แอนแทรก (Anthrax)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

แอนแทรก (Anthrax) คือ โรคติดเชื้อเฉียบพลันจากแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ชื่อ  ‘Bacillus anthracis’  พบน้อยทั่วโลก มีรายงานพบประมาณ 2,000 รายในแต่ละปี แต่เป็นโรคที่รุนแรง พบทุกเพศและทุกอายุ เป็นโรคที่ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้

         แอนแทรก เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease หรือ Zoonosis) โดยคนติดเชื้อจากสัตว์ที่ติดเชื้อแอนแทรก ซึ่งโดยทั่วไปเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังประเภทกินหญ้าทั้งจาก สัตว์บ้าน ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า เช่น วัว ควาย แพะ แกะ กวาง ละมั่ง ม้า

 ทั่วไป แอนแทรก ไม่ใช่โรคที่ติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย(Contagious disease) คือ ไม่ติดต่อทางลมหายใจ  ไอ  จาม หรือ การคลุกคลี (เช่น ในโรคหวัดหรือโรคไข้หวัดใหญ่) แต่ติดต่อจาก

  • ทางบาดแผล จากแผลได้รับเชื้อแอนแทรกที่เชื้อต้องอยู่ในรูปแบบสปอร์(Spore)ที่เรียกว่า Endospore
  • หรือจากทางการสูดดม(Inhalation)
  • หรือจากกินอาหารที่ติดเชื้อนี้ หรือ
  • จากแผลการฉีดยาเสพติดผิดกฎหมาย

แอนแทรกในสัตว์:  พบบ่อยในประเทศที่ยังไม่พัฒนาหรือที่กำลังพัฒนาที่การปศุสัตว์ยังไม่ดีพอ ไม่มีการฉีดวัคซีนสัตว์เพื่อป้องกันโรคนี้ เช่น อัฟริกา ปากีสถาน อเมริกากลาง อเมริกาใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และยุโรปตะวันออก

อนึ่ง: แอนแทรก มาจาก’ภาษากรีก’ หมายถึง  ถ่านหิน เพราะเมื่อติดเชื้อที่ผิวหนังรอยโรคจะมีขนาดใหญ่ที่เป็นสีดำเหมือนสีถ่านหิน

แอนแทรกติดต่ออย่างไร? มีกลไกเกิดโรคอย่างไร?

แอนแทรก

แอนแทรก เป็นแบคทีเรียที่เกิดตามธรรมชาติอยู่ในดิน โดยจะอยู่ในรูปแบบของสปอร์ที่คง ทนต่อสภาพอากาศและต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อในรูปแบบสปอร์มีชีวิตได้นานเป็นปีถึงสิบๆปี มีรายงานได้ถึง70 ปี   

 สปอร์แอนแทรกนี้ถ้าอยู่ภายนอกร่างกายของ คน สัตว์ จะไม่ก่อโรค ต่อ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคน สัตว์ จึงจะก่อโรคได้ โดยสปอร์จะถูกร่างกายเปลี่ยนให้เป็นเชื้อแอนแทรกที่เจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว แพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆทางกระแสเลือดและทางระบบน้ำเหลือง และสร้างสารพิษที่เรียกว่า’สารชีวพิษ (Biotoxin)’ซึ่งจะทำลายเซลล์ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายที่ก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรงของเนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นอย่างรุนแรง เกิด อาการบวม, มีของเหลว/น้ำจากเลือดซึมออกจากหลอดเลือดเข้ามาอยู่ในเนื้อเยื่อ เกิดภาวะเนื้อเยื่อเสียน้ำอย่างรุนแรง ร่วมกับมีเลือดออกในอวัยวะที่ติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดภาวะช็อกรุนแรงและเกิดเนื้อตายเฉพาะส่วน (Necrosis)ของเนื้อเยื่อที่ขาดเลือด จนส่งผลให้ถึงผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อตายได้

อนึ่งสัตว์:  ได้รับเชื้อแอนแทรกจากการกินหญ้าและสัมผัสดินที่มีสปอร์แอนแทรกอยู่

การติดเชื้อในคน:

   คนติดเชื้อแอนแทรกจาก

  • มีบาดแผลที่ผิวหนังและแผลสัมผัสกับสัตว์ป่วยโรคแอนแทรก ที่มักเป็นจากซากสัตว์ที่ตาย เพราะในภาวะนี้เชื้อแอนแทรกจะสร้างสปอร์ที่เป็นตัวก่อการติดต่อ และรวมถึงจากการสัมผัส หนังสัตว์ เขาสัตว์ ขนสัตว์ (รวมถึงการหายใจเอาขนสัตว์ป่วยเข้าสู่ร่างกาย) หรือ
  • จากกินเนื้อสัตว์ป่วย
  • และ/หรือจาก สูดดมสปอร์เชื้อฯ เช่น ในการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ หนังสัตว์ ขนสัตว์ เขาสัตว์

นอกจากนั้น ที่พบได้น้อย คือ

  • จากการฉีด(เข้ากล้ามเนื้อ)สารเสพติดผิดกฎหมายที่เข็มติดเชื้อนี้ที่อยู่ในรูปสปอร์
  • *และเนื่องจากสปอร์จากแอนแทรกมีชีวิตอยู่ได้นานและโรคก่ออาการรุนแรง จึงมีบางประเทศนำมาผลิตเป็นอาวุธสงครามชีวภาพ (Bioterrorism) ซึ่งก่อการติดเชื้อได้รุนแรงถึงตาย เช่น
  • จากการสัมผัสจดหมายและ/หรือสิ่งของทางไปรษณีย์
  • สูดดม และ
  • ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสปอร์เหล่านี้

***อนึ่ง: ยังไม่มีรายงานโรคแอนแทรกติดต่อจากคนสู่คน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อแอนแทรก?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อแอนแทรกได้แก่

  • ทำงานในปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์ กลุ่มกินหญ้า
  • ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์กินหญ้า เช่น หนัง ขน กระดูก (ในสหรัฐอเมริกามีรายงานติดต่อจากการตีกลองที่ทำจากหนังสัตว์ที่ติดเชื้อนี้)
  • ทำงานในห้องปฏิบัติการที่ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อนี้
  • เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ในประเทศที่มีการก่อการร้าย
  • สัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์กลุ่มนี้
  • ทหารที่ทำสงครามกับประเทศที่ใช้อาวุธชีวภาพ
  • ผู้ฉีด (เข้ากล้ามเนื้อ)สารเสพติดผิดกฏหมายจากเข็มไม่สะอาดที่มีเชื้อนี้

แอนแทรกมีอาการอย่างไร?

เมื่อสปอร์แอนแทรกเข้าสู่ร่างกาย มักมีระยะฟักตัวประมาณ 1 - 7 วันแต่อาจนานได้ถึง 60 วันจึงก่อให้เกิดอาการ ทั้งนี้การติดเชื้อแอนแทรกมีได้ 4 รูปแบบคือ  ผ่านทางผิวหนัง,  ติด ทางระบบทางเดินอาหาร,  ติดเชื้อจากการสูดดม, และติดเชื้อจากการฉีดสารเสพติดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งอาการโรคจะขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อจากวิธีใด

ก. การติดเชื้อทางผิวหนัง (Cutaneous anthrax): เกิดจากผิวหนังของคนที่มีแผลสัมผัสเชื้อนี้ที่อยู่ในรูปแบบสปอร์จึงก่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการที่พบได้ เช่น

  • ผิวหนังที่ติดเชื้อมีลักษณะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ
  • ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพองแล้วแตกเป็นแผลเปื่อย
  • ซึ่งเมื่อแผลแตกเปื่อยจะเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ (Eschar) และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้

ทั้งนี้การติดเชื้อทางผิวหนัง เป็นการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในการติดเชื้อแอนแทรกและเป็นชนิดที่มีความรุนแรงน้อย มักรักษาได้หายทุกราย แต่ถ้าโรครุนแรงมากจนลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ มีรายงานอัตราตายประมาณ 20%

ข. การติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal and oropharyngeal anthrax): มักเกิดจากบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดโรค โดยอาการ เช่น

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ใบหน้าแดง
  • ตาแดง
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เจ็บคอ/คออักเสบ เจ็บเวลากลืน
  • เสียงแหบ
  • มีเสมหะเป็นเลือด
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย อาจท้องเสียรุนแรง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • อ่อนเพลีย
  • เป็นลม หมดสติ

*อนึ่ง: การติดเชื้อเข้าทางระบบทางเดินอาหาร พบน้อยแต่เป็นการติดเชื้อที่รุนแรง โดยมีรายงานอัตราตายประมาณ 25 - 70%

ค. การติดเชื้อจากการสูดดม (Inhalation anthrax): เกิดจากสูดดมเอาสปอร์ของเชื้อนี้เข้าสู่ปอด อาการ เช่น

  • อาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ (โรคคล้ายไข้หวัดใหญ่) เช่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว  เจ็บคอ
  • หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • ไอเป็นเลือด
  • คอแข็ง  
  • ภาวะช็อก

*อนึ่ง: การติดเชื้อทางการสูดดมมักรุนแรง มีรายงานอัตราตายสูงถึงประมาณ 90%เมื่อ ได้รับการรักษาล่าช้า แต่ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะทันท่วงที่ตั้งแต่ระยะแรกติดเชื้อ มีรายงานอัตราตายประมาณ 80%

ง. การติดเชื้อจากการฉีด (เข้ากล้ามเนื้อ) สารเสพติดผิดกฎหมาย (Injection anthrax): เป็นการติดเชื้อที่เพิ่งมีรายงานเกิดในยุโรปเหนือเมื่อ ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) โดย อาการจะเหมือนกับการติดเชื้อทางผิวหนังแต่จะรุนแรงกว่า เพราะเกิดการติดเชื้อในกล้ามเนื้อส่วนที่อยู่ลึกซึ่งตำแหน่งรอยโรคจะบวมมาก แดง เกิดเป็นฝีหนอง และร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ซึ่งโรคอาจลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และมีรายงานอัตราตายประมาณ 30%

***อนึ่ง:  แอนแทรกทุกรูปแบบถ้ารักษาล่าช้าหรือไม่ได้รับการรักษา โรคจะลุกลามแพร่กระจายรุนแรงเข้าสู่กระแสเลือดเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง ส่งผลมีอาการทางสมองได้ และผู้ป่วยมักเกิดภาวะช็อกอย่างรุนแรงและถึงตายในที่สุด

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

 ผู้สัมผัสสัตว์/ผลิตภัณฑ์สัตว์กินหญ้าและผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อสงสัยการติดโรคนี้หรือมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’

แพทย์วินิจฉัยแอนแทรกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคแอนแทรกได้จาก

  • ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการสัมผัสสัตว์กินหญ้า อาชีพ/การงาน ประวัติปัจจัยเสี่ยง
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจาก เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และ/หรือจากน้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ/CSF
  • ตรวจเลือด ดู สารภูมิต้านทาน และ/หรือ สารก่อภูมิต้านทานต่อโรคนี้
  • ตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วยเอกซเรย์และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน)
  • ในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้ที่มีรอยโรคที่ผิวหนัง แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาแอนแทรกอย่างไร?

การรักษาแอนแทรกประกอบด้วยการให้ยาปฏิชีวนะและการรักษาตามอาการ

ก. การให้ยาปฏิชีวนะ: จะได้ผลดีกว่าเมื่อเริ่มให้ยาตั้งแต่รู้ว่าสัมผัสโรคโดยยังไม่เกิด อาการ เรียกว่า เป็นการรักษาแบบป้องกัน แต่เมื่อมีอาการแล้วการรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร และผู้ป่วยอาจมีอัตราตายได้สูง

ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้มีหลายตัว โดยการรักษาอาจใช้ยาฯเพียงตัวเดียวหรือหลายตัวร่วมกันทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ยา Cyprofloxacin, Doxycycline, Erythromycin,  Penicillin

ข. การรักษาตามอาการ: เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีกินอาหารได้น้อย, การให้ออกซิเจนกรณีมีอาการทางการหายใจ, การให้เลือดถ้ามีภาวะซีดจากเลือดออกมาก, รวมไปถึงการให้ยาแก้อักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์

อนึ่ง  ปัจจุบันได้มีการศึกษานำยาที่เป็นสารภูมิต้านทาน/ โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal antibody therapy) เช่น ยา Raxibacumab มาใช้ทั้งในการป้องกันและในการรักษาการติดเชื้อแอนแทรกจากการสูดดม ซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่ง

แอนแทรกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงสำคัญจากการติดเชื้อแอนแทรกคือ  

  • เกิดอักเสบรุนแรงต่อทุกอวัยวะ โดยเฉพาะต่อสมอง และการเกิดภาวะช็อกรุนแรงจนเป็นเหตุถึงตายในที่สุด

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีการติดเชื้อแอนแทรก คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด  โดยทั่วไปแพทย์มักรับตัวผู้ติดเชื้อแอนแทรกไว้รักษาในโรงพยาบาล
  • ซึ่งเมื่อแพทย์ให้กลับบ้านได้ ต้องกินยาต่างๆที่แพทย์สั่งอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา เพราะดังกล่าวแล้วในตอนต้น‘หัวข้อ อาการฯ’ว่า สปอร์ของแอนแทรกสามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นระยะเวลายาวนาน

  นอกจากนั้นการดูแลตนเองอื่นๆ เช่น

  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • มีอาการใหม่ที่ผิดไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก หรือ ท้องเสีย
    • กังวลในอาการ

ป้องกันแอนแทรกได้อย่างไร?

การป้องกันติดเชื้อแอนแทรก คือ

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส คลุกคลี ใกล้ชิด สัตว์กินหญ้า
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์กินหญ้า ต้องดูแลสัตว์และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อแอนแทรกให้สัตว์ตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ รวมทั้ง
  • ต้องรู้จักดูแลตนเองในการกำจัดซากสัตว์กินหญ้าที่ตายด้วยเชื้อแอนแทรกและ/หรือที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

อนึ่ง:

  • ในคนมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อแอนแทรกเช่นกันทั้งชนิดเป็นเชื้อแอนแทรกที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (วัคซีนเชื้อเป็น/Live vaccine) และชนิดผลิตจากชิ้นส่วนของเชื้อแอนแทรก (Acellular vaccine)ที่ช่วยลดผลข้างเคียงจากวัคซีนลงได้มากกว่าวัคซีนเชื้อเป็น
  • วัคซีนนี้มีข้อห้ามคือ ห้ามฉีดในหญิงตั้งครรภ์

*อย่างไรก็ตาม  จากเป็นโรคพบน้อยและวัคซีนมีผลข้างเคียงค่อนข้างสูง เช่น ไข้สูง หนาวสั่น สับสน ชัก หายใจลำบาก   ตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนบวม แดง อักเสบ จึงยังไม่มีการแนะนำฉีดวัคซีนในคนทั่วไป  โดยจะฉีดป้องกันเฉพาะกลุ่มคนปัจจัยเสี่ยงสูง(กล่าวใน’หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดโรคฯ’)ที่จะติดโรคนี้เท่านั้น  

บรรณานุกรม

  1. Dixon,T., et al. (1999).Anthrax. NEJM. 341,815-826.
  2. O’Brien,K. et al. (2003). Regcognition and management of bioterrorism. Am Fam Physician. 67,1927-1934
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Anthrax [2022,June25]
  4. https://www.cdc.gov/anthrax/basics/index.html [2022,June25]
  5. https://www.cdc.gov/anthrax/prevention/index.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fanthrax%2Fmedical-care%2Fprevention.html [2022,June25]
  6. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a607013.html [2022,June25]
  7. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23267409/ [2022,June25]
  8. https://www.healthline.com/health/zoonosis#types [2022,June25]
  9. https://www.fda.gov/vaccines-blood-biologics/vaccines/anthrax [2022,June25]