ผิวหนังติดเชื้อ (Skin infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema)
ผิวหนังติดเชื้อ หรือ ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ(Skin infection) เป็นคำรวมที่หมายถึง ผิวหนังติดเชื้อโรค ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อสัตว์เซลล์เดียว/ปรสิตก็ได้ โดยผิวหนังติดเชื้อ มักติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสรอยโรคที่ผิวหนัง จากสารคัดหลั่งจากรอยโรค และ/หรือจากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
ก. ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย: ที่พบบ่อย มักเกิดจากการที่ผิวหนังมีบาดแผล เช่นแผลถลอก แผลแกะเกา แผลอุบัติเหตุต่างๆ(เช่น แผลจากการล้ม แผลถูกตำ แผลถูกยิง แทง ฟัน) แผลจากของมีคม แผลจากการผ่าตัด ซึ่งผิวหนังจากติดเชื้อแบคทีเรีย มักเป็นแผลเปิด มัก ปวด/เจ็บ บวม แดง ร้อน มีน้ำเหลือง และอาจมีหนองถ้าติดเชื้อรุนแรง
ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย เช่น แผลพุพอง รูขุมขนอักเสบ สิว ที่พบได้เรื่อยๆ เช่น ไฟลามทุ่ง เซลล์เนื้อเยื้ออักเสบ และที่พบได้น้อยและเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงได้แก่ โรคเนื้อเน่า
ข. ผิวหนังติดเชื้อไวรัส: มักเป็นโรคติดต่อโดยการคลุกคลี หรือสัมผัส ที่พบบ่อย เช่น โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคงูสวัด โรคหัด โรคหูด โรคหูดข้าวสุก
ค. ผิวหนังติดเชื้อรา: มักเกิดในบริเวณที่อับ เปียกชื้น เช่น ง่ามนิ้วเท้า รักแร้ เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคติดเชื้อแคนดิดา(โรคแคนดิไดอะซิส) กลาก เกลื้อน ผื่นผ้าอ้อม เชื้อราที่เล็บ
ง. ผิวหนังติดเชื้อปรสิต : เช่น เหา หิด โลน
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผิวหนังติดเชื้อ:
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดผิวหนังติดเชื้อ ได้แก่
- มีบาดแผลที่ผิวหนัง ที่รวมถึง แผลเกา แผลถลอก แผลโกนขน/หนวด แผลฉีดยา
- ผิวหนังส่วนที่อับชื้นเสมอ เช่น บริเวณเท้าที่สวมถุงเท้าและร้องเท้าเป็นประจำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน/วัน, คนอ้วน
- ผิวหนังที่มีอาการบวมเรื้อรัง เช่น จากขาดอาหาร จากการไหลเวียนโลหิตไม่ดี จากการผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออก เช่น ในการรักษามะเร็งเต้านม
- ผิวหนังในบริเวณที่เคยได้รับรังสีรักษามาก่อน
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
อาการ:
อาการของผิวหนังติดเชื้อ ที่มักจะเหมือนกันในทุกสาเหตุ คือ ผิวหนังจะ บวม แดง ร้อน อาจมี แผล ถลอก ขึ้นผื่น เป็นตุ่มน้ำใส ตุมหนอง หรือ ตุ่มพอง ปวด/เจ็บ บางครั้งส่วนที่ติดเชื้อ อาจเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ กรณีรุนแรงจะมีอากาศอยู่ในแผลที่เมื่อกดแผลจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ ถ้ามีน้ำเหลือง หรือหนองจะมีกลิ่นเหม็น และถ้าการอักเสบรุนแรงและ/หรือเรื่อรังจะมีต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงรอยโรค โต จนคลำได้ ทั่วไปมักคลำแล้วเจ็บ ทั่วไปต่อมน้ำเหลืองที่โต ขนาดมักไม่เกิน 1เซ็นติเมตร และจะค่อยๆยุบหายได้เองเมื่อการอักเสบของผิวหนังหายดีแล้ว เช่น ถ้าผิวหนังที่เท้าหรืออวัยวะเพศอักเสบ จะคลำพบต่อมน้ำเหลืองขาหนีบด้านเดียวกันโตได้
นอกนั้น จะเป็นอาการซึ่งขึ้นกับแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีไข้ ไอ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละโรคผิวหนังติดเชื้อ ได้ในเว็บ haamor.com เช่น แผลพุพอง สิว หัด เริม หิด เซลล์เนื้อเยื้ออักเสบ เป็นต้น
การวินิจฉัย:
ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังติดเชื้อได้จากลักษณะทางคลินิก คือ การสอบถามประวัติอาการ ประวัติสัมผัสเชื้อโรค การตรวจรอยโรคด้วยตา และการตรวจร่างกายทั่วไป ส่วนน้อยที่ต้องมีการการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด CBC การขูดเอาเซลล์จากรอยโรคไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ การเพาะเชื้อจากหนอง/สารคัดหลั่ง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย รอยโรคที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์
การรักษา:
โดยทั่วไป การรักษาผิวหนังติดเชื้อ เป็นการรักษาดูแลตนเองที่บ้าน ด้วยการรักษาความสะอาดแผล การล้างแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การใช้ยาใส่แผล/ยาทำแผล การทายาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เช่น ยาปฏิชีวนะที่เป็นครีม/เจล หรือการกิน/ฉีดยาปฏิชีวนะกรณีแผลติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง
ส่วนแพทย์จะรักษาผิวหนังติดเชื้อตามแต่ละสาเหตุ ซึ่งอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละโรคผิวหนังติดเชื้อ ได้ในเว็บ haamor.com เช่น แผลพุพอง สิว หัด เริม หิด เซลล์เนื้อเยื้ออักเสบ เป็นต้น
การพยากรณ์โรค:
ทั่วไปการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หายด้วยการดูแลตนเอง แต่ถ้าดูแลตนเองแล้ว อาการเลวลง หรือ อาการรุนแรงตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม มีบางโรคที่อาการอาจรุนแรง และอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น โรคเนื้อเนา โรคเซลล์เนื้อเยื้ออักเสบ
อนึ่ง ผู้ป่วยที่ผิวหนังติดเชื้อ มีอาการรุนแรง มักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานตนเองต่ำ
การป้องกัน:
การป้องกันผิวหนังติดเชื้อ ที่สำคัญ เช่น
- รักษาผิวหนังทุกส่วนให้สะอาดเสมอ เช่น อาบน้ำ ถูสบู่อย่างน้อยวันละ1ครั้งก่อนนอน
- ล้างผิวหนังให้สะอาดเสมอเมื่อผิวหนังสัมผัสสิ่งสกปรก เช่น สารคัดหลั่ง เศษอาหาร
- รักษาผิวหนังให้แห้ง ไม่อับ เปียกชื้น เช่น การเปลี่ยนถุงเถ้าทุกวัน และทุกครั้งที่ถุงเท้าเปียก หรือสกปรก
- ระวังการเกา การข่วนผิวหนังด้วยเล็บ เพราะเล็บ/ใต้เล็บเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
- เมื่อเกิดแผลที่ผิวหนัง ต้องรักษาแผลให้สะอาดเสมอ
- รักษาความสะอาดของ เสื้อผ้า เครื่องใช้ที่สัมผัสผิวหนังเสมอ เช่น เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน ถุงเท้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รองเท้า และไม่ควรใช้ของใช้เหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น
การพบแพทย์:
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ
- อาการที่ผิวหนังรุนแรง เช่น เป็นหนองมากขึ้น มีแผลขนาดใหญ่ เจ็บ/ปวดแผลมาก สีของแผลเปลี่ยนเป็นดำคล้ำ แผลลุกลามขยายใหญ่ขึ้น แผลบวมมากขึ้น แผลเลือดออกมาก แผลมีกลิ่นเหม็น
- มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- เมื่อกังวลในอาการ
อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละโรคผิวหนังติดเชื้อ ได้ในเว็บ haamor.com เช่น แผลพุพอง สิว หัด เริม หิด เซลล์เนื้อเยื้ออักเสบ เป็นต้น
บรรณานุกรม