1. ตลาดโรงพยาบาล - ตอนที่ 2

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า สถานพยาบาล (Health-care facilities) ในประเทศไทยปัจจุบัน มีจำนวน 38,512 แห่งโดยแบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐ (Public) 13,364 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 34.7% ของจำนวนสถานพยาบาลทั้งหมด อันได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพสต.) [ประจำตำบล], โรงพยาบาลชุมชน [ประจำอำเภอ], โรงพยาบาลทั่วไป [ประจำจังหวัด], โรงพยาบาลศูนย์ [ประจำภาค] ทั้งนี้ยังไม่นับโรงพยาบาลในสังกัดโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมิได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีสถานพยาบาลเอกชน (Private hospitals) 25,148 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 65.3% ของจำนวนสถานพยาบาลทั้งหมด อันประกอบด้วยโรงพยาบาลเอกชน 370 แห่ง และคลินิกเอกชน (Private clinics) 24,788 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 0.96% และ 64.37% (ตามลำดับ) ของจำนวนสถานพยาบาลทั้งหมด

เมื่อพิจารณาตามขนาด (Size) และขีดความสามารถ (Capacity) ในการให้บริการทางการแพทย์ พบว่า สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ (Primary care) มีจำนวนทั้งสิ้น 37,857 แห่ง คิดสัดส่วนเป็น 98.3% ของสถานพยาบาลทั้งหมด (รวม รพสต. ประมาณ 9,800 แห่ง และคลินิกเอกชนประมาณ 24,800 แห่ง)

ที่เหลือเป็นระดับทุติยภูมิ (Secondary care) และตติยภูมิ (Tertiary care) จำนวน 664 แห่ง (1.7%) ซึ่งในจำนวนนี้ 294 แห่ง (0.7%) เป็นโรงพยาบาลในสังกัดรัฐ กระทรวงสาธารณสุข, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, รัฐวิสาหกิจ, และกรุงเทพมหานคร ส่วนอีก 370 แห่ง (0.9%) เป็นโรงพยาบาลเอกชน [ทั้งนี้ยังไม่นับโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพ และคณะแพทย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ]

แม้สถานพยาบาลของรัฐจะมีอยู่จำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยในบางพื้นที่ พิจารณาจาก

  • อัตราการครองเตียง(Bed occupancy rate) ของโรงพยาบาลรัฐในบางจังหวัดใกล้เคียง 100% หรือสูงกว่า เช่น โรงพยาบาล [ประจำจังหวัด] เลย (126%), โรงพยาบาล [ประจำจังหวัด] มุกดาหาร (100%), โรงพยาบาล [ประจำจังหวัด] กาญจนบุรี (97%), โรงพยาบาล [ประจำจังหวัด] ปทุมธานี (94%) และโรงพยาบาล [ประจำจังหวัด] สุราษฎร์ธานี (90%) ตัวเลขเหล่านี้ สะท้อน (Reflect) ถึงจำนวนผู้ป่วยใน (In-patient) ที่มีมากกว่าจำนวนเตียงที่ให้บริการ และ
  • การใช้บริการกรณีเป็นผู้ป่วยนอก (Out-patient) ยังต้องใช้เวลารอนาน

ปัจจัยข้างต้นเปิดโอกาสทางการตลาด (Market opportunities) แก่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเน้น (Emphasize) ให้บริการด้วยความรวดเร็ว (Speed) และความสะดวกสบาย (Convenience) ส่งผลให้ชนชั้นกลาง (Middle-class) ที่มีกำลังซื้อ (Purchasing power) ที่สูงกว่า หันมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แม้จะมีอัตราค่าบริการ (Service charge) สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐก็ตาม

ข้อมูลจากแหล่งข่าว PPTVhd36 รายงานว่า แนวโน้ม (Trend) ธุรกิจสุขภาพ (Health-care business) ของประเทศ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด-19 ใน 3 ปีกว่าที่ผ่านมา แต่ภาพรวมธุรกิจสุขภาพในประเทศไทยยังโตได้ ใน ปี พ.ศ. 2564 มีมูลค่าตลาดทางการแพทย์รวม 3.38 แสนล้านบาท ซึ่งในตัวเลขนี้โรงพยาบาลเอกชนทั่วไป มีสัดส่วนมากที่สุด 80% [กล่าวคือประมาณ 2.704 แสนล้านบาท]

แหล่งข้อมูล 

  1. https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Services/Private-Hospitals/IO/io-Private-Hospitals [2023, April 7].
  2. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/180130#&gid=1&pid=1 [2023, April 7].