เบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

เบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone) คือ ยาโรคเกาต์, เป็นหนึ่งในกลุ่มยายูริโคซูริก, ทางคลินิกใช้เป็นยาบำบัดโรคเกาต์, รวมถึงโรค/ภาวะมีกรดยูริคในร่างกายสูงเกินไป, โดยตัวยานี้จะออกฤทธิ์เพิ่มการขับเกลือของกรดยูริค (Urate) ออกทางไต/ทางปัสสาวะ, รูปแบบจะเป็นยารับประทาน  

ยานี้เป็นที่รู้จักกันในวงการแพทย์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ถูกขึ้นทะเบียนและรับรองการใช้ทางคลินิกมากกว่า 20 ประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย อเมริกา และยุโรป ในปี ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) พบว่ายานี้เป็นพิษและสร้างผลเสียต่อตับ จึงทำให้บริษัทยาได้เพิกถอนและหยุดการจำหน่าย แต่ก็ยังมีบริษัทยาบางกลุ่มที่ผลิตและจำหน่ายมาจนถึงปัจจุบัน 

เบนซ์โบรมาโรน  อยู่ในหมวดของยาอันตราย, หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร  ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด แต่ตัวยาเบนซ์โบรมาโรนที่ร่างกายเปลี่ยนไปเป็นสารเมทาบอไลท์ 6-ไฮดรอกซี่เบนซ์โบรมาโรน (Metabolite, 6-hydroxybenzbromarone) ต้องใช้เวลาถึงประมาณ 30 ชั่วโมงขึ้นไปกว่าที่ร่างกายจะกำจัดออกไปได้   

มาตรฐานการใช้ยาเบนซ์โบรมาโรนสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์อยู่ที่ 100 มิลลิกรัม/วัน โดยต้องรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร ซึ่งให้ผลการรักษาได้ดีกว่า ยา Allopourinol ที่ต้องรับประทาน 300 มิลลิกรัม/วัน และยา Probenecid ที่ผู้ป่วยต้องได้รับ 1,000 มิลลิกรัม/วัน ในความเห็นของนักวิชาการบางกลุ่ม มีความเห็นว่าผลข้างเคียงที่เกิดพิษกับตับจากยาเบนซ์โบรมาโรนเป็นเรื่องที่สามารถควบคุมและป้องกันได้ เมื่อเทียบกับประโยชน์ทางคลินิกที่ผู้ป่วยจะได้รับ

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุให้เบนซ์โบรมาโรนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขห้ามใช้รักษาภาวะโรคเกาต์ที่เกิดแบบเฉียบพลัน 

ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาเบนซ์โบรมาโรนเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลและตามร้านขายยาโดยทั่วไป

เบนซ์โบรมาโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เบนซ์โบรมาโรน

 

ยาเบนซ์โบรมาโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • บำบัดและรักษาอาการโรคเกาต์

เบนซ์โบรมาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเบนซ์โบรมาโรน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ไต โดยยับยั้งการดูดกรดยูริคกลับเข้าสู่กระแสเลือด  นอกจากนี้ ยังเพิ่มการกำจัดกรดยูริกจากอาหารที่บริเวณลำไส้เล็กอีกด้วย  จากกลไกดังกล่าว จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

เบนซ์โบรมาโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบนซ์โบรมาโรน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด

เบนซ์โบรมาโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเบนซ์โบรมาโรนมีขนาดรับประทาน  

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานยา 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง, โดยรับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร หรือรับประทานตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุน และถือเป็นข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้  การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเบนซ์โบรมาโรน  ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ  รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนซ์โบรมาโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบนซ์โบรมาโรน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเบนซ์โบรมาโรนตรงเวลา

เบนซ์โบรมาโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบนซ์โบรมาโรนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผื่นคัน 
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดนิ่วในไต ปัสสาวะคล้ายมีเม็ดทรายปนออกมา ปัสสาวะมีสีคล้ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดพิษกับตับของผู้ป่วย/ตับอักเสบ ตัวเหลือง-ตาเหลือง

มีข้อควรระวังการใช้เบนซ์โบรมาโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนซ์โบรมาโรน เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาเบนซ์โบรมาโรน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไตในระยะที่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต  รวมถึงผู้ป่วย
  • ที่มีอัตราการกำจัดกรดยูริคออกจากร่างกายมากกว่า 700 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ยานี้ไม่สามารถรักษาอาการปวดจากโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน แต่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคเกาต์โดยลดปริมาณกรดยูริคของร่างกายลง
  • เมื่อใช้ยานี้ ควรต้องดื่มน้ำตามอย่างเพียงพอเพื่อช่วยให้ไตสามารถทำการขับออกกรดยูริคได้เต็มประสิทธิภาพ
  • เฝ้าระวังการทำงานของตับ(ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับตามแพทย์แนะนำ) อย่างต่อเนื่องขณะที่มีการใช้ยานี้ ด้วยผลข้างเคียงข้อหนึ่งของยานี้คือ ก่อให้เกิดพิษกับตับ (ตับอักเสบ)
  • รับประทานอาหารมีประโยชนห้าหมู่ จำกัดอาหารที่มีกรดยูริคสูง(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง โรคเกาต์ และเรื่อง กรดยูริค)  การออกกำลังกาย  พักผ่อน  ตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเบนซ์โบรมาโรน) ยาแผนโบราณทุกชนิดอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เบนซ์โบรมาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบนซ์โบรมาโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเบนซ์โบรมาโรน ร่วมกับยา Aspirin หรือกลุ่มยา Salicylates อาจทำให้ประสิทธิภาพการกำจัดกรดยูริคของยาเบนซ์โบรมาโรนด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเบนซ์โบรมาโรน ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่าง Coumarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาเบนซ์โบรมาโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาเบนซ์โบรมาโรน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

เบนซ์โบรมาโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบนซ์โบรมาโรน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Benarone (เบนาโรน) Sriprasit Pharma

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Uricosuric    [2023,April22]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Benarone/?type=brief    [2023,April22]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/benzbromarone?mtype=generic    [2023,April22]
  4. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18636784/    [2023,April22]
  5. https://www.mims.com/India/drug/info/benzbromarone/?type=full&mtype=generic#Dosage    [2023,April22]
  6. http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503141548.pdf    [2023,April22]
  7. https://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug_ex.aspx?Newcode=U1DR1A1022480021911C    [2023,April22]
  8. https://www.druginfosys.com/Drug.aspx?drugCode=1900&drugName=Benzbromarone&type=7    [2023,April22]
  9. https://www.healthnavigator.org.nz/medicines/b/benzbromarone/    [2023,April22]