1. ตลาดโรงพยาบาล - ตอนที่ 6

ข้อมูลจากศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า โครงสร้างรายได้ (Revenue structure) ของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่มาจากค่ายาซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดอยู่ที่ 35.2% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ รายได้จากบริการทางการแพทย์ 20.0%, การวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และห้องเอ็กซเรย์ 13.7%, ห้องพักผู้ป่วย 8.5% และอื่นๆ 22.6%

จำนวนผู้ป่วย (Patient census) ของโรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ 61.6 ล้านราย (ข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ. 2559) แบ่งเป็น ผู้ป่วยนอก 58.8 ล้านราย (สัดส่วน 95.5% ของผู้ป่วยทั้งหมด) และผู้ป่วยใน 2.8 ล้านราย (สัดส่วน 4.5% ของผู้ป่วยทั้งหมด) โดยกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดคือ 32.2 ล้านราย (52.2% ของผู้ป่วยทั้งหมด)

รองลงมาคือ ภาคกลาง (29.1% ของผู้ป่วยทั้งหมด), ภาคเหนือ (8.0% ของผู้ป่วยทั้งหมด), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (5.4% ของผู้ป่วยทั้งหมด), และภาคใต้ (5.3% ของผู้ป่วยทั้งหมด) ทั้งนี้ ผู้ป่วยชาวไทยมีสัดส่วน 93.1% ของผู้ป่วยทั้งหมด (เป็นผู้ป่วยนอก 82.6% และผู้ป่วยใน 10.5%) ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติมีเพียง 6.9% ของผู้ป่วยทั้งหมด (เป็นผู้ป่วยนอก 6.6% และผู้ป่วยใน 0.3%)

กลุ่มนักท่องเที่ยว (Tourist) ทั่วไป และนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourist) มีสัดส่วนรวมกัน 80% ของผู้ป่วยต่างชาติทั้งหมด และกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย (Expatriate) มีสัดส่วนอีก 20% ส่วนประเทศที่มีผู้ป่วยมารักษาในไทยมากที่สุด ได้แก่ เมียนมา, ญี่ปุ่น, ตะวันออกกลาง, และยุโรป 

สำหรับปี 2561 ประเทศไทยมีชาวต่างชาติใช้บริการรวม 3.4 ล้านครั้ง (Visit) สร้างรายได้รวม 1.4 แสนล้านบาท เป็นกลุ่ม นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 2.8 ล้านครั้ง และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 6.2 แสนครั้ง

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโดยภาพรวมมีความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้อ่อนไหว (Sensitive) ต่อความผันผวนของเศรษฐกิจน้อยกว่าธุรกิจบริการอื่นๆ ทั้งยังสามารถผลักภาระ (Burden) ค่าใช้จ่ายไปยังผู้ใช้บริการได้ง่าย ขนาดของโรงพยาบาลมีผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive) และความสามารถในการทำกำไร

โรงพยาบาลขนาดใหญ่มักมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง (Solid) และมีเครือข่ายมากจึงมีความได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) เนื่องจากสามารถใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกันได้ อาทิ การซื้อยา, เวชภัณฑ์, และอุปกรณ์การแพทย์ นอกจากนี้ การเข้าถึงผู้ใช้บริการหลายระดับทำให้สามารถรับแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าขนาดกลางและเล็ก ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากแหล่งข่าว PPTVhd36 รายงานว่า ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง กำลังซื้อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ (Inflation) และค่าครองชีพ (Cost of living) สูง กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพ (Health insurance) ถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่จะช่วยหนุนรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ต่อจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และรายได้จากวัคซีนที่ทยอยหมดลง

จากข้อมูลโครงสร้างการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคนไข้โรงพยาบาลเอกชนจาก Fitch Solutions [บริษัทวิจัยตลาดระดับสากล] พบว่า คนไข้ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง (Self-pay) มีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาเป็นลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มโรงพยาบาลในเครือ BDMS ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด (Market leader)

แหล่งข้อมูล -

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals [2023, May 5].
  2. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99/179660 [2023, May 5].