พิเพอราซิลลิน (Piperacillin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- พิเพอราซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- พิเพอราซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พิเพอราซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พิเพอราซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- พิเพอราซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พิเพอราซิลลินอย่างไร?
- พิเพอราซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพิเพอราซิลลินอย่างไร?
- เพอราซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ทาโซแบคแตม (Tazobactam)
- ยูเรโดเพนิซิลลิน (Ureidopenicillin)
- เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- คาร์บาเพเนม (Carbapenem)
บทนำ: คือยาอะไร?
พิเพอราซิลลิน (Piperacillin) คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มเบต้าแลคแทม (Beta-lactam antibiotic) ในสถานพยาบาลแพทย์จะใช้ยาพิเพอราซิลลินเพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Pseudomonas aeruginosa, โดยมีรูปแบบยาแผนปัจุบันเป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
พิเพอราซิลลิน จัดอยู่ในกลุ่มยา ยูเรโดเพนิซิลลิน/Ureidopenicillins หากใช้ในลักษณะของยาเดี่ยวจะด้อยประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก เช่น Staphylococcus aureus จึงใช้ยาพิเพอราซิลลินร่วมกับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านทานเอนไซม์เบต้า-แลคแทมเมส (Beta-lactamase inhibitor) เช่นยา ทาโซแบคแตม/ Tazobactam ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียของยาพิเพอราซิลลินเป็นไปอย่างดี อย่างไรก็ตามการใช้ยาร่วมกันของยาพิเพอราซิลลิน กับยา Tazobactam ก็ไม่สามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียประเภทดื้อยาที่เรียกว่า Methicillin-resistant staphylococcus aureus
ดังนั้น หากมองในภาพรวม ประโยชน์ทางคลินิกของยาพิเพอราซิลลิน (โดยต้องใช้ร่วมกับยา Tazobactam) คือรักษาอาการติดเชื้อในช่องท้อง, ผิวหนังติดเชื้อ, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, การติดเชื้อในปอด/โรคปอดบวม, และหากต้องการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไต แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดของยานี้ลงเพื่อให้เหมาะ สมต่อการกำจัดยาออกจากร่างกาย
ยาพิเพอราซิลลิน เป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำไปใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสได้ สามารถใช้ได้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้ใหญ่ ปลอดภัยในการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ด้วยไม่ก่อให้เกิดภาวะพิการต่อทารกในครรภ์ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากจะให้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเพราะยานี้มีอยู่ในน้ำนมได้ถึงแม้จะในปริมาณน้อยก็ตาม
ยานึ้ ไม่สามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหาร จึงต้องให้ยากับผู้ป่วยโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ, ตัวยาส่วนมากที่เข้าสู่กระแสเลือดจะไม่ค่อยถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลเท่าใดนัก, ร่างกายใช้เวลาเพียงประมาณ 36 - 72 นาทีก็สามารถกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้บรรจุให้ยาพิเพอราซิลลินที่ใช้ควบคู่กับยา Tazobatam อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์การใช้ ดังนี้
- กรณีที่ผู้ป่วยใช้ยากลุ่ม Third generation Cephalosporins ในการรักษาไม่ได้ และให้พิจารณาเลือกใช้ก่อนใช้ยากลุ่ม Carbapenems เช่น รักษาปอดบวม, การติดเชื้อที่ผิวหนังที่มีความรุนแรงและซับซ้อน, รวมถึงการติดเชื้อในช่องท้อง, อาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Febrile neutropenia)
- ใช้ในกรณีเฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงหลังการใช้ยาพิเพอราซิลลินเท่าทีพบเห็นอยู่บ่อยๆ เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดหัว และนอนไม่หลับ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น, และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเภสัชกรในสถานพยาบาลหรือเภสัชที่ประจำตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
พิเพอราซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาพิเพอราซิลลินที่ผสมร่วมกับยา Tazobactam มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการรักษาเช่น
- การติดเชื้อภายในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบที่เกิดภาวะไส้ติ่งแตก
- โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- โรคปอดบวม
- การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- การติดเชื้อของเนื้อเยื่อชั้นลึกบริเวณคอ (Deep neck infection)
- บำบัดอาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ (Febrile neutropenia)
- ข้ออักเสบติดเชื้อ
- กระดูกอักเสบ
- กรวยไตอักเสบ
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
พิเพอราซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาพิเพอราซิลลิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้ายับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ และตายลงในที่สุด
พิเพอราซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพิเพอราซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีด ขนาด 2 กรัม/ขวด
- ยาฉีดที่ผสมร่วมกับยา Tazobactam: เช่น
- Piperacillin Na 2 กรัม + Tazobactam Na 25 กรัม
- Piperacillin Na 3 กรัม + Tazobactam Na 375 กรัม
- Piperacillin Na 4 กรัม + Tazobactam Na 0.5 กรัม
พิเพอราซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
เนื่องจากขนาดยา/การบริหารยาพิเพอราซิลลินที่ใช้รักษาโรคต่างๆจะขึ้นกับชนิดโรคและความรุนแรงของอาการ ดังนั้นจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างของขนาดการบริหารยาพิเพอราซิลลินที่ใช้ในการติดเชื้อภายในช่องท้อง, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, การติดเชื้อที่ผิวหนัง, หรือการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยา Piperacillin 3 กรัม + Tazobactam 0.375 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง, หรือฉีดยา Piperacillin 4 กรัม + Tazobactam 0.5 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง, ระยะเวลาของการใช้ยาอยู่ระหว่าง 7 - 10 วันโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): สำหรับการใช้ยานี้กับเด็ก เท่าที่พบเห็นในทางคลินิกมักจะเป็นการรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และภาวะไส้ติ่งอักเสบ ขนาดการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยคำนวณจากอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพิเพอราซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
ทั่วไป ในสถานพยาบาลจะมีตารางการให้ยาผู้ป่วยโดยมีบุคคลากรทางการแพทย์คอยดูแลกำกับและรับผิดชอบ กรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยได้รับยาตรงตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ ผู้ป่วย/ญาติสามารถสอบถามจากบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยได้ตลอดเวลา
พิเพอราซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพิเพอราซิลลินมีสูตรตำรับผสมกับยา Tazobactam ที่สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยรวม เช่น
- ท้องเสีย
- ปวดกระเพาะปัสสาวะ
- ใบหน้า-แขน-ขา-มือ-เท้ามีอาการบวม
- ตาพร่า
- รู้สึกแสบบริเวณช่องท้องส่วนบน
- ปวดท้อง
- เจ็บหน้าอก
- สับสน
- วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
- มีไข้
- เหงื่อออกมาก
- ปวดหัว
- ปวดหลังช่วงล่างหรือไม่ก็ด้านข้าง
- คลื่นไส้อาเจียน
- แสบร้อนบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- ชีพจรเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว
- หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
มีข้อควรระวังการใช้พิเพอราซิลลินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพิเพอราซิลลิน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- หลังการใช้ยานี้ อาจมีอาการวิงเวียน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร
- ตัวยากลุ่มนี้อาจลดการทำงานของเกล็ดเลือด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บเพราะหากมีเลือดออกจะทำให้การแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติ
- ยานี้ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อโรคหวัดที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส
- การใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาพิเพอราซิลลินไม่สามารถต่อต้านได้ เช่น โรคเชื้อรา
- หากพบอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือดต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันทีด้วยอาจมีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบที่เรียกกันว่า Pseudomembranous colitis
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจกระทบต่อการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด และ ทำให้การแปลผลของระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานผิดเพี้ยน ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าขณะนี้หรือไม่นานมานี้เพิ่งได้รับยากลุ่มพิเพอราซิลลิน
- การใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ด้วยสภาพและอาการของผู้ป่วยต้องได้รับการปรับขนาดยานี้ให้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิเพอราซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
พิเพอราซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพิเพอราซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาพิเพอราซิลลิน ร่วมกับยา Methotrexate อาจทำให้ระดับของยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยา Methotrexate อย่างเช่น คลื่นไส้อาเจียน ปากเป็นแผล หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาพิเพอราซิลลิน ร่วมกับยา Amikacin อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของ Amikacin ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาพิเพอราซิลลิน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่นยา Ethinyl estradiol จะทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลง ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือต้องใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาพิเพอราซิลลินร่วมกับยากลุ่ม Tetracycline อาจทำให้การออกฤทธิ์ของพิเพอราซิลลินด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาพิเพอราซิลลินอย่างไร?
ควรเก็บยาพิเพอราซิลลิน: เช่น
- เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุมาในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิด ชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
พิเพอราซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพิเพอราซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Astaz-P (แอสทาซ-พี) | Sandoz |
Pipertaz (ไพเพอร์ทาซ) | Great Eastern |
Pipracil (พิพราซิล) | Wyeth |
Tazocin (ทาโซซิน) | Pfizer |
Tebranic (ทีบรานิค) | AstraZeneca |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Piperacillin [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/pro/piperacillin-and-tazobactam.html [2022,Sept17]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/piperacillin?mtype=generic [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/piperacillin%20+%20tazobactam?mtype=generic [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Pipracil/ [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/dosage/piperacillin-tazobactam.html [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/piperacillin-tazobactam-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=piperacillin [2022,Sept17]