รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

รังไข่เสื่อมก่อนกำหนดคืออะไร?

ในสตรีทั่วไป ภาวะรังไข่หยุดทำงานคือ ภาวะที่ไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศจากรังไข่ ไม่มีการตกไข่ ไม่มีประจำเดือน เป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า ‘ภาวะหมดประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause)’ ซึ่งโดยทั่วไปเกิดขึ้นเมื่อสตรีอายุประมาณ 50 - 51 ปี เป็นส่วนใหญ่ แต่หากรังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปีเรียกว่ามี “ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด” หรือ “รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด” หรือ “รังไข่เสื่อมก่อนวัย” หรือ “รังไข่หยุดทำงานก่อนวัย” (Premature ovarian failure ที่ย่อว่า POF, หรือเรียกว่า Ovarian insufficiency หรือ Primary ovarian failure หรือ Primary ovarian insufficiency) ปัจจุบันภาษาอังกฤษจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า Primary ovarian insufficiency มากกว่าคำเดิมคือ Premature ovarian failure โดยคำใหม่จะมีความหมายชัดเจนกว่าคือ “รังไข่ทำงานไม่เพียงพอ” ที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ

 ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดนี้ รังไข่จะไม่ตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่เป็นฮอร์โมนควบคุมให้รังไข่ทำงาน สตรีเหล่านี้จะมีอาการต่างๆเหมือนสตรีที่หมดประ จำเดือนตามปกติทั่วไปคือสตรีใน’วัยหมดประจำเดือน’

อาการของรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดมีอย่างไร?

รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด

อาการที่พบบ่อยของรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ได้แก่

  1. ประจำเดือนมาผิดปกติเป็นสิ่งบอกเหตุแรกๆคือ ประจำเดือนที่เคยมาปกติจะเริ่มห่างออกเรื่อยๆ ปริมาณประจำเดือนจะลดลงจนในที่สุดจะไม่มีประจำเดือนมาอีก
  2. มีอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่น อาการร้อนวูบวาบตามตัว นอนไม่หลับ หงุดหงิด โมโหง่าย มีภาวะช่องคลอดแห้ง   แสบ/เจ็บเมื่อร่วมเพศ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อมีประจำเดือนหมดก่อนวัย คือ ก่อนอายุ 40 ปี หรือมีอาการต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะถ้าอาการเหล่านั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์/สูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

อะไรเป็นสาเหตุของรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด?

สาเหตุของรังไข่เสื่อมก่อนวัยมีได้หลายอย่าง เช่น

  1. มีการทำลายเซลล์รังไข่ทำให้รังไข่ไม่ทำงาน: เช่น การถูกฉายแสง/รังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยในสตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูก การได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ
  2. การมีโรคที่ตัวรังไข่เองเช่น ติดเชื้ออย่างรุนแรงที่รังไข่ทั้ง 2 ข้าง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง รังไข่อักเสบ) การเป็นเนื้องอกรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
  3. โรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของโครโมโซมเพศทำให้อวัยวะบางอย่างรวมถึงรังไข่ทำงานไม่ปกติหรือมีช่วงชีวิตทำงานสั้นกว่าปกติเช่น ภาวะ Gonodal dysgenesis (รังไข่ไม่เจริญ เติบโต) หากรังไข่ไม่มีการทำงานตั้งแต่ก่อนเป็นสาว สตรีผู้นั้นก็จะไม่มีการพัฒนาเป็นผู้หญิงเต็มตัว ไม่มีการพัฒนาของเต้านม ไม่มีขนรักแร้หรือขนหัวหน่าว สตรีเหล่านี้มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการที่ไม่เคยมีประจำเดือนมาเลย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง ภาวะขาดประจำเดือน) แต่หากรังไข่ไม่ทำงานหลังจากที่เคยทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว มีการสร้างฮอร์โมนแล้ว มีการพัฒนาของเต้านม มีลักษณะภายนอกเป็นเพศหญิงเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยก็จะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาหมดประจำเดือนเร็วกว่าวัยที่ควร
  4. โรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเองชนิดที่มีการทำลายเซลล์ของรังไข่ทั้ง 2 ข้าง
  5. ไม่ทราบสาเหตุ

รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนดมีผลต่อสุขภาพอย่างไร?

เมื่อรังไข่ไม่ทำงานร่างกายก็จะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลต่อการเจริญและความแข็งแรงกระดูก การขาดฮอร์โมนนี้จึงทำให้เกิดโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกหักง่ายขึ้น

 นอกจากนั้นการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัว ใจขาดเลือดให้สูงมากกว่าปกติซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำอันตรายถึงตายได้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด?

สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดเช่น

  1. สตรีที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกซึ่งอาจมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงรังไข่ไม่ดีพอจึงทำให้รังไข่เสียการทำงานเช่น ผู้ป่วยโรคเนื้องอกมดลูก
  2. สตรีที่ได้รับยาเคมีบำบัดเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  3. สตรีที่ได้รับการฉายแสง/รังสีรักษาจากที่เป็นโรคมะเร็งของอวัยวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน /ท้องน้อย เช่น มะเร็งปากมดลูก
  4. มีการอักเสบหรือติดเชื้อที่รังไข่ (รังไข่อักเสบ) อย่างรุนแรง
  5. มีประวัติในครอบครัวที่หมดประจำเดือนเร็วผิดปกติ
  6. มีโรคทางระบบภูมิคุ้มกันโรคต่อตนเองผิดปกติ/โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน (Autoimmune diseases) เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน/Hypothyroid) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myas thenia gravis, MG) ที่ทำให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อที่รังไข่ (Autoimmune oophoritis)
  7. โรคผิดปกติทางโครโมโซมเพศหญิงเช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome), กลุ่มอาการฟราจาย (Fragile x syndrome)

สังเกตตนเองได้อย่างไรว่ามีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด?

สังเกตตนเองได้ว่าอาจมีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ดังนี้

  1. ระยะรอบประจำเดือนจะห่างออกเรื่อยๆในช่วงอายุที่ควรจะเป็นประจำเดือนปกติ
  2. ปริมาณประจำเดือนจะลดลงเรื่อยๆในช่วงอายุที่ควรจะเป็นประจำเดือนปกติ
  3. มีอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด โมโหง่าย ในช่วงอายุที่ควรจะเป็นประจำเดือนปกติ
  4. ภาวะช่องคลอดแห้ง เจ็บแสบเวลามีเพศสัมพันธ์/เจ็บเมื่อร่วมเพศ

แพทย์วินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: ประวัติอาการที่สำคัญคือ สตรีอายุน้อยมีรอบประวัติประจำเดือน ที่เริ่มห่างออกเรื่อยๆจนกระทั่งเลือดประจำเดือนไม่มาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป อาจมีอาการร้อนวูบวาบตามตัว หงุดหงิด

ข.  การตรวจร่างกาย: หากรังไข่หยุดทำงานหลังวัยที่อวัยวะเพศต่างๆเจริญแล้วเช่น เต้านม ขนรักแร้ ขนบริเวณหัวหน่าวพัฒนาแล้ว และขาดฮอร์โมนไม่นานการตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติชัดเจน แต่หากรังไข่หยุดทำงานไปนานอาจพบเยื่อบุช่องคลอดบาง หากรังไข่หยุดทำงานตั้งแต่เต้านมยังไม่พัฒนาหรือยังไม่มีขนรักแร้ขนที่หัวหน่าว ตรวจร่างกายก็จะไม่พบการพัฒนาของเต้านม ไม่มีขนรักแร้ ไม่มีขนที่หัวหน่าว

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น  ตรวจเลือดเพื่อหาระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่ที่เรียกว่า ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone) จะเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้ หากมีค่าสูงแสดงว่ารังไข่ไม่ทำงานแล้ว ตรวจระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะพบมีระดับต่ำ

 นอกจากนั้นแพทย์อาจมีการตรวจโครโมโซมจากเลือดกรณีถ้าหมดประจำเดือนเร็วมากคือในอายุน้อยมากเช่นต่ำกว่า 35 ปี หรือตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดมีอย่างไรบ้าง?

แนวทางการรักษาภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้แก่

1. การรักษาทั่วไป:

ก. แนะนำการออกกำลังกายที่สมควรกับสุขภาพสม่ำเสมอทุกวัน

ข. แนะนำการได้รับแคลเซียมเสริมอาหารมากขึ้นเพื่อบำรุงกระดูก อาจเป็นการกระตุ้นการดื่มนมหรือรับประทายยาเม็ดแคลเซียมอย่างสม่ำเสมอเช่น ยา Calcium carbonate

2. การักษาเฉพาะ:

 ปัญหาที่ต้องระวังมากหากหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติคือ ภาวะเรื่องกระดูกบาง/ กระดูกพรุนซึ่งเป็นภัยเงียบกับสตรีที่จะทำให้เกิดกระดูกหัก ซึ่งตอนแรกจะยังไม่ค่อยมีอาการให้เป็นที่สังเกตจนเมื่อกระดูกบางมากแล้วจะมีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง  ปวดเอว กระดูกคดงอ หลังโกง คุณภาพชีวิตไม่ดี จึงจะไปพบแพทย์ซึ่งจะสายไป

 นอกจากนั้นการขาดฮอร์โมนเพศเร็วทำให้เสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่อง จากจะเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ การรักษาจึงต้องให้ฮอร์ โมนเพศทดแทนคือฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบรับประทาน แบบครีมทาผิว หรือเป็นแผ่นฮอร์โมนแปะติดผิวหนัง และมักต้องให้ฮอร์โมนโปรเจสโตเจนร่วมไปด้วยเพื่อป้อง กันการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวที่จะทำให้เกิดมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติและ/หรือ ป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่ทั้ง 2 กรณีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน

การได้รับฮอร์โมนเพศทดแทนนั้นพบว่า ยิ่งได้รับเร็วยิ่งดีต่อสุขภาพต่อกระดูกและต่อหัว ใจและหลอดเลือด

ดูแลตนเองอย่างไรหากรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด?

การดูแลตนเองเมื่อมีรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดคือ

  1. รักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงเช่น การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
  3. มีการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพให้สม่ำเสมอทุกๆวัน
  4. ควบคุมน้ำหนักตัวด้วยการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  5. เมื่อได้พบแพทย์แล้ว ควรรับประทานยาหรือใช้ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ
  6. มีการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอหรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

   ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • มีอาการวัยหมดประจำเดือนรุนแรงขึ้นจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติหรือกลับมามีประจำเดือนอีก
  • มีอาการแพ้ยาหรือมีผลข้างเคียงมากจากการใช้ยาที่แพทย์สั่ง
  • กังวลในอาการ

ป้องกันรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดอย่างไร?

       ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดได้ 100% นอกจากอาจป้องกันได้บ้างจาก

  • ดูแลสุขภาพร่างกายจิตใจให้แข็งแรงเช่น รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รับระทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่)
  • มีการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือภยันตรายต่อรังไข่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รังไข่อักเสบ)
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ (รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง)

รักษารังไข่เสื่อมก่อนกำหนดให้กลับมาปกติได้หรือไม่?

โดยทั่วไปเมื่อเกิดรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด การพยากรณ์โรค คือ รังไข่จะเสื่อมถาวร กล่าว คือ ผู้ป่วยจะอยู่ในวัยหมดประจำเดือนตลอดไป แต่มีรายงานว่า บางครั้ง (หาสาเหตุไม่ได้) รังไข่สามารถกลับมาทำงานเองได้สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนแก่ร่างกายได้ และมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 - 10%

 อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ต้องการตั้งครรภ์จริงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพราะอาจใช้ไข่ที่ได้รับการบริจาค (Donor oocyte) และใช้วิธีผสมกับตัวอสุจิของฝ่ายชายในหลอดทดลองทำเด็กหลอดแก้ว แล้วย้ายตัวอ่อนเข้าไปไว้ในโพรงมดลูกของผู้ป่วยที่ต้องมีการเตรียมโพรงมดลูกอย่างดี มีการให้ฮอร์โมนเพศช่วยเสริมอย่างมาก เพื่อช่วยส่งเสริมการฝังตัวของทารกในโพรงมดลูกไม่ให้เกิดการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดตามมา

บรรณานุกรม

  1. Rebar RW. Premature ovarian failure. Obstet Gynecol 2009;113:1355-63
  2. https://www.uptodate.com/contents/primary-ovarian-insufficiency-beyond-the-basics [2022,Feb19]