ไข้กลับซ้ำ (Relapsing fever)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 พฤศจิกายน 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?
- โรคไข้กลับซ้ำมีกี่ชนิด? เกิดจากอะไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?
- โรคไข้กลับซ้ำมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กลับซ้ำได้อย่างไร?
- รักษาโรคไข้กลับซ้ำอย่างไร?
- โรคไข้กลับซ้ำมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรง?
- ดูแลตนเองอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคไข้กลับซ้ำได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เหา และ โลน (Pediculosis)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ตับม้ามโต (Hepatosplenomegaly)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- หัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ไข้กลับซ้ำ(Relapsing fever) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวใน’สกุลบอร์เรเลีย(Borrelia)’ โดยมี ‘เห็บนิ่ม’หรือ’เหาลำตัว’เป็นตัวนำโรค, เมื่อคนถูก’เห็บนิ่ม’หรือ’เหาลำตัว’กัด เชื้อแบคทีเรียนี้จะเข้าสู่กระแสเลือด ก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาการของโรคจะคล้ายโรคไข้จับสั่น คือ ไข้สูงทันทีร่วมกับ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน โดยจะมีอาการไข้อยู่นานประมาณ 3-5วัน หลังจากนั้นอาการไข้จะหายไปประมาณ1-2สัปดาห์ แล้วจะกลับมามีไข้สูงอีกทันที วนเวียนเป็นรอบๆไปอย่างนี้ ประมาณตั้งแต่ 1รอบขึ้นไปจนกว่าจะได้รับการรักษา หรือในบางคนที่ได้รับเชื้อน้อยและสุขภาพแข็งแรง อาการไข้/อาการโรคอาจหายเองได้จากการดูแลตนเองทั่วๆไป
ไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำ พบเรื่อยๆทั่วโลก แต่ยังไม่มีการศึกษาสถิติเกิดที่แน่ชัด พบบ่อยขึ้นในคนท่องเที่ยวป่า อยู่แค้มป์ ค่ายผู้อพยพ คนเร่ร่อน บางครั้งพบเกิดการระบาดในค่ายผู้อพยพที่อยู่กันอย่างแออัด พบทุกเพศ ทุกวัย
โรคไข้กลับซ้ำมีกี่ชนิด? เกิดจากอะไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?
ไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำ มี 2 ชนิด(รูปแบบ)หลัก คือ
- ชนิดเกิดจากมี’เห็บนิ่ม’เป็นตัวนำโรค(Tick borne relapsing fever ย่อว่า TBRF): ‘เห็บนิ่ม’ เป็นเห็บในสกุล ออร์นิธอโดรอส(Ornithodoros) อาศัยอยู่ตามรังหนู มี ’หนู’เป็นโฮสต์ และกัดกินเลือดหนูเป็นอาหารขณะหนูหลับ ‘เห็บนิ่ม’จะกัดไม่เจ็บรวมทั้งเมื่อกัดคนและจะกัดกินเลือดเฉพาะเวลากลางคืน เป็นเห็บที่พบทั่วโลกยกเว้นหมู่เกาะในย่านแปซิฟิก โรคในกลุ่มนี้จึงพบได้ทุกทวีปทั่วโลก
เมื่อคนพักอาศัยในย่านมีหนูอาศัย หรือ ในการเที่ยวป่า เที่ยวชนบท หรือ ทำงานในป่า เขา ตั้งแค้มป์ ก็จะสัมผัสเห็บเหล่านี้ได้ ‘เห็บนิ่ม’จะกัดกินเลือดคนในช่วงคนหลับ/กลางคืน ซึ่งกัดไม่เจ็บ ทั่วไปหลายคนจึงไม่รู้ตัวว่ามีเห็บกัดและมักไม่พบรอยแผลกัด หลังถูกกัด แบคทีเรียก่อโรคฯซึ่งมีหลากหลายชนิดย่อย(แต่ให้อาการและธรรมชาติของโรคเหมือนๆกัน ทั่วไปจะอยู่ในน้ำลายเห็บนิ่ม)จะเข้าสู่กระแสเลือด และแบ่งตัวเจริญเติบโตในเลือดคนจนก่ออาการ ’โรคไข้กลับซ้ำ’
อนึ่ง: ไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจาก’เห็บนิ่ม’ นอกจากติดเชื้อผ่านทางถูกเห็บฯกัดแล้ว ยังมีรายงานสามารถติดต่อสู่คนได้อีกผ่านทาง
- ได้รับเลือดของผู้ติดเชื้อโรคนี้
- รกเข้าสู่ทารกในครรภ์จากมารดาติดเชื้อโรคนี้
- จากทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อนี้ เช่น จากเข็ม เป็นต้น
- ชนิดเกิดจาก’เหาลำตัว’เป็นตัวนำโรค(Louse borne relapsing fever ย่อว่า LBRF): เหาลำตัว(Pediculosis humanus corporis) อาศัยอยู่บนผิวหนังบริเวณลำตัวของคน มีคนเป็นรังโรค(ยังไม่พบสัตว์อื่นเป็นรังโรค) เหาลำตัวจะกัดกินเลือดคนเป็นอาหาร ซึ่งเชื้อจะอยู่ในทางเดินอาหารและเข้าสู่คนผ่านรอยแผลกัดหรือรอยเกาหรือรอยแผลต่างๆบนผิวหนัง เมื่อคนบี้เหาฯให้ตาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรอยแผลที่ผิวหนัง แล้ว แบ่งตัวเจริญเติบโตในเลือดจนก่ออาการ ซึ่งจะให้อาการและมีธรรมชาติของโรค รวมถึงการวินิจฉัย การรักษา เช่นเดียวกับโรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจากตัวนำโรคที่เป็น’เห็บนิ่ม’เพราะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย’สกุลบอร์เรเลีย’เช่นเดียวกัน และแบคทีเรียสกุลนี้ในเหาฯที่ก่อโรคไข้กลับซ้ำมีหลากหลายชนิดย่อยเช่นเดียวกัน
ไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำชนิดเกิดจากเหาลำตัว พบทั่วโลกเช่นกัน แต่เกือบทั้งหมดเกิดในค่ายผู้อพยพ ค่ายทหาร สถานที่แออัด ขาดแคลน ไม่มีสุขอนามัย ในภาวะสงคราม ที่อยู่กันอย่างแออัด และในคนเร่ร่อน จากการไม่มีสุขอนามัยของคนที่เป็นรังโรคของเหาลำตัว ปัจจุบันมักพบในประเทศแถบอัฟริกา โดยเฉพาะในซูดาน และเอธิโอเปีย
โรคไข้กลับซ้ำมีอาการอย่างไร?
โรคไข้กลับซ้ำ/ไข้กลับซ้ำ ทุกชนิด มีอาการและระยะฟักตัวเช่นเดียวกัน จะประมาณ 4-18 วันหลังร่างกายได้รับเชื้อ และทั่วไป มักมีอาการนานประมาณ 3-54 วัน(ระยะกึ่งกลาง=18วัน) ทั้งนี้ อาการต่างๆ เช่น
- อาการหลักที่เป็นที่มาของชื่อโรค: คือ
- ไข้สูง มักสูงถึง 40 องศาเซลเซียส(๐C)ที่เกิดอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับ หนาวสั่น ซึ่งจะคล้ายอาการโรคไข้จับสั่น/มาลาเรีย อาการนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 10-30นาที
- โดยจะมีไข้สูงลักษณะนี้นานประมาณ 3-5 วัน
- ต่อจากนั้น ไข้จึงลงเป็นปกตินานประมาณ 7 วัน นับเป็นครบ1รอบของอาการไข้
- ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา จะกลับมามีไข้สูงอีกนานประมาณ3-5วันเช่นเดิม วนเวียนสลับกับระยะไม่มีไข้ เป็นรอบๆตามความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรค’ไข้กลับซ้ำ’ , อาจ 1-10 รอบขึ้นกับความรุนแรงของโรค
- และถ้าร่างกายแข็งแรงและ/หรือได้รับเชื้อน้อย โรคอาจหายเองได้จากร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันฯต่อแบคทีเรียนี้ได้ ซึ่งอาการจะค่อยๆรุนแรงน้อยลงๆในรอบหลังๆจนหายเป็นปกติ
- แต่ถ้าได้รับเชื้อมาก หรือ โรครุนแรงจะเป็นเหตุให้ถึงตายได้จากการติดโรคที่อวัยวะต่างๆที่สำคัญ เช่น ปอดบวม, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ภาวะช็อก, ชัก, และ/หรือ โคม่า, และตายในที่สุด
- อาการอื่นๆที่เกิดร่วมด้วย: ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเหมือนกันทุกคน หรือ มีครบทุกอาการ โดยจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค ได้แก่
- อาการทั่วไป: เช่น
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย
- ปวดหัว
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ
- คลื่นไส้
- อาจอาเจียน
- หัวใจเต้นเร็ว
- อาจมีผื่นเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา
- อาจมี เลือดออกใต้เยื่อตา, เลือดออกใต้ผิวหนัง หรือในเนื้อเยื่อเมือก เช่น ในช่องปาก
- กรณี’เห็บนิ่ม’กัด: ลำตัว แขนขา อาจมีรอยแผลกัดสีดำ(Eschar)
- กรณีเกิดโรคในสตรีตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุการแท้งบุตร, คลอดก่อนกำหนด, หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
- กรณีโรครุนแรง อาการจะเกิดจากเชื้อฯแพร่ไปหลายอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ตับ สมอง และปอด
- อาการทางปอด(ปอดบวม): เช่น เจ็บหน้าอก, ไอ, มีเสมหะ, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- อาการทางสมอง: เช่น ปวดหัวมาก, คอแข็ง, สับสน, ซึม, อาการเพ้อ, ชัก, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง, แขนขาไม่มีแรง
- อาการทางตับ(ตับอักเสบ): เช่น ตัวเหลืองตาเหลือง ตับม้ามโต
- อาการทางหัวใจ: เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ภาวะช็อก
- โคม่า
- และ ตายในที่สุด
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น หรือ เดินทางท่องเที่ยว, ทำงานในถิ่นดังกล่าว หรือ อยู่ในค่ายผู้อพยพ หรือ แออัด ช่วงมีความแห้งแล้งอดอยากของประเทศ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กลับซ้ำได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กลับเป็นซ้ำ/ไข้กลับซ้ำ ได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อาการ การมีไข้กลับซ้ำ การงาน การท่องเที่ยว ถิ่นพักอาศัย ฐานะทางเศรษฐกิจสังคม
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงตรวจคลำช่องท้องดูขนาดของ ตับ ม้าม
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น
- ตรวจเลือดดู
- ความสมบูรณ์ของเลือด(ซีบีซี) เพื่อดูการติดเชื้อ, ดูภาวะซีด, ดูค่าเกล็ดเลือด
- *ตรวจดูเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวฯที่อยู่ในเลือดที่เรียกว่า ‘Blood smear’ ซึ่งจะพบสูงมากช่วงอาการไข้ในรอบแรกที่เป็นตัววินิจฉัยโรคแม่นยำ แต่จำนวนเชื้อจะค่อยๆลดลงในๆไข้รอบถัดไปซึ่งจะทำให้ประสิทธิผลการตรวจต่ำลง
- ค่าการทำงานของ ตับ ไต
- สารก่อภูมิต้านทาน และ สารภูมิต้านทาน
- การตรวจปัสสาวะ ดูการทำงาน และการติดเชื้อของไต
- ตรวจเลือดดู
- ตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการ เช่น
- เอกซเรย์ปอดดูการติดเชื้อที่ปอด/ปอดบวม และดูโรคหัวใจ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนสมอง กรณีมีอาการทางสมอง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี กรณีมีอาการทางหัวใจ
- *การตรวจที่ให้ผลแม่นยำที่สุดคือ ตรวจหาเชื้อจากเลือดด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า PCR(Polymerase chain reaction)
รักษาโรคไข้กลับซ้ำอย่างไร?
โรคไข้กลับเป็นซ้ำ/ไข้กลับซ้ำ เป็นโรคที่รักษาได้ผลดีมากด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งทั่วไปมักเห็นอาการดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้ยาฯ โดยให้ยาฯในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ขึ้นกับอาการของโรค, ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline), เพนิซิลลิน (Penicillin), หรือ อิริโทรมัยซิน(Erythromycin)
นอกจากนั้น คือ การรักษาตามอาการ: เช่น
*อนึ่ง: ในการรักษาโรคนี้ด้วยยาปฏิชีวนะ ประมาณ 50%ของผู้ป่วยที่เชื้อฯตอบสนองต่อยาดีมาก หลังการได้รับยาประมาณไม่เกิน 2 ชั่วโมง จะส่งผลให้เชื้อฯตายเป็นจำนวนมากส่งผลต่อเนื่องให้เกิดมีสารชีวะเคมีจำนวนมหาศาลในกระแสเลือดจากตัวเชื้อฯที่สลายตัว จึงกระตุ้นให้ร่างกายบางคนเกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่เรียกว่า ‘Jarisch-Herxheimer reaction ย่อว่า เจเอชอาร์/JHR’ โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆทันที เช่น ไข้สูง, กระสับกระส่าย, เหงื่อออกท่วมตัว, หัวใจเต้นเร็ว, หายใจเร็ว, ความดันโลหิตต่ำ, ซึ่งภาวะความดันโลหิตต่ำในบางรายที่ต่ำมากๆ จะก่อภาวะช็อกจนผู้ป่วยอาจถึงตายได้ ซึ่งแพทย์ให้การดูแลรักษาด้วยการให้ ยาลดไข้, สารน้ำ, ยาที่คงความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ, ซึ่งปฏิกิริยานี้มักเกิดในครั้งแรกของการได้ยาปฏิชีวนะ
อย่างไรก็ตาม ‘วิธีป้องกันปฏิกิริยา’นี้คือ การให้ยา พาราเซตามอล ก่อนการให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 2ชั่วโมง และ ให้อีกครั้งประมาณ 2ชั่วโมงหลังให้ยาปฏิชีวนะ
* Jarisch-Herxheimer reaction ได้ชื่อจาก 2 แพทย์ผิวหนังชาวยุโรปที่รายงาน ปฏิกิริยานี้จากการรักษาโรคซิฟิลิส คือ นพ. Adolf Jarisch และ นพ. Karl Herxheimer ในปีค.ศ. 1895 และ 1902 ตามลำดับ
โรคไข้กลับซ้ำมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคไข้กลับเป็นซ้ำ/ไข้กลับซ้ำ ทั่วไปเมื่อพบแพทย์ตั้งแต่แรกมีอาการและได้รับยาปฏิชีวนะทันที การพยากรณ์โรคจะดีมาก ส่วนใหญ่จะรักษาได้หาย
- ในผู้เกิดโรคจากเห็บนิ่ม(TBRF): การพยากรณ์โรคจะดีกว่าโรคเกิดจากเหาลำตัว(LBRF) ทั้งนี้มีรายงานพบอัตราตายจากโรคนี้
- ประมาณน้อยกว่า 10% ในผู้พบแพทย์ช้าหรือไม่ได้รับการรักษา
- ประมาณ 2%ในผู้ได้รับการรักษา
- ในผู้เกิดจากเหาลำตัว(LBRF): อัตราตาย
- ประมาณ 10%-40%ในผู้พบแพทย์ช้าหรือไม่ได้รับการรักษา
- ประมาณ 2%-5%ในผู้ได้รับการรักษา
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรงได้แก่
- ผู้เกิดโรคจากถูก’เหาลำตัว’กัด อาการจะรุนแรงกว่าโรคที่เกิดจากถูก’เห็บนิ่ม’กัด
- ผู้ได้รับการรักษาล่าช้า อาการรุนแรงกว่า
- มีอาการดังต่อไปนี้ตั้งแต่หนึ่งอาการขึ้นไป:
- โคม่า
- เลือดออกตามผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆ
- อาการทางตับ/ตับอักเสบ โดยเฉพาะ ตับวาย
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ปอดบวม
- ติดเชื้ออื่นร่วมด้วย เช่น ไข้จับสั่น/มาลาเรีย, ไทฟอยด์ , โรคสครับไทฟัส,
ดูแลตนเองอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไข้กลับซ้ำ/ไข้กลับซ้ำ ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อมีสุขภาพกายที่แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดีเป็นปกติ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- ไม่สูบบุหรี่
- ไม่ดื่มสุรา
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- ดูแลตนเอง ที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมดังกล่าวใน ’หัวข้อ การป้องกันฯ’เพื่อป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำหลังรักษาหายแล้วที่รวมถึงคนในครอบครัวด้วย
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง หรือมีอาการใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน
- มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ท้องผูก ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคไข้กลับซ้ำได้อย่างไร?
ก. ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ ระมัดระวังไม่ให้ถูก’เห็บนิ่ม’ หรือ ‘เหาลำตัว’ ที่เป็นตัวนำโรคกัด
- การป้องกันไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำที่มี’เห็บนิ่ม’เป็นตัวนำโรค(TBRF):
- ระวังไม่พักอาศัย รวมถึงที่พักแรม ใกล้กับรังหนูซึ่งเป็นโฮสต์ของเห็บนิ่ม โดยสังเกตถึงความสกปรก เศษอาหารตกค้าง มูลหนู และฉี่หนู ในที่พักและบริเวณรอบๆที่พักที่รวมถึง ห้องน้ำ ห้องครัว
- หมั่นทำความสะอาด ห้องพัก เต็นท์ สิ่งแวดล้อมใกล้ที่พัก แหล่งขยะอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งพักอาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู
- ฉีดทำความสะอาดที่พัก เต็นท์ด้วย น้ำยาฆ่าเห็บชนิดไม่เป็นอันตรายต่อคน เช่น น้ำยา 5%Permethrin (เพอร์เมทริน) โดยปรึกษาผู้ชำนาญหรือผู้จำหน่ายเต็นท์เหล่านี้
- ฉีดDEET (Diethyltoluamide) พ่นเสื้อผ้า และ/หรือผิวหนัง (การใช้ในเด็กควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ)เมื่ออยู่ในที่เสี่ยงมีเห็บนิ่มเพื่อฆ่าเห็บฯ
- ปรึกษาอนามัยในท้องถิ่นถึงวิธีดูแลตนเองและสถานพักอาศัย
ข. การป้องกันไข้กลับซ้ำ/โรคไข้กลับซ้ำที่มี’เหาลำตัว’เป็นตัวนำโรค(LBRF): เนื่องจาก เหาลำตัวจะอยู่ที่ผิวหนัง จึงมักติดอยู่ตามเสื้อผ้า โดยเฉพาะตะเข็บ นอกจากนั้น คือ เครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว และจะอยู่กับคนที่มักสกปรก เช่น พักอาศัยในแหล่งแออัด, ขาดปัจจัยในการเป็นอยู่, ในแค้มป์ผู้อพยพ, คนจรจัด
การป้องกันที่สำคัญ แต่ทำได้ยาก คือ
- รักษาความสะอาดส่วนบุคคล อาบน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2ครั้ง โดยเฉพาะก่อน นอน
- เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกวัน
- รักษาความสะอาดเสื้อผ้าด้วยการซักและต้ม และตากแดดให้แห้ง
- รักษาความสะอาด เครื่องนอน หมั่นนำออกตากแดด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลในแหล่งดังกล่าว
- อาจต้องทาแป้งทั้งตัวที่เป็นแป้งชนิดมียาที่ฆ่าเหาลำตัวได้
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK441913/ [2021,Nov20]
- https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/spirochetes/relapsing-fever [2021,Nov20]
- https://emedicine.medscape.com/article/227272-overview#showall [2021,Nov20]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Relapsing_fever [2021,Nov20]
- https://www.cdc.gov/relapsing-fever/clinicians/index.html [2021,Nov20]
- https://www.cdc.gov/relapsing-fever/index.html [2021,Nov20]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5239707/ [2021,Nov20]
- https://www.cdc.gov/relapsing-fever/resources/15_260166_fs_aperea.pdf
- https://www.ecdc.europa.eu/en/louse-borne-relapsing-fever/facts [2021,Nov20]