ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 เมษายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาอัลโลพูรินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอัลโลพูรินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอัลโลพูรินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอัลโลพูรินอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอัลโลพูรินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลโลพูรินอลย่างไร?
- ยาอัลโลพูรินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอัลโลพูรินอลอย่างไร?
- ยาอัลโลพูรินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เกาต์ (Gout)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
บทนำ
ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) เป็นยากลุ่มแรกๆที่วงการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคเก๊าท์ ในอดีตยังมีการนำยานี้มาใช้รักษาโรคไต โรคหัวใจล้มเหลว โรคเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ยานี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) หลังการรับประทานยานี้ พบว่าสามารถดูดซึมทางลำไส้เป็นปริมาณ 80–90 % ยานี้จะถูกเปลี่ยนโครง สร้างที่อวัยวะตับ ทุกๆ 2 ชั่วโมงความเข้มข้นของยาจะลดลงไปครึ่งหนึ่งจากระดับปริมาณยาเริ่ม ต้น และถูกขับออกโดยผ่านทางไตภายในเวลา 18–30 ชั่วโมงในรูปของสาร Oxypurinol
ด้วยยาอัลโลพูรินอลเป็นยาอันตราย การใช้ยาต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง
ยาอัลโลพูรินอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอัลโลพูรินอลมีสรรพคุณดังนี้
- ใช้รักษาโรคเก๊าท์
- ใช้รักษาภาวะที่ร่างกายมีกรดยูริคสูง
- ใช้รักษาและป้องกันนิ่วในไตที่มีสาเหตุจากกรดยูริก
ยาอัลโลพูรินอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอัลโลพูรินอลรวมไปถึง Oxypurinol ซึ่งเป็นอัลโลพูรินอลที่ถูกเปลี่ยนโครงสร้าง จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่ชื่อ Xanthine Oxidase ไม่ให้สามารถทำงานได้ ด้วยกลไกนี้ส่งผลให้สารเคมี 3 ตัวในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับโปรตีน คือ Oxypurines, Hypoxanthine, และ Xanthine ไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเก๊าท์
ยาอัลโลพูรินอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอัลโลพูรินอล จัดจำหน่ายในรูปยาเม็ดขนาด 100 และ 300 มิลลิกรัม
ยาอัลโลพูรินอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดยาอัลโลพูรินอล คือ
ผู้ใหญ่ รับประทาน 100–200 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ยานี้ควรรับประทานพร้อมอาหารเพื่อลดอาการระคายเคืองในกระเพาะ-ลำไส้ ขนาดรับประทานรวมถึงระยะเวลาที่ต้องรับประ ทานยา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
ในเด็ก ขนาดยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเด็ก
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอัลโลพูรินอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก - มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอัลโลพูรินอล อาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยานั้นๆต่อทา รกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอัลโลพูรินอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
ยาอัลโลพูรินอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอัลโลพูรินอลนี้ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ได้โดยอาจก่อให้ เกิดอาการของ Steven Johnson Syndrome อาการผื่นคันทางผิวหนัง รวมไปถึงมีภาวะตับอัก เสบ ไตอักเสบ และรู้สึกระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
มีข้อควรระวังการใช้ยาอัลโลพูรินอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังในการใช้ยาอัลโลพูรินอล ดังนี้
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลัน
- ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ – ไต
- ระวังการใช้ยาในเด็กเล็ก
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาอัลโลพูรินอล) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอัลโลพูรินอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยา อัลโลพูรินอล กับยาอื่นๆ ได้แก่
การใช้ยาอัลโลพูรินอลร่วมกับยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด สามารถส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีภาวะตกเลือดหรือเลือดออกได้ง่าย ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เช่น Acenocoumarol, Anisindione, Dicoumarol
การใช้ยาอัลโลพูรินอลร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะ Steven Johnson Syndrome ยาลดความดันดังกล่าว เช่น Enalapril, Cap topril
การใช้ยาอัลโลพูรินอลร่วมกับยาต้านมะเร็งบางตัว จะทำให้ระดับของยาต้านมะเร็งในกระ แสเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางด้านอาการผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดมากยิ่งขึ้น ยาต้านมะเร็งดังกล่าว เช่น Mercaptopurine
ควรเก็บรักษายาอัลโลพูรินอลอย่างไร?
สามารถเก็บยาอัลโลพูรินอลในอุณหภูมิห้อง และต้องเก็บให้พ้นแสงแดดและความชื้น รวมถึงต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ยาอัลโลพูรินอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอัลโลพูรินอล มีชื่ออื่นที่เป็นชื่อการค้า และชื่อบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย เช่น
ชื่อทางการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
Alinol (อลีนอล) | Pharmasant Lab |
Allo (อัลโล) | YSP Industries |
Allonol (อัลโลนอล) | Utopian |
Allopin (อัลโลพิน) | General Drugs House |
Allopurinol Asian Pharm (อัลโลพูรินอล เอเชียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Allopurinol Community Pharm (อัลโลพูรินอล คอมมูนิตี ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Allopurinol GPO (อัลโลพูรินอล จีพีโอ) | GPO |
Allopurinol Union Drug (อัลโลพูรินอล ยูเนียน ดรัก) | Union Drug |
Alloric (อัลโลริค) | T.O. Chemicals |
Apnol (แอพนอล) | Pharmaland |
Apronol (อโพรนอล) | Medicine Products |
Chinnol (ชินนอล) | Chinta |
Loporic (โลโพริค) | M & H Manufacturing |
Puride (พูไรด์) | Polipharm |
Uricad (ยูริแคด) | Great Eastern |
Valeric (วาเลอริค) | Atlantic Lab |
Xandase (แซนเดส) | Charoon Bhesaj |
Xanol (ซานอล) | Pharmasant Lab |
Zylic (ไซลิค) | Suphong Bhaesaj |
Zyloric (ไซโลริค) | Aspen Pharmacare |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Allopurinol [2014,March17].
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00437 [2014,March17].
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Allopurinol%20Community%20Pharm/?q=allopurinol&type=brief [2014,March17].
- http://reference.medscape.com/drug-interactionchecker [2014,March17]