เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วรลักษณ์ สมบูรณ์พร
- 10 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
- บทนำ
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกรังไข่?
- เนื้องอกรังไข่มีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยว่ามีเนื้องอกรังไข่ได้อย่างไร?
- จะทำอย่างไรเมื่อตรวจพบเนื้องอกรังไข่?
- เมื่อไหร่จึงควรสงสัยว่าเนื้องอกรังไข่เป็นเนื้องอกมะเร็ง?
- การรักษาเนื้องอกรังไข่ทำได้อย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกรังไข่มีอะไรบ้าง?
- การพยากรณ์โรคของเนื้องอกรังไข่เป็นอย่างไร?
- จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อพบว่าเป็นเนื้องอกที่รังไข่?
- อาการที่ต้องพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกรังไข่มีอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทนำ
รังไข่ เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งมีเฉพาะในผู้หญิง รังไข่นั้นเทียบเท่ากับอัณฑะในผู้ชาย บทบาทของรังไข่จะเด่นชัดในช่วงที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยสาว โดยรังไข่จะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางร่างกายของเด็กผู้หญิง ให้มีการพัฒนาไปเป็นหญิงสาว นั่นคือมีการพัฒนาของเต้านม การเจริญของขนที่บริเวณรักแร้และที่หัวหน่าว ตลอดจนทรวดทรงองค์เอวที่เป็นหญิงสาว ในขณะที่มีการเจริญของไข่ และมีการตกไข่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกัน
ก้อนที่รังไข่ หรือเนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor) เป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถพบได้ในหญิงทุกอายุ แต่พบได้น้อยในเด็กและในผู้สูงอายุ โดยทั่วไป สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ถุงน้ำที่เกิดขึ้นจากการทำงานของรังไข่ (Functional ovarian cyst)
- เนื้องอกรังไข่ที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign ovarian tumor)
- มะเร็งรังไข่ (Malignant ovarian tumor)
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่แพทย์ตรวจพบว่ามีก้อนที่รังไข่ ก็ไม่ต้องตกใจเกินควร เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะไม่ใช่มะเร็ง มีเพียงประมาณ 6% ของเนื้องอกรังไข่ทั้งหมดเท่านั้นที่เป็นมะ เร็ง
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกรังไข่?
ถุงน้ำที่เกิดจากการทำงานของรังไข่ เป็นถุงน้ำที่เกิดตามธรรมชาติในผู้หญิงวัยมีประจำ เดือนทุกคน
เนื้องอกรังไข่ที่ไม่ใช่มะเร็ง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ ได้แก่ อ้วน, มีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยกว่าปกติ (ปกติหญิงไทยจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี), มีบุตรยาก, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้, กินยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง (Tamoxifen), และสูบบุ หรี่
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง มะเร็งรังไข่
เนื้องอกรังไข่มีอาการอย่างไร?
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่มีถุงน้ำที่เกิดจากการทำงานของรังไข่ และเมื่อเนื้องอกรังไข่ทุกชนิดมีขนาดเล็ก มักจะไม่แสดงอาการ จะมีอาการต่อเมื่อ เนื้องอกมีขนาดโตขึ้น ซึ่งโดยทั่ว ไปเมื่อมีอาการ อาการของเนื้องอกรังไข่ทุกชนิดจะคล้ายคลึงกัน เพราะเป็นอาการจากมีก้อนเนื้อขนาดใหญ่เหมือนๆกัน
อาการที่มักพบได้บ่อยจากการมีเนื้องอกรังไข่คือ การคลำได้ก้อนด้วยตัวเองที่ท้องน้อย บางรายอาจจะพบว่ามีอาการปวดที่ท้องน้อยได้บ้าง บางรายอาจรู้สึกว่าท้องโตขึ้น หรือมีความผิดปกติของประจำเดือน หรืออาจมาพบแพทย์ด้วยอาการก้อน/เนื้องอกรังไข่กดทับอวัยวะต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงรังไข่ เช่น ปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นอาการของการที่ก้อนกดทับกระเพาะปัสสาวะ อา การท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก ซึ่งเป็นอาการของการที่ก้อนกดทับลำไส้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการจากภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากก้อนที่รังไข่เอง ที่สำคัญได้แก่ อาการปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันจากภาวะรังไข่บิดตัว (Twisted ovarian tumor) ซึ่งอาจร่วมกับมีไข้
อนึ่ง ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบว่ามีเนื้องอกรังไข่จากการตรวจภายในในการตรวจร่างกายประจำปี หรือจากการวินิจฉัยโรคทางสูตินรีเวชอื่นๆ (เช่น มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด) หรือจากการตรวจช่องท้องด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆของช่องท้อง (เช่น โรคของระบบทางเดินปัสสาวะ)
แพทย์วินิจฉัยว่ามีเนื้องอกรังไข่ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยได้ว่ามีเนื้องอกรังไข่จาก ประวัติอาการ และจากการตรวจภายในที่คลำพบก้อนเนื้อในท้องน้อย ซึ่งแพทย์มักส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ท้องน้อย หรือช่องท้อง
จะทำอย่างไรเมื่อตรวจพบเนื้องอกรังไข่?
เมื่อแพทย์บอกกับท่านว่า ตรวจพบว่ามีถุงน้ำหรือก้อน/เนื้องอกที่รังไข่ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะถุงน้ำหรือก้อนที่รังไข่นั้น อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรรมชาติ และอาจหายได้เอง
กรณีที่แพทย์สงสัยว่า ถุงน้ำหรือก้อนที่รังไข่นั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และอาจหาย ไปได้เอง แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจติดตามในช่วงเวลา 2-12 สัปดาห์ หรืออาจแนะนำให้รับ ประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แล้วตรวจติดตามอีกหนึ่งเดือน หากก้อนไม่หายไป แสดงว่าก้อนนั้นน่าจะเป็นเนื้องอกของรังไข่จริง แพทย์ก็จะแนะนำวิธีรักษาต่อไป
ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นเนื้องอกรังไข่ แพทย์อาจตรวจเลือดของท่าน ดูค่าสารมะเร็งของมะเร็งรังไข่ (CA 125) เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่า ก้อนที่พบมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ลักษณะที่พบทางอัลตราซาวด์ ก็อาจช่วยบ่งชี้ได้ว่า ท่านน่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ที่ชัดเจนนั้น จำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัด และผลตรวจก้อนเนื้อหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นการตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อไหร่จึงควรสงสัยว่าเนื้องอกรังไข่เป็นเนื้องอกมะเร็ง?
ในผู้ที่มีก้อน/เนื้องอกที่รังไข่ อาการที่บ่งชี้ว่าก้อนที่พบที่รังไข่นั้นน่าจะเป็นมะเร็ง ได้แก่ มีอาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักลด ก้อนโตเร็ว ท้องโตขึ้นเร็ว และอาจมีอาการอื่นที่แสดงถึงการกระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่นๆ (เช่น ปวดหลัง) นอกจากนี้ จากการตรวจร่างกาย และอัลตราซาวด์ หากพบว่า มีน้ำในช่องท้อง/ท้องมาน มีก้อนที่รังไข่ทั้งสองข้าง ก้อนที่พบมีส่วนที่เป็นเนื้อตัน มีต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องโต หรือพบการกระจายของก้อนไปที่อวัยวะอื่นๆ เป็นต้น ก็อาจเพิ่มความสงสัยว่าก้อนที่พบนั้นมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งรังไข่สูง นอกจากนี้ การตรวจเลือดอาจพบระดับของสารมะเร็งรังไข่ในเลือดที่สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม การพบลักษณะดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะต้องเป็นมะเร็งอย่างแน่ นอน สุดท้ายการวินิจฉัยขึ้นอยู่กับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบขณะผ่าตัด และผลการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหลังผ่าตัด
การรักษาเนื้องอกรังไข่ทำได้อย่างไร?
การรักษาเนื้องอกรังไข่ ได้แก่
- ในกรณีที่เป็นถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดเล็ก โดยส่วนใหญ่คือ ประมาณ 5-7 เซนติเมตรหรือน้อยกว่า แพทย์มักจะนัดติดตามดูว่าถุงน้ำนั้น จะสามารถยุบหายไปได้เองหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาในการติดตามประมาณ 2 สัปดาห์ - 3 เดือนแล้วแต่กรณี หรืออาจให้ยาเม็ดคุมกำเนิดรับประทานเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แล้วนัดตรวจติดตามผลว่า เนื้องอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- ในกรณีที่เป็นถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดใหญ่ คือมากกว่า 5-7 เซนติเมตร แพทย์มักแนะนำการผ่าตัดรังไข่
- ในสตรีวัยหมดประจำเดือน/วัยทอง ที่มีถุงน้ำที่รังไข่ขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตร ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของ CA 125 หากมีค่าที่ปกติ อาจไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด อาจใช้การตรวจติดตามด้วยอัลตราซาวด์เป็นระยะๆ
- การผ่าตัด การผ่าตัดจะพิจารณาทำในกรณีต่อไปนี้
- ก้อนที่เป็นถุงน้ำไม่ยุบไปภายหลังการตรวจติดตามดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
- แพทย์วินิจฉัยว่าก้อนที่รังไข่นั้นเป็นเนื้องอก ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งหมายความว่าก้อนนั้นไม่ใช่ก้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่เกิดจากการทำงานของรังไข่
- เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของก้อนเนื้องอก เช่น การบิดหมุนของก้อน, การแตกของก้อน, การมีเลือดออกจากก้อน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว อาการของผู้ป่วย คือ ปวดท้องรุนแรง เฉียบพลัน
ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกรังไข่มีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของการมีก้อนที่รังไข่ ได้แก่ การบิดหมุนของก้อน ซึ่งมักพบได้บ่อยในกรณีที่ก้อนมีขนาดประมาณ 6 เซนติเมตรขึ้นไป นอกจากนี้อาจพบว่า มีเลือดออกในก้อน การแตกของก้อน และการติดเชื้อที่ก้อน เป็นต้น
ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุน แรง และ/หรือมีไข้ร่วมด้วยได้ และหากท่านมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยา บาลทันที
การพยากรณ์โรคของเนื้องอกรังไข่เป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของเนื้องอกรังไข่ ขึ้นกับชนิดของเนื้องอก
- ถ้าเป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอันเนื่องมาจากการทำงานของรังไข่ กรณีเช่นนี้ ก้อนมักจะยุบหายไปได้เองในที่สุด ไม่อันตราย ไม่กลายเป็นมะเร็งรังไข่
- กรณีเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง การผ่าตัดรังไข่ มักจะทำให้โรคหายอย่างเด็ดขาด ยก เว้นกรณีที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือถุงน้ำที่มีของเหลวที่มีลักษณะคล้ายช็อกโกแลตอยู่ข้างใน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่) ซึ่งกรณีเกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญอยู่ที่รังไข่ อาจมีการกลับเป็นซ้ำได้ ถึงแม้จะไม่ใช่มะเร็งก็ตาม
- กรณีที่เป็นมะเร็งรังไข่ หากเป็นในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดรักษา ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การให้ยาเคมีบำบัด ก็ทำให้การพยากรณ์โรคดีขึ้นมากในปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งรังไข่)
จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อพบว่าเป็นเนื้องอกที่รังไข่?
การปฏิบัติตัว เมื่อตรวจพบว่ามีก้อน/เนื้องอกที่รังไข่ ที่สำคัญคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภา วะแทรกซ้อน (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ภาวะแทรกซ้อน) ของก้อนเนื้องอก
ภาวะแทรกซ้อนที่ป้องกันได้ คือภาวะการบิดหมุนของก้อน ซึ่งการป้องกันทำได้โดย การลดกิจกรรมบางประเภท เช่น การวิ่งเร็ว การกระโดด หรือการออกกำลังกายที่ต้องมีการพลิกตัว หรือขยับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจกระตุ้นให้มีการบิดหมุนของก้อนได้
อาการที่ต้องพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกรังไข่มีอะไรบ้าง?
หากอยู่ในระหว่างการติดตามหรือรอเพื่อที่จะผ่าตัด หากท่านมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ได้แก่ อาการปวดท้องมากอย่างเฉียบพลัน หรือมีอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อยๆจากเดิม และ/หรือมีไข้
บรรณานุกรม
- Helm CW, Ovarian Cysts, Medscape, Apr 2011
- Management of Suspected Ovarian Masses in Premenopausal Women, Royal College of Obstetricians and Gynaecologists (December 2011)
- Levine D, Brown DL, Andreotti RF, et al; Management of asymptomatic ovarian and other adnexal cysts imaged at US: Society Radiology. 2010 Sep;256(3):943-54. Epub 2010 May 26.
- Grimes DA, Jones LB, Lopez LM, et al; Oral contraceptives for functional ovarian cysts. Cochrane Database Syst Rev. 2011 Sep 7; 9: CD006134.
- Fleischer AC et al, Ovarian Torsion, Medscape, Sep 2011