แคลเซียมแลคเตท (Calcium lactate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

แคลเซียมแลคเตท (Calcium lactate หรือ Ca lactate)  คือ  ยารักษาผู้ป่วยภาวะขาดแคลเซียม มีลักษณะทางกายภาพเป็นผลึก กระบวนการเกิดแคลเซียมแลคเตทตามธรรมชาติได้จากการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดแลคติก(Lactic acid) กับแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) อีกทั้งจัดเป็นสารอาหารที่พบได้ในพวกชีส (Cheese /เนยแข็ง)ต่างๆ  

อุตสาหกรรมอาหารได้นำแคลเซียมแลคเตทมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำตาล และใช้เป็นจุดขายโดยระบุว่าไม่ทำให้ฟันผุด้วยมีสารแคลเซียมแลคเตทคอยเสริมสร้างเคลือบฟัน นอกจากนี้ในบางสูตรตำรับยังนำเอาสารแคลเซียมแลคเตทมาเป็นส่วนประกอบของ                         ยาลดกรดอีกด้วย 

 ทั่วไป ยาแคลเซียมแลคเตทจะปลดปล่อยธาตุแคลเซียมให้ร่างกายประมาณ 13% เท่านั้น ดังนั้นการบริโภคยากลุ่มแคลเซียมแลคเตทอาจต้องรับประทาน 2 - 3 ครั้งต่อวันเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างพอเพียง 

ยาแคลเซียมแลคเตทสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากลำไส้เล็ก เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดก็จะถูกร่างกายนำไปซ่อมแซมกระดูกและรักษาสมดุลของเกลือแคลเซียมในเลือด แคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกมากับปัสสาวะ และบางส่วนจะถูกขับออกมากับน้ำดี 

ก่อนการใช้ยาประเภทแคลเซียมทั้งหลาย แพทย์มักจะมีการตรวจผู้ป่วยก่อน เช่น การตรวจร่างกาย, การตรวจมวลกระดูก(ความหนาแน่นมวลกระดูก), ตรวจเอกซเรย์ดูพยาธิสภาพของกระดูกหรือโรคกระดูก, รวมถึงสอบถามประวัติว่าเคยมีก้อนนิ่วในไต, หรือป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์(ต่อมเคียงไทรอยด์)หรือไม่ 

อนึ่ง การได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป ก็จะไม่สามารถบำบัดรักษาอาการป่วยทางกระดูกได้ การได้รับมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะต่อระบบการทำงานของหัวใจ การใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น 

แคลเซียมแลคเตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคลเซียมแลคเตท

ยาแคลเซียมแลคเตทมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาภาวะขาดแคลเซียมของร่างกาย
  • รักษาอาการกระดูกน่วมกระดูกอ่อน(Osteomalacia, โรคที่กระดูกมีลักษณะอ่อนนิ่มไม่แข็งจากร่างกายขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่/ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส)
  • รักษาภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • รักษาภาวะความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์/ต่อมเคียงไทรอยด์(Pseudohypoparathyroidism)

แคลเซียมแลคเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาแคลเซียมแลคเตท คือ ตัวยาจะปลดปล่อยเกลือแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมของเกลือแร่ในร่างกาย และถูกนำไปซ่อมแซมกระดูกที่สึกหรอ อีกทั้งป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก นอกจากนี้เกลือแคลเซียมยังช่วยทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้อย่างปกติ

แคลเซียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคลเซียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 300 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดฟู่ละลายน้ำที่ประกอบด้วยเกลือแคลเซียมชนิดอื่น เช่น

         Calcium lactate 2.93 กรัม + Calcium gluconate 0.01 กรัม + Calcium carbonate 0.3 กรัม

*หมายเหตุ:

  • ยาแคลเซียมแลคเตทมีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบประมาณ 13% มีการดูดซึมเข้าร่างกายได้ปานกลาง มักนำไปใช้เป็นยาลดกรดอีกด้วย
  • ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบประมาณ 40% ราคาถูกที่สุด พบในอาหารทะเลเป็นส่วนมาก ร่างกายมีการดูดซึมได้ต่ำ ต้องรับประทานพร้อมมื้ออาหารจึงจะดูดซึมได้ดี
  • ยาแคลเซียมกลูโคเนตมีเกลือแคลเซียมเป็นส่วนประกอบประมาณ 9% ซึ่งเป็นปริมาณต่ำ หากใช้เป็นองค์ประกอบหลักของยาเม็ดจะต้องรับประทานต่อวันเป็นปริมาณมาก มีการดูดซึมเข้าร่างกายได้ในอัตราที่ไม่แน่นอนนัก และต้องรับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร

แคลเซียมแลคเตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยา/ขนาดรับประทานยาแคลเซียมแลคเตทขึ้นกับชนิดของอาการ/โรค จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างดังนี้เช่น

ก.สำหรับภาวะขาดแคลเซียม และอาการกระดูกน่วมกระดูกอ่อน:เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 325 - 650 มิลลิกรัมวันละ 2 - 3 ครั้ง อาจรับประทานร่วมกับวิตามินดีตามคำสั่งแพทย์

ข.สำหรับรักษาอาการกระดูกพรุน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 325 - 650 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

*อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาแคลเซียมแลคเตทกับเด็ก มักเป็นกรณีที่ร่างกายของเด็กมีแคลเซียมต่ำ และต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มีขนาดรับประทาน 45 - 65 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานเป็น 4 ครั้ง
  • การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียมแลคเตทได้ดียิ่งขึ้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคลเซียมแลคเตท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียมแลคเตทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคลเซียมแลคเตท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แคลเซียมแลคเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแคลเซียมแลคเตทสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ผื่นคัน
  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ใบหน้า-ริมฝีปาก-ลิ้น-คอ เกิดอาการบวม
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปากคอแห้ง
  • กระหายน้ำ
  • ปัสสาวะบ่อย

อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยาแคลเซียมแลคเตทเกินขนาดจะพบอาการคลื่นไส้ร่วมกับอาเจียน  เบื่ออาหาร  รู้สึกสับสน และผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะโคม่า หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียมแลคเตทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมแลคเตท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับ
  • ผู้ที่ลำไส้มีการเคลื่อนตัวผิดปกติ
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนิ่วในไต
  • ผู้ที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์(ต่อมเคียงไทรอยด์)ทำงานมากกว่าปกติ
  • ผู้ที่ตรวจปัสสาวะพบมีภาวะเกลือแคลเซียมในปัสสาวะมาก
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ (ภาวะขาดน้ำ)        
  • ระวังการใช้แคลเซียมในเด็กเล็กที่มีภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ด้วยเกลือ แคลเซียมสามารถลดระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต และ โรคหัวใจ
  • การใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลเซียมแลคเตทด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แคลเซียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

 ยาแคลเซียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น       

  • การใช้ยาแคลเซียมแลคเตท ร่วมกับยาต้านเอชไอวี เช่นยา Dolutegravir จะทำให้การดูดซึมของยา Dolutegravir ลดน้อยลงจนส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรรับประทานยา Dolutegravir ก่อนแคลเซียมแลคเตท 2 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานแคลเซียมแลคเตทไปแล้ว 6 ชั่วโมง
  • การใช้ยาแคลเซียมแลคเตท ร่วมกับยาขับปัสสาวะประเภท Hydrochlorothiazide จะทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงมากจนอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน อ่อนเพลีย ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ชักเกร็ง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาแคลเซียมแลคเตท ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางประเภท เช่นยา Tetracycline , Doxycycline จะทำให้ลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาปฏิชีวนะดังกล่าว กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันให้เว้นระยะเวลารับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มห่างกันประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
  • การใช้ยาแคลเซียมแลคเตท ร่วมกับ ยาลดความดัน เช่นยา Amlodipine หรือ Verapamil อาจทำให้การออกฤทธิ์ของยาลดความดันโลหิตดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพลง หากต้องใช้ยาร่วม กันควรต้องเฝ้าระวังและควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติเสมอ หรือแพทย์ปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแคลเซียมแลคเตทอย่างไร?

 ควรเก็บยาแคลเซียมแลคเตท: เช่น

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แคลเซียมแลคเตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลเซียมแลคเตทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Calcium lactate tablets BP (แคลเซียมแลคเตท แทบเล็ต บีพี) Actavis UK Limited
KAL-forte (คาลฟอร์ท) B L Hua

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_lactate [2021,Nov6]
  2. https://www.drugs.com/mtm/calcium-lactate.html [2021,Nov6]
  3. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-3709/calcium-lactate-oral/details#precautions [2021,Nov6]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=calcium%20lactate [2021,Nov6]
  5. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/23857 [2021,Nov6]
  6. https://www.mims.com/Thailand/Drug/info/KAL-forte/?type=brief [2021,Nov6]
  7. https://www.everydayhealth.com/drugs/calcium-lactate [2021,Nov6]