ยูริโคซูริก (Uricosuric)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ยูริโคซูริก (Uricosuric หรือ Uricosuric agent) คือ กลุ่มยาใช้ลดระดับกรดยูริค (Uric acid) ในเลือด เช่น ในโรคเกาต์  และในภาวะกรดยูริคในร่างกายสูงเกิน, รูปแบบยาแผนปัจจุบันมีได้ทั้งยารับประทานและยาฉีด 

ยากลุ่มยูริโคซูริกส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ที่ไตในส่วนที่ใช้กรองสารต่างๆที่ เรียกว่า พร็อกซิมอลทิวบูล (Proximal tubule), หากร่างกายมีกรดยูริคมากจนเกินไป จะก่อให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ, ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบของข้อนั้นๆ ที่รวมถึงเกิดการทำลายข้อกระดูกเหล่านั้นที่เรียกว่า 'โรคเกาต์' และการมีกรดยูริกมากในเลือด อาจทำให้เกิดการตกผลึกที่ไต จนเกิดเป็นนิ่วในไต ชนิดที่เกิดจากกรดยูริค/กรดยูริก   

อาจจำแนกยาในกลุ่มยูริโคซูริกออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่ม1 ยาไพรมารียูริโคซูริก (Primary Uricosuric): เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการขับออกและลดการสังเคราะห์กรดยูริค/กรดยูริก ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา

  • Probenecid:  มีฤทธิ์ทำให้ไตขับกรดยูริกออกมากับปัสสาวะได้เพิ่มขึ้น
  • Benzbromarone: ออกฤทธิ์เพิ่มการขับเกลือของกรดยูริค คือ Urate ออกทางไต/ทางปัสสาวะ  
  • Sulfinpyrazone: มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดกรดยูริกกลับเข้าสู่กระแสเลือด

2. กลุ่ม 2 ยาเซคคันดารียูริโคซูริก (Secondary uricosuric): เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ลดกรดยูริกในร่างกาย แต่มักเป็นกลุ่มยาแพทย์ที่นำไปรักษาอาการโรคอื่นมากกว่า เช่น ใช้ลดความดันโลหิต  ลดไขมันคอเลสเตอรอล, ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา

  •  Amlodipine: เป็นยาลดความดัน ที่มีฤทธิ์เพิ่มการขับออกของกรดยูริกไปกับปัสสาวะ
  •  Lorsartan: ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของโปรตีน 2 ชนิด คือ
    • URAT 1: ซึ่งเป็นโปรตีนช่วยให้กรดยูริกถูกดูดกลับเข้าสู่ร่างกาย
    • และ Gluta: เป็นโปรตีนที่คอยปรับสมดุลของสารยูเรท (Urate, เกลือของกรดยูริค) ในกระแสเลือด และจัดเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้กรดยูริกในเลือดมีเพิ่มขึ้น
  • Atorvastatin: เป็นยาในกลุ่มสแตติน (Statin) ซึ่งใช้เป็นยาลดไขมันในเลือด แต่ยานี้สามารถทำให้ระดับกรดยูริกในร่างกายลดลงได้ด้วย  
  •  Fenofibrate: การใช้ยานี้เพื่อลดไขมันในเลือดนั้น ตัวยาจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารเมตาโบไลท์ (Fenofibrate metabolite) ซึ่งคอยยับยั้งการทำงานของโปรตีน URAT 1 ส่งผลให้มีการดูดกรดยูริกกลับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง
  •  Adrenocorticotropic hormone (ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง): การใช้ฮอร์โมนนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกัน กลับส่งผลที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการรักษา คือ ทำให้กรดยูริกถูกขับออกจากร่างกายไปด้วย
  • ยา Cortisone: เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่ใช้กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย และยังก่อให้เกิดฤทธิ์ลดระดับกรดยูริกในร่างกาย

 อาจสรุปกลไกการลดปริมาณของกรดยูริกจากยาทั้ง 2 กลุ่ม(กลุ่ม1และกลุ่ม2) ดังนี้

  • เร่งการขับกรดยูริคออกทางไต โดยผ่านทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ
  • ลดการดูดกลับของกรดยูริคเข้าสู่กระแสเลือด

กลไกทั้ง 2 ขั้นตอน ล้วนแล้วแต่ทำให้อาการโรคเกาต์ หรือภาวะกรดยูริคในเลือดสูงเกินปรับตัวไปในแนวทางที่ดีขึ้น,  ยังมียาในกลุ่มยายูริโคซูริก อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้ยกมากล่าวอ้าง,  การเลือกใช้ยาใดนั้น ต้องขึ้นกับแพทย์เป็นผู้พิจารณา ด้วยสรรพคุณของยาแต่ละชนิดและสภาพร่างกายของผู้ป่วยมีความแตกต่างกันออกไปนั่นเอง

ยูริโคซูริกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยายูริโคซูริก มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น        

  • รักษาโรคเกาต์
  • บำบัดภาวะกรดยูริคในร่างกายสูงเกิน

ยูริโคซูริกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยายูริโคซูริกทั้งในกลุ่ม Primary และ Secondary uricosurics มีกลไกการออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะโดยขึ้นกับคุณสมบัติและโครงสร้างทางเคมีกล่าวคือ

  • เร่งการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย
  • ลดการดูดกรดยูริคกลับคืนสู่กระแสเลือด

ทั้งนี้แต่ละกลไกล้วนแล้วส่งผลให้ลดระดับกรดยูริกและทำให้เกิดฤทธิ์รักษาได้ตามสรรพคุณ

ยูริโคซูริกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยายูริโคซูริก มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ชนิดรับประทาน และ
  • ยาฉีด

ยูริโคซูริกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มยูริโคซูริก มีหลากหลายรายการ ทั้งชนิดฉีดและรับประทาน, ขนาดการใช้ยาเหล่านี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

  • เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา ยูริโคซูริก  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ  รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยายูริโคซูริก อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน                                                      
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยายูริโคซูริก สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยายูริโคซูริก ตรงเวลา

ยูริโคซูริกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ขอยกตัวอย่างเรื่องผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยายูริโคซูริก:   เช่น

  • ยา Probenecid: เช่น ปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย เป็นแผลที่เหงือก วิงเวียน ผิวหนังอักเสบ ตับอักเสบ โลหิตจาง
  • ยา Fenofibrate: เช่น  ปวดหลัง    ปวดข้อ  ปวดหัว  คลื่นไส้  คัดจมูก  เจ็บคอ
  • ยา Sulfinpyrazone: เช่น  ท้องเสีย   แน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก  อึดอัด/หายใจลำบากช่องปากเป็นแผล

มีข้อควรระวังการใช้ยูริโคซูริกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยายูริโคซูริก: เช่น               

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มยูริโคซูริก
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • *หากพบอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • *กรณีใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่งแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • การจะรับประทานยาอื่นหรือใช้ยาอื่นใดร่วมกับยากลุ่มยูริโคซูริก ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ด้วยอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาด้วยกันได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มยูริโคซูริกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยูริโคซูริกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยายูริโคซูริก มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น                                                 

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มยูริโคซูริก ร่วมกับยาบางตัวที่มีฤทธิ์ตรงกันข้ามกัน หรือยาที่ทำให้ระดับกรดยูริคในร่างกายสูงขึ้น  เช่นยา  Pyrazinoate(ยาลดกรดยูริคในเลือด),  Pyrazinamide,  Ethambutol,  Diclofenac,    Aspirin, ฯลฯ

ควรเก็บรักษายูริโคซูริกอย่างไร?

ควรเก็บยายูริโคซูริก: เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น 
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยูริโคซูริกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยูริโคซูริกที่ ยาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Benacid (เบนาซิด) Chew Brothers
Bencid (เบนซิด) Pharmaland
Benecid (เบเนซิด) Chew Brothers
Benemid (เบเนมิด) MSD
Atorsan (อะโทแซน) Lek
Atorvastatin Sandoz (อะโทวาสแตติน แซนดอซ) Sandoz
Chlovas (คลอวาส) Millimed
Lipitor (ลิปิเตอร์) Pfizer

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Uricosuric  [2022,Nov12]
  2. https://go.drugbank.com/drugs/DB01138  [2022,Nov12]
  3. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20075570/  [2022,Nov12]
  4. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10727684/ [2022,Nov12]
  5. https://www.drugs.com/sfx/sulfinpyrazone-side-effects.html  [2022,Nov12]