เหา และ โลน (Pediculosis)

สารบัญ

บทนำ

เหา หรือ Louse (Lice คือ เหาตัวเดียว) เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิต (Parasite) ต้องอาศัยบนร่างกายคน หรือสัตว์ และดำรงชีวิตโดยการดูดเลือดเป็นอาหาร

เหามีมากกว่า 3,000 ชนิด บางชนิดเป็นปรสิตของสัตว์ แต่ชนิดที่เป็นปรสิตของคนมีเพียง 3 ชนิด ซึ่งมีชื่อขึ้นต้นคือ Pediculus spp. ในภาษาอังกฤษ จึงเรียกคนที่เป็นเหาว่า Pediculosis เหาสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งได้โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน ทั้งนี้อาการหลัก คือ อาการคัน ส่วนปัญหาสำคัญของผู้เป็นเหาคือ อาจกลายเป็นที่รัง เกียจของสังคม อย่างไรก็ตาม มีวิธีกำจัดเหาให้หมดไปจากร่างกายได้หลายวิธี ดังจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อ การรักษา

ฟอสซิล (Fossil) ของเหาซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบได้คือ 10,000 ปี เหาจึงนับเป็นโรคเก่าแก่โรคหนึ่ง และยังคงสร้างความรำคาญให้มนุษย์ในปัจจุบันอยู่ การติดเหา สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเชื้อชาติ โดยทั่วโลกพบผู้ที่เป็นเหามากกว่าร้อยล้านคนต่อปี และพบอัตราการเป็นเหาทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศด้อยพัฒนาไม่แตกต่างกันนัก โดย เหาที่ศีรษะ (Pediculus humanus capitis หรือ Pediculosis capi tis) พบได้ในคนทุกระดับตั้งแต่ฐานะยากจน กระทั่งฐานะร่ำรวย และมักพบในวัยเด็ก เหาที่ลำตัว ( Pediculus humanus corporis หรือ Pediculosis corporis) ส่วนใหญ่จะพบในคนยากจน คนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัย และเหาที่อวัยวะเพศ หรือเรียกอีกชื่อว่า “โลน” (Pediculosis pubis หรือ Phthirus pubis หรือ Pthirus pubis หรือ Crab) จะพบในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งในบทนี้ คำว่า “เหา หมายถึง โรคที่เกิดจากเหาทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว”

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเหามีอะไรบ้าง?

เหาที่เป็นปรสิตของคนมี 3 ชนิด แต่ละชนิดจะอาศัยบนร่างกายในตำแหน่งที่แตก ต่างกันไป ได้แก่

  1. เหาที่ศีรษะ

    อาศัยอยู่บนศีรษะ เป็นเหาชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีรูป ร่างยาวรี ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร (มม.) สีขาวหรือเทา ไม่มีปีก มีขา 3 คู่ ซึ่งมีตะขออยู่ตรงปลายเอาไว้เกี่ยวกับเส้นผมได้ และสามารถเคลื่อนตัวได้ในอัตรา 23 เซนติ เมตร (ซม.) ต่อนาที แต่ไม่สามารถกระโดด หรือดีดตัวได้ ซึ่งไม่เหมือนหมัด เหาที่ศีรษะมีอายุประมาณ 30 วัน ดำรงชีวิตโดยการดูดเลือดเป็นอาหาร โดยมักดูดเลือดกินเวลากลางคืน เหาเพศเมียจะวางไข่ (เรียกว่า Nit) วันละประมาณ 10 ฟอง โดยจะวางใกล้ๆกับโคนผม เพราะมีอุณหภูมิที่อุ่นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไข่ ไข่ใช้เวลา 8-10 วันในการฟักออกเป็นตัว และใช้เวลา 8-10 วันเพื่อโตเต็มวัย สามารถวางไข่ต่อไปได้ หากเหาชนิดนี้อยู่นอกตัวคน จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 วัน ในคนคนหนึ่งจะมีเหาชนิดนี้อยู่ประมาณ 10-20 ตัว

    การติดเหาที่ศีรษะ เกิดขึ้นโดยการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด และการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี หมวก ที่มัดผม ผ้าเช็ดตัว รวมถึงที่เป่าผมด้วย โดยพบว่าการหวีผมอาจส่งเหาออกไปได้ไกลถึง 1 เมตร เหาจึงมักพบในวัยเด็ก เพราะมีการอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าผู้ใหญ่ และพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย เพราะเด็กหญิงมักชอบอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่า และมักแบ่งของใช้ร่วมกัน เช่น หวี หมวก ที่มัดผม ทั้งนี้ความยาวของเส้นผมไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ติดเหาง่ายขึ้น ผู้ชายจึงสามารถเป็นเหาได้เช่นกัน

    ในทางเชื้อชาติพบว่าคนผิวดำมีอัตราการเป็นเหาน้อยกว่าคนผิวขาวและคนเอเชีย อาจเป็นเพราะว่าเส้นผมของคนผิวดำหยิกและหนา ทำให้เหาเกาะอยู่ได้ยาก

  2. เหาที่ลำตัว

    อาศัยอยู่บนเสื้อผ้า เมื่อจะกินอาหาร จะคลานออกจากเสื้อผ้าและมาดูดเลือดบนลำตัวของคน ตัวเหาชนิดนี้จะเหมือนเหาที่ศีรษะ แต่ตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย คือยาวประมาณ 2-4 มม. เพศเมียจะวางไข่วันละประมาณ 10-15 ฟอง โดยวางบนเส้นใยของเสื้อผ้า โดยเฉพาะใกล้กับรอยเย็บตะเข็บ หากอยู่นอกตัวคน เหาชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 10 วัน ในคนคนหนึ่งจะพบเหาชนิดนี้ประมาณ 20 ตัว

    การติดเหาที่ลำตัวเกิดขึ้นโดยการอาศัยอยู่กันอย่างใกล้ชิดเช่นกัน โดย เฉพาะในภาวะที่ไม่มีการอาบน้ำ ไม่ได้เปลี่ยนหรือซักเสื้อผ้า เช่น การเดินทางบนรถบัส หรือรถไฟเป็นระยะทางยาวนานหลายๆวัน การอยู่ในค่ายกักกัน ค่ายผู้อพยพ ในคุก หรือพบในคนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัย

  3. เหาที่อวัยวะเพศ

    เหาชนิดนี้มีลำตัวแบนกว้าง และขาที่ตรงปลายมี ตะขอใหญ่ ดูคล้ายปู จึงเรียกในภาษาอังกฤษว่า Crab แต่ในภาษาไทย เรียกเหาชนิดนี้ว่า “โลน” เป็นเหาที่เกาะอยู่กับเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศ และดูดกินเลือดบริเวณหัวหน่าวและขาหนีบ ขนาดของเหาจะกว้างประมาณ 0.8-1.2 มม. เพศเมียจะวางไข่วันละแค่ 1-2 ฟอง เหาชนิดนี้จะไม่ค่อยเคลื่อนตัว การที่ขาของมันมีตะขอใหญ่ จึงสามารถใช้เกาะเกี่ยว กับเส้นขนที่มีความหยาบหนาได้ ได้แก่ ขนที่อวัยวะเพศ ขนรอบรูก้น และขนรักแร้ หากอยู่นอกตัวคน เหาชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1วัน

    การติดเหาที่อวัยวะเพศ เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงมักพบเหาชนิดนี้ในวัยเจริญพันธุ์ แต่ในเด็กก็สามารถพบได้ ซึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นเหาที่อวัยวะเพศ และการอยู่ใกล้ชิด นอนร่วมกัน ทำให้เด็กติดเหาจากพ่อแม่ได้ หรือในบางครั้ง เด็กอาจติดมาจากการถูกข่มขืนกระทำชำเราก็ได้

    อนึ่ง เหาที่อาศัยอยู่บนตัวคนเหล่านี้ บางครั้งอาจอาศัยอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงต่างๆ รวมทั้งหมูได้ หรือในทางกลับกัน เหาของสัตว์เลี้ยงต่างๆ และนก บางครั้งอาจติดมาอยู่บนตัวคนได้

เหาก่ออาการอะไรได้บ้าง?

อาการที่เกิดจากเหา คือ

  1. เหาที่ศีรษะ

    อาการหลักคืออาการคันที่ศีรษะ ซึ่งเกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการกัดของเหาที่หนังศีรษะเวลาดูดเลือด โดยถ้าตรวจดูหลังการดูดเลือดใหม่ๆ จะพบตุ่มนูนแดงเล็กๆ และจะคันมากในช่วงกลางคืน เพราะเหามักดูดเลือดในช่วงนี้ ทำให้เด็กมีปัญหานอนหลับไม่สนิท และอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ได้ ในบางคนอาจไม่มีอาการก็ได้ การตรวจร่างกายจะพบรอยเกาบนหนังศีรษะ ไข่เหา และอาจเจอตัวเหาได้ โดยบริเวณที่เหามักไปวางไข่คือบริเวณหลังหู การมองหาเหาบริเวณนี้จึงสามารถตรวจพบได้ง่ายขึ้น
  2. เหาที่ลำตัว

    อาการหลักคืออาการคันเช่นกัน โดยจะคันตามลำตัว และคันมากในช่วงกลางคืน การตรวจร่างกายก็จะพบรอยเกา และตุ่มนูนแดงเล็กๆ ที่เกิดจากการกัดดูดเลือดของเหา โดยจะพบตามลำตัวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริเวณอื่นๆที่อาจจะพบ ได้แก่ บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ส่วนบริเวณหน้า แขนและขาจะพบได้น้อย และที่บริเวณหนังศีรษะจะไม่พบตุ่มนูนแดงนี้

    นอกจากนี้ หากพบผื่นแบนเรียบเล็กๆ สีออกเทา-น้ำเงิน เรียกว่า Macula ceru lea ถือเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากเหาหรือหมัดกัด ซึ่งเกิดจากน้ำลายของเหาไปทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบในเม็ดเลือดทำให้เกิดเม็ดสีที่ทำให้เกิดสีดังกล่าวขึ้นมา

  3. เหาที่อวัยวะเพศ

    หรือโลน อาการหลักคืออาการคันเช่นกันในบริเวณที่เหาอาศัยอยู่คือ ขนที่อวัยวะเพศ นอกจากนี้จะพบที่ขนรอบรูก้น ขนที่ท้อง ขนที่หน้าอก ขนที่รักแร้ หากมีปริมาณมาก อาจลามไปถึงขนคิ้วและขนตาได้ การหาตัวเหาชนิดนี้พบได้ง่ายกว่าชนิดอื่นๆ เพราะเหาไม่ค่อยเคลื่อนที่ และพบรอยเกา ตุ่มนูนแดง และ Macula ceru lea ตามบริเวณที่เหาอยู่ได้ นอกจากนี้อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบ และรักแร้โตได้

แพทย์วินิจฉัยการติดเหาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยการติดเหาได้จาก อาการคัน ร่วมกับการตรวจพบตัวเหาหรือไข่เหา ซึ่งมีหลายเทคนิควิธี ตั้งแต่การหาด้วยตาเปล่า การใช้แว่นขยายช่วยส่องตรวจ การใช้หวีซี่เล็กๆ ที่เรียกว่าหวีเสนียด หวีผมหรือเส้นขนขณะเปียก จะช่วยทำให้พบตัวเหาหรือไข่เหาได้ง่ายขึ้น การใช้เทปเหนียวใสแปะลงไปบนเส้นผม ขน หรือเสื้อผ้า ตัวเหาและไข่เหาจะติดมากับเทปเหนียว ซึ่งสามารถตรวจดูได้ด้วยตาเปล่า หรือนำไปแปะบนสไลด์ (Slide คือ แผ่นแก้วบางๆ) และนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้

นอกจากนี้ยังมีการทดสอบ โดยใช้แสงอุลตราไวโอเลตในช่วงคลื่นความยาวสูง ที่เรียกว่า Wood’s lamp โดยส่องแสงไปยังบริเวณที่สงสัย ซึ่งตัวเหาและไข่เหาจะเรืองแสงออกมาให้เห็น

เหาก่อผลข้างเคียงจากโรคอย่างไร? รุนแรงไหม?

ผลข้างเคียง และความรุนแรงของการเป็นเหา คือ

  1. เหาที่ศีรษะ หากมีปริมาณมาก และทิ้งไว้ไม่รักษา เส้นผมอาจจะพันกันกลายเป็นก้อน มีสะเก็ดหนอง และมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เรียกว่า Plica polonica
  2. เหาที่ลำตัว หากทิ้งไว้ไม่รักษาเป็นเวลาหลายปี ผิวหนังจะหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น ซึ่งเกิดจากการเกาผิวหนังเป็นระยะเวลานานๆ มีชื่อเรียกจำเพาะในกรณีนี้ว่า Vagabond disease
  3. ไม่ว่าเป็นเหาที่บริเวณไหน หากมีปริมาณมาก หรือเกามากจนผิวหนังถลอก อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เกิดผิวหนังอักเสบและเป็นฝีหนองได้
  4. ตัวเหาเป็นพาหะนำโรคได้หลายโรค เช่น ไข้รากสาดใหญ่ชนิด Epi demic typhus โรคไข้เทรนซ์ (Trench fever) และโรคไข้กลับ (Relapsing fever) เป็นต้น

อนึ่ง ตัวเหาไม่สามารถแพร่เชื้อ เอชไอวี (HIV) ได้

รักษาเหาอย่างไร?

หลักของการรักษาเหา คือ การรักษาผู้ที่เป็นเหาและผู้อยู่ใกล้ชิดที่เป็นเหาไปพร้อมๆกัน ร่วมกับการควบคุมกำจัดเหาที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการแพร่สู่ผู้อื่น และการติดเหาซ้ำ

  1. การรักษาเหาที่ศีรษะ

    แบ่งออกได้เป็นการใช้ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าตัวเหาร่วมกับวิธีทางกายภาพในการกำจัดเหา
    • ยาฆ่าเหา มีสารเคมีหลายชนิดที่นำมาใช้เป็นยาฆ่าเหาได้ โดยอาจอยู่ในรูปแบบแชมพูใช้สระผม เช่น Pyrethrin shampoo ซึ่งสามารถซื้อใช้เองได้ตามร้านขายยา หรือยาบางตัวแพทย์ต้องเป็นผู้สั่ง เช่น Malthion, Lindane, Spinosad เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียงที่อันตรายได้ ยาทุกชนิดสามารถฆ่าตัวเหาได้ แต่ไม่สามารถฆ่าไข่เหาได้ ดังนั้นเมื่อใช้ยาไปครั้งแรกแล้ว อีก 7-10 วันต่อมา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไข่เหาใช้ฟักตัวออก มา ก็จะต้องใช้ยาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อฆ่าตัวเหาให้หมด ดังนั้น หากใช้ยาเพียงครั้งเดียวจะไม่ได้ผล

      นอกจากนี้ ยังมียาในรูปแบบกิน ซึ่งต้องกินซ้ำภายใน 7-10 วันเช่นกัน แต่ยากินจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้มากกว่า จึงไม่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก

      สำหรับสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเหา ได้แก่ ใบน้อยหน่า ใบสะเดา ผลมะ ตูม ผลมะกรูด เป็นต้น วิธีการใช้ควรศึกษาจากตำรา หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

    • วิธีทางกายภาพที่ต้องใช้ร่วมกับยาฆ่าเหา คือ การใช้หวีเสนียดหวีผมหลัง จากที่ใช้ยาฆ่าเหาไปแล้ว เพื่อช่วยกำจัดเหาที่อาจรอดชีวิตจากยาได้ รวมทั้งสามารถช่วยกำจัดไข่เหาได้ โดยวิธีที่จะช่วยเอาตัวเหาและไข่เหาออกได้ง่ายขึ้น คือ การนำน้ำส้มสาย ชูผสมกับน้ำอย่างละครึ่ง หมักผมทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วจึงใช้หวีเสนียดหวีผม มีการ ศึกษาพบว่า การใช้วิธีหมักน้ำส้มสายชูและหวีผมด้วยหวีเสนียดนี้ หากทำทุก 2-3 วันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยไม่ได้ใช้ยาฆ่าเหาร่วมด้วย พบว่ามีประสิทธิภาพในการกำ จัดเหาได้ดีพอๆกับการใช้ยาฆ่าเหาร่วมกับการใช้หวีเสนียด

    อนึ่ง หากใช้วิธีเหล่านี้แล้วยังไม่สามารถกำจัดเหาได้ การโกนผมจะช่วยได้

  2. การรักษาเหาที่ลำตัว

    เนื่องจากเหาที่ลำตัวไม่ได้อาศัยอยู่บนเส้นขนของคน แต่อาศัยอยู่บนเสื้อผ้า ดังนั้น การอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ก็สามารถกำจัดเหาได้แล้ว หากยังต้องการใช้เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน และผ้าเช็ดตัว ตัวเดิม ก็ต้องนำไปซักและแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิมาก กว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานกว่า 5 นาที ซึ่งจะทำให้ทั้งตัวเหา และไข่เหาตายได้ การรักษาความสะอาดของเสื้อผ้าและที่นอนจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการรักษาเหาชนิดนี้ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เหาชนิดนี้มักพบในผู้เร่ร่อน ผู้อพยพ การทำความสะอาดจึงอาจเป็นไปได้ยาก การให้ยาในรูปแบบกินกับกลุ่มคนเหล่านี้จึงอาจช่วยกำจัดเหาได้สะดวกกว่า
  3. การรักษาเหาที่อวัยวะเพศ

    สิ่งสำคัญคือต้องรักษาคู่นอนของตนเองไปพร้อมๆกันด้วย เนื่องจากเหาชนิดนี้ติดจากการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง หากเป็นครอบครัวที่มีลูกๆนอนอยู่ด้วยกับพ่อแม่ที่เป็นเหาชนิดนี้แล้ว ต้องรักษาเด็กๆ ไปพร้อมกันด้วย การรักษาทำโดยการใช้ยาฆ่าเหาแบบเดียวกับการรักษาเหาที่ศีรษะ โดยให้ซ้ำภายใน 7-10 วันเช่นเดียวกัน ร่วมกับการกำจัดเหาออก โดยอาจใช้แหนบช่วยดึงออก หรืออาจเลือกใช้วิธีการโกนขนทั้งที่อวัยวะเพศ ขนรอบก้น ขนรักแร้ และขนหน้าท้องออก

    หากมีเหาที่ขนคิ้วหรือขนตา ไม่ควรใช้ยาฆ่าเหาแบบเดียวกับการใช้ที่ศีรษะ เนื่อง จากเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ทางเคมีในการฆ่าเหาโดยการไปทำลายระบบประสาทของตัวเหา จึงอาจมีอันตรายต่อดวงตาได้ สารเคมีที่ใช้กำจัดเหาบริเวณนี้จึงใช้สารเคมีที่ออกฤทธิ์ทางกายภาพแทน คือเป็นสารเคมีที่มีความหนืด ซึ่งจะไปขัดขวางการหายใจของตัวเหา และทำให้ตัวเหาตายได้ เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่ น้ำมันมะกอก หรืออาจเป็นรูปตัวยาสำเร็จ รูป เช่น Benzyl alcohol lotion การใช้สารเคมีในกลุ่มเหล่านี้ ต้องใช้ซ้ำภายใน 7-10 วันเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถกำจัดไข่เหาได้ และใช้ร่วมกับวิธีทางกายภาพอื่นๆ ด้วย เช่น การใช้แหนบคีบออก ผู้ที่เป็นเหาที่ศีรษะสามารถใช้ยาในกลุ่มเหล่านี้ได้ แต่อาจมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่ายาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเหาโดยตรง

ป้องกันเหาได้อย่างไร?

การป้องกันการแพร่เหาสู่ผู้อื่นคือ ต้องรักษาเหาของตนเองให้หาย และการกำจัดเหาที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเองกลับเป็นซ้ำด้วย ได้แก่

  1. ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น หวี หมวก ที่มัดผม ผ้าคลุมผม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว รวมถึงของเล่น เช่น ตุ๊กตา จะต้องนำมาซักทำความสะอาด และต้องแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานกว่า 5 นาที สำหรับสิ่งของที่นำมาซักล้างไม่ได้ ให้ใช้วิธีใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้มิดชิด ทิ้งไว้ในระยะเวลาที่แน่ใจว่าตัวเหาจะตายทั้งหมด และเผื่อเวลาไว้สำหรับเหาที่อาจวางไข่และฟักออกมาเป็นตัวได้ ซึ่งก็คือระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป แล้วจึงนำของใช้ดังกล่าวมาใช้ต่อได้
  2. ในกรณีที่เป็นของใช้ร่วมกัน และมีขนาดใหญ่ เช่น โซฟา พรม อาจใช้เครื่อง ดูดฝุ่นช่วยกำจัดได้
  3. การฉีดยาฆ่าแมลงที่ใช้กำจัดแมลงตามบ้านทั่วๆไป พบว่าไม่ช่วยในการกำ จัดเหาที่อาจอยู่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม
  4. สำหรับเหาที่อวัยวะเพศ การไม่สำส่อนทางเพศก็จะช่วยป้องกันการติดเหามาได้ การใช้ถุงยางอนามัยไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเหาแต่อย่างใด

อนึ่ง โดยส่วนใหญ่แล้ว คนมักจะเข้าใจผิดว่าเหาเป็นโรคที่เกิดกับคนยากจน ฐานะต่ำ หรือคนสกปรก ไม่ดูแลตนเอง ผู้ที่เป็นเหาจึงไม่กล้าบอกคนอื่น เพราะกลัวโดนรังเกียจ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่กลัวโดนเพื่อนล้อ ทำให้ไม่ยอมรักษา พ่อแม่ของเด็กก็อาจอายที่จะบอกว่าลูกตัวเองเป็นเหา จึงอาจพยายามปกปิด ทำให้การควบคุมการแพร่กระจายของเหาในโรงเรียน หรือในชุมชนที่อยู่ทำได้ยาก แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการเป็นเหา (ยกเว้นแต่เหาที่ลำตัวเท่านั้น) ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรวยจน ฐานะสูงต่ำ หรือความสกปรกแต่อย่างใด ผู้ใหญ่และเด็กควรเข้าใจถึงเรื่องนี้ และช่วยกันกำจัดเหาให้หมดไป

ตัวอย่างการจัดการคือ ในโรงเรียนอาจกำหนดหน้าที่ให้พยาบาลประจำห้องพยา บาลมีหน้าที่ตรวจหาเหาเด็กทุกคนเดือนละครั้ง หากพบเด็กคนใดเป็นเหา ก็อาจต้องหยุดเรียนชั่วคราว จัดการให้การรักษาพร้อมกับเดินทางไปสำรวจที่บ้าน ว่ามีใครเป็นเหาอีกบ้าง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการรักษา และการกำจัดเหาภายในบ้านต่อไป เป็นต้น

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเหา?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นเหา คือ

  1. การรักษาเหาสามารถกระทำเองได้ โดยทำการรักษาตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำในการใช้ยาฆ่าเหาที่ซื้อมาจากเภสัชกร เพราะยาแต่ละชนิดอาจมีวิธีการใช้ไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นยาแบบใด ที่สำคัญคือ ต้องใช้ซ้ำ 2 ครั้ง เหตุผลดังที่กล่าวแล้วข้างต้นเช่นกัน สำหรับเด็กทารก และหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยาใช้เอง ควรพบแพทย์
  2. ไม่ควรใช้ของส่วนตัวต่างๆ เช่น หวี หมวก ที่มัดผม ผ้าคลุมผม ร่วม กับผู้อื่นๆ ซึ่งพ่อแม่ คุณครูควรเน้นย้ำสอนให้เด็กๆ ฟังเสมอ

ข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับประโยชน์ของเหา

ตัวเหาแม้ก่อความรำคาญให้กับมนุษย์ แต่ก็มีประโยชน์สามารถใช้เป็นเบาะแสในการสืบคดีได้ ตัวอย่างเช่น หากเหยื่อโดนข่มขืน และติดเหามาด้วย เราจะนำเลือดจากตัวเหา (ซึ่งจะกินเลือดมาจากทั้งเหยื่อและผู้ร้าย) มาตรวจสอบหารหัสพันธุกรรม (DNA) ก็จะพบรหัสพันธุกรรมของเหยื่อและของผู้ร้าย เราก็จะสามารถนำรหัสพันธุกรรมนี้สืบหาผู้ร้ายต่อไปได้นั่นเอง

บรรณานุกรม

  1. Louse. http://en.wikipedia.org/wiki/Louse
  2. Pediculosis (Lice). http://emedicine.medscape.com/article/225013-overview