โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 19 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ
- โรคสมองเหตุจากโรคตับคืออะไร?
- โรคสมองเหตุจากโรคตับเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสมองเหตุจากโรคตับ?
- อาการทางสมองจากโรคสมองเหตุจากโรคตับมีอะไรบ้าง?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคสมองเหตุจากโรคตับได้อย่างไร?
- รักษาโรคสมองเหตุจากโรคตับอย่างไร?
- โรคสมองเหตุจากโรคตับก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคสมองเหตุจากโรคตับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันโรคสมองเหตุจากโรคตับได้หรือไม่?
- สรุป
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคสมองเหตุจากสารพิษ (Toxic encephalopathy)
- ตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- โรคตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- แอลกอฮอล์และระบบประสาท (Alcohol and Nervous System)
- ดีซ่าน (Jaundice)
- ตัวเหลือง ตาเหลือง (Jaundice)
- ออกกำลังสมอง การฝึกสมอง (Neurobic exercise)
บทนำ
สมอง เป็นอวัยวะที่สำคัญ เนื่องจากเป็นศูนย์ควบคุม และสั่งการของอวัยวะระบบต่างๆในร่างกาย ความผิดปกติของสมองอาจมีสาเหตุโดยตรงจากรอยโรคในสมองเอง แต่บางครั้งเป็นผลจากความผิดปกติของระบบอวัยวะอื่นๆในร่างกาย ที่ส่งผลเสียต่อสมอง โรคตับเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสมอง และเป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น เราจึงควรต้องมีความเข้าใจในเบื้องต้นใน ‘ภาวะ/โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)’ ให้ดี
โรคสมองเหตุจากโรคตับคืออะไร?
โรคสมองเหตุจากโรคตับคือ ภาวะที่ก่ออาการผิดปกติทางสมอง(โรค-อาการ-ภาวะ) เช่น สับสน ซึม โคม่า ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของตับผิดปกติไป (โรคตับ) ทำให้มีของเสียที่ตับต้องกำจัดออก คั่งในร่างกาย จึงส่งผลกะทบต่อการทำงานของสมอง
โรคสมองเหตุจากโรคตับเกิดได้อย่างไร?
โรคสมองเหตุจากโรคตับ เกิดจากเมื่อตับสูญเสียหน้าที่ปกติไป ทำให้ไม่สามารถเผาผลาญ และขับออกของเสียต่างๆออกจากร่างกายตามปกติ ของเสียที่คั่งสูงมากขึ้นในเลือด โดยเฉพาะแอมโมเนีย และกรดอะมิโน (Amino acid) บางชนิดที่ถูกสร้างโดยแบคทีเรียในลำ ไส้ ซึ่งของเสียดังกล่าวนั้น เป็นสารพิษต่อสมอง จึงทำให้สมองเกิดภาวะ/อาการผิดปกติขึ้น
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสมองเหตุจากโรคตับ?
ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเหตุจากโรคตับ ได้แก่
- โรคตับอักเสบเรื้อรัง
- โรคตับแข็ง
- มีภาวะท้องมาน (Ascites) และ
- กลุ่มผู้ป่วยตับวายแบบเฉียบพลัน เช่น จากสารพิษ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคสมองเหตุจากสารพิษ), จากไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
อาการทางสมองจากโรคสมองเหตุจากโรคตับมีอะไรบ้าง?
อาการทางสมองจากโรคสมองเหตุจากโรคตับ ได้แก่
- ความผิดปกติของระดับการรู้สึกตัว เริ่มจากนอนกลางวันมาก ตื่นกลางคืน เฉื่อยชา ไม่ค่อยเคลื่อนไหว
- บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งญาติจะสังเกตได้ง่าย
- ความสามารถในการจำหรือทำกิจกรรมลดลง
- พูดช้า พูดลำบาก ไม่ค่อยพูด
- มือสั่น ซึ่งตรวจพบได้ง่าย โดยให้ผู้ป่วยยกแขน และกระดกข้อมือขึ้น จะพบการกระตุกของมือ เป็นระยะๆ เรียกว่า Flapping tremor (เกิดจากสมองสูญเสียคำสั่งเป็นระยะๆ)
- หายใจแรงลึก มีกลิ่นเหม็นของลมหายใจ เรียกว่า Fetor hepaticus
- อาการของโรคตับ เช่น ตาเหลือง-ตัวเหลือง
- ถ้าอาการรุนแรงอาจหมดสติ โคม่า หรือชักได้
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มมีการนอนที่ผิดปกติ หรือพฤติกรรมผิด ปกติ ไม่ควรรอให้เป็นมาก หรือกรณีมีภาวะติดเชื้อในผู้ป่วยโรคตับ หรือผู้ป่วยโรคตับที่ อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ทานอาหารได้น้อยลง ก็ควรรีบมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเช่น กัน
แพทย์วินิจฉัยโรคสมองเหตุจากโรคตับได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคสมองเหตุจากโรคตับได้จาก
- อาการผิดปกติดังได้กล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
- ผลการตรวจเลือดดูหน้าที่การทำงานของตับ พบตับสูญเสียหน้าที่อย่างมาก หรือมีการอักเสบของตับ (ตับอักเสบ) รุนแรง
- แพทย์มีการสืบค้นหาสาเหตุอื่นๆที่จะส่งผลต่อสมองไม่พบ เช่น จากเนื้องอกสมอง/ มะเร็งสมอง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองพบความผิดปกติเข้าได้กับภาวะสมองผิดปกติเหตุโรคตับ
- ตรวจพบแอมโมเนียสูงในเลือด
อนึ่ง ในทางปฏิบัติ การตรวจพบความผิดปกติเพียงในข้อ 1-3 ก็เพียงพอในการวินิจฉัย โรคสมองเหตุจากโรคตับได้แล้ว
รักษาโรคสมองเหตุจากโรคตับอย่างไร?
การรักษาโรคสมองเหตุจากโรคตับ ประกอบด้วย
- การรักษา เพื่อกำจัดสาเหตุที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการคั่งของ ของเสียในร่างกาย เช่น ท้องผูก ภาวะติดเชื้อ ระดับสารโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติ และ/หรือเกลือแร่อื่นๆในเลือดผิดปกติ
- การให้ยาปฏิชีวนะ กรณีมีการติดเชื้อ
- การให้ยาแก้ท้องผูก/ยาระบาย แลคตูโลส (Lactulose) จะทำให้มีการระบายสารพิษที่อยู่ในลำไส้ออกมาได้ และสามารถลดการสร้างแอมโมเนียของร่างกายลงได้
- ให้อาหารที่มีโปรตีนต่ำๆ เพื่อลดการเกิดของเสียจากโปรตีน ที่จะเปลี่ยนไปเป็นแอม โมเนีย
- ให้น้ำที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ที่จะทำให้ของเสียคั่งในร่างกายมากขึ้น
โรคสมองเหตุจากโรคตับก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคสมองเหตุจากโรคตับมีผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน คือ ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น ดังนั้น จึงมีโอกาสติดเชื้อในโรงพยาบาลได้สูง ซึ่งทำให้มีโอกาสตาย ได้ นอกจากนั้น ยังอาจเสียชีวิตได้จากผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ ตับวายมากขึ้น ไตวาย เป็นต้น
โรคสมองเหตุจากโรคตับมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคสมองเหตุจากโรคตับ ขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- ถ้าเป็นสาเหตุที่เกิดจากตับวายเฉียบพลัน เช่น จากไวรัสตับอักเสบ มักรักษาได้หาย
- แต่ถ้าเป็นสาเหตุจากโรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง โรคทางสมองสาเหตุจากโรคตับนี้มักรักษาไม่หายขาด มักเป็นๆหายๆ โดยจะเกิดเป็นซ้ำเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นให้ตับเสียหน้าที่การทำงานเพิ่มขึ้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อมีโรคสมองเหตุจากโรคตับคือ
- ต้องเลิกดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- ทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
- ดูแลตนเองให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ สมุนไพร หรือยาต่างๆที่ไม่จำเป็น
- ทานอาหารโปรตีนจาก เนื้อแดง ตับ อาหารทะเลให้ลดลง ใช้โปรตีนจาก ปลา และจากพืชชดเชย
- พบแพทย์ตรงตามนัดเสมอและ
- ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการเป็นมากขึ้น
- ซึมลง
- นอนหลับผิดเวลาต่อเนื่อง
- อุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำเหมือนยางมะตอย
- อาเจียนเป็นเลือด
- ตาและตัวเหลือง(ดีซ่าน) มากขึ้น
- มีไข้
- และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคสมองเหตุจากโรคตับได้หรือไม่?
ป้องกันโรคสมองเหตุจากโรคตับได้โดย
- ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคตับ เช่น
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ฉีดวัคซีนตับอักเสบบี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารเคมีต่างๆโดยไม่จำเป็น
- และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อต่างๆด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ถ้าเป็นโรคตับ ต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีปัจจัยกระตุ้นให้ตับทำงานมากขึ้น เช่น
- เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ท้องผูก
- ภาวะติดเชื้อต่างๆ
- และ/หรือ กินอาหารโปรตีนจากสัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ในปริมาณสูงๆ
สรุป
สมองเป็นอวัยวะที่ต้องดูแลให้ดี ซึ่งการดูแลที่ดีนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ท่านดูแลตน เองให้แข็งแรง ปราศจากโรค และมีการฝึกสมองให้แข็งแรงเสมอ โดยการพูด อ่าน เขียน ทำแบบฝึก หัด หรือเล่นเกมส์ เพื่อพัฒนาสมองเป็นประจำ