โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- หลอดเลือดแดงแข็งเกิดได้อย่างไร?
- หลอดเลือดแดงแข็งมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- หลอดเลือดแดงแข็งมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างไร?
- หลอดเลือดแดงแข็งรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- รักษาหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหลอดเลือดแดงแข็ง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคเอนซีดี กลุ่มโรคเอนซีดี กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs: Noncommunicable diseases)
- โรคหลอดเลือด โรคเส้นเลือด (Blood vessel disease)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) คือ โรคที่ผนังหลอดเลือดแดงของทุกอวัยวะแข็งผิดปกติ ส่งผลให้ท่อหลอดเลือดแดงตีบแคบ ส่งผลต่อเนื่องให้เลือดแดงที่หล่อเลี้ยงอวัยวะต่างลดลงไม่เพียงพอต่อการทำงานของอวัยวะนั้นๆ จึงเกิดเป็นโรคต่างๆของอวัยวะนั้นๆจากการขาดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต และเมื่อโรครุนแรงจนหลอดเลือดฯอุดตัน อวัยวะนั้นๆก็จะขาดเลือดจนไม่สามารถทำงานได้ เกิดการล้มเหลวของอวัยวะนั้นๆ ที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, กล้ามเนื้อหัวใจตาย, ภาวะหัวใจล้มเหลว จนเป็นเหตุให้ตายได้
การที่ผนังหลอดเลือดแดง แข็ง ตีบ ตัน เกิดจากมีสารที่เป็นแผ่นแข็ง(Plaque /แพลค หรือ เพลค)เข้าไปจับอยู่ที่ผนังหลอดเลือดฯที่รวมถึงท่อเลือดแดง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฯแข็ง ไม่ยืดหยุ่น ขยายตัวได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้หลอดเลือดฯนั้นๆตีบแคบ เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย ส่งผลต่อเนื่องให้ขนาดแพลคใหญ่ขึ้นจนในที่สุดทั้งแพลคและลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงนั้นๆส่งผลให้อวัยวะนั้นๆล้มเหลวจากขาดเลือด
อนึ่ง ‘แพลค’ ประกอบด้วย ไขมัน, แคลเซียม, และสารต่างๆในเลือด เช่น เม็ดเลือดขาว
หลอดเลือดแดง (Artery) เป็นชื่อเรียกรวมหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ซึ่งคือหลอดเลือดที่นำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยทั่วไปหลอดเลือดแดงจะไม่มีชื่อเฉพาะ แต่จะเรียกชื่อตามอวัยวะที่หลอดเลือดแดงหล่อเลี้ยง เช่น หลอดเลือดแดงสมอง หลอดเลือดแดงหัวใจ และหลอดเลือดแดงไต เป็นต้น แต่ทั้งนี้หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ที่ออกจากหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหลอดเลือดแดงทั้งหมด จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘ท่อเลือดแดง หรือ เอออร์ตา (Aorta)’ โดยเมื่อออกจากหัวใจแล้ว จะมีหลอดเลือดแดงมากมายแตกแขนงออกไปจากท่อเลือดแดง เพื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยเรียกชื่อหลอดเลือดแดงแขนงเหล่านี้ตามชื่ออวัยวะที่หล่อเลี้ยงดังได้กล่าวแล้ว
หลอดเลือดแดง ที่มักเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง มักเกิดเฉพาะหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ และหลอดเลือดแดงขนาดกลางเท่านั้น ไม่ค่อยพบเกิดในหลอดเลือดแดงขนาดเล็กๆ
หลอดเลือดแดงแข็ง เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบก่ออาการได้ตั้งแต่ อายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน โดยอุบัติการณ์ของโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบ ทั้งนี้เพราะเมื่อเริ่มเกิดโรค ผู้ป่วยมักยังไม่มีอาการ ยกเว้นเฉพาะโรคหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง (โรคหลอดเลือดหัวใจ: บทความเรื่อง ‘โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ’ จากเว็บ haamor.com) ซึ่งมีวิธีการทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองโรค โดยในสหรัฐอเมริกา พบหลอดแดงหัวใจแข็งได้ประมาณ 36% ของประชากรทั้งหมด และประมาณ 20% ของประชากรที่เสียชีวิตทั้งหมด จะเสียชีวิตจากสาเหตุนี้
หลอดเลือดแดงแข็งเกิดได้อย่างไร?
กลไกเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจาก มีการบาดเจ็บ/อักเสบของผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากภาวะไขมันชนิดไม่ดี (LDL, Low density lipoprotein) ในเลือดสูง ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบ เกิดกล้ามเนื้อหลอดเลือดเจริญผิดปกติเป็นหย่อมๆ และเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าไปเกาะในตำแหน่งที่อักเสบ ร่วมกับผนังหลอดเลือดแดงตำแหน่งที่อักเสบมีการเกิดสิ่ง/แผ่นที่เรียกว่า แผ่นพลาค/แพลค/เพลค(Plaque) ซึ่งประกอบด้วย ไขมัน แคลเซียม และสารต่างๆในเลือด เช่น เม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฯแข็ง และท่อภายในหลอดเลือดฯตีบ จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะ ที่หล่อเลี้ยงด้วยหลอดเลือดฯนั้นๆเกิดการขาดเลือด จึงก่ออาการผิดปกติ หรือโรคต่างๆเกิดขึ้นตามมา
หลอดเลือดแดงแข็งมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็ง ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
ก. ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ: ได้แก่
- การมีไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันชนิดไม่ดี และการมีไขมันชนิดดี (HDL, High lipoprotein) ในเลือดต่ำ
- การสูบบุหรี่ เพราะมีสารพิษก่อให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน เพราะเป็นสาเหตุของผนังหลอดเลือดอักเสบ
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะมักเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
- ขาดการออกกำลังกาย
- กินอาหารไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะ น้ำตาล, เค็ม/เกลือโซเดียม, และไขมัน
- สูงอายุ ในผู้ชายตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป, ในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป (วัยหมดประจำเดือน)
- พันธุกรรม: โดยมีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย กล่าวคือ บิดาหรือพี่น้องผู้ชายเป็นโรคนี้ก่อนอายุ 55 ปี, มารดาหรือพี่น้องผู้หญิงเป็นโรคนี้ก่อนอายุ 65 ปี
ข. ปัจจัยเสี่ยงที่ตรวจพบได้จากตรวจเลือด: ได้แก่
- มีโปรตีนชนิด CRP (C-reactive protein,โปรตีนที่เกิดจากการอักเสบของเซลล์ต่างๆในร่างกาย) ในเลือดสูง
- มีไขมันชนิดไตรกลีเซอรายด์ (Triglyceride) ในเลือดสูง
ค. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มีความสำคัญลดลงมา: ได้แก่
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
- มีปัญหาทาง อารมณ์ จิตใจ เช่น ความเครียด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เพศชาย และ
- เพศหญิงวัยหมดประจำเดือน
หลอดเลือดแดงแข็งมีอาการอย่างไร?
เมื่อเริ่มเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง มักไม่มีอาการ จนกว่าหลอดเลือดจะตีบมากจนอวัยวะนั้นๆขาดเลือดจึงจะเกิดอาการ โดยอาการจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเกิดโรคกับหลอดเลือดแดงของอวัยวะอะไร และหลอดเลือดฯตีบมากหรือน้อย
อวัยวะที่เมื่อขาดเลือดแล้วจะก่ออาการสำคัญ อาจส่งผลถึงชีวิตและคุณภาพชีวิตได้แก่ สมอง หัวใจ ไต และหลอดเลือดแดงแขน ขา(หลอดเลือดแดงส่วนปลาย/ Peripheral artery) ดังนั้นจึงจะกล่าวถึงเฉพาะอาการที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็งของอวัยวะเหล่านี้เท่านั้น
ก. อาการจากหลอดเลือดแดงสมองแข็ง: จะเกิดจากเนื้อเยื่อสมองขาดเลือด (โรคหลอดเลือดสมอง/ อัมพาต) โดยอาการที่พบบ่อย เช่น
- แขน ขาอ่อนแรงทันที
- ปวดศีรษะ/ปวดหัวมากและทันที
- สับสน
- ใบหน้าชา ปากเบี้ยว
- พูดไม่ชัด พูดไม่ได้
- วิงเวียน /เวียนศีรษะ และ
- โคม่า
ข. อาการจากหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง: เป็นอาการจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (โรคหัวใจ/ โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น
- เจ็บหน้าอก /แน่นหน้าอก มักร้าวมายัง ลำคอ กระดูกกราม ไหล่ และแขน โดยเฉพาะด้านซ้าย
- หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก และ
- อาการคล้ายจะเป็นลม
ค. อาการจากหลอดเลือดแดงไตแข็ง: เกิดจากเนื้อเยื่อไตขาดเลือด อาการพบบ่อย เช่น
- เหนื่อยง่าย
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้
- เท้าบวม
- ปัสสาวะผิดปกติ อาจน้ำปัสสาวะมาก หรือน้ำปัสสาวะน้อยก็ได้
- มีความดันโลหิตสูง
ง. อาการจากหลอดเลือดแดงแขน ขา แข็ง: เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของแขนและขาขาดเลือด อาการพบบ่อย เช่น
- เป็นตะคริวบ่อย
- ปวดเมื่อยแขน ขาตลอดเวลา
- ขนแขน และขา ร่วง บาง
- มือ เท้า เย็น และ
- เมื่อหลอดเลือดตีบมาก มือ เท้า เล็บ อาจเขียวคล้ำ
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดแข็ง ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
- ตรวจเลือด ดูค่า น้ำตาล ไขมันในเลือด/ ไขมันชนิดต่างๆ และสารต่างๆในเลือด
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- การตรวจเฉพาะเทคนิคต่างๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าฯหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress test)
- การตรวจภาพหลอดเลือดและการทำงานของหลอดเลือดฯด้วยอัลตราซาวด์
- การตรวจภาพรังสีหลอดเลือด (Angiogram การตรวจหลอดเลือดด้วยการฉีดสี/สารทึบแสงเข้าไปในหลอดเลือด แล้วเอกซเรย์ภาพหลอดเลือดนั้นๆ)
หลอดเลือดแดงแข็งรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคหลอดเลือดแดงแข็ง เป็นโรคอันตราย/โรครุนแรง เพราะนำไปสู่การขาดเลือดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ ซึ่งถ้าเกิดกับอวัยวะสำคัญ ก็เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียคุณภาพชีวิต และถึงตายได้ เช่น
- เมื่อเกิดกับหลอดเลือดหัวใจ ก็จะส่งผลให้เกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- เมื่อเกิดกับหลอดเลือดสมอง ก็จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ
- ถ้าเกิดกับหลอดเลือดขา ก็จะส่งผลให้ เกิดภาวะขาชา ปวด และ/หรือเกิดแผลเรื้อรังรักษายาก เป็นต้น
ในส่วนผลข้างเคียงที่เกิดจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง คือ
- การด้อยประสิทธิภาพ หรือสูญเสียการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงอวัยวะใด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
- นอกจาก นั้น เมื่อเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง หลอดเลือดจะขาดการยืดหยุ่น เมื่อมีเลือดไหลเวียนผ่านตลอดเวลาจึงส่งผลให้ความดันเลือด/ความดันโลหิต ดันให้เกิดการโป่งพองของผนังหลอดเลือด เกิดเป็นโรคที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm) ซึ่งส่งผลให้ผนังหลอดเลือดส่วนนี้ แตกได้ง่าย เกิดภาวะเลือดออกมากจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตกะทันหันได้
รักษาหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็ง คือ การรักษาตามอาการ, การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง, การป้องกันการเกิดลิ่มเลือด, และการขยายหลอดเลือด
ก. การรักษาตามอาการ: เช่น
- การใช้ยาแก้ปวด กรณีมีการปวด
ข. การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง: เช่น
- รักษาควบคุม
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’
- การควบคุมอาหาร (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘อาหารป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง’)
ค. การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดซึ่งจะเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดอุดตัน: เช่น
- การกินยาละลายลิ่มเลือด เช่น ยาในกลุ่ม Fibrinolysis
- ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัว/ ยาต้านการแช็งตัวของเลือด เช่นยา แอสไพริน
ง. การขยายหลอดเลือด: ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นกับว่าเป็นหลอดเลือดของอวัยวะใด, การตีบตันเกิดในตำแหน่งใดของหลอดเลือด, อายุ, สุขภาพร่างกายผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การใช้บอลลูน (Balloon)
- การใส่ลวดตาข่าย (Stent)
- การตัดต่อหลอดเลือด (Graft)
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีหลอดเลือดแดงแข็ง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง และการพบแพทย์เมื่อมีหลอดเลือดแดงแข็ง ที่สำคัญที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการดูแลในเรื่องอาหาร
ก. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ได้แก่
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- จำกัดสุรา/ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ชายวันละไม่ควรเกิน 2 ดริงค์ (Drink) ผู้หญิงวันละไม่ควรเกิน 1 ดริงค์
- มีอารมณ์ จิตใจ เบิกบาน แจ่มใส เข้าใจชีวิต ยอมรับความจริง ลดความเครียด
- การดูแลในเรื่องอาหาร ได้แก่
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน
- จำกัดอาหารไขมัน แป้ง (กินแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดสี) น้ำตาล และอาหารเค็ม/เกลือโซเดียม
- รวมทั้งจำกัดเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง (เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)
- กินผัก ผลไม้มากขึ้น รวมทั้งในทุกมื้ออาหารและเป็นอาหารว่าง (อ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง อาหารป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง)
ข. การดูแลตนเองในด้านอื่นๆ ได้แก่
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, และ โรคเบาหวาน
- ควบคุมน้ำหนัก และลดน้ำหนักเมื่อเป็น โรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ด้วยการควบ คุมอาหาร และการออกกำลังกาย และ/หรือตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- การพบแพทย์: ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูการทำงานของหัวใจ, ความดันโลหิต, ระดับน้ำตาล, ไขมันในเลือด, และการทำงานของไต เพื่อคัดกรองความผิดปกติต่างๆ เพื่อการควบคุมรักษาโรคเหล่านั้นแต่เนิ่นๆ
ส่วนเมื่อตรวจพบว่ามีโรคหลอดเลือดแดงแข็งแล้ว การดูแลตนเอง คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล ผู้ให้การรักษาแนะนำ
- ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- พบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม
- มีอาการต่างๆเลวลง
- มีผลข้างเคียงจากยาต่างๆที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีจำห้อเลือดตามผิวหนังเรื้อรัง
ป้องกันหลอดเลือดแดงแข็งได้อย่างไร?
สามารถป้องกัน และชะลอการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงได้โดย
- หลีกเลี่ยงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น การสูบบุหรี่ และโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน และจำ กัดปริมาณอาหาร ไม่ให้เกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน (อาหารป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง)
- เมื่ออ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน ควรต้องพยายามลดน้ำหนัก และควบคุมน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- จำกัดการดื่มสุราดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’
- รักษาสุขภาพจิต มีสุขภาพจิตที่ดี ควบคุมอารมณ์ให้ได้
- รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อการคัดกรองโรคสำคัญต่างๆ เพื่อ ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆโดยเฉพาะโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(โรคเอนซีดี) แต่เนิ่นๆ เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคหัวใจ2 ในเว็บ haamor.com)
- โรคไต และ โรคไตเรื้อรัง
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Artery [2019,Nov2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Atherosclerosis [2019,Nov2]
- https://emedicine.medscape.com/article/153647-overview [2019,Nov2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/C-reactive_protein [2019,Nov2]
- https://reference.medscape.com/article/1612610-overview#a2 [2019,Nov2]
- https://emedicine.medscape.com/article/1950759-overview#showall [2019,Nov2]
- Crowther, M. (2005).Pathogenesis of atherosclerosis. http://asheducationbook.hematologylibrary.org/content/2005/1/436.full [2019,Nov2]
- Libby, P. et al. (2002). Inflammation and atherosclerosis. Circulation.105, 1135-1143.
- Sontheimer, D. (2006). Peripheral vascular disease. Am Fam Physician. 73, 1971-1976.