เซฟาเลกซิน (Cefalexin or Cephalexin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มีนาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- เซฟาเลกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- เซฟาเลกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซฟาเลกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซฟาเลกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซฟาเลกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซฟาเลกซินอย่างไร?
- เซฟาเลกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซฟาเลกซินอย่างไร?
- เซฟาเลกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
เซฟาเลกซิน (Cefalexin or Cephalexin) คือ ยาในกลุ่ม เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) รุ่นที่ 1 (First generation) สามารถต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวกและแบคทีเรียชนิดแกรมลบได้บางจำพวก โดยตัวยามีกลไกยับยั้งการสร้างผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถนำมารักษาโรคติดเชื้อไวรัสได้ ทางคลินิกใช้ยาเซฟาเลกซินในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ หูชั้นกลาง ข้อ ระบบผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือนำมาใช้รักษาอาการ ปอดบวม เจ็บคอ/ คออักเสบ หรือใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณเยื่อบุหัวใจ/ เยื่อบุหัวใจอักเสบ
อนึ่ง ยาเซฟาเลกซินไม่สามารถต่อต้านกลุ่มแบคทีเรียที่ดื้อต่อยานี้ได้ ตัวอย่างของแบคทีเรียที่ดื้อยานี้ เช่น Methicillin-resistant staphylococcus aureus, Enterococcus หรือ Pseudomonas, อีกทั้งห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) อีกด้วย
รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาเซฟาเลกซินจะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาเซฟาเลกซินมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ดี แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมอาหาร เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 15% ตัวยานี้สามารถซึมผ่านรกและออกมากับน้ำนมของมารดาได้ แต่ยานี้จะไม่ซึมผ่านเข้าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ยาเซฟาเล็กซินจะไม่ถูกเปลี่ยนโครงสร้างใดๆจากตับ ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการกำจัดตัวยาออกจากกระ แสเลือด 50% และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีแต่อย่างใด
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเซฟาเลกซินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเงื่อนไขให้ใช้กับการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกโดยเฉพาะเชื้อ S.aureus (Staphylococcus aureus), ในผู้ป่วยที่แพ้ Penicillin แบบไม่รุนแรง, รวมถึงการติดเชื้อในชุมชนจากแบคทีเรียแกรมลบบางชนิด เช่น เชื้อ E.coli (Escherichia coli) เป็นต้น
ยาเซฟาเลกซินจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงควรอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วย/ผู้บริโภคไม่สมควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานด้วยตนเอง
เซฟาเลกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาเซฟาเลกซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียชนิด Streptococcus pneumoniaeและชนิด Streptococcus pyogenes
- รักษาการติดเชื้อของหูชั้นกลางที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิดStreptococcus pneumoniae, Haemophilus influenza, Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes และ Moraxella catarrhalis
- รักษาผิวหนังติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureusและ Streptococcus pyogenes
- รักษาการติดเชื้อที่กระดูก(กระดูกอักเสบ)ที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureusและ Proteus mirabilis
- รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะอันมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Proteus mirabilisและ Klebsiella pneumoniae
เซฟาเลกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟาเล็กซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารที่มีชื่อว่า Peptidoglycan ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้และตายลงในที่สุด
เซฟาเลกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซฟาเลกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาน้ำชนิดรับประทาน/ยาผงละลายน้ำก่อนรับประทาน ขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
เซฟาเลกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซฟาเลกซินมีขนาดรับประทานได้หลากหลายขึ้นกับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใด, ของอวัยวะอะไร, และความรุนแรงของอาการ, ซึ่งจะต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ข้อยก ตัวอย่าง เช่น
ก. สำหรับรักษาอาการ เจ็บคอ_คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง หรือ 500 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 1 ปี: รับประทานครั้งละ 12.5 - 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี: ขนาดใช้ยาขึ้นน้ำหนักตัวเด็กและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับรักษาผิวหนังติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายติดเชื้อ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมง หรือ 500 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):รับประทานครั้งละ 12.5 - 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 12 ชั่วโมง
ค. สำหรับรักษาต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัมทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 14 วัน
- เด็ก: การติดเชื้อต่อมลูกหมากเป็นโรคในผู้ใหญ่จึงยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในเด็ก
*อนึ่ง ยาเซฟาเลกซินสามารถทนกรดในกระเพาะอาหารได้ก็จริง แต่การรับประทานในช่วงท้องว่างจะทำให้การดูดซึมตัวยาดีกว่าการรับประทานยาพร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซฟาเลกซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟาเลกซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซฟาเลกซินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาเซฟาเลกซินให้ตรงเวลา
เซฟาเลกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซฟาเลกซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดแผลในปาก
- คันบริเวณอวัยวะเพศ
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- วิงเวียน
- อ่อนเพลีย
- ปวดท้อง
- ปวดหัว
*** อนึ่ง กรณีที่มีอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบหยุดใช้ยานี้แล้วรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่น ผื่นคันเต็มตัว ใบหน้าบวม ปากบวม บวมตามข้อพับ มีไข้สูง ตัวเหลือง-ตาเหลือง หรือมีอาการเลือดออกง่ายกว่าปกติ
มีข้อควรระวังการใช้เซฟาเลกซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาเลกซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ด้วยตัวยานี้ อาจก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคได้มากยิ่งขึ้น
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- การรับประทานยาเซฟาเลกซินในรูปแบบของ
- ยาแคปซูล - ยาเม็ด ให้ดื่มน้ำตามอย่างพอเพียง
- กรณียาน้ำแขวนตะกอน ให้เขย่าขวดเพื่อตัวยากระจายตัวได้ดีก่อนรับประทานทุกครั้ง
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้ กรณีมีอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวด ยานพาหนะใดๆหรือการทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- กรณีที่เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรกลับ มาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- กรณีใช้ยานี้แล้วอาการป่วยไม่ทุเลาภายในเวลาประมาณ 3 - 4 วันหรือมีอาการหนักขึ้น ควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟาเลกซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เซฟาเลกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซฟาเลกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเซฟาเลกซิน ร่วมกับยาเบาหวาน เช่นยา Metformin จะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยา Metformin มีมากยิ่งขึ้นจนเป็นผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาเซฟาเลกซิน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol อาจทำให้ฤทธิ์การคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย เป็นต้น
- การใช้ยาเซฟาเลกซิน ร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซฟาเลกซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนมีอาการข้างเคียงติดตามมาเช่น เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ไตทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเซฟาเลกซิน ร่วมกับยาขับปัสสาวะ เช่นยา Furosemide อาจเกิดความเสี่ยงก่อให้ไตทำงานผิดปกติ โดยสังเกตจากมีอาการคลื่นไส้-อาเจียน เบื่ออาหาร ลดการขับปัสสาวะ น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลด มีอาการบวมน้ำ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย วิงเวียน ไปจนถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันและเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงดังกล่าว แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาเซฟาเลกซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเซฟาเลกซิน:
- ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ยาผงก่อนผสมน้ำ: สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ยาน้ำชนิดรับประทานหรือยาผงที่ผสมน้ำแล้ว: เก็บยาในอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ยาทุกรูปแบบ:
- ต้องไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เซฟาเลกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซฟาเลกซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Celex (เซเล็กซ์) | Millimed |
Cephalexyl (เซฟาเลซิล) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Cephin (เซฟิน) | General Drugs House |
Farmalex (ฟาร์มาเล็กซ์) | Farmaline |
Faslex (ฟาสเล็กซ์) | Pharmahof |
Felexin (เฟเลซิน) | Remedica |
Keflex (เคเฟล็กซ์) | DKSH |
Mycef (มายเซฟ) | Unique |
Sialexin (ซิเอเลซิน) | Siam Bheasach |
Sporicef (สปอริเซฟ) | Ranbaxy |
Sporidin (สปอริดิน) | Ranbaxy |
Suphalex (ซูฟาเล็กซ์) | Suphong Bhaesaj |
Teplexin (เทเพล็กซิน) | T P Drug |
Toflex (โทเฟล็กซ์) | T.O. Chemicals |
Ulflex (อัลเฟล็กซ์) | Utopian |
Zeplex (เซเพล็กซ์) | M & H Manufacturing |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cephalosporin [2022,March12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cefalexin [2022,March12]
- https://www.drugs.com/pro/cephalexin.html [2022,March12]
- https://www.drugs.com/pro/cephalexin.html [2022,March12]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=3800486&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,March12]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/keflex/dosage?selectedTab=overdosage [2022,March12]
- http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503184421.pdf [2022,March12]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cephalexin-index.html?filter=2&generic_only=#M [2022,March12]