ยาโรคเกาต์ หรือ ยารักษาโรคเกาต์ (Gout Medication)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาโรคเกาต์คือยาอะไร?

ยาโรคเกาต์ หรือ ยารักษาโรคเกาต์ (Gout medication หรือ Gout drug) คือ ยาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและการอักเสบของโรคเกาต์,  ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์กำเริบ, ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากโรคเกาต์ในบริเวณข้อต่างๆ และที่ไต ที่มีสาเหตุจากระดับกรดยูริคในเลือดสูง, และช่วยให้การดำเนินโรค/ธรรมชาติของโรคเกาต์, รวมทั้งคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

ยาโรคเกาต์มีกี่ชนิด?

 

ยาที่ใช้รักษาในโรคเกาต์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม/ประเภท/ชนิดหลัก ได้แก่ ยาบรรเทาอาการปวดและการอักเสบบริเวณข้อ, และยาควบคุมระดับกรดยูริคฯ/กรดยูริคในเลือด  

ก. ยาบรรเทาอาการปวดและการอักเสบบริเวณข้อ: เช่น

  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs/เอ็นเสด): เช่น ยานาพรอกเซน (Naproxen), ซูลินแดค (Sulindac), อินโดเมตทาซิน (Indomethacin), ไดโคลฟีแนค (Diclofenac), ไพร็อกซิแคม (Piroxicam), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen), เซเลค็อกสิบ (Celecoxib), อีโทริค็อกสิบ (Etoricoxib)   
  • *แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) ในผู้ป่วยโรคเกาต์เพราะยา Aspirin ยับยั้งการขับออกทางปัสสาวะของกรดยูริคในเลือด
  • ยารักษาข้ออักเสบเฉียบพลันในโรคเกาต์: เช่น ยาคอลจิซีน (Colchicine)
  • ยาต้านการอักเสบกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids): เช่นยา  เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone), ไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), คอร์ติโซน (Cortisone)

ข. ยาควบคุมระดับกรดยูริคในเลือด: เช่น

  • ยายับยั้งการสร้างกรดยูริค(Uricostatic agent): เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol)
  • ยาเร่งการขับกรดยูริคออกทางไต/ทางปัสสาวะ (Uricosuric agent): เช่นยา  ซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone), โปรเบเนซิด (Probenecid), เบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone)

ยาโรคเกาต์มีจำหน่ายในรูปแบบใด?

ยาโรคเกาต์มีจำหน่ายในรูปแบบ เช่น 

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution)
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Suspension)
  • ยาผงชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Powder)

มีข้อบ่งใช้ยาโรคเกาต์อย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยาโรคเกาต์  ทั่วไปได้แก่

  • บรรเทาอาการปวด และการอักเสบของข้อ ที่เกิดจากโรคเกาต์
  • ป้องกันโรคเกาต์กลับมาเป็นซ้ำ
  • ป้องกันการทำลายข้อ และการผิดรูปของข้อที่เกิดจากโรคเกาต์
  • ลดขนาดของก้อนโทฟัส (*Tophus) หรือทำให้ก้อนนี้หายไป
    • *ก้อนโทฟัส คือ ก้อนที่เกิดเมื่อร่างกายมีระดับกรดยูริคเกินระดับปกติไปนานๆ  ตัวกรดยูริคจะไปสะสมอยู่ตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย (เช่น ข้อ, ใต้ผิวหนัง) โดยเมื่อกรดยูริคไปสะสมอยู่นานๆจะเกิดเป็นก้อนที่โตขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า โทฟัส ซึ่งเมื่อไปสะสมที่ข้อ จะก่อให้เกิดการทำลายข้อจนเกิดความพิการของข้อได้)
  • ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันเนื่องมากจากระดับกรดยูริคในเลือดที่สูงขึ้น เช่น ภาวะไตเสื่อม/ไตวาย

มีข้อห้ามการใช้ยาโรคเกาต์ใช้อย่างไร?

มีข้อห้ามการใช้ยาโรคเกาต์  ทั่วไป เช่น   

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาชนิดนั้นๆ
  • ห้ามใช้ยากลุ่มเอ็นเสด/NSAIDs ในผู้ที่มีแผล มีแผลทะลุ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ (ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร), เป็นโรคตับ โรคไต อย่างรุนแรง, หรือเป็นโรคไข้เลือดออก
  • ห้ามใช้ยา Colchicine ในผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินอาหาร, โรคไต, โรคหัวใจและหลอดเลือด  และห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีทั้งโรคตับและโรคไตร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ในผู้ป่วยโรคจิต, โรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน,  โรคกระดูกพรุน, และมีภาวะติดเชื้อภายในร่างกาย
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Uricosuric agents ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง  มีนิ่วหรือเคยมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และผู้ป่วยที่มีการขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะมากอยู่แล้ว (มากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน) ซึ่งแพทย์ทราบได้จากการตรวจระดับกรดยูริคในปัสสาวะ

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคเกาต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคเกาต์ทั่วไป เช่น   

  • ระวังการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารจากการใช้ยากลุ่ม NSIADs ในผู้ป่วยดังต่อไปนี้ คือ ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นแผลหรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร, ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี,   ใช้ยาNSAIDsในขนาดสูง, ใช้ยาNSIADs ร่วมกับยากลุ่ม Corticosteroids, ใช้ยากลุ่ม NSIADs ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ใช้ยากลุ่ม NSAIDs ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป
  • ระวังการใช้ยา Celecoxib และ Etoricoxib ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ระวังการใช้ยา Colchicine ร่วมกับ Simvastatin เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
  • Colchicine เป็นยาที่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ทำลายยาที่ชื่อ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) ก่อนถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ  ดังนั้นควรระวังการใช้ยา Colchicine ร่วมกับยาที่มีคุณสมบัติเป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme inhibitor) เช่นยา  Clarithromycin, Erythromycin, Ketoconazole, Cyclosporin, Cimetidine, เพราะอาจทำให้ระดับยา Colchicine ในร่างกาย/ในเลือดสูงเกินไป จนเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Colchicine ได้
  • ยากลุ่ม Corticosteroids เป็นยาที่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มาก ควรใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดที่น้อยที่สุด และในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะควบคุมโรคเกาต์ได้ เมื่อเห็นผลการรักษาแล้ว ต้องค่อยๆลดขนาดยาลง ไม่หยุดยานี้ทันทีเพราะจะทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดสเตียรอยด์ เช่น อ่อนเพลียมาก ความดันโลหิตต่ำ ท้องเสีย
  • ระวังการใช้ยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากยานี้เป็นยาที่ถูกขับออกทางไต อาจต้องปรับขนาดยานี้ลง และเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิดจากการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะอาจทำให้ข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้
  • นอกจากการรักษาโดยใช้ยาแล้ว ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรักษาโรคร่วมอื่นๆที่มักพบร่วมกับโรคเกาต์ด้วย  เช่น โรความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ลดอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง เช่น อาหารทะเล สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เพราะจะทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น

การใช้ยาโรคเกาต์ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโรคเกาต์ในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ทั่วไปควรเป็นดังนี้ เช่น

ก. ยาบรรเทาอาการปวด และการอักเสบ บริเวณข้อ:

  • ยากลุ่ม NSAIDs: ยากลุ่มนี้ชนิดที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ Ibuprofen จะถูกเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรก โดยสามารถใช้ได้ในการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 เท่านั้น (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) ห้ามใช้ในครรภ์ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) เพราะอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ และห้ามใช้ในไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) เพราะยานี้มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้คลอดลูกช้าจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดไหลไม่หยุดหลังคลอดได้(ภาวะตกเลือดหลังคลอด)
  • Colchicine: เป็นยาที่มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์มีการพิจารณาแล้วว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดามากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เท่านั้น
  • ยากลุ่ม Corticosteroids: สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยเลือกยาชนิดที่ผ่านรกในปริมาณน้อยที่สุด ได้แก่ยา Prednisolone และ Methylprednisolone

ข. ยาควบคุมระดับกรดยูริคในเลือด:

  • ยากลุ่ม Uricostatic agent: Allopurinol: เป็นยาที่มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์มีการพิจารณาแล้วว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดามากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เท่านั้น
  • ยากลุ่ม Uricosuric agents ที่สามารถใช้ได้ในหญิงมีครรภ์ คือ Probenecid เป็นยาที่ใช้เป็นตัวเลือกแรก เพราะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์มากเพียงพอต่อการจะเลือกใช้ยานี้

การใช้ยาโรคเกาต์ในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโรคเกาต์ในผู้สูงอายุ ทั่วไปควรเป็นดังนี้ คือ

ก. ยาบรรเทาอาการปวดและการอักเสบบริเวณข้อ:

  • NSAIDs: ระวังอาการไม่พึงประสงค์/ผลข้างเคียงจากยากลุ่ม NSAIDs ในผู้ป่วยสูงอายุ เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการ เกิดแผล หรือเลือดออกในระบบทางเดินอาหารได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Indomethacin ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมักก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือ ปวดศีรษะ และมีอาการซึมได้บ่อยๆ
  • Colchicine: ระวังการใช้ยา Colchicine ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ เพราะจะทำให้อาการไม่พึงประสงค์จากยา Colchicine รุนแรงมากยิ่งขึ้น และควรเฝ้าระวังการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา
  • Corticosteroids: ไม่ควรใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ระยะยาวในผู้สูงอายุ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ได้รุนแรง

ข. ยาควบคุมระดับกรดยูริคในเลือด:

  • ยา Allopurinol: เป็นยาควบคุมระดับกรดยูริคที่ใช้มีการใช้มากในผู้สูงอายุ แต่ต้องระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่ผู้สูงอายุอาจต้องรับประทานอยู่แล้ว เช่น หากใช้ Allopurinol ร่วมกับยา 6-Mercaptopurine อาจทำให้ระดับยา 6-Mercaptopurine ในเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้น แพทย์จะลดขนาดยา 6-Mercaptopurine ลง แลเฝ้าตรวจติดตามระดับเม็ดเลือดขาวในเลือด    หรือการใช้ยา Allopurinol ร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น  ดังนั้น แพทย์มักลดขนาดยา Warfarin ลง และจะตรวจติดตามค่า INR (International normalized ratio,ค่าวัดเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด)เพื่อควบคุมให้การแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ก่ออันตราย
  • ยากลุ่ม Uricosuric agents: ยากลุ่มนี้ที่เลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในผุ้สูงอายุคือ ยา Probenecid และผู้ป่วยสูงอายุที่ได้รับยากลุ่มนี้ ต้องตรวจติดตามการทำงานของไต รวมทั้งปริมาณกรดยูริคในปัสสาวะสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ

การใช้ยาโรคเกาต์ในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโรคเกาต์ในเด็ก ทั่วไปควรเป็นดังนี้ เช่น

ก. ยาบรรเทาอาการปวดและการอักเสบบริเวณข้อ:

  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Aspirin ในผู้ป่วยเด็ก เพราะนอกจากจะยับยั้งการขับออกของกรดยูริคในเลือดแล้ว ยา Aspirinยังอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Reye's syndrome ซึ่งทำให้สมองและตับถูกทำลาย จนเด็กอาจเสียชีวิตได้
  • Colchicine: เป็นยาที่ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเด็ก เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ
  • ไม่ควรใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ระยะยาวในเด็ก เพราะทำให้ร่างกายเด็กเจริญเติบโตช้า (Growth Retardation)

ข. ยาควบคุมระดับกรดยูริคในเลือด:

  • ยา Allopurinol: เป็นยาควบคุมระดับกรดยูริคที่ใช้ในผู้ป่วยเด็กได้ โดยแพทย์ จะปรับขนาดของยานี้ตามน้ำหนักตัวของเด็ก
  • ยากลุ่ม Uricosuric agents ที่ใช้ได้ในผู้ป่วยเด็กตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป คือ ยา Probenecid ส่วนยาอื่นๆในกลุ่มนี้ ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอ การใช้ยาในกลุ่มนี้ตัวอื่นๆในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

มีอาการไม่พึงประสงค์อะไรจากการใช้ยาโรคเกาต์?

มีอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยาโรคเกาต์ทั่วไป เช่น

ก. ยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบบริเวณข้อ:

  • ยากลุ่ม NSIADs: ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร คือ ทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ท้องเสีย ทำให้เกิดแผล และเลือดออกในทางเดินอาหาร,  และยังมีผลข้างเคียงต่อระบบเลือด คือ ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดออกง่ายและหยุดช้าโดยเฉพาะเมื่อมีแผลในอวัยวะต่างๆ, ผลต่อไต คือ เพิ่มการสะสมของเกลือโซเดียม และน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการบวมน้ำ จนอาจทำให้เกิดไตวายได้
  • ยา Colchicine: อาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย กดไขกระดูก/ไขกระดูกทำงานลดลง กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) เส้นประสาทอักเสบหรือถูกทำลาย (Neuropathy)
  • ยากลุ่ม Corticosteroids: หากใช้ยานี้ขนาดสูง เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิด ต้อกระจก (Cataracts) ต้อหิน (Glaucoma) กลุ่มอาการ Cushing’s Syndrome ซึ่งลักษณะที่พบในผู้ป่วยคือ ใบหน้ากลม (Moon face) อ้วนที่บริเวณลำตัวแต่ยกเว้นแขน ขา  ขนดก (Hirsutism) กล้ามเนื้ออ่อนแรง  น้ำหนักตัวเกิน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น อาการอื่นๆ ได้แก่ ผิวหนังบาง มีรอยแตกและพบรอยช้ำได้ง่าย, กระเพาะอาหารทะลุ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร, ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ  มีการคั่งของเกลือโซเดียม และน้ำในร่างกาย,  บดบังอาการแสดงของการติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไม่มีไข้เมื่อติดเชื้อ เป็นต้น

ข. ยาควบคุมระดับกรดยูริคในเลือด:

  • ยา Allopurinol: อาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดศีรษะ ผื่นแพ้ยาอย่างรุนแรงที่เรียกว่า Steven-Johnson syndrome
  • ยากลุ่ม Uricosuric agents: อาจทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ   เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ  เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เกิดการกดการทำงานของไขกระดูก/ไขกระดูกทำงานลดลง ตับอักเสบ

สรุป:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโรคเกาต์) ยาแผนโบราญทุกชนิด  อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ  ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)  รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์ พ.ศ. 2555 https://thairheumatology.org/index.php/learning-center/for-physician/for-physician-3?view=article&id=70:1-26&catid=16  [2023, Feb18]
  2. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.
  3. Chowalloor, P.V. and Inderjeeth, C.A. Gout in the elderly. OA Elderly Medicine 1. (August 2013) : 1-7.
  4. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23462027/ [2023, Feb18]
  5. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gout/diagnosis-treatment/drc-20372903 [2023, Feb18]
  6. https://www.hopkinsarthritis.org/arthritis-info/gout/gout-treatment/  [2023, Feb18]