เพนิซิลลิน วี (Penicillin V)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 มกราคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ:คือยาอะไร?
- เพนิซิลลิน วี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เพนิซิลลิน วี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เพนิซิลลิน วี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เพนิซิลลิน วี มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เพนิซิลลิน วี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เพนิซิลลิน วี อย่างไร?
- เพนิซิลลิน วี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเพนิซิลลิน วี อย่างไร?
- เพนิซิลลิน วี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกขนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)
- ไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- แอนแทรก (Anthrax)
- ผิวหนังติดเชื้อ (Skin infection)
- ต่อมทอนซิลอักเสบ ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
- เหงือกอักเสบ (Gingivitis)
บทนำ:คือยาอะไร?
เพนิซิลลิน วี (Penicillin V หรือ Penicillin v potassium) หรือ ฟีนอกซีเมทิลเพนิซิลลิน (Phenoxymethyl penicillin) ที่แพทย์ไทยมักเรียกย่อว่า ‘Pen V’ คือ ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเป็นรูปแบบยาฉีดด้วยมีโครงสร้างทางเคมีที่ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร
ยาเพนิซิลลิน วี ไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่มีเอนไซม์ต่อต้านหรือทำลายโครงสร้างทางเคมีของยานี้ได้ (Beta-lactamase-producing bacteria) แต่สามารถออกฤทธิ์ได้ดีกับแบคทีเรียแกรมบวก และต่อต้านแบคทีเรียแกรมลบได้ไม่ดีเท่า กับตัวยาเบนซิลเพนิซิลลิน (Benzylpenicillin)
ทั่วไป ยาเพนิซิลลิน วี จะใช้รักษาอาการติดเชื้อที่มีระดับความรุนแรงจากระดับต่ำไปจนถึงระดับกลาง เช่น การติดเชื้อของทอนซิล (ต่อมทอนซิลอักเสบ), การติดเชื้อที่ผิวหนัง, บำบัดการติดเชื้อของโรคแอนแทรกซ์, ฯลฯ แต่ใช้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนักกับการติดเชื้อที่อยู่ในระดับรุนแรง
มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาเพนิซิลลิน วี พบว่า ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 60% ซึ่งเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 80% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของยา และร่างกายต้องใช้เวลา 30 - 60 นาทีเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เพนิซิลลิน วี เป็นยาจำเป็นของระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยาเพนิซิลลิน วี ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่สิ่งที่น่าวิตกในเรื่องการใช้ยาใดๆก็ตามประการหนึ่งคือ การแพ้ยา ซึ่งเพนิซิลลิน วี ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ยาได้เช่นกัน ดังนั้นผู้บริโภคไม่ควรจะเลือกหรือหาซื้อยาเพนิซิลลิน วี มารับประทานเอง ควรได้รับการคัดกรองและรับยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เพนิซิลลิน วี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเพนิซิลลิน วี มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการ ต่อมทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ/คออักเสบ
- รักษาโรคผิวหนังติดเชื้อ
- รักษาโรคแอนแทรกในระดับที่ไม่ค่อยรุนแรงมาก
- ใช้ป้องกันโรคไข้รูมาติก
- รักษาอาการเหงือกอักเสบ
เพนิซิลลิน วี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเพนิซิลลิน วี คือ ตัวยาสามารถต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการสร้างสารเปบทิโดกลัยแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นตัวประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในแบคทีเรีย จากการก่อกวนนี้ทำให้การสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียหยุดชะงักจนไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแพร่พันธุ์ได้ และทำให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด
เพนิซิลลิน วี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน วี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 2 และ 4 แสนยูนิตสากล/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2, 4 และ 8 แสนยูนิตสากล/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 2 แสนยูนิตสากล/5 มิลลิลิตร
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
เพนิซิลลิน วี มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน วี มีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับป้องกันโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 250 มิลลิกรัมเช้า - เย็น
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี: รับประทาน 125 มิลลิกรัมเช้า - เย็น
- เด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี: รับประทาน 250 มิลลิกรัมเช้า - เย็น
ข.สำหรับการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัสในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น (Streptococcal infections of the upper respiratory tract):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 125 - 250 มิลลิกรัมทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานของยาเพนิซิลลิน วี ในเด็ก ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ อายุ และน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้และขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ค.สำหรับคออักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcal pharyngitis):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน
- เด็ก: รับประทาน 250 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้งเป็นเวลา 10 วัน
ง. สำหรับการติดเชื้อนิวโมค็อกคัสในระบบทางเดินหายใจ (Pneumococcal infections of the respiratory tract):
- ผู้ใหญ่: การติดเชื้อที่ไม่รุนแรงมาก - รุนแรงปานกลาง รับประทาน 250 - 500 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง จนกระทั่งผู้ป่วยไม่มีไข้ เป็นเวลาอย่างน้อยที่สุด 2 วัน
- เด็ก:ขนาดรับประทานของยาเพนิซิลลิน วี ในเด็กขึ้นกับความรุนแรงของอาการ อายุ และน้ำ หนักตัวของเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้และขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
จ.สำหรับการติดเชื้อสเตรปฟิลโลค็อกคัสที่ผิวหนัง (Staphylococcal infections of the skin and soft tissue):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 250 - 500 มิลลิกรัมทุก 6 - 8 ชั่วโมง
- เด็ก: ขนาดรับประทานของยาเพนิซิลลิน วี ในเด็ก ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ อายุ และน้ำ หนักตัวของเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้และขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาเพนิซิลลิน วี ในช่วงท้องว่าง หรือ ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเพนิซิลลิน วี ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเพนิซิลลิน วี อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เพนิซิลลิน วี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน วี สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องเสีย
- ผื่นผิวหนังอักเสบ
- ลมพิษ
- มีไข้
- อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ยา
มีข้อควรระวังการใช้เพนิซิลลิน วี อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเพนิซิลลิน วี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่ม เพนิซิลลิน ที่รวมถึงเพนิซิลลิน วี ด้วย หรือผู้ที่แพ้ยาในตระกูล เบต้า-แลคแตม (Beta lactam) เช่นยา เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ก่อนการใช้ยานี้จึงควรทราบประวัติการใช้ยาของผู้ป่วยโดยละเอียด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง
- หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ ให้หยุดการใช้ยาทันทีแล้วรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น
- ลมพิษ
- ผื่นคันขึ้นเต็มตัว
- หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- แอแนฟิแล็กซิส (แพ้ยารุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อก)
- ปวดท้องมาก
- ท้องเสียอย่างมาก
- คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะถึงแม้ว่าเพนิซิลลิน วี จะจัดว่าปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องผลข้างเคียงที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น มีอาการท้องเสีย หรือ ผื่นคันขึ้นหลังการใช้
- ยาเพนิซิลลิน วี อาจรบกวนผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้ผลการ วิเคราะห์คลาดเคลื่อน ดังนั้นระหว่างการใช้ยาเพนิซิลลิน วี ควรนำข้อมูลการใช้ยานี้มาประกอบในการพิจารณาการวิเคราะห์แปลผลการตรวจปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการทุกครั้ง
- ระวังการเกิดโรคเชื้อราช่องปากและที่อวัยวะเพศ ขณะที่ได้รับยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลิน วี ด้วย หรืออาจกระตุ้นให้มีการดื้อของเชื้อโรค (เชื้อดื้อยา) ติดตามมา
- หากต้องใช้ยานี้เป็นเวลานาน ให้ระวังเรื่องการทำงานของไต รวมถึงระบบเลือดว่ายังปกติอยู่หรือไม่
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติโรคหืด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเพนิซิลลิน วี ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เพนิซิลลิน วี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเพนิซิลลิน วี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมถึงเพนิซิลลิน วี ร่วมกับ ยาต้านแบคทีเรีย/ ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นเช่นยา Tetracycline อาจทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียของเพนิซิลลินน้อยลง จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลินวีด้วย ร่วมกับ ยา Methotrexate สามารถทำให้ระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลิน วีด้วย ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl Estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้อยลงไป ดังนั้นขณะใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกันควรใช้วิธีอื่นในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมเพนิซิลลิน วี ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดได้ง่าย โดยเฉพาะใน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ การใช้ยาร่วมกันจะต้องคอยเฝ้าระวังและควบคุมกลไกการแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ
ควรเก็บรักษาเพนิซิลลิน วี อย่างไร?
ควรเก็บยาเพนิซิลลิน วี เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) หรืออนุโลมให้เก็บที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ห้ามเก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เพนิซิลลินวีมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเพนิซิลลินวี มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Medic-V (เมดิก-วี) | Medicpharma |
Pen V Atlantic (เพน วี แอทแลนติก) | Atlantic |
Pen V General Drugs House (เพน วี เจเนอรอล ดรักซ์ เฮาส์) | General Drugs House |
Pen V Utopian (เพน วี ยูโทเปียน) | Utopian |
Pen V-Oral Four (เพน วี-ออรอล โฟร์) | Utopian |
Pen V-Oral Two (เพน วี-ออรอล ทู) | Utopian |
Penicillin V Osoth (เพนิซิลลิน วี โอสถ) | Osoth Interlab |
Penvedon (เพนวีดอน) | Acdhon |
Penvedon Dry Syrup (เพนวีดอน ดราย ไซรัป) | Acdhon |
Penvelin (เพนวีลิน) | The Forty-Two |
Penicillin V Asian Union (เพนิซิลลิน วี เอเชียน ยูเนียน) | Asian Union |
Penveno (เพนวีโน) | Milano |
Phenoxymethyl Penicillin Asian Pharm (ฟีน็อกซีเมทิล เพนิซิลลิน เอเชียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Penicillin#Medical_uses [2022,Jan8]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phenoxymethylpenicillin [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Pen%20V%20Atlantic/ [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/penicillin%20v?type=full [2022,Jan8]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/phenoxymethylpenicillin/patientmedicine/phenoxymethylpenicillin%20-%20oral [2022,Jan8]
- https://www.mims.co.uk/drugs/infections-and-infestations/bacterial-infections/phenoxymethylpenicillin-penicillin-v- [2022,Jan8]