ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตับอักเสบ (Hepatitis) หมายถึงโรคที่เกิดจากเซลล์ตับเกิดการอักเสบ บาดเจ็บ หรือถูกทำลาย จนส่งผลถึงการทำงานของตับ ซึ่งเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยแบ่งสาเหตุเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 2 กลุ่ม คือ ตับอักเสบจากติดเชื้อโรค และตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค

ตับอักเสบจากติดเชื้อโรค (Infectious hepatitis) ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า โรคไวรัสตับอักเสบ (Infectious viral hepatitis หรือ Viral hepatitis) อย่างไรก็ตาม ตับสามารถติดเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมทั้ง แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปรสิต ซึ่งเมื่อเกิดจากการติดเชื้อที่ไม่ใช่เชื้อไวรัส มักก่อให้เกิดเป็นฝีในตับ ซึ่งเราเรียกว่า โรคฝีตับ (Liver abs cess)

ตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ มีสาเหตุจากสารเคมีต่างๆที่ร่างกายได้รับ ที่พบบ่อย คือ จากยาต่างๆที่เราใช้รักษาโรค จากพิษของแอลกอฮอล์ จากสมุนไพร และจากสารเคมีที่เป็นพิษต่างๆ เช่น สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ ซึ่งเราเรียกโรคตับอักเสบที่เกิดจากสารเคมีต่างๆเหล่านี้ว่า “โรคพิษต่อตับ (Hepatotoxicity หรือ Toxic hepatitis)” โดยในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรคพิษต่อตับ” เท่านั้น โดยได้เขียนเรื่องไวรัสตับอักเสบ และ ฝีตับ เป็นบทความแยกต่างหาก

อนึ่ง โรคตับอักเสบทุกสาเหตุ ถ้ามีอาการและสามารถรักษาได้หายภายใน 6 เดือนนับจากมีอาการ เรียกว่า “ตับอักเสบเฉียบพลัน” แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้ และมีอาการต่อ เนื่องนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป เรียกว่า “โรคตับอักเสบเรื้อรัง” ซึ่งโรคตับอักเสบเรื้อรัง เซลล์ตับมีโอกาสถูกทำลายมากขึ้น และจะเกิดพังผืดขึ้นมาแทนที่ จนตับเสียการทำงานอย่างมากมายจนในที่สุดไม่สามารถฟื้นตัวกลับเป็นปกติได้อีก ซึ่งเรียกว่า “โรคตับแข็ง”

โรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับมีสาเหตุจากอะไร?

โรคตับอักเสบ

สาเหตุของโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ ที่พบได้บ่อย คือ จากยารักษาโรค และจากพิษของแอลกอฮอล์ นอกนั้นที่อาจพบได้แต่น้อยกว่า 2 สาเหตุแรกมาก คือ จากสมุนไพรบางชนิด และจากสารเคมีที่พิษ เช่น สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้

ยารักษาโรคเกือบทุกชนิดถ้าใช้ในขนาด/ปริมาณ (Dose) ที่สูงอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสก่อ ให้เกิดพิษต่อตับเสมอ เช่น ยาแก้ปวด/ยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ยาฮอร์โมน ยารักษาวัณโรค หรือ วิตามิน เอ เป็นต้น

นอกจากนี้ บางครั้ง ในคนบางคน จะมีความไวต่อยาบางชนิดเป็นพิเศษ ทั้งนี้โดยไม่ขึ้น กับ ขนาดของยา ไม่มีปัจจัยเสี่ยง และไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดกับใคร และกับยาตัวใด (เชื่อว่า อาจจากพันธุกรรมของคนๆนนั้นเอง) เรียกว่า เกิดภาวะไวผิดเพี้ยนต่อยา (Idiosyncra tic drug reaction)

ดังนั้น การใช้ยาต่างๆ จึงต้องใช้เฉพาะต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ ในขนาดยาและตามระยะเวลาที่ถูกต้อง ไม่ใช้ยาพร่ำเพรื่อ ดังนั้น การใช้ยาทุกชนิด โดยเฉพาะยาตัวใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ควรต้องเป็นการแนะนำจาก แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล เสมอ

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับที่เกิดจากยา?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับที่เกิดจากยา ได้แก่

  • อายุ พบโรคเกิดได้น้อยในเด็ก แต่พบได้สูงมากขึ้นในผู้สูงอายุ ยกเว้นยาแอสไพ ริน ที่มักก่อพิษต่อตับของเด็กเมื่อกินลดไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากเชื้อไวรัส
  • เพศ พบโรคได้บ่อยในผู้หญิงเมื่อเทียบกับในผู้ชาย
  • เชื้อชาติ และพันธุกรรม คนบางเชื้อชาติ หรือบางคนไวต่อยาบางชนิดมากกว่าคนในบางเชื้อชาติ หรือในบางคน
  • คนที่มีโรคต่างๆของตับ เช่น โรคตับแข็ง โรคไวรัสตับอักเสบ
  • คนที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง
  • คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ชนิดของยา ยาที่ออกฤทธิ์ และอยู่ในร่างกายได้นาน มีโอกาสก่อพิษต่อตับได้สูงกว่ายาที่ออกฤทธิ์สั้น

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่

  • ปริมาณของแอลกอฮอล์ ยิ่งดื่มปริมาณสูง โอกาสก่อพิษต่อตับยิ่งสูง
  • ความต่อเนื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งดื่มต่อเนื่อง โอกาสเป็นพิษต่อตับยิ่งสูง ขึ้น
  • ชนิด ประเภท ของแอลกอฮอล์ ยิ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์สูง การก่อพิษต่อตับยิ่งสูง
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่าง โอกาสเป็นพิษต่อตับสูงกว่า เมื่อดื่มร่วมกับอาหาร ทั้งนี้อาจเพราะช่วงท้องว่างร่างกายจะดูดซึมแอลกอฮอล์ได้ดี
  • เพศ ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ มีโอกาสเกิดความเป็นพิษต่อตับสูงกว่าผู้ชายประ มาณ 2 เท่า
  • ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ
  • คนที่เป็นโรคขาดสารอาหารโปรตีน (เช่น ขาดเนื้อสัตว์ นม ไข่)
  • พันธุกรรมบางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้ตับไวต่อการถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์สูงกว่าคนทั่วไป

โรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ พบได้หลากหลาย บางคนอาจไม่มีอาการ บางคนมีอาการน้อย บางคนมีอาการมาก ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและสุขภาพร่างกายเดิมของผู้ป่วย แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดรวมทั้งจากการติดเชื้อ จะมีอาการเหมือนกัน ดังนี้

- อาการโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับระยะเฉียบพลัน ที่พบบ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลียเกินเหตุ
  • ปวดเมื่อย เนื้อตัว กล้ามเนื้อ และ/หรือ ข้อต่างๆ อาจปวดศีรษะแต่ไม่มาก
  • อาจมีไข้ต่ำๆ อาจมีผื่นขึ้น อาจเป็นผื่นคันหรือไม่ก็ได้
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแต่ไม่มาก มักปวดในตำแหน่งของตับ คือ ใต้ชายโครงขวา อาจมีท้องเสียแต่ไม่มาก
  • เมื่ออาการต่างๆดังกล่าวค่อยๆดีขึ้น จะตามมาด้วย ตัว ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข็ม อุจจาระอาจมีสีซีด (โรคดีซ่าน) ทั้งนี้เกิดจากตับอักเสบ จึงขับน้ำดีออกจากตับไม่ ได้ เกิดการคั่งของน้ำดีในตับ และสารสีเหลือง (สารบิลิรูบิน/Bilirubin) ในน้ำดีท้นเข้าสู่กระแสโลหิต/เลือด ซึ่งอาการ ดีซ่าน อาจอยู่ได้นานเป็นเดือน

- อาการโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับระยะเรื้อรัง ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบจากการตรวจเลือดดูการทำงานของตับในการติดตามผลการรักษาโรคในระยะเฉียบพลัน
  • มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าได้ง่าย ง่วงซึมกว่าปกติ
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง
  • เจ็บใต้ชายโครงขวา/เจ็บตับ เป็นๆหายๆ
  • ในระยะท้ายๆของโรคที่ตับเสียการทำงานมากแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับมามีตัว ตาเหลืองอีก แต่อาการน้อยกว่าที่เกิดในระยะเฉียบพลัน

แพทย์วินิจฉัยโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการใช้ยาต่างๆ การดื่มแอลกอฮอล์ การกินสมุนไพร ยาพื้นบ้าน การอยู่อาศัยใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานเพื่อแยกจากโรคไวรัสตับอักเสบ และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และบางครั้งอาจต้องตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เช่นกัน

รักษาโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตับอักเสบทุกสาเหตุรวมทั้งโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ จะเช่น เดียวกันคือ การรักษาประคับประคองตามอาการ ที่สำคัญคือ

  • หยุดกิน/ดื่มสิ่งที่เป็นสาเหตุ
  • พักผ่อนให้มากๆเพื่อลดการทำงานของตับ เซลล์ตับจะได้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากกว่าปกติ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม )
  • กินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน หลีก เลี่ยงอาหารไขมัน เพราะจะทำให้คลื่นไส้มากขึ้น
  • และระมัดระวังการใช้ยาต่างๆ ควรใช้ยาเฉพาะแต่ที่แพทย์แนะนำเท่านั้น

ในรายที่เกิดพิษต่อตับรุนแรง จนถึงขั้นตับวาย การรักษาที่อาจช่วยชีวิตได้ คือ การปลูกถ่ายตับ

อนึ่ง ถ้าผู้ป่วยกินยาต่างๆในปริมาณสูงๆหรือกินสมุนไพรและไปพบแพทย์ฉุกเฉิน ก่อนเกิดตับอักเสบ แพทย์อาจให้การรักษาฉุกเฉินด้วยการล้างท้อง และ/หรือให้ยาต้านสารเคมีนั้นๆกรณีมียาต้าน เช่น กรณีของการกินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นต้น

โรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรงของโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ หรือโอกาสรักษาได้หายขึ้นกับหลายปัจ จัย ที่สำคัญ คือ อายุ (เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ อาการรุนแรงกว่า) เพศ (เพศหญิง อาการมักรุน แรงกว่าเพศชาย) สุขภาพเดิมของผู้ป่วย (อาการรุนแรงกว่า ถ้ามีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับตับ) ชนิดของยาที่กิน ปริมาณ/ขนาดยาที่กิน และการดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ทั้งนี้ ในรายอาการรุนแรง อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากภาวะตับวาย ผลข้างเคียงจากโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ คือ การเกิดโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการของโรคตับอักเสบทุกสาเหตุรวมทั้งโรคตับอัก เสบ/โรคพิษต่อตับ จะเช่นเดียวกัน ได้แก่

  • หยุด/เลิก กิน/ดื่ม สิ่งที่เป็นสาเหตุ
  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • เลิก/ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • กินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์) จำกัด/หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน
  • จำกัดการออกกำลังกาย ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยลดการทำงานของตับ
  • ไม่ซื้อยากินเอง ใช้ยาเฉพาะที่แพทย์แนะนำ
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการต่างๆเลวลง เช่น คลื่นไส้อาเจียน หรืออ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หรือเจ็บใต้ชายโครงขวา มากขึ้น

ป้องกันโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับได้อย่างไร?

การป้องกันโรคตับอักเสบ/โรคพิษต่อตับ คือ การตระหนักว่า สารเคมีทุกชนิด รวมทั้งในรูปของยา สมุนไพร ยาพื้นบ้าน ฮอร์โมน แอลกอฮอล์ และอื่นๆ ล้วนมีพิษต่อตับ จึงต้องระมัดระวัง รู้จักหลีกเลี่ยง และรู้วิธีใช้เมื่อจำเป็นต้องใช้ นอกจากนั้น คือ

  • ไม่ใช้ยาโดยไม่จำเป็น พร่ำเพรื่อ การซื้อยาใช้เอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
  • จำให้ได้ว่า เคยแพ้ยาอะไร มีอาการอย่างไรจากการแพ้ยา เพื่อแจ้งแพทย์ พยา บาล เภสัชกร ก่อนซื้อยาทุกครั้ง
  • เมื่อต้องใช้ยา ต้องใช้อย่างถูกต้องตามฉลากยา
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เลิก/จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Alcoholic_hepatitis [2017,Oct14]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/169814-overview#showall [2017,Oct14]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Hepatitis [2017,Oct14]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Hepatotoxicity [2017,Oct14]
  5. Lee, W. (2003). Drug-induced hepatotoxicity. N Engl J Med. 349, 474-485.
  6. Lucey, M. et al. (2009). Alcoholic hepatitis. N Engl J Med. 360, 2758-2769.
  7. O’Shea, R. (2010). Alcoholic liver disease. Heptology.51, 307-328.
Updated 2017,Oct14