1. ตลาดโรงพยาบาล - ตอนที่ 1

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2563 - 2565 ผลประกอบการของโรงพยาบาลเอกชน ได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกำลังซื้อของผู้ป่วยชาวไทยและผู้ป่วยชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหดตัวลงประมาณ 10.0 - 12.0%

แต่ใน ปี พ.ศ. 2566 คาดว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะกลับมาฟื้นตัว (Turn-around) โดยได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Geriatric), การขยายตัวของชุมชนเมืองและการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง, และกระแสการดูแลสุขภาพกำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก

ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน ได้เร่งขยายการลงทุนในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic partner) กับคลินิกเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในนานาระดับ และขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Non-hospital business) เพื่อให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีสายโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่ครบวงจรรองรับความต้องการใช้บริการที่หลากหลาย

ในกรณีโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมาก จะมีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุน, บุคลากร, และการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการ ส่วนโรงพยาบาลที่ไม่มีเครือข่าย (Stand-alone) ต่างก็เร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity) ในการแข่งขันในทุกช่องทาง (Channel) ท่ามกลางปัจจัยท้าทาย (Challenge) ด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่และคู่แข่งขันจากต่างประเทศ

ข้อมูลจากแหล่งข่าว PPTVhd36 รายงานว่า ตลาดโรงพยาบาลเอกชน "ยังโต" ได้อีก แม้ภัยคุกคาม (Threat) ของโรคระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มเบาบางลง แล้ว และแนวโน้ม (Trend) ของคนรักสุขภาพยังอยู่ ดังนั้น ตลาดโรงพยาบาลเอกชนยังมีศักยภาพสูง รวมถึงกลุ่มแนวโน้มการเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลก (World economy) พลิกฟื้นหลังโควิด-19 ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อระดับสูงที่ทยอยเร่งตัวขึ้น ทำให้ในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี พ.ศ. 2566 มีแนวโน้มที่ฟื้นตัว (Recovery) จากภาคบริการ, การจับจ่ายภาคเอกชน, และการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะมีการประเมินกันว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ น่าจะสูงถึงระดับ 9.5 ล้านคน

ในส่วนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (Health-care industry) ในไตรมาสแรก ของปี พ.ศ. 2566 นี้ ได้ขยายตัวขึ้น +33.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งขยายตัว +32.4% ในภาพรวมอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าตลาดรวมทางการแพทย์เอกชน อยู่ที่ 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งในตัวเลขนี้ โรงพยาบาลเอกชน มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 80%

ใน 3 ไตรมาสที่เหลือ น่าจะเห็นผลกระทบในเชิงบวกต่อการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศไทย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ +7.7% ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของแหล่งการจ้างงาน) มีสัดส่วนมูลค่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนสูงสุดถึง 72.4%, สัดส่วนที่เหลือได้แก่ ภาคตะวันออก 8.9%, ภาคเหนือ 5.8%, ภาคใต้ 5.3%, ภาคอีสาน 4.4%, และภาคกลาง 3.2% 

แหล่งข้อมูล

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals [2023, March 31].
  2. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/180130#&gid=1&pid=1 [2023, March 31].