาซิมิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรฟาซิมินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วย ควรรับประทานยาไรฟาซิมินให้ตรงเวลา แต่หากลืมรับประทานยา สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไรฟาซิมินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไรฟาซิมินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
ก.อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น คลื่นไส้อาเจียน, อุจจาระมีสีคล้ำ, ปวดหัว, มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว, หายใจถี่และสั้นๆ, ปวดท้อง, นอนไม่หลับ
ข.อาการข้างเคียงที่พบน้อย: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด, จมูกแดง, เจ็บหน้าอก, เป็นลม, หัวใจเต้นเร็ว, รู้สึกหัวหมุน/บ้านหมุน/วิงเวียนศีรษะ (Vertigo), เกิดแผลในปาก, อ่อนเพลีย
ค.อาการข้างเคียงที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน: เช่น ผิวหนังแตก, ผื่นคัน, ใบหน้าบวม, ตัวเย็น
อนึ่ง อาการข้างเคียงบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา อาการจะค่อยๆดีขึ้นจากการดูแลตนเอง แต่บางอาการที่รบกวนและก่อความรำคาญต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรืออาการรุนแรง(เช่น เป็นลม) ผู้ป่วยต้องรีบกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้ไรฟาซิมินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไรฟาซิมิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การใช้ยานี้ในเด็กต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้รักษาเชื้อแบคทีเรียโรคจำพวก Campylobacter (ท้องเสียชนิดมีถ่ายอุจจาระเป็นเลือด), Salmonella (โรคไทฟอยด์) และเชื้อ Shigella (โรคบิด)
- หากใช้ยาไปแล้ว 3 วันอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระวังการเกิดลำไส้ใหญ่อักเสบจากยาปฏิชีวนะอันมีสาเหตุจากเชื้อ Clostridium difficile
- หากพบอาการคล้ายกับแพ้ยาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรฟาซิมินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไรฟาซิมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไรฟาซิมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไรฟาซิมิน ร่วมกับยาBosutinib/ยารักษาตรงเป้า, Eliglustat/ยารักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีสารเคมีบางชนิดผิดปกติเป็นโรคพบได้น้อยมาก เรียกว่า โรคโกเชร (Gaucher disease), Ibrutinib/ยารักษาตรงเป้า, และ Ledipasvir/ยาต้านไวรัส, อาจทำให้ระดับยา Rifaximin ในร่างกายและฤทธิ์ของอาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาไรฟาซิมินอย่างไร?
ควรเก็บยาไรฟาซิมิน:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไรฟาซิมินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไรฟาซิมิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
CIBOZ (ซิบอซ) | Zydus Cadila |
HEPABACT (เฮปาแบค) | Invision |
RAFLE (เรเฟล) | Alembic |
REFATIME (รีแฟไทม์) | Solitaire (Prominent) |
RCIFAX (อาร์ซีแฟกซ์) | Lupin |
RFX (อาร์เอฟเอ็กซ์) | Olcare |
RIFAXIMAX (ริแฟกซิแมกซ์) | Zuventus |
RIXMIN (ริกซ์มิน) | Cipla |
RIFAGUT (ริแฟกัท) | Sun |
SIBOFIX (ซิโบฟิกซ์) | Dr. Reddy's |
Normix (นอร์มิกซ์) | Alfa Wassermann |
Xifaxan (ซิฟาซาน) | Alfa Wassermann |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Rifaximin [2021,Nov13]
- https://www.drugs.com/mtm/rifaximin.html [2021,Nov13]
- https://www.mims.com/Philippines/drug/info/Normix/?type=brief [2021,Nov13]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a604027.html#storage-conditions [2021,Nov13]
- https://www.drugs.com/dosage/rifaximin.html#Usual_Adult_Dose_for_Traveler_s_Diarrhea [2021,Nov13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Rifamycin [2021,Nov13]
- https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Xifaxan/?type=brief [2021,Nov13]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/rifaximin.html [2021,Nov13]