คาร์บาเพเนม (Carbapenem)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาคาร์บาเพเนม (Carbapenem) คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างเคมีที่เรียกว่า เบต้า- แลคแตม (Beta-Lactam antibiobics) สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด คาร์บาเพเนมเป็นอนุพันธุ์ทางธรรมชาติที่พัฒนามาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptomyces cattleya ทางคลินิกจัดให้ยากลุ่มนี้เป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากใช้ยาต้านแบคทีเรียกลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล

กลุ่มแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อคาร์บาเพเนม เช่น แบคที่เรียชนิดแกรมบวก (Gram+) แกรมลบ (Gram -) และ แอนแอโรบิก (Anaerobic bacteria) ยาหลายตัวในกลุ่มนี้ที่ผ่านการรับรองทางคลินิกและมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของทางการแพทย์อาทิ

  • Imipenem ปกติต้องใช้ควบคู่กับยา Cilastatin ด้วย Imipenem ถูกทำลายด้วยเอนไซม์ในไตของมนุษย์ที่มีชื่อว่า Dehydropeptidase
  • Ertapenem ชื่อการค้าที่รู้จักดีคือ Invanz จะออกฤทธิ์ระยะสั้นซึ่งต้องให้ยาผู้ป่วยทุก 6 - 8 ชั่วโมง
  • Doripenem ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Finibax และ Doribax
  • Meropenem ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Merrem
  • Panipenem ต้องใช้ร่วมกับยา Betamipron เพื่อช่วยยับยั้งการดูดกลับของ Panipenem เข้าสู่ท่อไตจึงช่วยป้องกันอาการไตเป็นพิษ
  • Biapenem มักถูกใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลุ่มแอนแอโรบิคแบคทีเรีย (Anaerobes/Anaero bic bacteria )

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาอื่นที่อยู่ระหว่างการวิจัย-พัฒนา เช่นยา

  • Razupenem เป็นยาที่พัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาคาร์บาเพเนม
  • Tebipenem เป็นยาที่ถูกพัฒนาให้เป็นยารับประทาน
  • Lenapenem และ Tomopenem พัฒนาให้มีประสิทธิภาพการรักษาที่ดีกว่า

ปัจจุบันมีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษพบกลุ่มแบคทีเรียที่พัฒนาสายพันธุ์และทนต่อยากลุ่มคาร์บาเพเนม โดยมีผู้ป่วยจากประเทศปากีสถาน บังคลาเทศ และอินเดีย ที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียกลุ่มนี้ซึ่งถูกขนานนามตามพันธุกรรมว่า New delhi metallo beta-lactamase (NDM-1) โดยตัวมันจะสร้างเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Metallo-beta-lactamase ที่สามารถทำลายโครงสร้างของยากลุ่มคาร์บาเพเนมได้

ยาคาร์บาเพเนมแทบทุกตัวที่ถูกขึ้นทะเบียนรับรองการใช้ทางคลินิกจะเป็นยาฉีด ส่วนรูปแบบยารับประทานยังอยู่ในช่วงการพัฒนา เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลเท่านั้น

คาร์บาเพเนมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

คาร์บาเพเนม

ยาคาร์บาเพเนมมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ (โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ) เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม และหลอดลมอักเสบ
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
  • รักษาการติดเชื้อในกระดูก (กระดูกอักเสบ) ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • รักษาการติดเชื้อตามข้อต่อต่างๆของร่างกาย(ข้ออักเสบติดเชื้อ)
  • รักษาการติดเชื้อของลิ้นหัวใจ และของเยื่อหุ้มหัวใจ(เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ)
  • รักษาการติดเชื้อของมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ), ของอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) และของท่อปัสสาวะ (ท่อปัสสาวะอักเสบ)
  • ป้องกันการติดเชื้อแบบลุกลามจากแบคทีเรีย
  • รักษาการติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้อง
  • รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกต่างๆ
  • รักษาการติดเชื้อของไตและท่อไต (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
  • รักษาการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ) และในโพรงไขสันหลัง (ไขสัน หลังอักเสบ)
  • รักษาอาการ Lemierre’s syndrome (การติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงในช่องคอที่อาจเป็นสา เหตุให้ตายได้)

คาร์บาเพเนมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มคาร์บาเพเนมคือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ (เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย โดยตัวยาจะเข้าจับกับเอนไซม์ที่จำเป็นในการสังเคราะห์ผนังเซลล์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Penicillin-binding protein enzymes ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

คาร์บาเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์บาเพเนมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีดในรูปของยาเดี่ยว
  • ยาฉีดที่ต้องผสมร่วมกับยาอื่น

คาร์บาเพเนมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ปัจจุบันยาคาร์บาเพเนม มีการบริหารยา/การใช้ยาเป็นลักษณะของยาฉีด ขนาดและระยะเวลาของการใช้ รวมถึงความถี่ของการให้ยา จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยอาศัยข้อมูลของโรคหรือชนิดของเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึง อายุ, น้ำหนักตัว, โรคประจำตัวของผู้ป่วย, คุณสมบัติของตัวยาแต่ละตัวในกลุ่มคาร์บาเพเนม, มาเป็นองค์ประกอบร่วมในการใช้ยาที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาร์บาเพเนม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์บาเพเนม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

คาร์บาเพเนมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มคาร์บาเพเนม สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการระคายเคืองในบริเวณที่ฉีดยา
  • ตัวสั่น
  • ท้องเสีย
  • ผื่นคัน
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ลำไส้อักเสบ
  • ไตทำงานผิดปกติ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ในบางรายอาจพบอาการชัก

มีข้อควรระวังการใช้คาร์บาเพเนมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์บาเพเนม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Carbapenem, Penicillins , และยาปฏิชีวนะที่มีโครงสร้างของเบต้า-แลคแตม (Beta lactam)เป็นองค์ประกอบหลัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคาร์บาเพเนมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คาร์บาเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาร์บาเพเนมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาคาร์บาเพเนม เช่นยา Meropenem, หรือ Imipenem ร่วมกับ ยากันชัก เช่นยา Valproic acid จะทำให้ระดับความเข้มข้นของยารักษาอาการชักในกระแสเลือดลดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยา Ertapenem ร่วมกับยา Tramadol อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการชัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ, ผู้ที่ติดสุรา, หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักอยู่แล้ว หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Meropenem ร่วมกับวัคซีนชนิดใช้แบคทีเรียมีชีวิตที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น วัคซีนป้องกันไทฟอยด์ ด้วยยา Meropenem จะทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพลงไป ควรหยุดการใช้ยา Meropenem อย่างน้อย 3 วันขึ้นไป จึงจะสามารถให้วัคซีนดังกล่าวกับผู้ป่วยได้

ควรเก็บรักษาคาร์บาเพเนมอย่างไร?

ควรเก็บยาคาร์บาเพเนม:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

คาร์บาเพเนมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาร์บาเพเนม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Doribax (ดอริแบค)Janssen-Cilag
Bacqure (แบคเคอร์)Ranbaxy
Cilapenem (ซิลาเพเนม)Jeli Pharm
Imepen (อิเมเพน)SRS Pharma
Prepenem (พรีเพเนม)JW Pharmaceutical
Tienam (ทีแนม)MSD
Yungjin Imipenem-Cilastatin Injection (ยังจิน ไอมิเพเนม-ซิลาสแตติน อินเจ็กชั่น)Yungjin Pharm
Bestinem (เบสติเนม)Ranbaxy
Enem (อีเนม)MacroPhar
Invanz (อินแวนซ์)MSD
Mapenem (มาเพเนม)Siam Bheasach
Meronem (เมอโรเนม)AstraZeneca
Mero (เมอโร)T.Man Pharma
Monem (โมเนม)Biolab
Nemmed (เนมเมด)Millimed
Penem (เพเนม)M & H Manufacturing
Romenem (โรเมเนม)L. B. S.
Zaxter (แซ็กเตอร์)Alkem

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbapenem [2021,June19]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/carbapenems.html [2021,June19]
  3. http://www.antibioticslist.com/carbapenems.html [2021,June19]
  4. https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/bacteria-and-antibacterial-drugs/carbapenems [2021,June19]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ertapenem [2021,June19]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=Doripenem [2021,June19]