ยานอนหลับ (Hypnotic drug)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานอนหลับ บางครั้งอาจเรียกว่า ยาสะกดจิต (Hypnotic drug หรือ Hypnotic หรือ Soporific drug) เป็นยาที่กระตุ้นให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะหลับนอน ด้วยมีฤทธิ์สงบประสาท ทางคลินิกจึงนำมาบำบัดผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ

นักวิจัยได้ค้นหาสาเหตุที่ทำให้คนเรานอนไม่หลับและพอจะสรุปได้ดังนี้

1. มีอาการเจ็บ/ปวดด้วยโรคเรื้อรัง: เช่น

  • ภาวะภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เมื่อขณะอยู่ในท่านอนจึงทำให้หายใจไม่สะดวก ส่งผลต่อเนื่องให้นอนไม่หลับ
  • ป่วยด้วยโรคทางเดินอาหาร เช่น เกิดกรดไหลย้อน ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอกขณะนอนหลับ ส่งผลต่อเนื่องให้นอนไม่หลับ
  • ผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไร้ท่อที่ทำให้มีอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายสูงมักจะเป็นเหตุให้นอนไม่หลับ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • ผู้ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบต่างๆ หรือ มีอาการปวดเรื้อรัง ปวดหลัง ส่งผลมีอาการปวดขณะนอนหลับ ทำให้ตื่นนอนช่วงกลางดึก และไม่สามารถนอนหลับไปจนกระทั่งเช้า
  • ผู้ป่วยโรคหืดที่ต้องใช้ยาเป็นประจำ และได้รับผลข้างเคียงจากยารักษาอาการหอบหืด

2. เกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 ประเภท เช่น

  • มีภาวะซึมเศร้าทำให้เกิดอาการสิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรง ขาดความกระตือรือร้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจนเป็นเหตุให้นอนไม่หลับ
  • มีภาวะวิตกกังวล ตื่นตระหนก/กลัว หรือมีอาการเครียดอยู่ตลอดเวลา มีสิ่งเร้ามากระทบจิตใจบ่อยครั้ง ก็มีผลต่อสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองได้อีกเช่นกันและเป็นเหตุให้นอนไม่หลับในที่สุด

3. จากการดำเนินชีวิตประจำวัน: เช่น

  • ประชากรบางกลุ่มต้องทำงานในช่วงตอนเย็น มีสิ่งกระตุ้นสมองต่อการรับผิดชอบในงานที่เป็นหน้าที่หรือได้รับมอบหมาย จึงทำให้นอนไม่หลับ
  • เป็นผู้ที่ชอบนอนหลับพักในช่วงบ่ายของวัน ทำให้ตอนกลางคืนนอนไม่หลับ
  • มีนิสัยนอนไม่เป็นเวลาแน่นอน เช่น ผู้ที่ต้องทำงานสลับกะเช้า กะกลางคืน ตามโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง โรงพยาบาล ทำให้นาฬิกาชีวิตของสมองสับสนและเป็นเหตุให้นอนไม่หลับ

4. จากอาหารและเครื่องดื่ม: เช่น

  • ดื่มกาแฟ/เครื่องดื่มกาเฟอีนในช่วงบ่าย หัวค่ำ เป็นเหตุกระตุ้นสมองให้นอนไม่หลับ
  • ดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ซึ่งจะกดสมองทำให้หลับในช่วงที่แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์เท่านั้น แต่กลไกนี้กลับรบกวนการนอนหลับในตอนกลางคืน
  • สูบบุหรี่ก่อนนอน สาร Nicotine ในบุหรี่จะกระตุ้นสมองทำให้มีการตื่นตัวและเป็นเหตุให้ไม่รู้สึกง่วงนอน
  • รับประทานอาหารมื้อหนักๆในช่วงเย็นหรือกลางคืน ทำให้รบกวนภาวะผ่อนคลายของร่างกายด้วยการย่อยหรือการเผาผลาญอาหารจึงเป็นเหตุให้นอนไม่หลับตามมา

5. ผู้ที่มีปริมาณสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ขาดสมดุล อาจป่วยด้วยโรคของระบบประสาทก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นอนไม่หลับ

เมื่อทราบสาเหตุการนอนไม่หลับแล้ว ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ การใช้ยานอนหลับเป็นเรื่องปลายเหตุ การดำรงชีวิตในทางสายกลาง เช่น รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม(เช้ากินแบบราชา กลางวันกินธรรมดา เย็นมากินแบบยาจก) ออกกำลังกายที่เหมาะกับตนเอง ทำงานอดิเรก ทำจิตใจเบิกบาน ฝึกสมาธิเพื่อรักษาสมดุลของร่างกายและจิตใจเป็นหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนเรานอนหลับ โดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับได้เป็นอย่างดี

ยานอนหลับมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

ยานอนหลับ

กลุ่มยานอนหลับถูกจัดแบ่งออกตามโครงสร้างและการออกฤทธิ์ดังนี้

1. Barbiturates: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กดสมอง ทำให้เข้าสู่ภาวะสงประสาทจนถึงขั้นหลับหรือหมดสติ ปัจจุบันกลุ่มยา Barbiturates ถูกแทนที่ด้วยยาBenzodiazepine ด้วยเหตุผลมีอันตรายน้อยกว่า Barbiturates ตัวอย่างยาในกลุ่ม Barbiturate ที่นำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ได้แก่ Amobarbital, Pentobarbital, Phenobarbital, Secobarbital, และ Sodium thiopental

2. Quinazolinones: เป็นกลุ่มยาที่มีการออกฤทธิ์ในลักษณะ GABA receptor agonists โดยทำให้เกิดการปิดกั้นการส่งกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่ง ด้วยฤทธิ์การปิดกั้นการส่งสัญญาณประสาทนี้เองทำให้เกิดฤทธิ์สงบประสาทและก่อให้เกิดอาการง่วงนอน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Cloroqualone, Diproqualone, Etaqualone, Mebroqualone, Mecloqualone และ Methaqualone

3. Benzodiazepine: เป็นอีกหนึ่งกลุ่มยาที่แพทย์ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสพติด แพทย์มักสั่งจ่ายยากลุ่มนี้ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ 2-4 สัปดาห์ ทั่วไปยากลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์ได้เร็ว และทำให้เวลาของการนอนหลับ ยาวนานเพียงพอ กลุ่มยา Benzodiazepine จะเป็นทางเลือกแรกของยานอนหลับ ที่มีการสั่งจ่ายเป็นอันดับแรก การออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้จะเกิดที่ตัวรับ(Receptor)ที่ปลายเซลล์ประสาทในสมองที่ชื่อว่า GABAA receptor ส่งผลรบกวนการส่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทด้วยกัน และเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับยาเข้าสู่ภาวะนอนหลับ ข้อเสียประการหนึ่งของยา Benzodiazepine คือ การใช้ยาเป็นเวลานานผู้ป่วยจะต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆจึงจะทำให้นอนหลับ ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น Nitrazepam, และ Diazepam

4. Nonbenzodiazepine: เป็นกลุ่มยาที่สามารถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประโยชน์ข้อหนึ่งของยากลุ่มนี้คือทำให้นอนหลับ โดยมีข้อดีคือสามารถใช้ยาได้เป็นเวลายาวนานกว่ากลุ่มยา Benzodiazepine และการดื้อยาก็น้อยกว่า Benzodiazepine ส่งผลลดความเสี่ยงของการติดยา ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Zopiclone, Eszopiclone, Zaleplon, และ Zolpidem

5. Melatonin: เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไพเนียลในสมอง ทั่วไปฮอร์โมนนี้จะถูกหลั่งออกมาในตอนกลางคืนหรือตอนที่ไม่มีแสงสว่าง เพื่อช่วยกระตุ้นให้นอนหลับ การใช้ยาประเภทนี้มักไม่ควรนานเกิน 3 เดือน

6. Antihistamine: เป็นกลุ่มยาที่นำมาบำบัดอาการแพ้ แต่มีการประยุกต์โดยนำผลข้างเคียงข้อหนึ่งของยานี้ คือทำให้ง่วงนอนมาเป็นประโยชน์โดยใช้เป็นยานอนหลับ ตัวอย่างยาที่นำมาใช้เพื่อช่วยให้นอนหลับ คือ Diphenhydramine และ Doxylamine

7. ยาต้านเศร้า(Antidepressant): มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน อาจแบ่งยาต้านเศร้าตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

  • 7.1 กลุ่ม Serotonin antagonists and reuptake inhibitors (SARIs) ตัวอย่างยากลุ่มนี้ คือ Trazodone
  • 7.2 กลุ่ม Tricyclic antidepressants เช่น Amitriptyline, Doxepin, และ Trimipramine
  • 7.3 กลุ่ม Tetracyclic antidepressants เช่น Mianserin และ Mirtazapine
  • 7.4 ยากลุ่มอื่นที่แสดงฤทธิ์ต่อความสัมพันธ์ของสารสื่อประสาทในสมองและมีฤทธิ์ต้านเศร้า ช่วยทำให้นอนหลับ เช่น
    • Selective serotonin reuptake inhibitors(SSRI)
    • Serotonin–norepinephrine reuptake inhibitors
    • Norepinephrine reuptake inhibitors

8. ยารักษาโรคจิต(Antipsychotics): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ที่สมองโดยจะเข้าจับกับตัวรับหลายชนิดที่เซลล์ประสาทของสมอง เช่น D2 /Dopamine 2 receptor, 5-HT2A /Serotonin2A receptor และ 5-HT2C receptor ส่งผลบำบัดอาการทางจิตใจ และยังช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ยากลุ่มนี้ยังแบ่งแยกย่อยลงมาเป็น

  • 8.1 ยารักษาโรคจิตรุ่นที่ 1 เช่น ยา Chlorpromazine
  • 8.2 ยารักษาโรคจิตรุ่นที่ 2 เช่น Clozapine, Olanzapine, Quetiapine, Risperidone, และ Zotepine

9. ยากลุ่มอื่นอีกเป็นจำนวนมากที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้นอนหลับ: เช่น

  • 9.1 Alpha-adrenergic agonist ตัวยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Clonidine และ Guanfacine
  • 9.2 Cannabinoids เช่น Cannabidiol, Tetrahydrocannbinol
  • 9.3 Orexin receptor antagonist เช่น Suvorexant
  • 9.4 Gabapentinoids เช่น Pregabalin, Gabapentin, Phenibut และ Imagabalin

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานอนหลับมีอะไรบ้าง?

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานอนหลับ มีทั้ง

  • ยาชนิดรับประทาน แบบ เม็ด แคปซูล น้ำ
  • ยาอมใต้ลิ้น
  • ยาฉีด ทั้งแบบฉีดเข้าหลอดเลือด หรือฉีดเข้ากล้าม
  • ยาเหน็บทวาร และ
  • แผ่นแปะผิวหนัง

จะเลือกใช้ยานอนหลับตัวไหนดี?

การบำบัดอาการนอนไม่หลับโดยใช้ยา จะมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น

  • สภาพร่างกายหรือความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่น เป็นผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ทำให้มีขนาดการใช้ยาและข้อห้ามใช้ที่แตกต่างกันออกไป
  • โรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคจิตเภท ซึ่งผู้ป่วยมักจะมียาประจำรับประทานอยู่ก่อน เกณฑ์ในข้อนี้ถูกนำมาพิจารณาเพื่อแพทย์ป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • ชนิดและการออกฤทธิ์ของยานอนหลับ ตลอดจนความแรง และผลข้างเคียงมีความแตกต่างกัน ยาบางตัวใช้เพียงระยะสั้นๆ 2–3 เดือน ยาบางตัวสามารถใช้ได้ยาวนานกว่า แต่อาจมีราคาแพงและเป็นการยากที่ประชาชนจะเข้าถึง ซึ่งเพื่อให้ง่าย ต่อการเลือกใช้ยานอนหลับ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำ/ปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยคัดเลือกยาที่เหมาะสมกับตนเอง หรือสอบถามปรึกษารายละเอียดการใช้ยานอนหลับได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

บรรณานุกรม

  1. https://sleepfoundation.org/insomnia/content/what-causes-insomnia [2018,Feb17]
  2. https://sleepfoundation.org/insomnia/content/what-causes-insomnia [2018,Feb17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Melatonin [2018,Feb17]