ไรฟาซิมิน (Rifaximin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ไรฟาซิมิน (Rifaximin) คือ ยาปฏิชีวนะกึ่งสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธุ์ของยาไรฟามัยซิน (Rifamycin) ยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ต่ำมาก จึงเหมาะที่จะใช้จัดการและต่อต้านกับเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ทางคลินิกจึงนำยานี้มาบำบัดอาการท้องเสียในช่วงของการเดินทาง (อาหารเป็นพิษ) ที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล (E.coli, Escherichia coli ) และ โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)

มีข้อดีบางประการที่ควรต้องกล่าวถึงของยาไรฟาซิมินน่าจะเป็นเรื่องก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ไม่มากนักและมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาของแบคทีเรียต่ำ อีกทั้งมีราคาไม่แพง ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงยานี้ได้เป็นอย่างดี

ยาไรฟาซิมินได้ถูกวางจำหน่ายและเป็นที่ยอมรับด้านการรักษาอาการป่วยในระบบทางเดินอาหารที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียถึง 33 ประเทศในโลก ชื่อการค้าที่ได้ยินกันบ่อยในต่างประเทศ ได้แก่ยา  Xifaxan, Xifaxanta, Normix, และ Rifagut, เป็นต้น

ก่อนการสั่งจ่ายยาไรฟาซิมิน แพทย์จะต้องตรวจคัดกรองร่างกายพร้อมกับสอบถาม  ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยมาประกอบกับการรักษา เช่น

  • เคยแพ้ยาไรฟาซิมินมาก่อนหรือไม่
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
  • สาเหตุของอาการท้องเสียมาจากการรับประทานอาหารหรือเปล่า
  • ถ่ายอุจจาระเหลวมีเลือดปนมาหรือไม่
  • มีไข้ร่วมด้วยหรือเปล่า
  • มีอาการป่วยของตับอยู่ก่อนหรือไม่
  • ระหว่างนี้มีการใช้ยา Cyclosporine หรือไม่ (ด้วยยา Cyclosporine จะทำให้ได้รับอาการข้างเคียงของยาไรฟาซิมินมากยิ่งขึ้น)

ทั้งนี้ คำถามและข้อมูลของผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้ยามารักษาได้ถูกต้องตรงตามอาการและเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง

ข้อพึงระวังบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบในระหว่างที่ใช้ยานี้จะเป็นเรื่องเกิดอาการวิงเวียน ปวดหัว  คลื่นไส้ เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร-ลำไส้มากขึ้น และอ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่ได้รับผลข้างเคียงเลยก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น

ไรฟาซิมินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไรฟาซิมิน

ยาไรฟาซิมินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษา: เช่น

  • บรรเทาอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษในระหว่างการเดินทาง
  • โรคสมองเหตุจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
  • ภาวะลำไส้มีจำนวนแบคทีเรียมากจนก่อให้เกิดโรค เช่น ลำไส้แปรปรวน
  •  โรคลำไส้แปรปรวน (IBS, Irritable bowel syndrome)

ไรฟาซิมินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไรฟาซิมินมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งกระบวนการทำงานของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า DNA-dependent RNA synthesis ส่งผลให้แบคทีเรียไม่สามารถสร้างสารพันธุกรรมของตัวเองได้ ทำให้หยุดการเจริญเติบโต หยุดการกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด 

ไรฟาซิมินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรฟาซิมินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200, 400 และ 550 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

ไรฟาซิมินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

 ตัวอย่างขนาดรับประทานของยาไรฟาซิมิน เช่น

ก.บรรเทาอาการท้องเสีย (อาหารเป็นพิษ) ระหว่างการเดินทาง:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ข.รักษาอาการโรคสมองเหตุจากโรคตับ:

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยาครั้งละ 550 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

ค.สำหรับรักษาโรคลำไส้แปรปรวนประเภทอาการท้องเสีย:

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ     

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไรฟาซิมิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไรฟาซิมินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษาผู้ป่วย ควรรับประทานยาไรฟาซิมินให้ตรงเวลา แต่หากลืมรับประทานยา สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไรฟาซิมินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไรฟาซิมินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

ก.อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น คลื่นไส้อาเจียน, อุจจาระมีสีคล้ำ, ปวดหัว, มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว, หายใจถี่และสั้นๆ, ปวดท้อง, นอนไม่หลับ

ข.อาการข้างเคียงที่พบน้อย: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด, จมูกแดง, เจ็บหน้าอก, เป็นลม, หัวใจเต้นเร็ว, รู้สึกหัวหมุน/บ้านหมุน/วิงเวียนศีรษะ (Vertigo), เกิดแผลในปาก,  อ่อนเพลีย

ค.อาการข้างเคียงที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน: เช่น ผิวหนังแตก, ผื่นคัน, ใบหน้าบวม, ตัวเย็น

 อนึ่ง อาการข้างเคียงบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา อาการจะค่อยๆดีขึ้นจากการดูแลตนเอง แต่บางอาการที่รบกวนและก่อความรำคาญต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรืออาการรุนแรง(เช่น เป็นลม) ผู้ป่วยต้องรีบกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้ไรฟาซิมินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรฟาซิมิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้ในเด็กต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้รักษาเชื้อแบคทีเรียโรคจำพวก Campylobacter (ท้องเสียชนิดมีถ่ายอุจจาระเป็นเลือด), Salmonella (โรคไทฟอยด์) และเชื้อ Shigella (โรคบิด)
  • หากใช้ยาไปแล้ว 3 วันอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ระวังการเกิดลำไส้ใหญ่อักเสบจากยาปฏิชีวนะอันมีสาเหตุจากเชื้อ Clostridium difficile
  • หากพบอาการคล้ายกับแพ้ยาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

 ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไรฟาซิมินด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไรฟาซิมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรฟาซิมินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาไรฟาซิมิน ร่วมกับยาBosutinib/ยารักษาตรงเป้า, Eliglustat/ยารักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีสารเคมีบางชนิดผิดปกติเป็นโรคพบได้น้อยมาก เรียกว่า โรคโกเชร (Gaucher disease), Ibrutinib/ยารักษาตรงเป้า, และ Ledipasvir/ยาต้านไวรัส, อาจทำให้ระดับยา Rifaximin ในร่างกายและฤทธิ์ของอาการข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาไรฟาซิมินอย่างไร?

ควรเก็บยาไรฟาซิมิน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไรฟาซิมินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรฟาซิมิน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
CIBOZ (ซิบอซ) Zydus Cadila
HEPABACT (เฮปาแบค) Invision
RAFLE (เรเฟล) Alembic
REFATIME (รีแฟไทม์) Solitaire (Prominent)
RCIFAX (อาร์ซีแฟกซ์) Lupin
RFX (อาร์เอฟเอ็กซ์) Olcare
RIFAXIMAX (ริแฟกซิแมกซ์) Zuventus
RIXMIN (ริกซ์มิน) Cipla
RIFAGUT (ริแฟกัท) Sun
SIBOFIX (ซิโบฟิกซ์) Dr. Reddy's
Normix (นอร์มิกซ์) Alfa Wassermann
Xifaxan (ซิฟาซาน) Alfa Wassermann

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Rifaximin   [2021,Nov13]
  2. https://www.drugs.com/mtm/rifaximin.html  [2021,Nov13]
  3. https://www.mims.com/Philippines/drug/info/Normix/?type=brief   [2021,Nov13]
  4. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a604027.html#storage-conditions  [2021,Nov13]
  5. https://www.drugs.com/dosage/rifaximin.html#Usual_Adult_Dose_for_Traveler_s_Diarrhea  [2021,Nov13]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Rifamycin  [2021,Nov13]
  7. https://www.mims.com/Hongkong/drug/info/Xifaxan/?type=brief  [2021,Nov13]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/rifaximin.html   [2021,Nov13]