ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โดย นพ.ธันวรุจน์ บูรณสุขสกุล
- 9 พฤษภาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคซึมเศร้ามีกี่รูปแบบ?
- โรคซึมเศร้ามีสาเหตุจากอะไร?
- โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร?
- อะไรเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มเครียดหรือเริ่มซึมเศร้า?
- ควรพบจิตแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าอย่างไร?
- ดูแลเบื้องต้นอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าซึมเศร้า?
- ดูแลรักษาความเครียดอย่างไร?
- ตัวอย่างยารักษาโรคซึมเศร้า
- ป้องกันความเครียด/ภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก(Ischemic and Hemorrhagic Stroke)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง(Atherosclerosis)
- โรคจิต(Psychosis)
- โรคสมอง (Brain disease)
- เนื้องอกสมอง(Brain tumor)
- โรคซึมเศร้า (Depression)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ความเครียด (Stress) คือ สภาวะของความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์ที่เกิดจากการบีบคั้น กดดัน ที่เป็นสภาวะปกติของมนุษย์ ซึ่งเมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้วนั้น มนุษย์จะปรับตัวหลังจากเจอความเครียด โดยบางรายหาวิธีผ่อนคลายความเครียดทำให้สภาวะนี้หายไปได้เอง, หรือ บางรายก็ทุกข์ทรมานมากขึ้นจนบางคนเปลี่ยนจากสภาวะเครียดธรรมดาเป็นภาวะซึมเศร้า (Depression), หรือโรคซึมเศร้า (Depressive disorder)ตามมาได้, ซึ่งจะเริ่มมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ผลกระทบจากความเครียดต่อบุคคลเรียกว่า ความเหนื่อยล้า บางท่านเรียกว่า ภาวะหมดไฟ (Burnout), โดยจะกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคม ความเครียดในระดับนี้ สามารถดีขึ้นได้จากการผ่อนคลาย ให้กำลังใจ และการช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
“ภาวะซึมเศร้า” คือ พยาธิสภาพทางจิตที่มีระดับความรู้สึกเศร้ารุนแรงหรือเรื้อรัง รู้สึกหมดหนทาง มีภาวะสิ้นยินดี และมีอารมณ์หรือมีพฤติกรรมอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งหากถูกวินิจฉัยโดยแพทย์จะถูกเรียกว่า “โรคซึมเศร้า”
ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ที่เป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association: APA) กล่าวว่าอารมณ์เศร้า มักมีรายงานของความรู้สึกซึมเศร้า ความเศร้าโศก หมดหนทาง และหมดหวัง
โดยทั่วไป คำว่า ‘ภาวะซึมเศร้า (Depression)’ และคำว่า ‘ความเศร้า (Sadness/Sad)’ มีความหมายเหมือนกัน แต่ในทางแพทย์ ภาวะซึมเศร้า จะประกอบ ด้วยความรู้สึกมากกว่า 1 อย่าง อาทิ ความโกรธ, ความกลัว, ความกังวล, ความสิ้นหวัง, ความรู้สึกผิด, ความ ไร้อารมณ์, และ/หรือความเศร้า, ซึ่งเหล่านี้จัดเป็นภาวะที่อันตรายต่อร่างกาย และมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง
‘โรคซึมเศร้า (Depressive disorder)’ คือ ความผิดปกติของอารมณ์ที่ถูกวินิจฉัยโดยแพทย์และเป็นพยาธิสภาพทางจิตที่มีลักษณะอารมณ์เศร้ามากเกินไป รุนแรง ยาวนาน และเรื้อรัง มีผล กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่ในสภาวะโรคนี้ ซึ่งจะมีลักษณะอาการได้แก่ เศร้ามาก เศร้าบ่อยๆ ขาดความสนใจจากสิ่งที่เคยสนใจ น้ำหนักลดหรือเพิ่มมาก นอนไม่หลับหรือหลับมากไป ขี้ลืม คิดอะไรไม่ค่อยออก เป็นต้น ซึ่งมักไม่ดีขึ้นเมื่อให้กำลังใจ บางรายอาจถึงขนาดคิดอยากตายหรือฆ่าตัวตายได้
ความชุกจากกการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก เมื่อ ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) พบ ว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากถึง 150 ล้านคนทั่วโลก และพบว่าโรคซึมเศร้ายังเป็นสาเหตุของภาวะทุพพลภาพในประชากรโลกอีกด้วย โดยปัจจุบันจัดลำดับโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของปีสุขภาวะที่สูญเสีย หรือ DALYs (Disability Adjusted Life Years: DALYs ซึ่งเป็นการวัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวม ที่วัดภาวะการสูญเสียด้านสุขภาพ หรือช่องว่างสุขภาพ /Health gap โดยแสดงถึงจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการตายก่อนวัยอันควร/Years of Life Lost - YLL รวมกับจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่กับความบกพร่องทางสุขภาพ/Years Life with Disability - YLD ) ในประชากรช่วงอายุ 15 - 44 ปีทั่วโลก
ในประเทศไทยจากผลการสำรวจระบาดวิทยาโรคทางจิตเวชระดับชาติโดยกรมสุขภาพจิตเมื่อปี พ.ศ. 2551 พบว่าความชุกโรคซึมเศร้าในคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศมี 2.7% แบ่งรายภาคเป็น ภาคกลางความชุก 2.4% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือความชุก 2.7% ภาคใต้ความชุก 2.3% ภาคเหนือความชุก 2.3% และกรุงเทพมหานครความชุก 5.1%
โรคซึมเศร้ามีกี่รูปแบบ?
โรคซึมเศร้ามีรูปแบบต่างๆดังนี้
1.โรคซึมเศร้ารุนแรง: เป็นภาวะซึมเศร้าที่มีอารมณ์หดหู่และไม่อยากทำกิจกรรมที่ปกติเคยชอบทำ มักจะหมกมุ่น มีความคิดหรือรู้สึกถึงการไม่มีคุณค่า ความเสียใจหรือรู้สึกผิดอย่างไม่มีเหตุผล ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หมดหวัง และเกลียดตัวเอง ความต้องการทางเพศลดลง และมีความคิดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย ในรายที่รุนแรงจะแสดงอาการของภาวะทางจิต (Psychosis) และมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อครอบครัวผู้ป่วย ความสัมพันธ์ส่วนตัว การทำงานหรือการเรียน การนอนหลับและการรับประทานอาหาร และสุขภาพทั่วไป
2.โรคซึมเศร้าต่อเนื่องยาวนาน: มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงดังกล่าว แต่จะมีอาการต่อเนื่องเรื้อรังเป็นเวลานาน จะมีอารมณ์ซึมเศร้า การปฏิบัติงานไม่ได้ดีเท่าปกติ และมีอาการโรคซึมเศร้าอื่นๆเช่น นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ร้าย ขาดสมาธิ ไม่ค่อยสังคม อา การเป็นเกือบทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังจึงแตกต่างจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงตรงที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังยังทำหน้าที่ต่างๆได้ตามปกติ ซึ่งคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเรื้อรังนี้สามารถเปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงได้
3.โรคซึมเศร้าที่มีประสาทหลอน: ผู้ป่วยชนิดนี้จะมีอาการรุนแรงและมีอาการประสาทหลอนหรืออาการหลงผิดเช่น มีความคิดว่าตนมีความผิดหรือบาปอย่างมาก หรือมีหูแว่วเป็นเสียงตำหนิตนเอง หรือมีความคิดว่ามีคนจะทำร้าย เชื่อว่าคนอื่นล่วงรู้ความคิดของตนเอง
4.โรคซึมเศร้าหลังคลอด: ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร บางคนจะร้องไห้อยู่ระยะหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ภาวะนี้จะสามารถหายไปได้เองในหนึ่งสัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด 1% ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดในช่วงปีแรกหลังคลอด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการของโรคซึมเศร้าและไม่สนใจดูแลลูก ไม่มีความสุขกับลูกทั้งที่เพิ่งมีลูก
5.โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล: เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว คนทั่วไปอาจมีความรู้สึกซึมได้เมื่อสภาพอากาศที่มืดมัว แต่ผู้ป่วยซึมเศร้าตามฤดูกาลจะมีความรู้สึกแย่กว่าความรู้สึกซึมเศร้าของคนปกติ ซึ่งสภาพอากาศจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าพลังงานลดลง รู้สึกแย่แต่ไม่ถึงขั้นซึมเศร้า แต่บางรายอาจเป็นเหมือนกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรง ซึ่งอาการนี้สามารถดีขึ้นได้เมื่อได้รับการบำบัดด้วยการให้แสงสว่าง
6.โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น (นิยามคำว่าเด็ก): อาการค่อนข้างแตกต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งในเด็กและวัยรุ่นบางรายซึมเศร้าจะไม่ซึม แต่จะมีอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียว เจ็บป่วยทางร่างกายบ่อยๆ ไม่มีสมาธิในการเรียน เก็บตัวไม่เล่นกับเพื่อนๆ
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุของโรคซึมเศร้าในปัจจุบันทราบสาเหตุเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้เป็นการบอกว่าสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งจะทำให้เครียดหรือซึมเศร้า แต่หลายๆปัจจัยประกอบกันทำให้เกิดโรคซึม เศร้าได้ ซึ่งปัจจุบันแบ่งสาเหตุโรคซึมเศร้าออกได้ 3 สาเหตุได้แก่
1.สาเหตุทางกาย (Biological cause): เกิดจากความผิดปกติเสียหายของสมองซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลายสาเหตุเช่น โรคเส้นเลือดแข็งตัวผิดปกติ/โรคหลอดเลือดแดงแข็ง(Arteriosclerosis), โรคเส้นเลือดอุดตันหรือแตกในสมอง/โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก, โรคสมองซึ่งเกิดภายหลังอุบัติเหตุทางสมอง, โรคเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง, หรือโรคทางสมองที่มีอาการซึมเศร้าร่วมกับภาวะจิตเภทและลมชัก นอกจากนี้ความผิดปกติทางกายอื่นๆก็อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่น โรคตับอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคพาร์กินสัน โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี เป็นต้น รวมถึงผลข้างเคียงจากยาบางชนิดอาจเป็นผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในบางคนได้เช่น ยา Corticosteroid, Propranolol เป็นต้น
นอกจากนั้นสารเคมีที่เป็นสารสื่อประสาทในสมองบางอย่างแปรปรวนไม่สมดุลก็ทำให้เกิดซึมเศร้าได้ ซึ่งพบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยพบมีสารสื่อประสาทที่สำคัญเช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine)ลดต่ำลง
อีกทั้งสาเหตุด้านกรรมพันธุ์ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะผู้มีครอบครัวเป็นโรคนี้มีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้า 2.8 เท่าของคนทั่วไป ซึ่งอาการซึมเศร้าจากสาเหตุนี้มีลักษณะเฉพาะตัวคือ มีอาการซึมเศร้าเป็นซ้ำหลายๆครั้ง เกิดอาการเป็นพักๆในช่วงระยะเวลาที่แน่นอนระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะตามด้วยช่วงระยะปลอดอาการซึ่งจะกลับเป็นปกติสมบูรณ์โดยไม่พบความแปรปรวนด้านบุคลิกภาพใดๆให้เห็น
2. สาเหตุด้านจิตใจ (Psychological cause): โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องประสบกับภาวะเหตุการณ์รุนแรงบางอย่างในชีวิตที่ตนเองไม่สามารถจัดการได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากครอบครัวตึงเครียด สะเทือนใจอย่างมาก ถูกคาดหวังสูง ถูกบีบคั้นอย่างมาก การหย่าร้าง ความสูญเสีย เป็นต้น
สาเหตุอื่นๆด้านจิตใจเช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผิดหวังในชีวิต ล้มเหลว ผิดพลาด มีความโกรธแค้นแล้วระบายออกไม่ได้จึงย้อนมากดดันรู้สึกผิดในตนเอง มีความคิดลบ มีความคิดบิดเบือน ไม่มีใครช่วยเหลือได้ ไม่มีความหวังแล้ว เป็นต้น
คนบางคนมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้อื่น แม้ว่าลักษณะภายนอกจะเป็นคนบุคลิกมั่นคง มีความทะเยอทะยาน มีความซื่อตรงในหน้าที่ ความประพฤติดีงาม แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาพจิตใจระดับลึกๆมีความลังเล สับสน และขาดความมั่นใจ ก็มีแนวโน้มให้ซึมเศร้าได้
3.สาเหตุด้านสังคม (Social cause): เช่น ความกดดันจากสังคมจากเศรษฐกิจเป็นเวลานาน การไม่สามารถทำได้ตามการคาดหวังของสังคมเศรษฐกิจ
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร?
อาการเครียดสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป แต่ที่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์เครียดจนอาจกลาย เป็นโรคซึมเศร้าได้แก่
1.รู้สึกผิดหวัง สิ้นหวัง ไม่มีใครช่วยได้
2.ไร้ความสนใจกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งแวดล้อมจากที่เดิมเคยสนใจเช่น เคยดูทีวีแล้วสนุก ก็ไม่อยากดูทีวี
3.การกินและน้ำหนักเปลี่ยนแปลง บางคนกินเยอะขึ้น บางคนเบื่ออาหาร ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง
4.ปัญหาการนอน เมื่อเกิดภาวะ/โรคซึมเศร้ามักจะมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย
5.โกรธและหงุดหงิดง่าย ซึ่งมักจะเกิดจากความอดทนต่อความเครียดต่ำลง มักจะพบในวัยรุ่น
6.รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด ตำหนิตนเองบ่อยๆ
7.ไร้พลัง มีความรู้สึกสูญเสียพลัง ไม่มีพลังขับเคลื่อนให้ต้องทำอะไรในชีวิตประจำวัน
8.พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เมื่อเศร้าแล้วบางคนหาทางออกด้านพฤติกรรมเสี่ยงเช่น ติดยาเสพติด ติดพนัน ขับรถเร็ว เล่นกีฬาเสี่ยงตาย เป็นต้น
9.อาการทางร่างกายเช่น การเจ็บป่วย (เช่น ปวดท้อง มึนศีรษะ) และ/หรือการเจ็บปวด(เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่) บ่อย โดยไม่สามารถอธิบายสาเหตุทางร่างกายได้
อะไรเป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มเครียดหรือเริ่มซึมเศร้า?
เมื่อใดที่คนเรารู้ตัวเองว่าตนเองไม่ปกติ ทุกข์อย่างมาก จนไม่สามารถที่ลดความเครียดลงได้ ส่งผลให้ทำงานหรือเรียนตามปกติแย่ลง บางครั้งอาจไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน จนหาทาง ออกไม่ได้หรือไม่มีที่พึ่งแล้ว นั่นแหละท่านเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตแล้ว และจะสังเกตเบื้องต้นก่อนจะเกิดเป็นโรคซึมเศร้า คนส่วนใหญ่มักมีความเครียด ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ที่พบได้ค่อน ข้างบ่อย หลายครั้งที่เราเอง “ไม่รู้สึกตัว” ว่ากำลังเครียด รอจนเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาจึงจะเริ่มรู้ตัวว่าเรากำลังเครียดเสียแล้ว ซึ่งสังเกตง่ายๆเมื่อเรามีความเครียดสัมพันธ์กับอาการ 3 อย่างดัง ต่อไปนี้
1. การหายใจ: หลายคนละเลยไม่เคยสังเกต เมื่อเราเครียด การหายใจของเราจะผิดไปจากปกติ เราจะหายใจถี่ขึ้น ตื้นขึ้น และหลายครั้งเรา “กลั้นหายใจ” โดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งหากเป็นแบบนี้บ่อยๆ อากาศจะเข้าสู่ปอดน้อยลงเรื่อยๆ สุดท้ายคนที่เครียดมักจะ “ถอนหายใจ” เพื่อระ บายอากาศออกมาและบังคับให้หายใจเข้าลึกๆใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบางคนก็ใช้เป็นการระบายความเครียดได้ชั่วคราว
2. อาการร้อนท้อง ปวดท้อง หรือร้อนกระเพาะอาหาร: เกิดเนื่องจากเวลาเครียดจากการทำงาน รับงานมาทำเยอะๆ หรือฟังเรื่องร้ายๆ หรือถูกตำหนิบ่อยๆ จะเกิดอาการร้อนในท้อง แสบท้อง ซึ่งเกิดจากการหลั่งกรดมากในกระเพาะอาหาร
3. ปวดหัว ปวดขมับ: เกิดขึ้นได้บ่อยเวลาเครียด สาเหตุก็มาจากการหายใจนั่นเอง ซึ่งทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เต็มที่ ทำให้ต้องสูบฉีดเลือดไปสมองเร็วขึ้นและเส้นเลือดบีบ ตัวมากขึ้น ทำให้เราปวดตุ๊บๆที่ศีรษะ
ข้อ | ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งวันนี้ ท่านมีอาการเหล่านี้บ่อยแค่ไหน | ไม่มีเลย | เป็นบางวัน 1-7 วัน | เป็นบ่อย >7 วัน | เป็นทุกวัน | รวมคะแนน |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | เบื่อ ไม่สนใจอยากทำอะไร | 0 | 1 | 2 | 3 | |
2 | ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้ | 0 | 1 | 2 | 3 | |
3 | หลับยาก หรือหลับๆตื่นๆ หรือหลับมากไป | 0 | 1 | 2 | 3 | |
4 | เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง | 0 | 1 | 2 | 3 | |
5 | เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป | 0 | 1 | 2 | 3 | |
6 | รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตนเองล้มเหลวหรือทำให้ตนเองหรือครอบครัวผิดหวัง | 0 | 1 | 2 | 3 | |
7 | สมาธิไม่ดีเวลาทำอะไรเช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ | 0 | 1 | 2 | 3 | |
8 | พูดช้า ทำอะไรช้าลง จนคนอื่นสังเกตเห็นได้ หรือกระสับกระส่าย ไม่สามารถอยู่นิ่งได้เหมือนที่เคยเป็น | 0 | 1 | 2 | 3 | |
9 | คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตายไปคงจะดี | 0 | 1 | 2 | 3 |
ระดับคะแนน | การแปลผล | การดูแลเบื้องต้น |
---|---|---|
คะแนนน้อยกว่า 7 คะแนน | ไม่มีอาการของโรคซึมเศร้า | ป้องกันอาการซึมเศร้า |
คะแนน 7 - 12 คะแนน | มีอาการของโรคซึมเศร้า ระดับน้อย | จัดการอารมณ์เบื้องต้น หรือพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ |
คะแนน 13 - 18 คะแนน | มีอาการของโรคซึมเศร้า ระดับปานกลาง | พบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ |
คะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 19 คะแนน | มีอาการของโรคซึมเศร้า ระดับรุนแรง | พบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ |
ควรพบจิตแพทย์เมื่อไหร่?
กรมสุขภาพจิตได้ให้ช่องทางการคลายเครียด 24 ชั่วโมงโดยโทรศัพท์สายด่วน 1323 แต่หากท่านรู้สึกว่าจัดการความเครียดเองไม่ได้ สับสน ไม่รู้จะแก้ปัญหาชีวิตอย่างไร ควรไปพบแพทย์ใกล้บ้านหรือจิตแพทย์
อีกอย่างหากท่านทำแบบทดสอบ 9Q แล้วพบว่า มากกว่า 7 คะแนนให้พิจารณาว่าควรพบ จิตแพทย์
แพทย์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้จากการสอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกายทั่วไป การ ตรวจสภาพจิต แล้ววินิจฉัยตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association: APA)
อนึ่ง เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเกิดเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง (Major Depressive Disorder) แล้ว ได้แก่
ก. ผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการจากอารมณ์รู้สึกเศร้า และ/หรือเบื่อหน่ายไม่มีความสุข ซึ่งต่างไปจากอดีต รวมกับอาการ 5 อาการ (หรือมากกว่า) ดังจะกล่าวต่อไป โดยมีอาการร่วมกันอยู่นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
(1) มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน จากการบอกเล่าของผู้ป่วยหรือจากการสังเกตของผู้อื่น (หมายเหตุ: ในเด็กและวัยรุ่นสามารถเกิดเป็นอารมณ์หงุดหงิด)
(2) ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่างๆทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
(3) น้ำหนักตัวลดลง (โดยมิได้เป็นจากการคุมอาหาร) หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ/อย่างมาก หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
(4) นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไปแทบทุกวัน
(5) กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้า ไม่อยากทำอะไรแทบทุกวัน
(6) อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
(7) รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร แทบทุกวัน
(8) สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลงหรือตัดสินใจอะไรไม่ได้แทบทุกวัน
(9) คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ คิดอยากตายอยู่เรื่อยๆ โดยมิได้วางแผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน
ข. อาการเหล่านี้ต้องมิได้เข้ากับเกณฑ์โรคอื่นๆทางจิตเวช
ค. อาการเหล่านี้ก่อให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือกิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆที่สำคัญ บกพร่องลง
ง. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสารต่างๆ (เช่น ยา) หรือจากภาวะความเจ็บ ป่วยทางกาย
จ. อาการไม่ได้เข้ากับเศร้าจากการที่คนรักเพิ่งสูญเสียไป คนทั่วไปมักจะเป็นอยู่ประมาณ 2 เดือนหลังสูญเสียคนรัก
***อนึ่ง แยกรูปแบบการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเป็น 2 แบบได้แก่
ก.โรคซึมเศร้ารุนแรง: อาการเกิดครั้งแรก (Major Depressive Disorder: Single Episode):
1. มีอาการซึมเศร้าหนึ่งครั้ง
2. อาการซึมเศร้าไม่ได้มีอาการทางจิตหรือโรคจิตเภทอยู่ก่อน
3. ไม่เคยมีอาการอารมณ์ดีมากกว่าปกติ
ข. โรคซึมเศร้ารุนแรง: อาการกลับเป็นซ้ำ (Major Depressive Disorder: Recurrent):
1. มีอาการซึมเศร้า 2 ครั้งหรือมากกว่าในระยะเวลาห่างกันมากกว่า 6 เดือน
2. อาการซึมเศร้าไม่ได้มีอาการทางจิตหรือโรคจิตเภทอยู่ก่อน
3. ไม่เคยมีอาการอารมณ์ดีมากกว่าปกติ
ดูแลเบื้องต้นอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าซึมเศร้า?
การดูแลตนเองเมื่อรู้สึกตัวว่าเครียดหรือซึมเศร้า (ตามแบบประเมินโรคซึมเศร้าในหัวข้อ สัญญาณเตือน)
1. ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันครั้งละ 30 นาทีเช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิค
2. สร้างเสียงหัวเราะให้ตัวเอง ดูภาพยนตร์ตลกหรืออ่านหนังสือการ์ตูนขำขัน สามารถช่วยคลายความวิตกกังวลและลดความเครียดได้
3. ระบายอารมณ์เสียบ้าง อาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์โกรธไว้โดยไม่แสดงออก การระบายอารมณ์มีหลายวิธี ทั้งตะโกน ร้องไห้ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก
4. พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ การเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟังจะช่วยลดความฟุ้งซ่าน ทั้งยังได้ข้อคิดและเรียนรู้ว่า ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียว
5. มองโลกในแง่ดี ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ทุกอุปสรรคย่อมมีโอกาส การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้ค้นพบแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ดูแลรักษาความเครียดอย่างไร?
1. การดูแลรักษาความเครียด:
ความเครียดมีผลกับร่างกาย 3 อย่างคือ การหายใจ ปวดท้อง และปวดศีรษะ วิธีคลายเครียดหรือการดูแลความเครียดก็คือ วิธีทำให้ทั้ง 3 ระบบของร่างกายได้ผ่อนคลายเช่น ออกกำลังกาย ฝึกการหายใจเข้า-ออกลึกๆช้าๆ โยคะ ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ พูดคุยกับเพื่อน เป็นต้น ซึ่งหากอยู่ในขณะทำงานควรหาเวลาซัก 5 นาทีในการผ่อนคลายตนเอง จะทำให้ความเครียดไม่ก่อตัวรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคได้
หากใครมีความสามารถในการจัดการกับความคิดตนเอง หรือฝึกเจริญสติตนเองได้ในระ หว่างทำงาน ก็จะทำให้ความเครียดบรรเทาเบาบางลงได้มาก
หลายคนสามารถจัดการความเครียดได้ด้วยตนเอง หรือมีบุคคลรอบข้างพูดคุยผ่อนคลายได้บ้างก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็ได้ ส่วนคนที่เครียดจนรบกวนชีวิตประจำวันของตนเองและผู้ อื่นทั้งด้านการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิต ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือ
กรณีเกิดความเครียดที่รุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองกล่าวคือ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ควรไปพบแพทย์/จิตแพทย์
2. การรักษาโรคซึมเศร้า:
เมื่อมาพบแพทย์มีวิธีรักษาหลายๆวิธีร่วมกันดังต่อไปนี้
1. รักษาอาการทางกายให้สงบ: เช่น โรคกระเพาะอาการ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการรักษาปลายเหตุแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน
2. แพทย์จะพูดคุยสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจสภาพจิต เพื่อวินิจฉัยทางการ แพทย์และหาเหตุของปัญหา
3. การให้ยา ในกรณีที่บางคนมีปัญหาภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าร่วมกับมีอาการนอนไม่หลับ หรือมีอาการทางจิตอื่นๆที่แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ยา
4. การให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหา โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับการปรึกษา ใช้เทคนิคการสื่อสาร ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา การรู้จักใช้ศักยภาพของตนเองในการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
5. จิตบำบัด: ซึ่งต้องได้รับการบำบัดโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาบำบัดที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ในกรณีที่เครียดเรื้อรังจนเกิดภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า เพื่อผ่อนคลายความเครียดและอาการต่างๆรวมถึงการแก้ไขปัญหาชีวิตให้สำเร็จและมีการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นได้ดีโดยในการบำบัด ผู้บำบัดจะพูดคุยเพียงลำพังกับผู้ที่ซึมเศร้าครั้งละประมาณ 45 นาที 8 - 12 ครั้ง ซึ่งจะมีการร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกปัญหานั้นๆร่วมกันเพื่อไม่กลับไปเกิดความรู้สึกหรือความคิดที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าได้อีก
6. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเช่น จัดโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลายได้ ทำงานพอเหมาะไม่หนักมากเกินไป ให้มีเวลาผ่อนคลายระหว่างทำงาน
ตัวอย่างยารักษาโรคซึมเศร้า
ยารักษาโรคซึมเศร้า/ยาต้านเศร้าในปัจจุบันแบ่งคร่าวๆออกเป็น 3 กลุ่มดังต่อไปนี้คือ
ก. ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCA) ยาในกลุ่มนี้เช่นยาAmitriptyline, Nortryptyline, Imipramine
ข. ยากลุ่ม SSRI (Selective serotonin reuptake inhibitor) ยาในกลุ่มนี้เช่นยา Fluoxetine, Fluvoxamine, Sertraline, Paroxetine , Ecitalopam
ค. ยากลุ่ม SNRIs (Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors) เป็นยากลุ่มใหม่ที่ผลิตออกมาเช่นยา Venlafaxine, Mirtazepam, Duloxetine
อนึ่งการเลือกใช้ยาต่างๆ แพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อายุผู้ป่วย, ความรุนแรงของโรค, ผลข้างเคียงของยา, ลักษณะชีวิตประจำวันของผู้ป่วย, เป็นต้น รวมถึงพิจารณาจากผลงานวิจัยต่างๆที่น่าเชื่อถือว่ารักษาผู้ป่วยซึมเศร้าในรูปแบบต่างๆได้ผลอาทิ รักษาซึมเศร้าแบบมีนอนไม่หลับร่วมด้วย ด้วยยากลุ่มที่ทำให้ง่วงนอนอาจช่วยผู้ป่วยได้ดีกว่ายากลุ่มที่ทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ
ดังนั้น ทางการแพทย์ยาที่ดีที่สุดในการรักษาโรคซึมเศร้าหรือยากลุ่มใหม่ๆ ใช่ว่าจะรักษาได้กับผู้ป่วยทุกราย ซึ่งบางรายยากลุ่มเดิมช่วยทำให้ผู้ป่วยหายและคุณภาพชีวิตดีกว่ามาก ซึ่งขึ้น กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาที่จะรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม
ยารักษาโรคซึมเศร้าปัจจุบันมีหลายกลุ่มตามลักษณะทางเคมีและการออกฤทธิ์ของตัวยา ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 80-90% ตอบสนองต่อยาซึมเศร้า ทำให้อาการต่างๆดีขึ้น จนหายได้ ดีกว่าการไม่ได้รับยารักษาเลย ซึ่งโอกาสที่จะหายเองมีน้อยมาก
ตัวอย่างยารักษาซึมเศร้าที่มีในประเทศไทยมีดังต่อไปนี้:
*****หมายเหตุสำคัญ: การใช้ยาเหล่านี้ต้องเป็นการสั่งใช้ยาจากแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยเท่านั้น ห้ามซื้อยาใช้เองหรือปรับการใช้ยาเอง เพราะยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายได้รวม ทั้งยังอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ก่อนจนก่ออันตรายได้เช่นกัน ซึ่งอันตรายจากยาอาจถึงตายได้
ชื่อสามัญ | ชื่อการค้า | ขนาดเม็ด (mg) | ขนาดรักษา (mg/Day) | อาการข้าง เคียง/ผลข้าง เคียง |
---|---|---|---|---|
อะมิทริปทิลีน (Amitriptyline) | - | 10,25,50 | 75-150 | ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง ท้องผูก |
นอร์ทริปทิลีน (Nortriptyline) | - | 10,25,50 | 75-150 | ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง ท้องผูก |
อิมิพรามีน (Imipramine) | - | 25 | 75-150 | ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง ท้องผูก |
โคลมิพลามีน (Clomipramine) | Anafranil | 10,25 | 75-150 | ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง ท้องผูก |
ทราโซโดน (Trazodone) | Desirel | 50 | 150-300 | ง่วงนอน ซึม ปวดศีรษะ |
ไมแอนซิริน (Mianserin) | Tolvon | 10,30 | 60-90 | ง่วงนอน ซึม ปวดศีรษะ |
ฟลูออกซิติน (Fluoxetine) | Fulox ,Prozac | 20 | 20-40 | คลื่นไส้ ผะอืดผะอม เบื่ออาหาร หลับยาก |
ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) | Faverin | 50,100,150 | 100-300 | คลื่นไส้ ผะอืดผะอม เบื่ออาหาร หลับยาก |
พารอกซิตีน (Paroxetine) | Seroxat | 20 | 20-40 | คลื่นไส้ ผะอืดผะอม เบื่ออาหาร หลับยาก |
เซอทราลีน (Sertraline) | Zoloft | 50 | 50-100 | คลื่นไส้ ผะอืดผะอม เบื่ออาหาร |
เอสซิทราโลแปม (Escitralopram) | Lexapro | 10,20 | 20-40 | คลื่นไส้ ผะอืดผะอม เบื่ออาหาร |
เวนลาแฟกซีน (Venlafaxine) | Effexor | 75-150 | 150-300 | คลื่นไส้ กระวนกระวาย |
เมอทาซาปีน (Mirtazapine) | Remeron | 15,30 | 15-45 | ง่วง ปากแห้ง กินเก่ง |
ไทอะเนปทีน (Tianeptine) | Stablon | 12.5 | 25-50 | คลื่นไส้ กระวนกระวาย |
ดูล็อกซีตีน (Duloxetine) | Cymbolta | 30,60 | 60-120 | ง่วง เวียนศรีษะ ปากแห้ง |
เดสเวลาแฟกซีน (Desvenlafaxine) | Pristiq | 50 | 50-100 | คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องผูก |
อะโกเมลาทีน (Agomelatine) | Valdoxan | 25 | 25-50 | ง่วง |
บิวโพรไพออน (Bupropion) | Welbutrin,Quomem | 150 | 150-300 | ง่วง ปากแห้ง ท้องผูก |
ป้องกันความเครียด/ภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าอย่างไร?
ป้องกันความเครียด/ภาวะซึมเศร้า/โรคซึมเศร้าได้ดังนี้
1. ตระหนักรู้ในตนเอง: รู้จักว่าอารมณ์ตนเองเป็นอย่างไร ยอมรับตามอารมณ์ที่ตนเองเป็น (หากปฏิเสธอารมณ์ตนเองตามความเป็นจริงมักจะเกิดความขัดแย้งในใจ เกิดความเครียดและซึมเศร้าได้)
2. ฝึกจัดการอารมณ์ตนเองอย่างเหมาะสม: มนุษย์ทุกคนล้วนมีอารมณ์กันทั้งนั้น การรู้เท่าทันอารมณ์อย่างเดียว บางรายอาจอดทนได้ไม่พอ ทำให้เกิดความเครียดหรือซึมเศร้าได้ การจัดการอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดจะทำให้ไม่มีขยะทางอารมณ์คั่งค้างเช่น โกรธก็รู้อารมณ์และอาจไปปล่อยอารมณ์เชิงสร้างสรรค์จากการทำงานบ้าน คุยกับเพื่อน เป็นต้น
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: เป็นการเตรียมพร้อมกายและใจเพื่อรองรับสภาวะอารมณ์ที่เครียดและซึมเศร้าในอนาคต และสามารถจัดการอารมณ์ได้ง่ายขึ้น
4. การพักผ่อนให้เพียงพอ: ซึ่งการที่นอนไม่หลับ ร่างกายและสมองจะเกิดความเครียด และทำให้เกิดการเหนื่อยล้าทางกายและใจ ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ชีวิตต่ำลงได้ ดังนั้น การนอนอย่างเพียงพอสำคัญมากในการป้องกันความเครียด
5. ครอบครัวและเพื่อน: คือบุคคลที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด หากเกิดสภาวะเครียดเล็กน้อย ก็ควรมีการพูดคุยเพื่อไม่ให้สะสมจนกลายเป็นความเครียดเรื้อรังได้
6. หางานอดิเรกทำ: เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และเป็นการเตรียมตัวเองเอาไว้ หากเครียด จะได้มีวิธีทำให้ตนเองมีความสุข งานอดิเรกเช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นคอมพิวเตอร์ ร้องเพลง เต้นรำ อ่านหนังสือ ฯลฯ
7. ท่องเที่ยว: หาเวลาพักผ่อนไปท่องเที่ยวตามสมควรแล้วแต่ความพร้อมเช่น อย่างน้อยเดือนละครั้ง เข้าหาธรรมชาติ ทะเล น้ำตก ภูเขา ฯลฯ
8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นประโยชน์เช่น แอลกอฮอล์ สารกระตุ้นประสาท เป็นต้น อาหารบางอย่างทำให้เกิดการบำรุงสมองได้ทำให้ไม่เครียดเช่น กล้วย บล็อกโคลี่ ผักโขม นม ธัญพืช ส้ม เป็นต้น
บรรณานุกรม
1. ธรณินทร์ กองสุข และคณะ. ความน่าเชื่อถือและความเที่ยงตรงของแบบประเมินอาการโรคซึมเศร้าด้วย 9 คำถามเมื่อเทียบกับแบบประเมิน Hamilton Rating Scale for Depression (HRSD-17). นำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 9 ประจำปี 2553
2. มาโนช หล่อตระกูล. (2550). เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า. กรุงเทพฯฯ: วิสุทธิ์การพิมพ์.
3. มาโนช หล่อตระกูล,และปราโมทย์ สุคนิชย์. (2548). จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี(พิมพ์ครั้งที่ 2). (หน้า 143-159). กรุงเทพฯฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรช์ จำกัด.
4. สมภพ เรืองตระกูล. (2548). ตำราจิตเวชศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่9). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์เรือนแกวการพิมพ์
5. สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล. (2550). สาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้า. (โรคซึมเศร้า จากการทบทวนวรรณกรรม). กรุงเทพฯ: ศิริธรรมออฟเซ็ท.
6. American Psychiatric Association. (2000). Diagnosis and statistical manual of mental disorder. (4thed.). Text revision. Washington, DC: American Psychiatric Association.
7. A. Lieberman (2005). Depression in Parkinson’s disease – a review. Acta Neurologica Scandinavica February.
8. World Health Organization (1992). International Classification of Diseases Tenth Revision (ICD-10).
9. Nelson JC, Davis JM (1997). DST studies in psychotic depression: a meta-analysis. American Journal of Psychiatry, 154: 1497–1503.
10. Shyn S.I& Hamilton S.P. (2010).The genetics of major depression: Moving beyond the monoamine. Psychiatr Clin North Am. 2010 March ; 33(1): 125–140.
11. Bauer M, et al. (2007) World Federation of Societies of Biological Psychiatry (WFSBP) Guidelines for Biological Treatment of Unipolar Depressive Disorders in Primary Care. The World Journal of Biological Psychiatry; 8(2): 67-104