ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)

ยาลดไข้/ยาแก้ไข้ และยาแก้ปวด ปกติแล้วเรามักจะพูดรวมๆกันทั้ง 2 ประเภท เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มักมีฤทธิ์เป็นได้ทั้งยาลดไข้และยาแก้ปวดในตัวมันเอง

โดยยาลดไข้มักเป็นเพียงยาบรรเทาไข้ ช่วยให้ไข้ลง ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ กล่าวคือ เมื่อกินยา 1 ครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้ว ไข้ก็จะปรากฏใหม่ ท่านก็ค่อยให้ยาใหม่

ก.ยาลดไข้

ยาลดไข้ ไม่ใช่ยาที่ปราศจากโทษ การใช้จึงต้องระวัง ยาลดไข้ที่นิยมใช้ ได้แก่

  • แอสไพริน หากกินมากเกินขนาด กลับทำให้มีไข้สูง ซึม ชักและถึงตายได้ ปัจจุบันไม่ค่อยใช้ในการลดไข้
  • พาราเซทามอล (Paracetamol) หากกินขนาดสูง ทำให้ตับถูกทำลาย และตายจากตับล้มเหลวได้ ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันทุกวัน ในผู้ใหญ่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 10 วัน ในเด็กไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 5 วัน เนื่องจากมีอันตรายต่อตับ

ฉะนั้น ท่านจึงควรให้ยาลดไข้ในเด็กเมื่อไข้สูงเท่านั้น และให้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ห้ามให้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง หากให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำประปาจนกว่าไข้จะลด

อนึ่ง ยาลดไข้ที่ใช้แก้ปวด/บรรเทาปวดด้วย โดยทั่วไปเป็นยาสำหรับบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง

ข. ยาแก้ปวด

ยาแก้ปวด ที่นิยมใช้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ พาราเซตามอล และ ยากลุ่มที่เรียกว่า Non-Steroidal anti-inflammatory drug (เรียกย่อๆว่า NSAIDs หรือ เอ็นเสด)

  • พาราเซตามอล เป็นยาที่ใช้กันมาก สำหรับอาการปวด ลดไข้ทั่วไป เนื่องจากราคาถูก มีข้อดีคือ ไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร และมักไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการแพ้ จึงเหมาะที่จะใช้แก้ปวดลดไข้ใน ผู้ที่มีโรคแผลในทางเดินอาหาร, ผู้ที่แพ้ยากลุ่ม NSAIDs, หรือในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก, หรือเด็กเล็กที่สงสัยจะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรืออีสุกอีใส ข้อบ่งใช้ มีดังนี้
    • ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการไข้
    • ใช้รักษาหรือบรรเทาอาการปวดเล็กน้อย ถึงระดับปานกลาง
  • NSAIDs ยากลุ่มนี้เป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ มียามากกว่า 30 รายการตามชื่อสามัญที่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ที่รู้จักกันดีคือ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน (Ibruprofen) ไดโคลฟี แนค (Diclofenac) เป็นต้น

    ยา NSAIDs แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆตามโครงสร้างทางเคมีได้ 3 กลุ่ม โดยยาในแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันในแง่ของระยะเวลาการออกฤทธิ์ และ ผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร ดังนี้

    • NSAIDs ดั้งเดิม เช่น Aspirin, Indomethacin, Ibuprofen, Naproxen, Diclofenac
    • Selective COX-2 inhibitor ได้แก่ Meloxicam, Etodolac , Nimesulide
    • Specific COX-2 inhibitor ได้แก่ Celecoxib, Etoricoxib (กลุ่มนี้ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยที่สุด)

หมายเหตุ

  • สำหรับแอสไพริน นอกจากมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบแล้ว ยังมีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกล็ดเลือดจับตัวเป็นก้อนได้น้อยลง ใช้ในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองและหัวใจ ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมใช้แก้ปวดสักเท่าไหร่นัก
  • ถ้ายาแก้ปวดทั้ง 2 ประเภทยังระงับปวดไม่อยู่ ต้องใช้ยากลุ่มอนุพันธุ์ฝิ่นหรือโอปิออยด์ (Opioid) อย่างแรง (เช่น มอร์ฟีน, ออกซิโคโดน/Oxycodone หรือ เฟนทานิล/Fenta nyl) ซึ่งต้องไปฉีดที่โรงพยาบาลในความควบคุมของแพทย์ ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา
  • ยากลุ่ม NSAIDs อีกตัวที่นิยมนำมาลดไข้สูงได้ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ คือ ยาไอบูโปร เฟน (Ibuprofen) ซึ่งที่ใช้ในเด็กมีการทำเป็นยาน้ำชนิดน้ำเชื่อมด้วย
  • ส่วนกลไกการออกฤทธิ์ของ พาราเซตามอล ในการลดไข้ ยังไม่เป็นที่เข้าใจชัดเจน แต่กลไกการออกฤทธิ์ของ แอสไพริน และ เอ็นเสด คือ การที่ยาจะยับยั้งการทำงานของเอน ไซม์ ชื่อ ไซโคลออกซิเจเนส (Cyclooxygenase) ทำให้ร่างกายลดการผลิตสารที่สัม พันธ์กับอาการปวดโปรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เป็นผลให้ลดความเจ็บปวดและการอักเสบ ซึ่งมีผลลดไข้ได้
  • กรณีของหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้ทานยา พาราเซตามอล จะปลอดภัยที่สุด เนื่องจากยา NSAIDs หลายตัว ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาตรที่ 3 ถ้าจะใช้ควรมีการหาข้อมูลเป็นรายชนิดของยา แต่ปรึกษาสูติแพทย์ก่อนใช้ จะปลอดภัยที่สุด
  • กรณีที่มีแต่อาการปวดอย่างเดียว ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย สามารถซื้อทานยาแก้ปวดทางเองได้ แต่ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ แต่ถ้ามีอาการปวดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ มีแผล บวม หรือ อาการปวดรุนแรง จำเป็นต้องพบแพทย์เสมอ ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดกินเอง
  • ***** ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ยาเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ รวมทั้งปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. http://th.wikipedia.org/wiki/ยาระงับปวด [2013.Oct24].
  2. http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php/ยาลดไข้ [2013,Oct24].
  3. http://www.yaandyou.net/index.php/2010-08-29-14-17-33/item/320-2010-09-24-08-19-25.html[2013,Oct24].