แคลเซียมซิเตรท (Calcium citrate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียมซิเตรทอย่างไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแคลเซียมซิเตรทอย่างไร?
- แคลเซียมซิเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate)
- แคลเซียมแลคเตท (Calcium lactate)
- แคลเซียมกลูโคเนต (Calcium gluconate)
- แคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)
- ซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- ภาวะขาดแคลเซียม (Calcium inadequacy)
บทนำ: คือยาอะไร?
แคลเซียมซิเตรท (Calcium citrate หรือ Ca citrate) คือ ยาใช้รักษาและป้องกัน ภาวะขาดแคลเซียม และโรคกระดูกพรุน โดยแคลเซียมซิเตรทมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ไม่ละลายในน้ำเย็น นักวิทยาศาสตร์พบว่ากระบวนการในธรรมชาติของการเกิดแคลเซียมซิเตรทต้องใช้สารตั้งต้น 2 ตัว มีแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Calcium hydroxide) และกรดซิตริก(Citric acid) มนุษย์จึงนำกลไกดังกล่าวมาผลิตเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในการถนอมอาหาร
ทั่วไป ยาแคลเซียมซิเตรทจะสามารถปลดปล่อยเกลือแคลเซียมได้ประมาณ 24% ทางคลินิกมีการนำแคลเซียมซิเตรทมาบำบัดให้กับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดแคลเซียมได้เช่นเดียวกัน
แต่ข้อดีของยาแคลเซียมซิเตรทประการหนึ่งคือ ไม่จำเป็นต้องพึ่งกรดในกระเพาะอาหารเหมือนกับยาแคลเซียมคาร์บอเนต ก็สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เช่นเดียวกัน
ยาเสริมแคลเซียมบางสูตรตำรับ ได้ใช้ยาแคลเซียมซิเตรทแทนแคลเซียมคาร์บอเนต ทั้งนี้เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะกรดในกระเพาะอาหารน้อย และเป็นเหตุให้การรับประทานยาที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตเกิดการดูดซึมได้ไม่มากเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามการรับประทานยาในกลุ่มแคลเซียมซิเตรทร่วมกับมื้ออาหารก็จะช่วยให้การดูดซึมจากทางเดินอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะพบเห็นยาแคลเซียมซิเตรทอยู่ในรูปแบบยารับประทานชนิดเป็นยาเดี่ยวและชนิดผสมร่วมกับยาอื่น เช่น วิตามิน-ดี ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเสริม สร้างและซ่อมแซมกระดูก
การเลือกใช้ยาแคลเซียมซิเตรท ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ด้วยเกลือแคลเซียมที่มากหรือน้อยเกินไป อาจก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายหรือไม่สามารถบำบัดอาการขาดเกลือแคลเซียมของร่างกายได้
แคลเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาแคลเซียมซิเตรทมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ป้องกันและบำบัดรักษาอาการร่างกายขาดเกลือแคลเซียม(ภาวะขาดแคลเซียม)
- รักษาโรคกระดูกพรุน
แคลเซียมซิเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเซียมซิเตรทคือ ตัวยาจะปลดปล่อยเกลือแร่แคลเซียมเข้า สู่กระแสเลือดเพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมและถูกนำไปซ่อมแซมกระดูกที่สึกหรอ อีกทั้งป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก นอกจากนี้เกลือแร่แคลเซียมยังช่วยทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้อย่างปกติ
แคลเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแคลเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ประกอบด้วยธาตุ/เกลือแร่ชนิดอื่น เช่น Calcium citrate 1,000 มิลลิกรัม + Magnesium oxide 500 มิลลิกรัม + Vitamin D 800 ยูนิต
แคลเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแคลเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับป้องกันภาวะขาดแคลเซียมของร่างกาย: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 1 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 - 3 ครั้ง
- เด็กทารก: เช่น รับประทาน 50 - 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทาน 45 - 65 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุก 6 ชั่วโมง
ข.สำหรับป้องกันภาวะกระดูกพรุน: เช่น
- ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 1 - 1.5 กรัม/วันโดยแบ่งรับประทานวันละ 2 - 3 ครั้ง
- เด็ก: เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเป็นโรคของผู้ใหญ่ จึงไม่มีข้อมูลศึกษาการใช้ยานี้ในเด็กด้วยวัตถุประสงค์นี้
อนึ่ง: เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของยานี้ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคลเซียมซิเตรท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียมซิเตรทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแคลเซียมซิเตรท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แคลเซียมซิเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแคลเซียมซิเตรทสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูก
- ปากคอแห้ง
- กระหายน้ำ
- ปัสสาวะบ่อย
*อนึ่ง:
- หากมีอาการแพ้ยานี้ จะพบอาการผื่นคัน, หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ใบหน้า-ริมฝีปาก-ลิ้น-คอมีอาการบวม
- สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการคลื่นไส้อาเจียน, เบื่ออาหาร, ท้องผูก, รู้สึกสับสน, มึนงง, เพ้อ จนถึงขั้นเกิดภาวะโคม่า
ซึ่ง หากพบอาการดังกล่าวทั้งอาการจากแพ้ยาหรือจากได้ยาเกินขนาด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียมซิเตรทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมซิเตรท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ
- ผู้ที่โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
- ผู้ที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
- ผู้ที่มีนิ่วในไต
- ผู้ป่วยด้วยโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis: โรคพบน้อย ยังไม่พบในเมืองไทย โดยเกิดมีการอักเสบพร้อมกันหลายอวัยวะโดยเฉพาะปอด เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจมีพันธุกรรมที่ผิดปกติเข้ามาเกี่ยวข้องได้)
- ผู้ที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์(ต่อมเคียงไทรอยด์)ทำงานผิดปกติ
- ผู้ที่มีภาวะเกลือฟอสเฟต(Phosphate หรือ ฟอสฟอรัส)ในเลือดสูง
- มีเกลือแคลเซียมในปัสสาวะและในเลือดสูง
- ผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ (ภาวะขาดน้ำ)
- ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก ควรต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลเซียมซิเตรทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แคลเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคลเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้แคลเซียมซิเตรท ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวี เช่นยา Dolutegravir จะทำให้การดูดซึมของยา Dolutegravir ลดน้อยลงจนส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานยา Dolutegravir ก่อนแคลเซียมซิเตรทประมาณ 2 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานแคลเซียมซิเตรทไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง
- การใช้แคลเซียมซิเตรท ร่วมกับยาขับปัสสาวะประเภท Hydrochlorothiazide จะทำให้ ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงมากจนอาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน อ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ชักเกร็ง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้แคลเซียมซิเตรท ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางประเภท เช่นยา Tetracycline หรือ Doxycycline จะทำให้ลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาปฏิชีวนะดังกล่าว กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ให้เว้นระยะเวลารับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มห่างกันประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
- การใช้แคลเซียมซิเตรท ร่วมกับยา Aluminium hydroxide อาจส่งผลให้เพิ่มการดูดซึมของ ยา Aluminium hydroxide เข้าสู่กระแสเลือด หากเกิดกับผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายจะส่งผลต่อการทำงานของสมอง/เกิดอาการทางสมองที่เรียกว่า Encephalopathy (อาการเช่น สับสน ความจำเสื่อม) หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรเว้นระยะเวลาของการรับประทานให้ห่างกันประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ควรเก็บรักษาแคลเซียมซิเตรทอย่างไร?
ควรเก็บยาแคลเซียมซิเตรท: เช่น
- เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แคลเซียมซิเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคลเซียมซิเตรทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Calcium citrate 200 mg (แคลเซียมซิเตรท 200 มิลลิกรัม) | Puritan’s Pride |
Calcium citrate with vitamin D3 (แคลเซียมซิเตรท วิท ไวตามิน ดี3) | SOLGAR |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_citrate [2021,Nov6]
- https://www.drugs.com/mtm/calcium-citrate.html [2021,Nov6]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-8624/calcium-citrate-oral/details [2021,Nov6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium#Cardiovascular_impact [2021,Nov6]
- https://reference.medscape.com/drug/citracal-calcium-citrate-999216 [2021,Nov6]
- https://www.emedicinehealth.com/drug-calcium_citrate/article_em.htm [2021,Nov6]
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-5793/calcium-citrate-oral/details/list-contraindications [2021,Nov6]
- https://www.healthcentral.com/condition/osteoporosis?ic=2602 [2021,Nov6]