วัยหมดประจำเดือน (Menopause)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

วัยใกล้หมดและวัยหมดประจำเดือนคืออะไร?

วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงยังไม่หมดประจำเดือน หรือ ไม่มีประจำเดือนมาระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ถึง 1 ปี ร่วมกับการที่มีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง การนอนหลับที่ผิดปกติ/นอนไม่หลับ และอารมณ์แปรปรวน อาการต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศมีความแปรปรวนค่อนข้างมาก วัยใกล้หมดประจำเดือนอาจยาวนานได้ถึง 6 ปีก่อนการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของชีวิต หรือก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ในกรณีที่ผู้หญิงมีอายุราว 40 หรือ 50 ปีแต่ไม่มีอาการหรือความผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น และยังคงมีประจำเดือนตามปกติ เราจะไม่เรียกผู้หญิงกลุ่มที่ไม่มีอาการดังกล่าวเหล่านี้ว่า อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน

ส่วนวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน (Menopause) นั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สิ้นสุดการมีประจำเดือน อันเนื่องมาจากการที่รังไข่หยุดทำงาน อายุโดยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยที่หมดประจำเดือนประมาณ 49-52 ปี สำหรับกรณีที่ไม่มีประจำเดือนเพราะได้รับการผ่าตัดมดลูกออก แต่รังไข่ยังคงทำงานอยู่ เราไม่เรียกว่าเป็นวัยหมดประจำเดือน การวินิจฉัยว่าเป็นวัยหมดประจำเดือนหรือไม่ (หรือรังไข่หยุดทำงานหรือไม่) ทำได้โดยพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้น และในบางกรณีอาจต้องอาศัยการตรวจวัดระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดร่วมด้วย

ข้อควรระวังของผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปคือ หากท่านมีประจำเดือนผิดปกติ อันได้แก่ ประจำเดือนมามากหรือมานาน มากะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน หรือมาไม่เป็นรอบ ควรรีบพบแพทย์ หรือสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ อีกทั้งในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้วมากกว่าหนึ่งปี แต่ต่อมาพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดอีกครั้ง (คนทั่วไปเรียกว่ากลับมามีประจำเดือนอีก) ก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์เช่นเดียวกัน เพราะเป็นอาการสำคัญว่า อาจเกิดจากโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (มะเร็งเยื่อบุมดลูก) ได้

 

ปัจจัยที่กระตุ้นให้หมดประจำเดือนเร็วมีอะไรบ้าง?

วัยหมดประจำเดือน

ปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้นได้แก่ การสูบบุหรี่ การผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างเพื่อรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคเนื้องอกรังไข่ การให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด และในการฉายแสง/รังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องน้อย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)

 

อาการของวัยหมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

เอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่จะมีระดับลดลงในช่วงวัยหมดประจำเดือน จึ่งก่อให้เกิดอาการต่างๆซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

กลุ่มอาการของวัยหมดประจำเดือน ประกอบด้วย ความรู้สึก/ภาวะร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากในเวลากลางคืน นอนไม่หลับหรือหลับยาก หลับไม่ลึก เครียด อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ขาดความมั่นใจ วิตกกังกล หลงลืมง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ช่องคลอดแห้ง คัน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่ในผู้หญิงบางคนอาจจะไม่มีอาการใดๆเกิดขึ้นเลย หรือมีอาการเพียงบางอย่าง ในขณะที่บางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นอย่างมากจนทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน

กลุ่มอาการของวัยหมดประจำเดือนจะเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนในระยะแรกๆ และอาการดังกล่าวมักจะหายได้เองเมื่อระยะเวลาผ่านไป 2 – 5 ปี อาจมีเพียงประมาณ 15% ที่อาการอาจจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต

ความผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะและอาการทางช่องคลอดที่ได้กล่าวมา มักจะปรากฏให้เห็นได้อย่างเด่นชัดเมื่อหมดประจำเดือนไปได้สักระยะหนึ่งคือ 3 – 5 ปี

เมื่อผู้หญิงต้องเผชิญอาการของวัยหมดประจำเดือน และมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ชีวิตครอบครัว หรือการทำงาน ควรปรึกษาแพทย์ หรือสูตินรีแพทย์เสมอ

 

ภัยเงียบในวัยหมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ภัยเงียบที่พบในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาว ได้แก่ โรคกระดูกพรุน (ซึ่งการสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างมากจนทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนจะทำให้เกิดกระดูกหักง่ายแม้หกล้มเพียงเล็กน้อย) โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว?

สิ่งสำคัญที่บ่งชี้ว่าผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือการหมดประจำเดือนอย่างถาวร คือ การหมดประจำเดือน/ไม่มีประจำเดือนอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไปในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ร่วมกับมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ มีวัยก่อนหมดประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง การนอนหลับที่ผิดปกติ และอารมณ์แปรปรวน

อย่างไรก็ดี มีผู้หญิงบางรายที่อาจหมดประจำเดือนอย่างถาวรก่อนอายุ 40 ปีได้ เราเรียกกลุ่มนี้ว่า หมดประจำเดือนก่อนวัยอันสมควร/รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด เช่น การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างในการรักษาโรคเนื้องอกรังไข่ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมตลอดจนการรับฮอร์โมนทดแทน ทั้งนี้ยกเว้นในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่การให้ฮอร์โมนชดเชย อาจส่งผลต่อการกำเริบของโรคมะเร็งได้ ดังนั้นในผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็ง เมื่อหมดประจำเดือนหลังการรักษา ห้ามซื้อยาฮอร์โมนต่างๆใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์โรคมะเร็งก่อนเสมอ

 

ดำเนินชีวิตอย่างไรในวัยหมดประจำเดือน?

หลักในการดำเนินชีวิตในวัยหมดประจำเดือนเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงมีดังต่อไปนี้

1. การพักผ่อนที่เพียงพอ และการรักษาอารมณ์ให้ปกติโดยการคิดบวกเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการมีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

2. อาหาร ควรรับประทานให้หลากหลายเพื่อได้สารอาหารที่ครบถ้วน ลดการบริโภคอาหารไขมัน หวานจัดหรือเค็มจัด เน้นการบริโภคผักและผลไม้เป็นประจำ โปรตีนจากปลา อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กะปิ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย (ที่กินกระดูกปลาได้) หรือผักที่มีสีเขียวเข้ม

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นานครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป เช่น การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ หรือเต้นแอโรบิก แต่ทั้งนี้ควรเป็นตามสุขภาพด้วย

4. การตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

 

แพทย์รักษากลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือนอย่างไร?

ในผู้ที่มีอาการของวัยหมดประจำเดือน แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นจากการหมดประจำเดือนจริงๆ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น

หากอาการที่เกิดขึ้นเป็นจากการหมดประจำเดือนจริง แต่อาการที่เกิดขึ้น ไม่ได้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันแต่อย่างใด ในกรณีนี้ แพทย์ก็จะไม่ได้ทำการรักษา แต่จะให้เพียงคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเท่านั้น อาการต่างๆที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นอยู่นานประมาณ 2-5 ปี มีเพียงประมาณ 5-15% ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่จะมีอาการของวัยหมดประจำเดือนไปตลอดชีวิต

กรณีที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน แพทย์จะทำการรักษาโดยอาจให้ฮอร์โมนทดแทน หรือหากท่านมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน แพทย์ก็จะเลือกใช้ยาตัวอื่นที่สามารถรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น

 

จะใช้ฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนดีหรือไม่?

ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมน หรือมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนหรือไม่

ข้อบ่งชี้ในการใช้ฮอร์โมนได้แก่ รักษาอาการของวัยทองที่เกิดขึ้นจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ป้องกันภาวะ/โรคกระดูกพรุน และรักษาอาการ หรือความผิดปกติของช่องคลอด หรือระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน

ข้อห้ามใช้ฮอร์โมนได้แก่ ผู้ที่มีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคตับอักเสบเฉียบพลัน และภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ)

ประโยชน์และโทษของการใช้ฮอร์โมน นอกจากฮอร์โมนจะช่วยรักษาอาการต่างๆในวัยทอง และลดการสูญเสียมวลกระดูกแล้ว การใช้ฮอร์โมน เอสโตรเจนร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) อาจช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ข้อเสียของการใช้ฮอร์โมนเพศดังกล่าวคือ ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ส่วนความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองนั้นขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มใช้ฮอร์โมน โดยพบว่าเมื่อเริ่มใช้เมื่อหมดประจำเดือนไปหลายปี เช่น 10 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ที่เริ่มใช้ฮอร์โมนเมื่อหมดประจำเดือนไปไม่นาน

การใช้ฮอร์โมนเพศนี้ แพทย์และผู้หญิงวัยทองจะต้องตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจถึง ข้อบ่งชี้และข้อห้ามใช้ ตลอดจนประโยชน์และโทษของฮอร์โมน ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ไม่ควรซื้อฮอร์โมนมาใช้เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

 

บรรณานุกรม

  1. Harman SM, Vittinghoff E, Brinton EA, Budoff MJ, Cedars MI, Lobo RA, Merriam GR, Miller VM, Naftolin F, Pal L, Santoro N, Taylor HS, Black DM. Timing and duration of menopausal hormone treatment may affect cardiovascular outcomes. Am J Med. 2011 Mar;124(3):199-205. Review.
  2. Taylor HS, Manson JE. Update in hormone therapy use in menopause. J Clin Endocrinol Metab. 2011 Feb;96(2):255-64. Review.
  3. Santen RJ, Allred DC, Ardoin SP, Archer DF, Boyd N, Braunstein GD, Burger HG, Colditz GA, Davis SR, Gambacciani M, Gower BA, Henderson VW, Jarjour WN, Karas RH, Kleerekoper M, Lobo RA, Manson JE, Marsden J, Martin KA, Martin L, Pinkerton JV, Rubinow DR, Teede H, Thiboutot DM, Utian WH; Endocrine Society. Postmenopausal hormone therapy: an Endocrine Society scientific statement. J Clin Endocrinol Metab. 2010 Jul;95(7 Suppl 1):s1-s66. Epub 2010 Jun 21. Review.
  4. Kronenberg F. Menopausal hot flashes: a review of physiology and biosociocultural perspective on methods of assessment. J Nutr. 2010 Jul;140(7):1380S-5S. Epub 2010 May 26. Review.
  5. Rocca WA, Grossardt BR, Shuster LT. Oophorectomy, menopause, estrogen, and cognitive aging: the timing hypothesis. Neurodegener Dis. 2010;7(1-3):163-6. Epub 2010 Mar 3. Review.
  6. Shuster LT, Rhodes DJ, Gostout BS, Grossardt BR, Rocca WA. Premature menopause or early menopause: long-term health consequences. Maturitas. 2010 Feb;65(2):161-6. Epub 2009 Sep 5. Review.
  7. Langer RD. Efficacy, safety, and tolerability of low-dose hormone therapy in managing menopausal symptoms. J Am Board Fam Med. 2009 Sep-Oct;22(5):563-73. Review.
  8. Broekmans FJ, Soules MR, Fauser BC. Ovarian aging: mechanisms and clinical consequences. Endocr Rev. 2009 Aug;30(5):465-93. Epub 2009 Jul 9. Review.
Updated 2018,May26