วิงเวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน (Dizzy หรือ Vertigo)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการวิงเวียนศีรษะ (Dizzy หรือ Dizziness หรือ Vertigo/มักใช้เมื่อมีอาการรู้สึกหมุนร่วมด้วย) เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อย รองลงมาจากอาการปวดศีรษะ บางคนมีอาการ “ วิงเวียน มึนงง หนักศีรษะ เซเล็กน้อย(เมื่อลุกขึ้น หรือเมื่อเดิน) เรียกอาการลักษณะนี้ว่า Dizzy หรือ Dizziness” บางคนมี”อาการวิงเวียน ร่วมกับรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุน หรือ ตัวหมุน บ้านหมุน หรือเพดานบ้านจะถล่มลงมาทับที่ร่างกาย อาการลักษณะนี้เรียกว่า อาการรู้สึกหมุน หรือ อาการหมุน (Vertigo)” บางคนมีอาการ วิงเวียน ร่วมกับ อาเจียน หูอื้อ มีเสียงดังในหู (Tinnitus) ซึ่งอาการผิดปกติเหล่านี้ มีสาเหตุจากอะไร จะดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างไร และเมื่อไหร่ควรพบแพทย์ บทความนี้จะให้คำตอบกับคุณครับ

อาการวิงเวียนศีรษะคืออะไร?

วิงเวียนศีรษะ

อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นอาการ ไม่ใช่โรค กล่าวคือ เป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าวิงเวียน มึนงง หนักศีรษะ เวลาลุกขึ้นอาจเซเล็กน้อย หรือเซรุนแรง จนรู้สึกว่าตนเองหมุน บ้านหมุน สิ่งแวดล้อมหมุน ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการ หูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือบางคนบอกว่ามีลมออกหู บางคนที่มีอาการรุนแรงจะ อาเจียน เดินเซมาก ลุกไม่ขึ้น

อาการวิงเวียนศีรษะเกิดจากอะไร?

อาการวิงเวียนศีรษะ มีสาเหตุที่พบบ่อยและควรทราบดังนี้

1. โรคทางสมอง เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบการทรงตัวร่วมกับระบบประสาทการได้ยินและการทรงตัวในหูชั้นใน (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคของหู) โดยสมองส่วนที่ทำหน้าที่การทรงตัว คือ สมองน้อย (Cerebellum) และก้านสมอง (Brainstem) นอกจากนี้ยังมีสมองส่วนอื่นๆ อีก เช่น สมองส่วนหน้า (Frontal lobe, อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท)

2. โรคทางระบบประสาทการได้ยินและการทรงตัว เนื่องจากเส้นประสาทการได้ยินและการทรงตัว(เส้นประสาทสมองคู่ที่ 8)ที่อยู่ในช่องหูชั้นใน (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคของหู) คือ Vestibular system และหลอดครึ่งวงกลม (Semicircular canals) 3 หลอดที่ภายในบรรจุของเหลวที่เรียกว่า Endolymph นี้ เป็นระบบที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว

นอกจากนี้ ระบบประสาทการได้ยินและการทรงตัวของหูนี้ ยังทำงานร่วมกับระบบการมองเห็น (เส้นประสาทสมองคู่ที่ 2) โดยร่วมกันทำหน้าที่เพื่อ การทรงตัว จึงเป็นเหตุให้การหลับตา- ลืมตามีผลต่อการทรงตัวด้วย

3. โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคลมชัก โรควิตกกังวล ยาขยายหลอดเลือด และ ภาวะซีด สาเหตุเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรืออาการหมุนได้

  • โรคหัวใจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิงเวียนเนื่องจากมีอาการใจสั่น เหนื่อยอ่อนเพลีย หรือได้ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ภาวะต่างๆเหล่านี้ ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะได้ จากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง
  • ส่วนโรคลมชัก เกิดจากกระแสไฟฟ้าในสมองผิดปกติ ทำให้มีอาการชักแบบวิงเวียนศีรษะได้
  • ส่วนภาวะซีดนั้น เกิดจากเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง จึงทำให้มีอาการ วิงเวียน มึน งง
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมาก อาจส่งผลทำให้เกิดอาการคล้ายวิงเวียนศีรษะที่รักษาไม่หาย ถ้าไม่ได้แก้ไขรักษาด้านจิตใจร่วมด้วย เพราะเป็นอาการที่เกิดจากปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ

ผู้ป่วยจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการวิงเวียนศีรษะมีสาเหตุเบื้องต้นจากอะไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?

คำถามนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะเป็นการตัดสินใจว่า ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เร็วเท่าใด

อาการวิงเวียนศีรษะไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่อาการวิงเวียน (Dizziness) และ/หรืออาการหมุน (Vertigo) มีสาเหตุที่พบบ่อย คือ

  • จากโรคทางระบบประสาทการทรงตัวและการได้ยิน หรือพูดสั้นๆ ว่าโรคทางช่องหู ซึ่งทางการแพทย์จัดว่าเป็นกลุ่ม สาเหตุส่วนนอกสมอง (Peripheral cause) ซึ่งเป็นอาการไม่ค่อยรุนแรง รอพบแพทย์ได้หลังดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วอาการยังคงอยู่ แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็ต้องรีบพบแพทย์
  • และจากสาเหตุในสมอง (Central cause) ซึ่งพบได้ไม่บ่อย แต่เป็นสาเหตุที่อันตรายต้องให้การรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นอาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

ก. ลักษณะอาการวิงเวียน/รู้สึกหมุน สาเหตุจากโรคนอกสมอง คือ

  • มีอาการวิงเวียนที่มักร่วมกับอาการรู้สึกหมุน
  • อาการวิงเวียนค่อนข้างรุนแรง
  • มีอาการได้ยินผิดปกติ เช่น ได้ยินลดลง หูอื้อ เสียงดังในหู (Tinnitus) ร่วมด้วย
  • วิงเวียนเฉพาะบางท่าทางเท่านั้น เช่น ตะแคงซ้ายจะวิงเวียน เป็นต้น
  • ไม่มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือ สำลักอาหาร
  • อาจมีโรคทางช่องหูร่วมด้วย เช่น เจ็บในหู หูติดเชื้อ

ข. ลักษณะอาการวิงเวียน/รู้สึกหมุนสาเหตุจากโรคสมอง คือ

  • อาการวิงเวียนศีรษะหรืออาการหมุนเป็นทุกท่าทางของร่างกาย
  • อาการอาเจียนไม่รุนแรงเท่ากับสาเหตุจากโรคนอกสมอง
  • มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มองเห็นภาพซ้อน สำลักอาการ และ/หรือ แขน- ขา อ่อนแรง
  • อาการเป็นต่อเนื่องโดยไม่ดีขึ้นถึงแม้จะพักหรือได้รับยาแก้วิงเวียน
  • มีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และผู้สูงอายุ

แพทย์มีวิธีวินิจฉัยสาเหตุของอาการวิงเวียนศีรษะอย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุอาการวิงเวียนศีรษะได้จาก

  • ประวัติอาการเบื้องต้นที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟังตามข้อข้างต้น
  • ต่อจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายว่า มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าพบก็บอกได้ว่าเป็นโรคทางสมอง

ทั้งนี้ การตรวจที่แพทย์จะต้องตรวจในผู้ป่วยทุกราย ได้แก่

  • การทดสอบการทำงานของสมองน้อย (Cerebellum) เช่น การดูว่าผู้ป่วยมีตากระตุก (Nystagmus) หรือไม่
    • ถ้าเปิดเปลือกตา/หนังตาผู้ป่วยแล้วพบว่าตาผู้ป่วยมีตากระตุกชัดเจน ก็น่าจะมีสาเหตุโรคในสมอง
    • แต่ถ้าพบตากระตุกเป็นบางลักษณะ เช่น เฉพาะเมื่อให้มองซ้ายหรือขวา ก็อาจเป็นได้ทั้งสาเหตุในสมอง หรือ นอกสมอง ขึ้นอยู่การผิดปกติในระบบอื่นๆ เช่น อาการทางระบบประสาท (เช่น ปากเบี้ยว เป็นต้น)
  • นอกจากนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วย นำนิ้วชี้มาแตะที่นิ้วของแพทย์ และกลับไปแตะจมูกผู้ป่วย (Finger to nose test) ถ้าผู้ป่วยทำไม่ได้ จะบ่งบอกว่า น่าจะมีรอยโรคในสมอง แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรู้สึกหมุนร่วมด้วย การตรวจวิธีนี้ก็อาจให้ผลผิดพลาดได้ และ
  • แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ เอมอาร์ไอสมองเมื่อ แพทย์พิจารณาแล้วสงสัยว่ามีความผิดปกติในสมอง ก็จะส่งตรวจดังกล่าวเพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยของแพทย์
    • แต่ถ้าแพทย์คิดถึงโรคนอกสมอง ก็จะพิจารณาตรวจการได้ยินและการตรวจเลือดอื่นๆ ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป เช่น ตรวจระดับน้ำตาล (ดูโรคเบาหวาน) และระดับไขมัน (ดูโรคไขมันในเลือดสูง) เป็นต้น

เมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะควรพบแพทย์เฉพาะทางหรือไม่?

โดยทั่วไป เมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะและ/หรืออาการรู้สึกหมุน

  • ถ้าพิจารณาอาการเบื้องต้นว่าเป็นโรคสมอง ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด/ทันที ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางหรือไม่ ควรคิดอย่างเดียวว่าให้ไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  • แต่ถ้าอาการน่าเป็นจากสาเหตุนอกสมอง แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้
  • ซึ่งถ้าแพทย์ที่ตรวจผู้ป่วยในทั้ง 2 กรณี พิจารณาแล้วว่า ดูแลผู้ป่วยไม่ได้ แพทย์ก็จะส่งต่อผู้ป่วย พบแพทย์เฉพาะทางต่อไป เช่น แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ระบบประสาท แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เป็นต้น

แพทย์ให้การรักษาอาการวิงเวียนศีรษะอย่างไร?

การรักษาอาการวิงเวียนศีรษะและ/หรือ อาการรู้สึกหมุน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาแก้วิงเวียน แก้อาเจียน แก้อาการรู้สึกหมุน หรือมึนศีรษะ

2. การรักษาตามสาเหตุ เช่น โรคในสมอง (เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น) หรือ โรคนอกสมอง (เช่น โรคของหู เป็นต้น)

3. การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทรงตัว เช่น ในการเปลี่ยนท่าทาง การเดิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกัน ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ กรณีที่ยังมีอาการผิดปกติ วิงเวียน/รู้สึกหมุนตลอดเวลา ก็ต้องได้รับยาแก้ไขบรรเทาอาการดังกล่าวจนกว่าอาการจะดีขึ้น

ส่วนในเรื่องของสาเหตุ ถ้าเป็นโรคที่แก้ไข รักษาหายได้ การรักษาก็แล้วเสร็จเมื่อหายดี (เช่น ประมาณ 2 -4 สัปดาห์ ขึ้นกับสาเหตุ เป็นต้น)

แต่บางโรคที่ต้องป้องกันการเป็นซ้ำ ก็ต้องมีการรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะทำอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะและ/หรือ อาการรู้สึกหมุน ที่สำคัญ คือ

  • สิ่งแรก คือ ต้องระวังไม่ให้ล้ม ดังนั้น ถ้ามีอาการวิงเวียนฯหรือรู้สึกหมุน ต้องรีบหาที่พักจะนอนหรือนั่งก็แล้วแต่สถานที่ และขึ้นกับว่าอาการรุนแรงแค่ไหน และการหลับตาก็ช่วยลดอาการหมุนลงได้ ต่อจากนั้น
  • ควรสังเกตตนเองว่ามีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมกับอาการวิงเวียน อาการรู้สึกหมุนหรือไม่ เช่น ความผิดปกติทางระบบประสาท ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด สำลักอาหาร น้ำ แขน-ขาอ่อนแรง ถ้ามีให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
  • ถ้าไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้เองให้โทรศัพท์ 1669 เพื่อให้รถโรงพยาบาลฉุกเฉินมารับตัวไปโรงพยาบาล (โทรศัพท์เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เบอร์เดียวทั่วประเทศไทย คือ “โทรฯ 1669” สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง)
  • ถ้าสังเกตแล้วว่าไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ สาเหตุก็น่าจะเป็นความผิดปกตินอกสมอง ดังนั้นก็ต้องสังเกตต่อว่ามีอาการวิงเวียนเฉพาะท่าทางใดท่าทางหนึ่งหรือไม่ มีหูอื้อ ได้ยินผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีก็มั่นใจได้ว่าเป็นความผิดปกติของระบบประสาทหู ซึ่งอาจรอพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้ภายใน 2-3วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจากการดูแลตนเอง แต่ถ้าอาการเลวลงก็ต้องรีบไปโรงพยาบาล
  • กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการอ่อนแรง ลุกขึ้นยืนได้ ก็สามารถตรวจการทำงานของสมองน้อยได้ (โดยมีคนดูแลใกล้ชิดคอยพยุงไม่ให้ล้ม) โดยการลุกขึ้นยืน ขาชิดแล้วหลับตา ถ้าไม่เซก็ไม่น่าจะมีรอยโรคในสมองน้อย แต่ถ้าเซไปข้างใดข้างหนึ่งหรือจะล้ม แปลผลว่า สมองน้อยทำงานผิดปกติ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

อนึ่ง:

  • ท่าทาง: ผู้ป่วยที่มีอาการวิงเวียนศีรษะหรืออาการรู้สึกหมุนนั้น ขณะที่ทำการเปลี่ยนท่าทาง ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างช้าๆ ไม่ควรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และกรณีมีอาการเฉพาะการเปลี่ยนท่าทางใดท่าทางหนึ่งนั้น ห้ามเลี่ยงการเปลี่ยนท่าทางนั้น เพราะมีผู้ป่วยบางรายมีอาการหมุนเฉพาะหันหน้าไปทางซ้ายเท่านั้น ก็เลยไม่ยอมหันหน้าไปทางซ้าย การรักษาที่ถูกต้องนั้นคือ ต้องพยายามฝึกการหันหน้าไปทั้งสองข้างอย่างช้าๆ อาการฯจึงจะดีขึ้น
  • แรงเบ่ง: นอกจากนี้ ห้ามการออกแรงเบ่งอย่างแรงบ่อยๆ เช่น เบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ เพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคในช่องหูชั้นกลางและชั้นใน (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคของหู) จากมีการเพิ่มความดันในช่องหูจากการเบ่งนั้นๆได้
  • การนอน: ห้ามอดนอน
  • อาหาร: ผู้ป่วยที่มีอาการหมุนหรือวิงเวียนนั้น ไม่มีอาหารต้องห้าม ยกเว้นมีโรคประจำตัวอื่นๆที่ต้องควบคุมอาหารโดยเฉพาะ เช่น โรคระบบประสาทการทรงตัวในช่องหู แพทย์อาจแนะนำให้ทานอาหารรสเค็ม (ถ้าไม่มีข้อห้ามเรื่องโรคความดันโลหิตสูง) เป็นต้น

ทั้งนี้ การดูแลตนเองที่สำคัญเพิ่มเติมเมื่อได้พบแพทย์แล้วที่รวมถึงการพบแพทย์ /มาโรงพยาบาลก่อนนัด คือ

  • ปฏิบัติตา มแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการเลวลง
    • หรือมีอาการผิดไปจากเดิม
    • หรือ เมื่อมีอาการแพ้ยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกมาก
    • หรือ เมื่อกังวลในอาการ

การพยากรณ์โรคของอาการวิงเวียนศีรษะเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ/การรู้สึกหมุนส่วนใหญ่ถ้าทราบสาเหตุและรักษาได้ถูกต้องก็ได้ผลดี มีโอกาสเกิดซ้ำได้แตกต่างกัน ขึ้นกับสาเหตุและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในกรณีสาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

อนึ่ง กรณีสาเหตุจากโรคระบบประสาทในช่องหูนั้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพาตต่ำมากๆ ยกเว้นเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง)ที่รุนแรง เช่น โรคหูน้ำหนวกและเกิดการติดเชื้อลุกลามไปถึงสมอง/สมองอักเสบ แต่โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีปัญหาการได้ยินตามมาเสมอ

ส่วนกรณีสาเหตุจากโรคสมองนั้น มีโอกาสสูงที่จะเป็นอัมพาต จึงต้องรีบให้การรักษาที่ถูกต้องทันเวลา

อาการวิงเวียนศีรษะป้องกันได้หรือไม่?

การป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะ และ/หรือ อาการรู้สึกหมุนนั้น

กรณีเป็นโรคในสมอง ที่ป้องกันหรือลดโอกาสเกิดอาการฯได้ คือ จากโรคหลอดเลือดสมอง โดย

  • การป้องกัน รักษา ควบคุม โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ให้ได้ดี
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • ไม่สูบบุหรี่

นอกจากนั้น วิธีป้องกันอื่นๆ คือ

  • ระมัดระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ และช่องหู เพราะอาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนจากโรคประสาทหูได้
  • รวมทั้ง การฝึกความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะ ศีรษะ สายตา เช่น
    • ฝึกการเคลื่อนไหวศีรษะในทิศทางต่างๆ อย่างช้าๆ สม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นประจำ (ปรึกษาวิธีการได้จากนักกายภาพบำบัด)
    • การพักผ่อนอย่างเพียงพอ
    • นอนหลับให้สนิทก็ช่วยได้
    • การเปลี่ยนท่าทางในผู้สูงอายุ ควรค่อยๆเปลี่ยนท่าทาง ก็ช่วยลดการเกิดอาการฯได้
    • รวมทั้งการดูแลสุขภาพจิตให้ดี ก็สามารถลดอาการวิเวียนฯสาเหตุจากอารมณ์/จิตใจได้เช่นกัน

สรุป

อาการวิงเวียนศีรษะ และ/หรืออาการรู้สึกหมุน เป็นอาการที่ท่านสามารถดูแลตนเองเมื่อมีอาการฯได้เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีอาการฯที่บ่งว่ามีโรคในสมอง ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที