ทาโซแบคแตม (Tazobactam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ทาโซแบคแตมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ทาโซแบคแตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทาโซแบคแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทาโซแบคแตมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- ทาโซแบคแตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทาโซแบคแตมอย่างไร?
- ทาโซแบคแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทาโซแบคแตมอย่างไร?
- ทาโซแบคแตมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- พิเพอราซิลลิน (Piperacillin)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ทาโซแบคแตม (Tazobactam หรือ Tazobactam sodium) คือ ยาปฏิชีวนะ/ยาใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย, โดยยานี้มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียกลุ่มเชื้อดื้อยาที่ดื้อต่อยากลุ่มเพนิซิลลิน, มักใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะอีกชนิดที่ชื่อ ‘Piperacillin’, โดยรูปแบบของยาจะเป็นชนิดยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (IV injection)
ยาทาโซแบคแตม มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 'เบต้า-แลคแตมเมส/ Beta-lactamases' จากแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียสูญเสียความสามารถในการดื้อยา, ซึ่งรูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาฉีดเท่านั้น, คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และต้องใช้ยานี้ควบคู่กับยา Piperacillin ด้วยวัตถุประสงค์การใช้ เช่น
- กรณีที่ใช้ยากลุ่ม Third generation cephalosporins ในการรักษาไม่ได้ และให้พิจารณาเลือกใช้ก่อนใช้ยากลุ่ม Carbapenems เช่น รักษาปอดบวม, การติดเชื้อที่ผิวหนังที่มีความรุนแรงและซับซ้อน, รวมถึงการติดเชื้อในช่องท้อง, อาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลต่ำ (Febrile neutropenia)
- ใช้ในกรณีเฉพาะ ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ
อนึ่ง: ทั่วไปจะพบเห็นการใช้ยาทาโซแบคแตมแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาทาโซแบคแตมได้จากแพทย์/เภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลที่เข้ารับบริการ
ทาโซแบคแตมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ทางคลินิกจะใช้ยาทาโซแบคแตม ร่วมกับยา Piperacillin เพื่อใช้รักษาอาการป่วยจากโรคต่างๆ และช่วยรักษาการติดเชื้อที่ดื้อต่อยากลุ่มเพนิซิลลิน: เช่น
- การติดเชื้อภายในช่องท้อง เช่น กรณีไส้ติ่งอักเสบจนแตก
- การติดเชื้อที่ผิวหนังและที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Skin and soft tissue infection)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- โรคปอดบวม
- การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ
- การติดเชื้อของเนื้อเยื่อชั้นลึกบริเวณคอ (Deep neck infection)
- บำบัดอาการไข้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ (Febrile neutropenia)
- ข้ออักเสบติดเชื้อ
- กระดูกอักเสบ
- กรวยไตอักเสบ
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ทาโซแบคแตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทาโซแบคแตมมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 'เบต้าแลคแตมเมส' จากแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียสูญเสียคุณสมบัติของการต่อต้านกลุ่มยาเพนิซิลลิน (ตัวยากลุ่มเพนิซิลลินจะทำหน้าที่หยุดการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย), ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถขยายพันธุ์, และตายลงในที่สุด
ทาโซแบคแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทาโซแบคแตม มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดที่ผสมร่วมกับยา Piperacillin เช่น
- Piperacillin sodium/Na 2 กรัม + Tazobactam Na 25 กรัม
- Piperacillin sodium 3 กรัม + Tazobactam Na 375 กรัม
- Piperacillin sodium 4 กรัม + Tazobactam Na 0.5 กรัม
ทาโซแบคแตมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาทาโซแบคแตมมีขนาดการใช้ยาขึ้นกับแต่ละชนิดอาการ/โรค, ชนิดของแบคทีเรีย, ความรุนแรงของอาการ, ดังนั้นขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดยานี้ที่ใช้ในการติดเชื้อภายในช่องท้อง, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ผิวหนังติดเชื้อ, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยา Piperacillin 3 กรัม + Tazobactam 0.375 กรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมง, หรือฉีดยา Piperacillin 4 กรัม + Tazobactam 0.5 กรัม เข้าหลอดเลือดดำทุก 8 ชั่วโมง, ระยะเวลาของการใช้ยาอยู่ระหว่าง 7 - 10 วัน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): สำหรับการใช้ยานี้กับเด็ก เท่าที่พบเห็นบ่อยในทางคลินิกมักจะเป็นการใช้รักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบและภาวะไส้ติ่งอักเสบ, โดยขนาดการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และคำนวณจากอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก
******หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทาโซแบคแตม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทาโซแบคแตมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
ทั่วไปในสถานพยาบาลจะมีตารางการให้ยาผู้ป่วย โดยมีบุคคลากรทางการแพทย์คอยดูแลกำกับและรับผิดชอบ กรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยได้รับยาตรงตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ ผู้ป่วย/ญาติ สามารถสอบถามจากบุคลากรทางการแพทย์ที่รับผิดชอบดูแลได้ตลอดเวลา
ทาโซแบคแตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทาโซแบคแตมที่มีสูตรตำรับผสมกับยา Piperacillin สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- ปวดกระเพาะปัสสาวะ
- ใบหน้า-แขน-ขา-มือ-เท้า มีอาการบวม
- ตาพร่า
- รู้สึกแสบบริเวณช่องท้องส่วนบน, ปวดท้อง
- เจ็บหน้าอก
- รู้สึกสับสน วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม
- มีไข้
- เหงื่อออกมาก
- ปวดหัว
- ปวดหลังช่วงล่าง หรือไม่ก็ด้านข้าง
- คลื่นไส้อาเจียน
- แสบร้อนบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- ชีพจรเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว
- อาจหายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ทาโซแบคแตมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทาโซแบคแตม: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- หลังการใช้ยานี้ อาจมีอาการวิงเวียน ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร
- ตัวยากลุ่มนี้อาจลดการทำงานของเกล็ดเลือด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ เพราะหากมีเลือดออกจะทำให้การแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติ
- ยานี้ไม่สามารถรักษาอาการของโรคติดเชื้อไวรัส
- การใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นได้ เช่น โรคเชื้อรา
- หากพบอาการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือดต้องรีบแจ้งแพทย์ทันทีด้วยอาจมีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่เรียกกันว่า Pseudomembranous colitis
- การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น ด้วยสภาพและอาการของผู้ป่วยต้องได้รับการปรับขนาดยาให้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทาโซแบคแตมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทาโซแบคแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทาโซแบคแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาทาโซแบคแตม ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Dicoumarol สามารถทำให้การออกฤทธิ์ของ Dicoumarol เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาทาโซแบคแตม ร่วมกับยา Picosulfate สามารถทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของ Picosulfate ด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาทาโซแบคแตมอย่างไร?
ควรเก็บยาทาโซแบคแตม: เช่น
- เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุมาในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิด ชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทาโซแบคแตมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทาโซแบคแตม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Astaz-P (แอสทาซ-พี) | Sandoz |
Pipertaz (ไพเพอร์ทาซ) | Great Eastern |
Tazocin (ทาโซซิน) | Pfizer |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tazobactam [2022,Sept17]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB01606 [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/dosage/piperacillin-tazobactam.html [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/piperacillin-tazobactam.html [2022,Sept17]