ยูเรโดเพนิซิลลิน (Ureidopenicillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยายูเรโดเพนิซิลลิน (Ureidopenicillin) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรงเช่น Pseudomonas aeruginosa โดยแบ่งออกเป็น 3 รายการย่อย ดังนี้

  • Azlocillin: ใช้ต่อต้านแบคทีเรียจำพวก Pseudomonas aeruginosa, Escherichia coli และ Haemophilus influenzae ตัวยานี้มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยาในกลุ่มเดียวกันอีกสองตัวคือ Mezlocillin และ Piperacillin มีการออกฤทธิ์โดยไปรบกวนการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียส่งผลให้เซลล์แบคทีเรียแตกและเกิดการทำลายตัวเอง ตัวยาไม่สามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารจึง ต้องใช้ในลักษณะของยาฉีด ตัวยาจะอยู่ในร่างกายได้ประมาณ 1.3 - 1.5 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกกำจัดออกไปจากกระแสเลือด เมื่อมีการใช้ยา Azlocillin แพทย์มักจะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ร่วมกับยาบางจำพวก เช่น Acenocoumarol/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, Amikacin, Biotin/วิตามินชนิดหนึ่ง, Doxycy cline, Gentamycin และ Methotrexate ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้สามารถเกิดปฏิกิริยาและรบกวนการออกฤทธิ์ของ Azlocillin ได้ทั้งสิ้น
  • Mezlocillin: เป็นยาในกลุ่มเพนิซิลลินที่ออกฤทธิ์ได้กว้างขวาง สามารถต่อต้านแบคทีเรียได้ทั้งชนิดแกรมลบและแกรมบวก (Gram negative and Gram positive bacteria) มีสรรพคุณต้านการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอดและที่ระบบทางเดินปัสสาวะ กลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยา Azlocillin และ Piperacillin โดยตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 16 - 59% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลของยา Mezlocillin อย่างต่อเนื่องก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีด ยา Mezlocillin ยังสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้เช่นเดียวกันกับยา Azlocillin
  • Piperacillin: ในสถานพยาบาลแพทย์จะใช้ยา Piperacillin เพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Pseudomonas aeruginosa โดยใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านทานเอนไซม์เบต้า-แลคแทมเมส (Beta-lactamase inhibitor) เช่น ยา Tazobactam ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียเป็นไปอย่างดี แต่ไม่สามารถต่อต้านเชื้อดื้อยาประเภท Methicillin-resistant staphylococcus aureus ประโยชน์ทางคลินิกของพิเพอราซิลลินคือ รักษาอาการติดเชื้อในช่องท้อง การติดเชื้อที่ผิวหนัง การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน รักษาอาการโรคปอดบวม และมีความปลอดภัยในการใช้กับสตรีตั้งครรภ์ด้วยไม่ก่อให้เกิดภาวะพิการต่อทารกในครรภ์ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังหากจะใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยานี้ไม่สามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารจึงต้องให้ยากับผู้ป่วยโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อเท่านั้น ผลข้างเคียงหลังการใช้ยานี้เท่าที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ เช่น ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดศีรษะ และนอนไม่หลับ

ทั้งนี้ธรรมชาติของกลุ่มยายูเรโดเพนิซิลลินไม่สามารถทนทานต่อเอนไซม์จากแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า Beta-lactamases ด้วยเอนไซม์นี้สามารถทำลายโครงสร้างของยายูเรโดเพนิซิลลิน และทำให้ตัวยานี้หมดฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย

สำหรับประเทศไทยได้บรรจุให้ยา Piperacillin เพียง 1 รายการลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ

อนึ่งด้วยยายูเรโดเพนิซิลลินมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด จึงทำให้เราสามารถพบเห็นการ ใช้ยากลุ่มนี้ได้แต่ในสถานพยาบาล และการใช้ยาต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ยูเรโดเพนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยูเรโดเพนิซิลลิน

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาการใช้ยากลุ่มยูเรโดเพนิซิลลิน แพทย์อาจต้องใช้ยานี้ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัวเช่น Tazobactam ทางคลินิกสามารถนำยายูเรโดเพนิซิลลินไปรักษาอาการโรคได้อย่างมากมายอาทิเช่น

  • การติดเชื้อภายในช่องท้องเช่น ไส้ติ่งอักเสบจนแตก
  • การติดเชื้อที่ผิวหนังและที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Skin and soft tissue infection)
  • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
  • เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis)
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
  • โรคปอดบวม (Pneumonia)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Bacteremia)
  • การติดเชื้อของเนื้อเยื่อชั้นลึกบริเวณคอ (Deep neck infection)
  • บำบัดอาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ (Febrile neutropenia)
  • การติดเชื้อตามข้อกระดูก (Joint infection)
  • กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
  • กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

ยูเรโดเพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยูเรโดเพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้ายับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้เซลล์แบคทีเรียแตกออก เกิดย่อยทำลายจนส่งผลให้หยุดการเจริญเติบโตไม่สามารถแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

ยูเรโดเพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยายูเรโดเพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดที่เป็นยาเดี่ยวและยาฉีดที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Tazobactam

ยูเรโดเพนิซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ทางคลินิกมีการใช้ยายูเรโดเพนิซิลลินได้ทั้งผู้ใหญ่และในเด็ก โดยขนาดการใช้ยาที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ทั้งนี้เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ต้นเหตุของอาการป่วยมาจากแบคทีเรียชนิดใด เกิดที่อวัยวะใดของร่างกาย ความรุนแรงของโรค อายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้นการใช้ยาและขนาดยานี้จึงแตกต่างกันเป็นกรณีๆไปจึงไม่ขอกล่าวในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยายูเรโดเพนิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยายูเรโดเพนิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

ปกติในสถานพยาบาลจะมีตารางการให้ยาผู้ป่วยโดยมีบุคคลากรทางการแพทย์คอยดูแลกำกับและรับผิดชอบ กรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยได้รับยาตรงตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ ผู้ป่วย/ญาติสามารถสอบถามจากบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลได้ตลอดเวลา

ยูเรโดเพนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยายูเรโดเพนิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยรวมได้ดังนี้เช่น มีอาการท้องเสีย ปวดกระเพาะปัสสาวะ ใบหน้า-แขน-ขา-มือ-เท้ามีอาการบวม ตาพร่า รู้สึกแสบบริเวณช่องท้องส่วนบน ปวดท้อง เจ็บหน้าอก รู้สึกสับสน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม มีไข้ เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ปวดหลังช่วงล่างหรือไม่ก็ด้านข้าง คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า มีผื่นคันตามผิวหนัง ชีพจรเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้ยูเรโดเพนิซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยายูเรโดเพนิซิลลินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • หลังการใช้ยานี้อาจมีอาการวิงเวียนผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือ ทำงานกับเครื่องจักร
  • ตัวยากลุ่มนี้อาจลดการทำงานของเกล็ดเลือด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บเพราะหากมีเลือดออกจะทำให้การแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติ
  • ยานี้ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อโรคหวัดที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ Ureidopenicillin ไม่สามารถต่อต้านได้เช่น กลุ่มเชื้อรา
  • หากพบอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือดหลังใช้ยานี้ ต้องรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีด้วยอาจมีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบจากยานี้ที่เรียกกันว่า Pseudomembranous colitis
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานอาจกระทบต่อการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ด้วยสภาพและอาการของผู้ป่วยต้องได้รับการปรับขนาดยาให้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายูเรโดเพนิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยูเรโดเพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยายูเรโดเพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ Piperacillin ร่วมกับยา Methotrexate อาจทำให้ระดับของยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของ Methotrexate อย่างเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากเป็นแผล หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ Azlocillin ร่วมกับยา Amikacin อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยา Amikacin ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ Mezlocillin ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น Acenocoumarol อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายูเรโดเพนิซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บยายูเรโดเพนิซิลลินตามเงื่อนไขที่ระบุมาในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยูเรโดเพนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยายูเรโดเพนิซิลลินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Alocillin (อะโลซิลลิน) Panbiotic
Azlocillin Actavis (แอสโลซิลลิน แอคทาวิส) Actavis
Baypen (บีเพน) Bayer
Astaz-P (แอสทาซ-พี) Sandoz
Pipertaz (ไพเพอร์ทาซ) Great Eastern
Pipracil (พิพราซิล) Wyeth
Tazocin (ทาโซซิน) Pfizer
Tebranic (ทีบรานิค) AstraZeneca

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Ureidopenicillin [2016,Jan16]
  2. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01061 [2016,Jan16]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Mezlocillin [2016,Jan16]
  4. http://www.drugbank.ca/drugs/DB00948 [2016,Jan16]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Piperacillin [2016,Jan16]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/84#item-8586 [2016,Jan16]
  7. http://en.academic.ru/dic.nsf/enwiki/4185701/Ureidopenicillin [2016,Jan16]
  8. http://www.epharmapedia.com/medicine/profile/129191/Baypen.html?lang=en&tab=druginfo [2016,Jan16]
  9. http://www.drugs.com/international/mezlocillin.html [2016,Jan16]
  10. http://www.drugs.com/international/azlocillin.html [2016,Jan16]