โรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

โรคเนื้อเน่า(Necrotizing fasciitis ย่อว่า NF) หรือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือโรค แบคทีเรียกินเนื้อคน(Flesh eating disease) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงของเนื้อเยื่ออ่อนที่รวมถึง ผิวหนัง, เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อลาย(Muscle sheath), และตัวกล้ามเนื้อลายส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกแบคทีเรียชนิดว่า ‘แบคทีเรียกินเนื้อคน(Flesh eating bacteria)

อนึ่ง ต่อไปในบทความนี้ขอเรียกเนื้อเยื่อกลุ่มนี้ว่า “เนื้อเยื่ออ่อนฯ” อย่างไรก็ตาม ส่วนน้อยมากของผู้ป่วยโรคนี้เกิดจากเนื้อเยื่ออ่อนฯติดเชื้อรา(โรคเชื้อรา)รุนแรง

โรคเนื้อเน่า ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนฯที่ติดเชื้อเกิดการเน่าตาย และแผลเนื้อเน่าลุกลามได้รวดเร็วโดยเฉพาะในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ซึ่งการรักษาอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะ(Amputation)ที่ติดเชื้อ เช่น ตัดแขน หรือขากรณีโรคเกิดที่แขนหรือขา

โรคเนื้อเน่าพบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติหรือถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นโรคพบประปรายค่อนข้างน้อย ทั่วโลกพบประมาณ 0.4-3 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในคนทุกอายุ พบน้อยในเด็ก เฉลี่ยอายุที่พบจะประมาณ 40-50 ปี ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดเท่ากัน แต่จากปัจจัยเสี่ยงการเกิดแผลสกปรกจึงพบโรคนี้ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 2-3เท่า

ทั้งนี้ โรคเนื้อเน่าอาจเรียกในภาษาอังกฤษได้หลายชื่อ เช่น

  • Hemolytic streptococcal gangrene
  • Meleney ulcer
  • Acute dermal gangrene
  • Hospital gangrene
  • Suppurative fasciitis
  • Synergistic necrotising cellulitis

โรคเนื้อเน่ามีสาเหตุจากอะไร?ติดเชื้อได้อย่างไร?เป็นโรคติดต่อหรือไม่?

โรคเนื้อเน่า

โรคเนื้อเน่า มีสาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่ออ่อนฯติดเชื้อ ที่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็น เชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยมากเป็นเชื้อรา (โรคเชื้อรา) ทั้งนี้เนื้อเยื่ออ่อนฯทุกส่วนของร่างกายสามารถติดเชื้อโรคนี้ได้ เช่น ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ ลำตัว แขน ขา อวัยวะเพศภายนอก ‘แต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ แขน ขา’ เพราะเป็นส่วนที่เกิดแผลได้ง่าย

โรคเนื้อเน่า ไม่ได้เกิดจากตัวเชื้อโรคโดยตรง แต่เกิดจากสารชีวพิษ(Toxin)และ/หรือเอนไซม์ที่เชื้อนั้นๆปล่อยออกมา ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดของเนื้อเยื่ออ่อนฯ ส่งผลให้หลอดเลือดนั้นๆอุดตันจึงส่งผลต่อเนื่องให้เซลล์เนื้อเยื่ออ่อนฯขาดเลือด จนเกิดเนื้อเน่า/เนื้อเยื่ออ่อนฯเน่าตาย

ดังนั้นการติดเชื้อโรคเนื้อเน่า จึงเป็นการติดเชื้อชนิดที่เชื้อฯสร้างสารชีวพิษ/เอนไซม์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียบางกลุ่ม และส่วนน้อยมากจากโรคเชื้อราบางกลุ่ม

ทั่วไป “โรคเนื้อเน่า ไม่ใช่โรคติดต่อ” ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่สัตว์ แต่เป็นโรคที่เชื้อโรคเนื้อเน่าเข้าสู่ร่างกาย/ผิวหนังผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผล ทุกประเภทแผล เช่น แผลถลอก แผลรอยข่วน แผลถูกตำ แผลบาด แผลถูกสัตว์ทุกชนิดรวมแมลงกัด ต่อย แผลผ่าตัด แผลอุบัติเหตุ หรือผิวหนังที่แช่น้ำสกปรกนานๆ ฯลฯ

แหล่งเชื้อโรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่ คือ

  • ในสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เช่น ดิน แหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำทะเล แหล่งน้ำสาธารณะ
  • แหล่งน้ำที่ไม่สะอาดในบางสถานที่ที่ผู้คนใช้ร่วมกัน เช่น สปาบางแห่ง เศษวัสดุต่างๆ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่ไม่สะอาด (เช่น มีด เข็ม เข็มฉีดยา มีดผ่าตัด ตะปู เครื่องมือที่ใช้สักตามผิวหนัง)

ดังนั้นกรณีที่คนปกติมีแผลและแผลเกิดสัมผัสกับแผลหรืออุปกรณ์ทำแผลผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า ก็มีความเป็นไปได้ทางทฤษฎีที่อาจติดเชื้อโรคเนื้อเน่าเข้าสู่ผิวหนังที่เป็นแผลได้ แต่โอกาสเกิดโรคเนื้อเน่าด้วยวิธีนี้มีรายงานเกิดน้อยมากๆ

*ดังนั้นจะเกิดเนื้อเน่าได้ ต้องมี 2 ปัจจัยหลัก คือ

  • ผิวหนังต้องมีแผล
  • และแผลนี้สัมผัสกับเชื้อโรคที่ก่อโรคนี้

โรคเนื้อเน่ามีกี่แบบ?

แพทย์บางท่าน/หรือบางสถาบันทางการแพทย์ แบ่งโรคเนื้อเน่าเป็น 4 กลุ่ม/รูปแบบ(Type)ตามชนิดของเชื้อโรค ได้แก่

ก. แบบ1(Type I): เป็นแผลติดเชื้อจากแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งเป็นแบบพบบ่อยที่สุด(ประมาณ 55-80%ของผู้ป่วยทั้งหมด) ซึ่งแบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุและพบบ่อย ได้แก่ Staphylococcus aureus, Haemophilus, Vibrio, Escherichia coli, Bacteroides fragillis, และการติดเชื้อในแบบนี้ มักพบใน ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, จากแผลผ่าตัด, แผลจากอุบัติเหตุ

ข. แบบ2(Type II): เป็นแผลติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย

  • กลุ่ม Hemolytic group A streptococcus ซึ่งเป็นเชื้อชนิดที่แผลลุกลามรุนแรงรวดเร็วมากที่สุด
  • กลุ่ม Staphylococci โดยเฉพาะชนิดดื้อยา(Methicillin resistant strains/MRSA) พบเป็นสาเหตุได้ประมาณ 30%ของผู้ป่วย

อนึ่ง: เชื้อแบคทีเรียในแบบ2นี้ เป็นกลุ่มได้ชื่อว่า “แบคทีเรียกินเนื้อคน(Flesh eating bacteria)” เป็นกลุ่มมีความรุนแรงโรคสูง พบได้ในคนทุกกลุ่ม ทุกอายุ รวมถึงคนที่มีสุขภาพแข็งแรง จัดเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งมักพบเกิดในตำแหน่งของ ใบหน้า ศีรษะ ลำคอ แขน ขา

ค. แบบ3(Type III): มักเรียกว่า “โรคแกสแกงกรีน(Gas gangrene)” โดยเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงชนิดที่สร้างสารชีวพิษ(Toxin)และสร้างแก๊สได้ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของผู้ป่วยจะเกิดจากแบคทีเรียในกลุ่ม คลอสตริเดียม (Clostridium) ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้จะทำให้เกิดเนื้อตายเน่าที่เป็นสีดำ(Gangrene)แผลจะมีลักษณะบวมและเป็นเม็ดพอง(Bleb)และมีแก๊สอยู่ในเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ ทำให้เมื่อขยับตัวจะมีเสียงดังกรอบแกรบจากแก๊สในแผล การติดเชื้อชนิดนี้ พบได้จาก

  • การมีบาดแผลสกปรกที่มักเกิดจากอุบัติเหตุหรือการสงคราม
  • และยังพบได้ในผู้ป่วย มะเร็งลำไส้ใหญ่, และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ต่ำจนทำให้แบคทีเรียคลอสตริเดียมที่เป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ เจริญแพร่พันธ์ได้เกินปกติจนก่อโรคได้กับลำไส้และกับทุกอวัยวะที่เชื้อโรคลุกลามแพร่กระจายไปถึง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูงมาก

ง. แบบ4(Type IV): เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อรา ที่พบบ่อย ได้แก่เชื้อ Candida, Zygomecetes, เป็นกลุ่มจัดว่าโรครุนแรงเช่นกัน มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี

อนึ่ง:

  • แพทย์บางท่าน นับรวมการติดเชื้อแบคทีเรียจากทะเล(Marine organisms)เช่น แบคทีเรียกลุ่ม Vibrio, Aeromonas hydrophila เป็นการติดเชื้อแบบType III ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการโรครุนแรงมาก อาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ ผู้ป่วยมักได้รับเชื้อที่มีอยู่ในน้ำทะเล จากแผลที่สัมผัสน้ำทะเล เช่นจาก การจับปลาทะเล ถูกครีบ หรือเงี่ยงปลาทะเลบาด/ตำ แต่แพทย์บางท่านจัดการติดเชื้อจากน้ำทะเลนี้เป็น Type I กรณีผู้ป่วยติดเชื้อทางทะเลแต่ติดเชื้อหลายชนิดที่รวมถึงเชื้อจากน้ำทะเลด้วย เช่นเชื้อ Vibrio
  • “Fournier gangrene” เป็นชื่อเรียกโรคนี้เมื่อเป็นการติดเชื้อที่อวัยวะเพศภายนอก หรือที่ฝีเย็บ(Perineum) จัดเป็นการติดเชื้อ Type I ที่รุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 15%-50% พบโรคได้ ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบสูงในผู้สูงอายุชายที่ติดสุรา ทั้งนี้ ชื่อโรคตั้งตาม สูติแพทย์ชาย ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Jean Alfred Fournier ที่รายงานโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1883

โรคเนื้อเน่ามีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเนื้อเน่า มักเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากแผลที่ผิวหนังได้รับเชื้อ

ก. ระยะเริ่มต้น: แผลจะดูไม่รุนแรง ผิวหนังจะมีรอยแผลเล็กน้อย ผิวหนังรอบแผล จะ บวม แดง ร้อน ปวด อาจร่วมกับรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายอาการเริ่มต้นของไข้หวัดใหญ่

ข. แต่หลังจากนั้นในระยะเวลาที่รวดเร็วเป็นวัน:

  • อาการต่างๆจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาด โดยเฉพาะแผลจะลุกลาม ขยายกว้าง ปวด บวม แดง ร้อน มากขึ้น
  • อาจมีน้ำเหลืองซึมออกจากแผล
  • แผลเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลง
  • แผลเน่าขยายกว้างขึ้น
  • มีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้น
  • แผลอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นๆที่ใกล้เคียง
  • นอกจากนั้น มักมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น
    • อ่อนเพลียมาก
    • มีไข้ มักเป็นไข้สูง
    • หนาวสั่น
    • เหงื่อออกมากท่วมตัว
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • วิงเวียน
    • สับสน
    • ปัสสาวะน้อยลงมาก
    • อาจมีท้องเสียร่วมด้วย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเนื้อเน่า เช่น

  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น มีโรคประจำตัวเรื้อรัง, โรคเบาหวาน
  • ผู้กินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ, ผู้ป่วยโรคออโตอิมมูน /โรคภูมิต้านตนเอง
  • ผู้ป่วยติดยาเสพติด โดยเฉพาะจากการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ปลอดเชื้อ
  • ติดสุรา เพราะจะทำให้ได้รับบาดแผลจากอุบัติเหตุได้ง่าย และขาดสุขอนามัยในการดูแลแผล
  • ติดบุหรี่ด้วยเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เมื่อติดเชื้อแผลจึงมักเป็นแผลขาดเลือดที่ดูแลรักษาหายได้ยาก
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง จากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ทั้งจากโรคเอง และจากวิธีรักษา
  • มีแผลสกปรก เช่น แผลจากผ่าตัด, จากถูกของตำ, แผลอุบัติเหตุต่างๆ
  • ประมาณ 5-10%ของผู้ป่วยโรคนี้ เป็นคนแข็งแรงทั่วไป ที่แพทย์ไม่พบมีปัจจัยเสี่ยงที่เด่นชัด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” แพทย์จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องรีบนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้อเน่าได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้อเน่าได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการที่เริ่มจากมีแผลที่ผิวหนัง
  • ลักษณะของแผล และการลุกลามของแผล
  • ประวัติ การงาน อุบัติเหตุ การผ่าตัด การถูกสัตว์/แมลงกัดต่อย ประวัติโรคประจำตัว และการใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะยากดภูมิคุ้มกัน
  • การตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดูภาวะติดเชื้อ และดูความสมบูรณ์ของเลือด
  • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด
  • การตรวจเชื้อที่รวมถึงการตรวจเพาะเชื้อจากแผล
  • การตรวจภาพอวัยวะที่เกิดแผลเพื่อดูลักษณะการลุกลามของแผลด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • และในบางกรณีขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากแผลเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคเนื้อเน่าอย่างไร? ใครมีปัจจัยเสี่ยงต้องตัดอวัยวะออก?

แนวทางรักษาโรคเนื้อเน่า เช่น

  • ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะจำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะที่ตรงกับชนิดเชื้อโรคทางหลอดเลือดดำ
  • และกรณีแผลเน่ามาก แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดเนื้อเน่านั้นออกที่เรียกว่า “การผ่าตัดแต่งแผล(Debridement)”
  • และในที่สุด ถ้ายังควบคุมแผลเน่าไม่ให้ลุกลามได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะส่วนเกิดเนื้อเน่าออก ที่เรียกว่า Amputation เช่น การตัดขากรณีเนื้อเน่าเกิดที่ขา เป็นต้น

นอกจากนั้น คือ การรักษาตามอาการ เช่น

  • การรักษาดูแลความสะอาดแผล
  • การกินอาหารโปรตีนสูงเพื่อส่งเสริมให้แผลติดดี
  • การให้สารน้ำ/สารอาหารเสริมทางหลอดเลือดดำกรณีกิน/ดื่มได้น้อย
  • การให้ยาลดไข้ การให้ยาแก้ปวด เป็นต้น

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาจต้องรักษาโดยผ่าตัดอวัยวะที่ติดเชื้อออกไป(Amputation): เช่น

  • ผู้สูงอายุ ที่มักมีปัญหาหลอดเลือดเสื่อม/หลอดเลือดแดงแข็ง โรคเนื้อเน่าจึงลุกลามรุนแรงเร็ว และแผลหายยากจากเนื้อเยื่อขาดเลือด
  • โรคไตเรื้อรัง เพราะผู้ป่วยมักมีภาวะทุพโภชนาร่วมด้วยที่ทำให้แผลหายยาก
  • โรคหลอดเลือด โดยเฉพาะโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย คือ หลอดเลือดแขน-ขา และเกิดเนื้อเน่าที่แขน ขา เพราะเนื้อเน่าจะลุกลามรวดเร็ว และหายช้า
  • มีโรคเบาหวานโดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมโรคฯได้ไม่ดี
  • โรคพิษสุรา จากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักขาดอาหาร แผลต่างๆจึงมักหายยาก และติดเชื้อลุกลามได้ง่าย
  • สูบบุหรี่จัด เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของโรคหลอดเลือดแดงแข็งทั่วตัวที่ทำให้เนื้อเยื่อต่างๆขาดเลือด แผลจึงหายยาก
  • ติดยา/สารเสพติด ด้วยจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, ขาดอาหาร, ดูแลตนเอง/ดูแลแผลไม่ได้
  • มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลล่าช้า

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด

ผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • หลังกลับมาดูแลตนเองที่บ้านแล้ว อาการเลวลง หรือมีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น กลับมามีไข้สูง หรือ แผลเน่าลุกลามมากขึ้น
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียตลอดเวลา วิงเวียนศีรษะตลอดเวลา
  • กังวลในอาการ

โรคเนื้อเน่าก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคเนื้อเน่า คือ การต้องตัดอวัยวะที่เกิดเนื้อเน่าออก และเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ที่ทั้ง2กรณีเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เสียชีวิต/ตายได้

โรคเนื้อเน่ามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคเนื้อเน่าเป็นโรคมีการพยากรณ์โรคไม่ดี ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ 20-40%ถึงแม้ได้รับการรักษาจากแพทย์/จากโรงพยาบาลแล้วก็ตาม และเมื่อรักษาหายแล้ว แต่กลับไปสัมผัสโรคอีก ก็เกิดติดโรคครั้งใหม่ได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต/ตาย ได้แก่

  • ผู้ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะออก
  • มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย
  • มีโรคไตเรื้อรัง
  • โรคหัวใจ (โรคหัวใจ2 ในเว็บ haamor.com)เรื้อรัง
  • โรคตับแข็ง
  • ผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 60 ปี
  • ผู้หญิงเสียชีวิตสูงกว่าผู้ชาย

ป้องกันโรคเนื้อเน่าได้อย่างไร?

การป้องกันโรคเนื้อเน่า เช่น

  • ระมัดระวังการเกิดแผลที่ผิวหนังซึ่งเป็นเรื่องระวังได้ยาก และต้องรักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ โดยเฉพาะผิวส่วนที่ เกิดแผลได้ง่าย คือ มือ เท้า แขน ขา โดยต้องล้างทำความสะอาดบ่อยๆ และในทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งที่อาจมีเชื้อโรคเจือปน และยังรวมไปถึง
  • เมื่อมีแผล ต้องรักษาความสะอาดแผลอย่างเคร่งครัด ทำความสะอาดแผลอย่างน้อยวันละ 1-2ครั้ง และทุกครั้งที่แผลสกปรก

*นอกจากนั้น ข้อสำคัญอีกประการที่จะช่วยให้การดูแลรักษาแผลมีประสิทธิภาพลดโอกาสตัดอวัยวะและลดโอกาสตาย คือ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลด่วน เมื่อ

  • เป็นแผลรุนแรง
  • แผลจากถูกตำด้วยสิ่งสกปรก
  • แผลที่เกิดจากการใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น แผลรอยสัก
  • แผลที่ลุกลามเร็ว และ
  • แผลที่มีไข้ร่วมด้วย

บรรณานุกรม

  1. Headley, AJ. Am Fam Physician 2003;68: 323- 328
  2. Patcharin Khamnuan. et al. Int J Gen Med. 2015; 8: 195–202
  3. https://www.physio-pedia.com/Necrotizing_Fasciitis_(Flesh_Eating_Disease)[2019,Oct19]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/2051157-overview#showall[2019,Oct19]
  5. https://www.dermnetnz.org/topics/necrotising-fasciitis/[2019,Oct19]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Necrotizing_fasciitis[2019,Oct19]
  7. http:// http://www.nycpm.edu/surgclub/necrotizing.pdf[2019,Oct19]