ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอ (NaSSA: Noradrenergic and specific serotonergic antidepressant)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร??
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเออย่างไร?
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเออย่างไร?
- ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- โรคจิต (Psychosis)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาต้านเศร้า หรือ ยารักษาโรคซึมเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอ (NaSSA: Noradrener gic and specific serotonergic antidepressant) คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ที่เซลล์ประสาทกับ ตัวรับ(Receptor) ที่เรียกว่า Alpha2-adrenergic receptor และ Serotonin receptors ด้วยการออกฤทธิ์ที่จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์ประสาทในสมอง และยังทำให้สมดุลของสารเคมีในสมอง กลับมาสู่ในระดับที่เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ จึงช่วยปรับภาวะอารมณ์เศร้าให้กลับดีขึ้นได้
แนวทางการเลือกใช้ยาต้านเศร้าตัวใดนั้น จิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม โดยมีเหตุผลต่างๆมาประกอบกันอาทิเช่น
- ระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้า
- ระยะเวลาของการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า
- การตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาที่ถูกนำมาใช้รักษา
- วัย เพศ สภาพร่างกายของผู้ป่วยขณะนั้น
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
- อื่นๆ
ทั้งนี้ อาจจัดแบ่งยาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอออกเป็นรายการได้ดังนี้
- Aptazapine: เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่ตัวรับ/ หน่วยรับความรู้สึกในสมองที่ชื่อ Alpha2-adrenergic receptors แต่ยานี้ยังไม่มีการวางจำหน่ายในตลาดยา
- Esmirtazapine: เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptors และตัวรับ Serotonin receptors พัฒนาโดยบริษัทออกานอน (Organon) ถูกพัฒนาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน
- Mianserin: มีการออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors นอกจากใช้เป็นยาต้านเศร้าแล้ว ยังใช้เป็นยาคลายความกังวล/ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานยาชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ Tolvon
- Mirtazapine: มีการออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors มีฤทธิ์ต้านเศร้า คลายความกังวล ช่วยให้นอนหลับ ลดอาการอาเจียน ทำให้อยากอาหาร มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ยาชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือ Remeron
- Setiptiline: มีการออกฤทธิ์ที่สมองที่ตัวรับ Alpha2-adrenergic receptor และตัวรับ Serotonin receptors ถูกพัฒนาเป็นยาชนิดรับประทาน และนำมาใช้เป็นยาต้านเศร้าในแถบประเทศญี่ปุ่น
อนึ่ง มียาบางตัวในกลุ่มยาเอ็นเอเอสเอสเอนี้ที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Mianserin และจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย
ข้อสำคัญการเลือกใช้ยากลุ่มนี้รายการใดเพื่อรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมปลอดภัยจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาอาการของโรคซึมเศร้า
- รักษาอาการของโรควิตกกังวล
- ใช้เป็นยานอนหลับ
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอคือ ตัวยาจะแข่งขันเข้าจับกับตัวรับในสมองที่มีชื่อว่า Alpha2-adrenergic receptor และ Serotonin receptor จนก่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ให้กลับมาใกล้เคียงปกติหรือเป็นปกติ
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาต้านเศร้า เอ็นเอเอสเอสเอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ตัวอย่าง เช่นยา
- Mianserin : ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 10 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
- Mirtazapine: ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 15, 30, 45 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาแต่ละรายการของยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอย่อมมีความแตกต่างกันออกไป แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาขนาดรับประทานได้อย่างเหมาะสม ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง ขนาดการใช้ยาในยา 2 ตัว เช่นยา
- Mirtazapine: ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 15 - 45 มิลลิกรัม/วัน
- Mianserin: ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 30 - 90 มิลลิกรัม/วัน
* อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอกับเด็กที่อายุต่ำกว่า18 ปีลงมา และต้องเฝ้าระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีอายุช่วง 18 - 24 ปี ด้วยยากลุ่มนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยช่วงวัยนี้เกิดอารมณ์แปรปรวน และก่อให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- ยาทั้ง 2 ตัวดังกล่าวสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า
ยาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) เช่น
- ปากคอแห้ง
- ท้องผูก
- อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
- ข้ออักเสบ
- กดไขกระดูก (ตรวจเลือด ซีบีซี พบ เม็ดเลือดแดงต่ำ, เม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ)
- เกิดภาวะดีซ่าน
- กระตุ้นให้อยากอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
- มีอาการบวมของร่างกาย
- ง่วงนอน
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ตรวจเลือดจะพบค่าเอนไซม์การทำงานของตับมีปริมาณเพิ่มขึ้น
- ความดันโลหิตต่ำ
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- ฝันร้าย
- ประสาทหลอน
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- เกิดอาการชัก
- ตรวจเลือดพบเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ
- ปวดข้อ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เกิดภาวะทางเลือด เช่น เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆต่ำ (เช่น Agranulocytosis, Leucopenia, และ Granulocytopenia)
*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาด จะมีอาการ ง่วงนอน ความจำเสื่อม หัวใจเต้นเร็ว การรักษา แพทย์จะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ เช่น ให้ออกซิเจน และควบคุมการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติ รวมถึงจะไม่ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน (เพราะอาจสำลักเศษอาหารเข้าปอด) และแพทย์อาจล้างท้องให้ในกรณีที่เพิ่งรับประทานยาเกินขนาดมาใหม่ๆ
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเออย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOIs) ควรเว้นระยะเวลาหยุดการใช้ยา MAOIs อย่างน้อยประมาณ14 วันก่อนใช้ยานี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา และต้องเฝ้าระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่มีอายุช่วง 18 - 24 ปี ด้วยยากลุ่มนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยช่วงวัยนี้เกิดอารมณ์แปรปรวนและก่อให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria:โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง)
- ห้ามหยุดรับประทานยากลุ่มนี้เองด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา/ลงแดง ตามมา
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก หรือเคยมีประวัติชัก ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วย โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
- หยุดใช้ยากลุ่มนี้ทันทีถ้าพบอาการดีซ่านเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรในระหว่างที่ใช้ยากลุ่มนี้ เพราะยากลุ่มนี้จะทำให้ง่วงนอน ประสาทหลอน จึงอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาต้านเศร้า ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามรับประทานยากลุ่มนี้พร้อมเครื่องดื่มประเภทสุราโดยเด็ดขาด
- การใช้ Mirtazapine ร่วมกับยา Dextromethorphan, Fentanyl, Nortriptyline อาจเกิด ความเสี่ยงต่อ กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome: มักมีอาการ สับสน ประสาทหลอน ชัก ความดันโลหิตเปลี่ยน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว) กรณีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะโคม่าและตายในที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน
- การใช้ยา Mianserin ร่วมกับยา Phenobarbitone, Carbamazepine และ Phenytoin อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของ Mianserin ในกระแสเลือดลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษายาต้านเศร้าประเภทเอ็นเอเอสเอสเออย่างไร?
ควรเก็บยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ:
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาต้านเศร้าเอ็นเอเอสเอสเอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยากลุ่มเอ็นเอเอสเอสเอ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ป้องกันกลุ่มอาการเซโรโทนินอย่างไร?
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Remeron SolTab (เรเมอรอน โซลแท็บ) | MSD |
Mealin (มีลิน) | Central Poly Trading |
Tolimed (โทลิเมด) | Medifive |
Tolvon (โทลวอน) | MSD |
Servin (เซอร์วิน) | Condrugs |
Mianserin Remedica (เมียนเซอริน เรเมดิกา) | Remedica |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Noradrenergic_and_specific_serotonergic_antidepressant [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Antidepressant [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aptazapine [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Esmirtazapine [2022,April2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Mianserin [2022,April2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/mianserin?mtype=generic [2022,April2]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB06148 [2022,April2]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=4200072&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,April2]